Skip to main content

จากใต้สุดสยาม สู่สวนทูนอิน เชียงใหม่

ในเงาเวลาของ ที่เกิดเหตุ

งานเขียนและภาพถ่าย วรพจน์-ธวัชชัย
 
 
               
                ต้นพุทธศักราช  2549 ชายหนุ่ม 2 คนเดินทางโดยรถไฟสายใต้ลงไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้
คนหนึ่ง ในเวลานั้น เพิ่งเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนอิสระ, อีกคนหนึ่ง เรียกตัวเองว่าเป็นช่างภาพอิสระ
2 คน ตระเวนใช้ชีวิตแบบค่ำไหนนอนนั่น อยู่ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 1 ปีเต็ม คนหนึ่งอยู่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือ , อีกคนหนึ่งอยู่เพื่อเก็บภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน
หนึ่ง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ได้รับการยกย่องกล่าวขานจากแวดวงนักเขียนหนังสือให้เป็น นักสัมภาษณ์ฝีมือระดับต้นๆของประเทศไทย
เต้ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพหนุ่ม เริ่มไต่บันไดสู่การเป็นมืออาชีพทางภาพขาวดำที่น้อยคนนักในประเทศไทยจะเชี่ยวชาญในด้านนี้เช่นเขา
ไม่นานหลังจากที่ทั้ง 2 กลับเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย และหนังสือ ที่เกิดเหตุ
เป็น ที่เกิดเหตุ ซึ่งอธิบาย เหตุเกิดที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 1 ปี ของนักเขียนและช่างภาพอิสระ ที่นอกจากจะทำให้ทั้ง 2 คนกลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจอารมณ์ของแต่ละ เหตุที่เกิดร่วมกันแล้ว
ที่เกิดเหตุ ยังกลายเป็นผลงานที่ทำให้ทั้ง 2 คน เป็นที่รู้จักไกลมากขึ้น ไม่เฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น
คนหนึ่งถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นพูดคุยด้วยตัวหนังสือ
คนหนึ่งถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นพบเจอด้วยภาพถ่าย
                เมื่อพุทธศักราช 2552 มาถึง วรพจน์-ธวัชชัย มีผลงานร่วมกันเป็นครั้งที่ 2
                งานแสดงภาพถ่ายของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบ เงียบ และง่าย ที่ PS Gallery แพร่งภูธร
โดยจัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 6มิถุนายน เปิดเฉพาะ เสาร์-อาทิตย์ ในช่วงเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป เท่านั้น
ในฐานะคนเคยคลุกคลีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อยมาจนถึงการเดินทางขึ้นไปยัง สวนทูนอิน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคุยกับ พญาอินทรีแห่งสวนอักษร
ถ่ายทอดภาพ ถ่ายทอดคำพูดของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ระหว่าง 2-3 ปีสุดท้ายในชีวิต
เรื่องเล่าจากปาก อาว์ปุ๊ พญาอินทรีก่อนจะโฉบสายลมให้จังหวะชีพจรสงบราบ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
พร้อมๆกับความระลึกถึงในสายฝนของจังหวัดชายแดนใต้ จาก วรพจน์-ธวัชชัย
 
 
 
Q:ทำไมถึงเป็น รงค์ วงษ์สวรรค์
ธวัชชัย- มันเริ่มจากที่คุณกนกพงศ์ สงสมพันธ์ เสียชีวิต ผมกับพี่หนึ่ง วรพจน์ ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราตั้งใจจะทำมันช้าไป ชอบตัวหนังสือเขา อยากจะเจอตัว ได้คุย ได้ถ่ายรูปก็คงดี แต่ว่าไม่ทัน เสียไปก่อน ซึ่งตอนที่กนกพงศ์เสียนั้น เราอยู่ที่ปัตตานี สักพักหนึ่งเราก็มาคุยกันว่าถ้าอยากจะไปทำเรื่องใครก็ให้รีบไปทำ เดี๋ยวจะตายเสียก่อน (ฮา)
วรพจน์- ที่ว่าตายก่อนนี่ไม่ใช่เขาตายนะ เราจะตายเสียก่อน (ฮา) พูดง่ายๆก็คือคิดอะไรแล้วอย่ามัวโอ้เอ้
 
