Skip to main content

ข้ามฝั่งแค้น : Revenge A Story of Hope

โดย พระไพศาล วิสาโล 

 ส่วนหนึ่งในปาฐกถาธรรม หนังสือเรื่อง “ข้ามฝั่งแค้น : Revenge A Story of Hope” ของ พระไพศาล วิสาโล เมื่อไม่นานมานี้ ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

   “ความแค้นใน 3 มิติ คือ มิติที่ไกล ย้อนไปถึงว่ามนุษย์เรามีวัฒนธรรมความแค้นอย่างไร น่าสนใจที่มนุษย์เราสั่งสมความแค้นในแทบทุกมุมโลก โดยที่ศาสนาเองก็รับรองหรือสั่งสมความแค้นนั้น ว่าความแค้นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แม้กระทั่งฉายาของพระเจ้าก็เป็นเรื่องของความแค้น”

 

   ซึ่งในมิติด้านไกลนี้ ทำไมคนบางวัฒนธรรมถึงแค้น และโกรธกันได้เป็นพันปี แล้วทำไมความแค้นนั้นเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย ไม่แค้นไม่ได้ ต้องแค้น ความแค้นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ อันนี้มีที่มา ในด้านมิติของความกว้าง ที่โยงไปถึงความแค้นของยิวหรืออิสราเอล กับปาเลสไตน์ ว่าทำไมถึงเกิดสงคราม ฆ่ากันมากมาย เป็นมิติด้านการเมือง ปูมหลังทางด้านประวัติศาสตร์ มีมิติของการส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในปัจจุบัน นี่เป็นบริบทของสังคมการเมือง ซึ่งบางทีถ้าเราไม่เข้าใจถึงบริบทเราก็จะมองเห็นว่าความแค้นเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวโดยที่มันมีบริบททางสังคมการเมือง โดยที่ความแค้นในสังคมไทยก็มีบริบท ความแค้นในภาคใต้ก็มีบริบททางสังคมการเมือง นอกไปจากความกว้างหรือความไกล

 

   ด้านความลึก มันพาเราให้มาเห็นว่าทำไม เห็นอาการของความโกรธที่มันกระทำต่อจิตใจของผู้คนโดยเฉพาะในหนังสือเล่มนี้ แล้วชี้ให้เห็นว่าจากความโกรธความเคียดแค้น ความพยาบาท มันแปรมาเป็นความรักความเข้าใจและการให้อภัยได้อย่างไร ตรงนี้มันมีมิติในด้านความลึกที่ทำให้เราเห็นว่าความแค้น ความโกรธมันบั่นทอนแล้วทำลายความเป็นมนุษย์ของเราอย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นกับการที่เรามองกันและกันเป็นปฏิปักษ์อย่างไร

 

   ข้ามฝั่งแค้นนี้ เราจะข้ามได้ก็ต่อเมื่อเราข้ามเส้นแบ่ง มนุษย์เรามีเส้นแบ่ง เป็นเส้นแบ่งที่เราสมมติขึ้นมา ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การแบ่งทางด้านสีผิว หรือทางด้านเศรษฐสถานะ มนุษย์เรานี้ตราบใดที่ยังพอใจอยู่ในเส้นแบ่งของตัว ไม่กล้าที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งเหล่านั้นเพื่อไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง เราก็จะยังมีความโกรธ ความเกลียด และความแค้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเส้นแบ่งนั้นมันทำหน้าที่แบ่งว่าเราและเขา กูกับมึง กูดีมึงชั่ว มึงเลว เพราะฉะนั้นมึงสมควรตาย และมึงคือผู้ที่เป็นศัตรูกับกู ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรามีเส้นแบ่ง หมายความว่าเมื่อเราไปติดกับเส้นแบ่งแล้วมันก็ทำให้ความเป็นอื่นพัฒนาไปเป็นความโกรธเกลียด ความเป็นศัตรูกัน แล้วเราก็คิดว่าคนที่อีกฟากหนึ่งของเส้นแบ่งนั้นเป็นคนเลว มันต้องเลวกว่าเรา

