บทความชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 โดยสำนักข่าว Sinar Harian ประเทศมาเลเซีย ผ่านเว็บไซต์ www.sinarharian.com.my
Ulama pondok อูลามะปอเนาะ(นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม) ถือเป็นผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการทำให้โลกมาลายูนูซันตาราเป็นดินแดนแห่งอิสลามอย่างแท้จริงโดยผ่านหนังสือและตำราที่พวกเขาได้บรรจงเขียนขึ้นมา คำสอนของอิสลามถูกเผยแพร่และยังคงสามารถดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างแข็งแกร่ง
การเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนักล่าอาณานิคมจากตะวันตกไม่สามารถเปลี่ยนวิถีของภูมิภาคแห่งนี้ได้ถึงแม้นักวิเคราะห์ในปัจจุบันกลับมองว่าการเข้ามาของตะวันตกถือเป็นผลพลอยได้ของคนที่นี่ก็ตาม อูลามะถือว่ามีบทบาทสำคัญในการต้านทานแนวคิดหลากหลายที่หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเสรีนิยม แนวคิดเสรีในการนับถือศาสนาและแนวคำสอนที่ผิดๆ
เหล่าอูลามะจากปาตานีถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการทำให้ภูมิภาคมาลายูนูซันตาราแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งอิสลามที่มีความเคร่งครัดโดยพวกเขาเขียนทั้งตำราทั้งหนังสือโดยใช้ภาษามาลายูอักษรยาวีอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนอีกทั้งพวกเขายังแปลตำราภาษาอาหรับเป็นมาลายูโดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมมาลายูที่นี้ได้เรียนรู้และเข้าใจคำสอนของอิสลามอย่างถ่องแท้
ตำราสามวิชาหลักที่เป็นผลผลิตจากอูลามะปาตานีนั่นคือ วิชาเตาฮีดหรืออูศุลลุดดีน(หลักการศาสนา) วิชาฟิกฮ์หรือชารีอะฮ์(บทบัญญัติ) และวิชาตาซเซาฟ์(การขัดเกลาตนเอง) นอกจากนี้ยังมีการผลิตตำรา วิชาตัฟซีรอัลกุรอาน(อรรถาธิบายอัลกุรอาน) วิชาฮาดิษ (วจนะนบีมูฮำหมัด) วิชาตัจวีด (หลักการอ่านคัมภีร์กุรอาน) และวิชาประวัติศาสตร์อิสลาม อย่างหลังนี้ไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่
ในมาเลเซียมีปอเนาะมากมายที่ผุดขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศจนถึงประเทศได้รับเอกราช ปอเนาะหลายแห่งถูกก่อตั้งโดยเหล่าบรรดาอูลามะและเหล่าโต๊ะครูที่มีพื้นเพเดิมจากปาตานี ในจำวนวนนั้นหลายท่านเป็นมุฟตี (ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม) กอฎี(ตุลาการ) และผู้นำศาสนาระดับสูงของรัฐ รัฐเคดาห์ที่เป็นบ้านเกิดของผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น
Sheikh Wan Sulaiman bin Wan Siddiq
อุสตาซ ฮัจญีวันอิสมาอีล บินมุสตาฟา อัล-ปาตานี (Ustaz Haji Wan Ismail bin Mustafa al-Patani) หรือที่รู้จักกันในชื่อจิคดูอีกือดะห์ (Cik Dui Kedah) ถือเป็นอูลามะและผู้นำศาสนาที่ได้รับการยกย่อง ท่านต่อมาคือ ท่านชัยค์วันสุไลมาน บินวันซิดดิก (Sheikh Wan Sulaiman bin Wan Siddiq) อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามรัฐเคดาห์
Sheikh Wan Ibrahim bin Abdul Qadir al-Patani
ชัยค์ควันอิบราฮีม บินอับดุลคาเดร์ อัล – ปาตานี (Sheikh Wan Ibrahim bin Abdul Qadir al-Patani) หรือที่รู้จักกันในชื่อของปัคจูฮิมกือดะห์ (Pakcu Him Kedah) ท่านเป็นผู้ก่อตั้งปอเนาะอันโด่งดังโดยในสมัยนั้นท่านมีลูกศิษย์จากทั่วแผ่นดินมาลายูและจากสุมาตราเดินทางมาเรียนกับท่านเป็นจำนวนมาก