 
 
Q:ติดต่อไปคุย ไปหายากหรือเปล่า
                วรพจน์- เราเคยขึ้นไปหาแกอยู่แล้ว เมื่อหลายปีก่อน เคยเขียนหนังสือเล่มเดียวกัน หนังสือ open house เล่มแรก ซึ่งได้ไอเดียมาจากการไปก็อปปี้ เฟื่องนคร สมัยที่คุณ รงค์ ทำหนังสือเฟื่องนคร เป็นการนำนักเขียนหลายๆคนมาเขียนหนังสือเล่มเดียวกัน ก็เลยได้เจอกัน พอเราก็อปปี้ไอเดียเขาแล้ว ไหนๆจะชั่วก็ชั่วให้ถึงที่สุดก็เลยไปเชิญเจ้าของไอเดียเขามาเขียนด้วย ก็เลยได้มีโอกาสไปหา ได้คุย เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เมื่อเราขึ้นไปเชียงใหม่ในทุกๆครั้ง สวนทูนอินคือเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องไป เหมือนค่อยๆใกล้ชิดขึ้น ได้คุยกัน พูดง่ายๆคือแกไว้ใจเรามากขึ้น เรารู้จักแกอยู่แล้ว แกจะมารู้จักเราได้อย่างไร
                ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมต้องเป็น รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เป็นเรื่องของวิชาชีพ เราทำอาชีพนี้ ก็มองกวาดสายตาไปทั่วประเทศ เหมือนตอนที่เราลงไปปัตตานีเริ่มแรก ว่าทำไมต้องลงไปปัตตานี ก็เพราะว่าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ สำคัญ แต่ว่าข่าวที่เราเห็นมาก็คือ มันมีแต่ข่าวเหตุร้ายรายวัน เราก็อยากลงไปทำ อยากไปดูมิติอื่นว่ามันจะไม่มีอย่างอื่นเลยเหรอ แผ่นดินกว้างขนาดนั้น ผู้คนมากมายขนาดนั้น หลังจากนั้นการไปคุยกับ งรงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เลยเป็นโครงการต่อมา เป็นการเลือกเก็บคนที่น่าสนใจทุกๆวงการ มันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราติดต่อไปแล้วเขาโอเคหรือเปล่า บางทีเขาอาจจะโอเคแต่เวลาไม่ได้ คุณรงค์ ตอนเราติดต่อไปแกก็ไม่สบาย แต่ก็พยายามจัดสรรเวลาแต่ละช่วง ขึ้นไปทั้งหมด 3 ครั้งในรอบ 2 ปี คือ ปี 2550 ครั้งที่ 1 แกก็ทำงานของแกไปเราก็ทำงานของเราไป พอสะดวกก็ติดต่อกันอีก หาวันนัดหมาย ดูปฏิทิน บางทีก็เว้นไป 6-7 เดือน ก็ทั้งหมด 3 ครั้ง ไปครั้งหนึ่งก็อยู่ประมาณ 4-5 วัน คุยกันตั้งแต่เช้าถึงดึก 7 โมงถึงบ่ายโมงแล้วพัก แล้วก็หนึ่งทุ่มจนถึงห้าทุมครึ่งเที่ยงคืน
               
 
 