               

   จากหนังสือเล่มนี้ ด้วยความเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ของ ลอร่า ทำให้มีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้มีความกล้า แล้วเมื่อมีความกล้าในการข้ามเส้นแบ่งไป ก็ทำให้เห็นว่าทำไมคนเราถึงฆ่ากันทั้งๆที่ไม่รู้จักกัน แล้วพอเข้าไปรู้จักก็ทำให้เข้าใจว่า อุดมการณ์และความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลาง ทำให้เกิดคนอย่าง โอมา มากมาย เห็นคนอื่นเป็นศัตรูทั้งๆที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ปัญหาก็คือว่าเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองกล้า ก้าวข้ามเส้นแบ่งนั้นได้

               

   ในเมืองไทยก็เป็นแบบนี้ เส้นแบ่งระหว่างชนชั้น ระหว่างสังคมมีมากขึ้น รวมทั้งเส้นแบ่งระหว่างสี เดี๋ยวนี้สีเหลืองสีแดงก็ไม่กล้าข้ามไปหากัน ไม่กล้าที่จะไปเข้าใจกัน เพราะสีแดงก็ฟังแต่โทรทัศน์ของสีแดง สีเหลองก็ดูแต่โทรทัศน์ของสีเหลือง แล้วก็คบแต่สีเหลือง สีแดงก็คบแต่สีแดง ไม่มีใครที่จะพยายามก้าวข้ามเส้นแบ่ง

               

   แต่ ลอร่า ก้าวข้ามเพราะความที่เธอเป็นนักหนังสือพิมพ์ ความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้ว่าความจริงคืออะไร ตรงนี้ทำให้เธอค้นพบว่าเธอกับ โอมา ก็เป็นคนเหมือนกัน เป็นเงื่อนไขที่ก้าวข้ามมาเอง ซึ่งคนธรรมดาไม่อยากจะเข้าไปหา ไม่อยากไปเจอหน้าคนที่เป็นศัตรูอยู่แล้ว ต้องสร้างระยะห่างตลอดเวลา ไม่ว่าจะในครอบครัว ในสังคม เราพยายามสร้างระยะห่างกัน เพราะเราไม่กล้า เพราะสังคมนี้ก็พยายามสร้างระยะห่างไว้

               

   ในสังคมอื่นเช่นแอฟริกา ก็มีข้อห้ามว่าอย่าให้คนในสังคมอื่นมานั่งกินข้าวจานเดียวกันกับเรา เมื่อถามว่าทำไม ในสังคมนั้นก็มีความเชื่อว่าถ้ากินข้าวจานเดียวกันกับศัตรู จะทำให้เราเสียชีวิต ความเชื่อนี้เกิดขึ้นเพื่อกีดกันไม่ให้คนมารู้จักกัน

               

   มนุษย์เราพยายามที่จะสร้างระยะห่างระหว่างเรากับปฏิปักษ์ ด้วยการออกระเบียบต่างๆมากมาย เพราะเรากลัวที่รู้ความจริงว่าคนที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูนั้น มันก็เป็นมนุษย์แบบเดียวกับเรา วัฒนธรรมจึงพยายามที่จะสร้าง ส่งเสริม และประคับประคองความแค้นเอาไว้ ที่น่าสนใจคือ ความแค้น ความโกรธ ความเกลียดนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่าเมื่อมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์แต่ทำไมวัฒนธรรมถึงมีความพยายามไม่ให้เราลืมความแค้น เช่น ผ่านทางเสียงเพลง บทกวี นิทานสอนเด็ก ทำไมหลายวัฒนธรรมจึงไปกระตุ้นให้มีความทรงจำเกี่ยวกับความแค้น แล้วสร้างระยะห่าง แสดงว่ามันเป็นปฎิมากรรมของมนุษย์ด้วย ในการที่พยายามจะสร้าง ผลิตซ้ำความแค้น แล้วประคบประหงมมันเอาไว้