อีกท่านคือผู้ก่อตั้งปอเนาะที่บ้านซิค รัฐเคดาห์ นั่นคือ ท่าน อุสตาซฮัจญียัคกุบ อัล-ปาตานี (Ustaz Haji Yakqub al-Patani) และมีศักดิ์เป็นปู่ของท่านตันซรีอับดุลฮามิด โอธฮ์มัน (Tan Sri Abdul Hamid Othman) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้ก่อตั้งปอเนาะซูไงดูวาที่ซือบารังปือไร นั่นคือ ท่านชัยค์ไซนัลอาบีดิน บินมูฮัมหมัด อัล-ปาตานี (Sheikh Zainal Abidin bin Muhammad al-Patani) หรือต่วนมีนา (Tuan Minal) อูลามะผู้ยิ่งใหญ่ที่ร่วมกันผลิตตำรากับสหาย คือ ท่านชัยค์อับดุซซามัด กือลุมบัง อัล-ปาตานี (Sheikh Abdus-Samad Kelumbung al-Patani) นอกจากนี้ยังมีอีกท่านที่ก่อตั้งปอเนาะซูไงลาลังที่ซือบือรังปือไร นั่นคือ ท่านชัยค์อะฮ์หมัด อัล-ปาตานี (Sheikh Ahmad Al-Patani)
ส่วนรัฐเปรัค มุฟตีคนแรกเป็นอูลามะที่มีเชื้อสาย ปาตานี-กลันตัน นั่นคือ ท่านอุสตาซวันมูฮัมหมัด (Ustaz Wan Muhammad)
นอกจากนี้บุคคลระดับผู้นำในรัฐเปรัคหลายท่านมีเชื้อสายปาตานี มุขมนตรีรัฐเปรัคหลายท่านมีเชื้อสายปาตานีรวมทั้งท่านตันซรีราฟีดะฮ์ อาซิซ (Tan Sri Rafidah Aziz)
Sheikh Wan Ali Kutan al-Kalantani
ด้านชายฝั่งตะวันออก บทบาทและคุณูปการอูลามะจากปาตานียิ่งใหญ่มาก ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีและกลันตันไม่ได้ใกล้ชิดแค่เพียงทางภูมิศาสตร์ แต่มันยังรวมถึงความใกล้ชิดทางสายเลือดความเป็นเครือญาติระหว่างอูลามะผู้โด่งดังนั่นคือ ท่านชัยค์วันอาลี กูตัน อัล-กาลันตันนี (Sheikh Wan Ali Kutan al-Kalantani) ชัยค์วันอับดุสซอมัด(Sheikh Abdus-Samad) หรือต่วนตาบา (Tuan Tabal) และอุสตาซนิคมูฮัมหมัด บินอิสมาอีล (Ustaz Nik Mahmud bin Ismail) ประธานองคมนตรีรัฐกลันตัน
Tok Kenali
ปู่่ยาตายายของอูลามะผู้โด่งดังนั่นคือท่านโต๊ะกือนาลี (Tok Kenali) มีพื้นเพเดิมจากบ้านชาฮายาหรือไชยาที่ตั้งอยู่ในปาตานีเหนือ นอกจากนี้ยังมีอูลามะในรัฐตรังกานูที่เป็นที่รู้จักหลายท่าน เช่น ท่านชัยค์อับดุลคาดีร์ บินอับดุรราฮิม อัล-ปาตานี (Sheikh Abdul Qadir bin Abdur-Rahim al-Patani) หรือโต๊ะบูกิตบายัส (Tok Bukit Bayas) ท่านชัยค์วันฮาซัน บินวันอิสฮาค อัล-ปาตานี (Sheikh Wan Hasan bin Wan Ishak al-Patani) และท่านชัยค์มูฮัมหมัดอามิน (Sheikh Muhammad Amin) หรือ โต๊ะดูยุง (Tok Duyung) ท่านทั้งหมดนี้มีพื้นเพเดิมจากปาตานี
ในรัฐปาหัง มีสองอูลามะจากปาตานีที่โดดเด่นในสมัยนั้นนั่นคือ ชัยค์อุสมาน (Sheikh Utsman) มุฟตีรัฐปาหังคนแรกและยังเป็นครูของท่านมัตกีเลา (Mat Kilau) ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวมาเลเซีย และอีกท่านหนึ่งคือ ท่านอุสตาซฮัจญีอับดุลมูบิน อัล-ปาตานี (Ustaz Haji Abdul Mubin al-Patani) ซึ่งท่านเป็นครูของ อัล-สุลต่านปาหัง (Al-Sultan Pahang) สุลต่านอาบูบาการ์ริอายาตุลลุดดีน (Sultan Abu Bakar Ri’ayatuddin) และสุลต่าน อับดุลเลาะฮ์ มูซัฟฟาร์ ชะฮ์ (Sultan Abdullah Muzaffar Shah)
อูลามะจากปาตานีที่ทรงอิทธิพลในรัฐเนอกรีซึมบีลัน นั่นคือท่าน ต่วนฆูรู ฮัจญีมูฮัมหมัดซาอิด (Tuan Guru Haji Muhammad Sa’id) ท่านยังเป็นผู้นำบทสวดดุอาในระหว่างการประกาศเอกราชของมาเลเซียและท่านยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรกของมาเลเซีย อีกทั้งบุตรของท่านที่เป็นที่รู้จักคือ ท่านชัยค์ฮัจญีอะฮ์หมัด (Sheikh Haji Ahmad) และหลานของท่านที่เป็นที่รู้จักคือ ท่านชัยค์ฮัจญีมูรตาดาฮ์ (Sheikh Haji Murtadha) อดีตมุฟตีรัฐเนอกรีซึมบีลัน
อดีตมุฟตีและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลรัฐยะโฮร์คือ ท่านชัยค์ ฮัจญีอับดุลเลาฮ์ บินมูซา (Sheikh Haji Abdullah bin Musa) ท่านมีเชื้อสาย ปาตานี-กลันตัน
Tengku Mahmud Zuhdi bin Abdur-Rahman al-Patani
และอีกท่านคือ ท่านตึงกูมะฮ์มุดซุฮ์ดี บินอับดุรระฮ์มาน อัล-ปาตานี (Tengku Mahmud Zuhdi bin Abdur-Rahman al-Patani) อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามรัฐสลังงอร์ในสมัยสุลต่านสุไลมาน
คลิปวีดีโอชีวะประวัติ SYEIKH MUHAMMAD SAID LINGGI
ลิ้งต้นฉบับ(ภาษามาลายู)