Q:เจอ รงค์ วงษ์สวรรค์ ตัวจริงแล้วได้อะไรมาบ้าง
                วรพจน์- ได้เยอะนะ ข้าวของเงินทอง (ฮา) เรื่องแรกเลยที่ทุกคนพูดตรงกันหมดก็เลยคือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา เรื่องต่อมาคือความทุ่มเทในวิชาชีพเขียนหนังสือ ทุกๆเรื่องไม่ว่าเราจะคุยเรื่องการเมือง หนังสือพิมพ์ การเดินทาง แกจะต้องแวบเข้ามาคุยเรื่องการเขียนหนังสือตลอด มีจิตใจ ใจจดใจจ่อทั้งชีวิตอยู่กับการเขียนหนังสือ ไม่ว่าแกจะเล่าวิธีการทำงานของแก แกจะสอนเราต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไรแกก็จะวนกลับมา เป็นคนที่มีพลังด้านนี้อย่างเต็มร้อย ไม่เคยหวง ต้องเข้าใจด้วยนะว่าภายใต้เงื่อนไขที่อายุมาก 75-76 ปี และเงื่อนไขที่ป่วยไข้มาก แกยังมีพลังเหมือนคนหนุ่มอายุ 30
                ยกตัวอย่างในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เรากำลังนั่งสัมภาษณ์แกอยู่ แกนั่งดูทีวี ติดตามเหตุการณ์ตลอด แล้วก็บอกว่าถ้าแกยังหนุ่มๆ แล้วอยู่กรุงเทพ แกแข็งแรง ไม่มีทางที่แกจะนั่งอยู่ที่บ้านได้ ต้องถือกล้อง ถือฟิล์ม ถือบุหรี่สองซอง ต้องกระโดดเข้าไปดูเหตุการณ์ เหมือนเป็นวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์
                ธวัชชัย- ก่อนขึ้นไปผมก็ได้ยินชื่อเสียงรู้จัก แต่ว่าเรื่องอย่างที่นักเขียนที่เขารู้จักกันบอกว่าแกเป็นคนอย่างนั้น ผมไม่รู้จักอย่างนี้ รู้ว่าแกคือคุณรงค์ และเป็นผู้ใหญ่ ไปครั้งแรกก็เกร็งๆ เพราะว่าเจอครั้งแรกแกนอนอยู่บนเตียงฟอกไต ก็ค่อนข้างเกร็งจะถ่ายรูปอย่างดี แกก็เมตตา แล้วรู้สึกถึงว่าทั้งป้าติ๋มและลุงปุ๊เมตตาต่อเราเหมือนลูกหลาน ส่วนอื่นคือสัมผัสได้มากขึ้นเลยว่าคุณรงค์ ไม่ใช่คนธรรมดา ผมไปเห็นผู้ชายอายุ 76 ปี ป่วยนอนฟอกไตแล้วกลับบ้าน ระหว่างทางก็จะคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องต้นไม้ การบ้านการเมือง ค่อยๆรู้จักตัวคุณรงค์เองด้วยตัวเองไม่ได้รู้จักผ่านงานหนังสือ คือผมอ่านงานคุณรงค์น้อยมาก บางทีอ่านแล้วก็งง แต่พอไปคุยกับแกแล้วกลับมาอ่านก็เข้าใจมากขึ้น บางเรื่องแกก็เขียนเหมือนที่แกพูด นึกถึงอารมณ์นึกถึงน้ำเสียง ที่อยู่ดีๆโผล่มา อยู่ดีๆไป เหมือนอย่างที่แกพูด ทั้งน้ำหนักน้ำเสียงเปลี่ยนเป็นคำพูด เป็นตัวอักษรบางตัวที่คนอื่นเขาไม่คิดกัน
                วรพจน์- ถ้าเราพูดถึงคำว่าเอาจริงเอาจัง แกคือผู้ชายที่เป็นตัวแทนของคำๆนี้เลย ถ้าไม่รู้แกจะถาม ค้นคว้า นอนหลับอยู่ถ้าติดศัพท์คำนี้จะลุกขึ้นมาเปิดดิกชั่นนารีเลย รู้ครบแล้วเล่าให้เราฟังอย่างกระจ่างละเอียดหมด เหมือนรู้ไปหมดทุกเรื่อง ด้วยความที่ชีวิตแกทำมาหลายอย่าง ไม่ได้เป็นนักวิชาการที่นั่งอยู่แต่ในห้องสมุด อยู่ในวงการหลายวงการ วงการนักหนังสือพิมพ์ นักเลง ช่างภาพ ไปอเมริกาก็ไปรับจ้างคุยกับคนแก่
                ในแง่หนึ่งก็จะเห็นได้ว่าคุณรงค์ เป็นนักเขียนอาวุโสที่สามารถเชื่อมกับนักเขียนรุ่นใหม่ได้อย่างไร้รอยต่อ น้อยคนนักที่จะทำได้ โดยปกติศิลปะพวกนี้ถ้าไม่ทำงานเข้มข้น เป็นที่รัก ที่ชอบของคนอ่านจริงๆ มันหลุดยุคสมัยง่ายมาก แต่แกน่าจะเป็นคนเดียวที่เชื่อมได้ แล้วมีคอลัมน์อยู่ในหนังสือของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้
 