               

   ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ จริงๆแล้วความแค้นนั้นมีประโยชน์ ความแค้นนั้นมีเหตุผล ความแค้นนั้นไม่ใช่เรื่องของความสะใจ ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ แต่ความแค้นเหมือนกับเป็นสัญญาณที่บอกอีกฝ่ายหนึ่งว่า อย่าทำฉันนะ ถ้าทำฉันนะแกจะเจ็บตัว นี่เป็นการส่งสัญญาณ ในบางวัฒนธรรมใครมีกำลังก็จะชนะ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องตนเองได้ก็คือการตอบโต้ไปยังคนที่ทำร้ายเรา แล้วการตอบโต้ไปยังคนที่ทำร้ายเราก็คือการแก้แค้น การแก้แค้นก็คือการป้องปรามไม่ให้คนอื่นมาเล่นงานเรา ถ้าเราไม่แก้แค้นก็เหมือนกับว่าเรากำลังส่งสัญญาณว่าเราอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้ใครต่อใครเข้ามาเล่นงานเรา

               

   เพราะฉะนั้นความแค้นนั้นมันมีความจำเป็นในสังคมวัฒนธรรมที่มีแต่กฎป่า ไม่มีกฎหมาย แต่ทุกังคมก็รู้อยู่ว่าความแค้นนี้เมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้ว มันคุมไม่ได้ มันเกิดความวุ่นวายขึ้น สังคมต้องมีสติปัญญาว่าความแค้นนี้ถ้าปล่อยเอาไว้นานๆแล้วมันไปไม่รอด ก็จึงต้องมีเครื่องมือมาควบคุมความแค้น เช่น ต้องแก้แค้นให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือในสังคมวัฒนธรรมตะวันตกก็จะมีการดวลดาบ คือสังคมพยายามที่จะควบคุมความแค้นเอาไว้ให้ได้ในระดับหนึ่ง

               

   ที่แย่กว่านั้นคือการให้กฎหมาย ให้รัฐบาลมาทำหน้าที่แก้แค้นแทน ทุกวันนี้เราพยายามจะโยนหน้าที่แก้แค้นนี้ให้รัฐบาล เช่นใครมาทำให้ลูกเราตาย รัฐบาลมีหน้าที่ประหารชีวิต นี่เป็นการแก้แค้นแบบโยนให้รัฐแก้แค้น

               

   ดีที่สุดคือการให้อภัย เพราะการให้อภัยทำให้ทุกอย่างจบ มันทำให้ความทุกข์ของเหยื่อก็ได้รับการเยียวยาด้วยการให้อภัย แล้วในขณะเดียวกันการที่จะห้ำหั่นกันต่อไปมันก็ยุติลงได้ ถามว่าความแก้แค้นมันมีความจำเป็นไหม ก็จำเป็นแต่ว่ามันหมดยุคแล้ว ยุคนี้เราต้องให้อภัยกันมากขึ้น และการจะให้อภัยได้เราต้องข้ามเส้นแบ่ง เส้นสมมติที่เรากำหนดมันขึ้นมา

 

   พระไพศาล เทศนาธรรมอีกว่า ที่เรายังพยาบาทกันอยู่ ถ้าเราไม่แค้นก็แสดงว่าเราอ่อนแอ มีความเข้าใจว่าไม่เพียงแค่การแก้แค้นเท่านั้น แต่การขอโทษก็ไม่ขอโทษแล้ว เพราะว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ  

               

   นี่เป็นความเชื่อ เพราะฉะนั้นก็จึงไม่ขอโทษ ยิ่งกว่านั้นคือต้องแก้แค้น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน อีกประการหนึ่งคือ อาตมาคิดว่ามันเป็นการ ยึดติดอันเนื่องมาจากความโกรธ เกลียด ในเวลานี้เมื่อเราโกรธ เราเกลียดอะไรสักอย่าง เรามีธรรมชาติที่จะผลักดันมันออกไป แต่ยิ่งเราผลักไสออกไปมากเท่าไร เราก็ยิ่งยึดติดมันมากเท่านั้น

