Skip to main content

 สมัชชา นิลปัทม์

โจทย์ของโรงเรียนนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน ที่ท้าทายการจัดการเรียนการสอนมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ

“เราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสร้างประสบการณ์แก่กับผู้เรียนให้สามารถปฏิบัติงานได้เหมือนกันทำงานจริงได้อย่างไร”

ภาษาของนักกีฬาอาจจะเรียกว่า “ซ้อม” ให้เหมือน “จริง” เมื่อเจอ “ของจริง” ก็รู้สึก ไม่เกร็ง ไม่ประหม่า มั่นอกมั่นใจ ราวกับกำลัง “ซ้อม”

แต่วิชาด้านวารสารศาสตร์ไม่เหมือนกับโรงเรียนฝึกนักบิน พวกเขาไม่สามารถที่หาโปรแกรมการจำลองสถานการณ์ (Simulation) แบบนักบินได้ งานภาคสนามของนักเรียนวารสารศาสตร์คือพื้นที่ๆ มีสายสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ ในฐานะของผู้จัดการเรียนการสอนเราจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถที่จะสัมผัสได้ถึง “กลิ่น” ของปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่พวกเขาจะต้องลงไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวขึ้นมาสื่อสารด้วย

ในฉบับที่แล้วผมได้กล่าวถึงโครงการ Knight’s Eric Newton ในปี  2011 ที่มีข้อเสนอเรื่องการจัดการเรียนการสอนวารสารแบบใหม่ ด้วยการใช้โมเดลระบบ “teaching hospital”ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนการสอนด้านทักษะการสื่อสารอย่างเข้มข้นแบบนักเรียนแพทย์ – พยาบาล ที่เรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติจริง (learning by doing) จากห้องข่าว

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่สอดรับกับกระแสดังกล่าวอยู่เหมือนกัน ผมมีโอกาสได้ทำงานทดลองเล็กๆ อย่างไม่เป็นทางการร่วมกับ ‘สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง’ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

เรานำพาเอา “กองบรรณาธิการ” ไปอยู่ในสถานการณ์จริง หรือใครจะเรียกว่า กอง บ.ก. ส่วนหน้าหรือ กอง บ.ก. ภาคสนามก็ตามแต่สะดวกใจ ผมไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรดี แต่คงต้องเรียกแบบง่ายๆ ว่าเป็น ปฏิบัติการ ‘การสื่อสาร’ (communication operation) ไปก่อน กล่าวคือ การสร้างกองบรรณาธิการเคลื่อนที่ขึ้นมาแล้วใช้เครื่องการสื่อสารที่พลิกแพลงหลากหลาย เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่บรรดานักศึกษา

อันที่จริงเราเคยเริ่มทดลองกันไปหลายครั้งแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเวิร์คชอป ด้วยการลงไปในพื้นที่ ทำกิจกรรมร่วมกัน ผ่านเครื่องมือการสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดไว้แค่สื่อใดสื่อหนึ่ง ทั้ง ภาพถ่าย วิทยุกระจายเสียง สิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก วีดิโอ รวมไปถึงการถ่ายทอดสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรองรับสื่อข้างต้นได้อย่างหลากหลาย

ครั้งล่าสุด ได้มีเวทีพูดคุยนานาชาติในหัวข้อ "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน" (Patani Peace Process (PPP) จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราพบก็คือ มันคือการปฏิบัติงานจริงๆ ที่ไม่ได้ถูก “จำลอง”

ในปฏิบัติการดังกล่าว นักศึกษาได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวสำคัญๆ จริงๆ (ระดับโลก หรือ อดีตผู้นำประเทศ) ซึ่งไม่สามารถทำงานเคียงบ่าเคียงใหญ่ไปกับนักข่าวมืออาชีพ เรียกได้ว่าเป็นการ เจอแหล่งข่าวจริง บรรยากาศจริง ออกอากาศจริง ผ่านสื่อใหม่ มีผู้ชมเฉพาะกลุ่มที่สามารถสะท้อนความเห็นข้อควรปรับปรุงให้กับพวกเขา ซึ่งทำให้การสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ส่งสารและผู้รับสารเป็นไปได้จริงในภาคปฏิบัติ เป็น “ประสบการณ์” ที่ไม่สามารถ “จำลอง” จากที่ใดได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ถ้าเหล่าบรรดานักศึกษา ได้ถูกเตรียมตัวและซักซ้อมประเด็นให้แม่นยำ ศักยภาพของคนหนุ่มสาวก็จะถูก “รีด” ออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พวกเขาและเธอ อาจปล่อยคำถามเด็ดๆ และแหลมคมได้พอๆ กับนักข่าวมืออาชีพเลยทีเดียว มิหนำซ้ำอาจได้รับการเอ็นดูเป็นพิเศษจาก “แหล่งข่าว” ในฐานะนักศึกษา ที่ไม่ได้รับคาดหวังว่าจะต้องสมบูรณ์ไปเสียทั้งหมด

ในแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ เอื้อให้พวกเขากล้าคิดกล้าทำ สามารถสร้างสรรค์รายการหรือออกแบบการสื่อสารได้อย่างหลากหลาย บรรยากาศเช่นนี้ผมพบว่า

มันช่วยลดความประหม่าของพวกเขา พวกเขาคุ้นเคยกับบรรยากาศกับการทำงานเหล่านี้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้กับ “หน่ออ่อน” ของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพในอนาคต

การได้ปล่อยคำถามเด็ดๆ กับแหล่งข่าวระดับ VIP มีหลักฐานการทำงาน เป็นทั้งภาพและเสียง เป็นเอาท์พุตที่ชัดเจน เสียงพูดคุยระหว่างเพื่อนที่เปี่ยมด้วยปีติเมื่องานของพวกเขาสำเร็จลุล่วงไป

ใครที่เคยเป็นนักข่าวใหม่ๆ บรรยากาศของ การมีชื่อของตัวเองได้ปรากฏอยู่ในสื่อ (byline) เป็นครั้งแรก คงซาบซึ้งดีว่า “ประสบการณ์” ครั้งนั้นสร้างความแช่มชื่นให้กับจิตใจและสร้างแรงใจใฝ่ฝันในการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อไปได้มากมายเพียงใด