 
 
Q:ถ่ายรูปมาทั้งหมดกี่รูป
                ธวัชชัย- 2 ม้วน ก็ประมาณ 400-500 รูป แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เชียงใหม่ด้วย
 
 
 
Q:คุณรงค์ รู้ว่าจะเอามาแสดงนิทรรศการ
                ธวัชชัย- รู้ ครอบครัวก็รู้ พอลุงรงค์ไม่อยู่ก็ให้ลูกชายดูในงานศพ
                วรพจน์- เคยคุยกันอยู่แล้วก่อนที่แกจะเสีย คุยกันไว้ว่าจะจัดนิทรรศการร่วมกัน แกก็ให้ฟิล์มมา
 
 
 
Q:ในเงาเวลา รงค์ วงษ์สวรรค์ มีลักษณะอย่างไร
                ธวัชชัย- เป็นงานต่อจาก ที่เกิดเหตุ งานนี้เป็นงานครั้งที่ 2 ถือโอกาสออกหนังสือแล้วก็แสดงงานด้วย จากคราวก่อนมา 2 ปี ก็ถือว่าทักษะ กระบวนการถ่ายภาพ การทำภาพขาวดำก็มีมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ถ่ายรูป แต่ว่าการจัดแสดงงานแต่ละครั้งมันเหนื่อยมาก รบกวนคนหลายคน ผมคิดว่ามันควรจะมีอะไรที่มากกว่ารูปสวยๆ มีเรื่องราว ให้คนที่ดูรูปได้ประโยชน์มากกว่าการดูรูป บางคนที่มาก็อาจจะไม่ได้รู้จักคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ได้รู้จากสื่อ บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่า รงค์ วงษ์สวรรค์อยู่อย่างไรในช่วงบั้นปลายชีวิต ก็ถือโอกาสเล่าถึงนักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในบ้านเราในช่วงอายุ 76-77 ปี ใช้ชีวิตอย่างไร เขียนหนังสืออย่างไร
                วรพจน์- ส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยรู้ว่าแกถ่ายรูป ลืมไปแล้ว เพราะภาพนักเขียนใหญ่มากจนกลบไปเลย ไม่เฉพาะแค่คนทั่วไป คนในวงการนักเขียนเองก็ไม่ค่อยรู้ แล้วไม่ค่อยมีใครได้เห็นภาพแก
                วงการขาวดำมีบุคลากรอยู่จำนวนหนึ่ง นับวันผ่านไปคนรู้เรื่องนี้ก็น้อย ด้วยความที่โลกมันเปลี่ยน เต้ ธวัชชัย ทำงานภาพขาวดำมา 5 ปีต่อเนื่อง พอแกเห็นกล้องแกบอกเลยว่าอาว์ก็ใช้รุ่นนี้ เรียกได้ว่า 40 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครไปหาแกแล้วคุยเรื่องกล้องเหมือนเต้ คนไปหาแกไปก็คุยเรื่องงานเขียน
                อย่างงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ที่เกิดเหตุ เราทำข่าวสายศิลปะมา เดินทางไปดูงานแสดงภาพเยอะมาก เราคิดว่า ที่เกิดเหตุ มีคนสนใจเยอะมาก ซึ่งถ้าพูดก็คือเป็นแนวซีเรียสที่คนทั่วไปน่าจะคิดว่าเป็นเรื่องหนักหัว ไม่อยากจะยุ่ง ไม่อยากดู แต่เมื่อทำไปทำมาก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจโดยไม่ได้คิดว่าตัวเลขเท่าไรนะ แต่สำหรับเราน่าดีใจเลยละ งานนี้ก็เหมือนกัน เหตุผลมันเหมือนบวก 2 ด้าน ทั้งเนื้อหาประเด็นที่ทำ เหมือนกับที่เราเคยทำเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกกับเรื่องศิลปะภาพถ่ายขาวดำ งานนี้ก็เหมือนกัน ก็อาจจะถูกใจคนจำนวนหนึ่ง เหมือนเราเลือกข้าง (ฮา)
 
 
 
Q:ประสบการณ์จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาถึง รงค์ วงษ์สวรรค์
                วรพจน์- สำหรับเราอย่างที่พูดคือเป็นเรื่องวิชาชีพ ตอนทำที่เกิดเหตุเราเพิ่งออกมาจากระบบไม่นานเท่าไร เป็นงานแรกที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรแล้ว งานที่เราเลือกเอง ก่อนไปก็เอาแผนที่ประเทศไทยมากางดูเลยว่าที่ไหนน่าสนใจ น่าไปทำ ชั่วโมงนั้นต้นปี 2549 ถ้าให้พูดถึงประเด็นที่ใหญ่ที่สุด ใครๆก็ต้องพูดเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นเรื่องใหญ่สุด เพราะฉะนั้นเราอยู่ในวิชาชีพนี้อิสระอยู่ที่เราเลือกเอง ถ้าเราไม่ไปทำเรื่องที่สำคัญ แล้วเราจะตอบตัวเองอย่างไร
                มาถึงงานนี้เวลามันประจวบเหมาะ วางคอนเซ็ปท์เป็นคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ถามเต้ว่าพร้อมหรือเปล่า พอดีเป็นช่วงที่ติดต่อไป แล้วคุณรงค์ โอเค โดยหลักการเราเลือกเรื่องที่น่าสนใจ โดยตัวเราเองหลักการเลือกคนเราจะเลือก 2 แบบคือผู้อาวุโส กับคนหนุ่มสาว เพราะเราคิดว่าสังคมมันต้องขับเคลื่อนไปด้วยคนสองกลุ่ม ไม่ใช่การทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจำเป็นมากที่ต้องเอาประสบการณ์ของผู้อาวุโส คนหนุ่มสาวก็จำเป็นต้องเอาพลังของคนหนุ่มสาวบวกกับประสบการณ์ของผู้อาวุโส ก่อนหน้านี้เราก็ทำสัมภาษณ์ เป็นเอก รัตนเรือง ครั้งนี้ไปคุยกับผู้อาวุโสดูบ้าง
 
 
 
Q:ให้กลับไปถ่ายรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้มุมมองจะเหมือนปี 2549 หรือเปล่า
                ธวัชชัย- ก็ต้องไปเห็น ความรู้สึกเมื่อตอนนี้กับปี 2549 ก็ไม่ต่างกัน ข้างล่างก็คงยังเหมือนเดิม ถ้าให้ผมเดานะ เราไปก็น่าจะยังรู้สึกเหมือนเดิม
                วรพจน์- มันก็เหมือนยังมีคำถาม มีข้อสงสัยอะไรเยอะแยะไปหมด ยังอยู่ในความคลุมเครือ ยังอยู่ในหมอกควัน ยังไม่ได้กระจ่างอะไรขึ้นมา ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยซ้ำ แต่เราไม่ได้ตามใกล้ชิดแล้วนะ เราว่าเหมือนเดิม ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้น
 
 
 
Q:ถ้าให้เลือกแสดงนิทรรศการภาพ ที่เกิดเหตุ ในภาคใต้ อยากจะเลือกที่ไหน
                ธวัชชัย- อยากไปใต้ ที่ไหนก็ได้ บันนังสตา เจาะไอร้อง อยากลงไปปัตตานี
                วรพจน์- มีที่ติดต่อมาให้ไปภูเก็ต กับเชียงใหม่
                ธวัชชัย- ถ้าจะลงไปปัตตานี เราไปแสดงรูปอีกก็ได้ อยากลงไปจัดแสดงรูปให้ได้ดู