 

โดยยกตัวอย่างเรื่องการล้างมือว่า เมื่อเราไปจับสิ่งสกปรกของเหม็น เราต้องล้างมือ แต่เมื่อล้างมือแล้วเราก็ยังเอามาดม ถ้ายังเหม็นก็ล้างต่อ เสร็จแล้วก็ดม ยิ่งเหม็นยิ่งเกลียดยิ่งไม่ชอบยิ่งอยากดม

               

   คนที่เราโกรธคนที่เราเกลียดนี้จะคอยมาปรากฏอยู่ในห้วงของสามัญสำนึกของเรา หรือที่เรียกว่าหลอกหลอนอยู่เป็นประจำ ยิ่งผลักยิ่งโผล่ ตรงนี้ที่จะมันทำให้ความทรงจำเข้าไปแทรกซึมสะสมจากความโกรธความเกลียด เป็นความพยาบาท เพราะว่าเราไปยึดติด ไม่สามารถปล่อยวางมันได้ แล้วเมื่อหวนคำนึงบ่อยๆก็จะทำให้เรายิ่งโกรธมากขึ้น ตรงนี้มันเป็นเรื่องของความไม่รู้ตัวด้วย

 

คือความโกรธ ความแค้น ความพยาบาท มันอยู่ได้เพราะมันอาศัยมุมมืดในจิตใจ มุมมืดในจิตใจที่ทำให้เราไม่ตระหนักรู้ ความโกรธทำให้เราไม่รู้ตัว เพราะถ้าเรารู้ตัวเราก็ต้องหลับได้ เราต้องกินได้ แต่ถ้าเรากินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่ามันคอยมาหลอกหลอน เติบโตขึ้นเรื่อยๆแล้วทำให้เกิดความยึดติด ซึ่งทำให้เกิดความพยาบาท นี่เป็นปัจจัยความยึดติดที่เกิดจากความไม่รู้ตัว แต่ถ้ารู้ตัวเมื่อไหร่แล้วเราเห็นโทษของมัน เห็นโทษของความโกรธ เห็นโทษจากความพยาบาท เราจะให้อภัย

 

โดยการให้อภัยนั้นมี ปัจจัยภายนอก กับปัจจัยภายใน บางคนอยู่ไม่ได้ เพราะว่าปัจจัยภายนอกคือความแค้นมันเข้าไปกัดกร่อนจิตใจ จนเรียนรู้ว่าต้องให้อภัยซึ่งเป็นกลไกในการปกป้องภายในจิตใจ เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยความพยาบาท จริงอยู่ว่าการให้อภัยนั้นเป็นของยาก แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือว่าอยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่มีการให้อภัย การให้อภัยนั้นยาก แต่อยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่มีมีการให้อภัยนั้นยากกว่า เพราะฉะนั้นเราจะอยู่แบบไหน ยากหรือยากกว่า

 

ปัจจัยภายนอก คือคนที่เขาทำให้เราเจ็บปวดนั้น เขาได้สำนึก เราได้อภัย เขาได้ขอโทษ หรือแม้ว่าเขาไม่ขอโทษ แต่เราได้เห็นว่าจริงๆแล้วเขาไม่ใช่ผีห่าซาตานอย่างที่เรานึกภาพเอาไว้ แล้วยิ่งกว่านั้นคือเมื่อเห็นว่าเขามีทุกข์อย่างไร โอกาสที่เราจะมองเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนทุกข์ก็จะมี คือไม่ต้องรอว่าเขาจะขอโทษหรือเปล่า ปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

พระไพศาล แนะนำว่า การให้อภัย หากคิดแบบชาวบ้าน ให้คิดว่าชาติที่แล้วเราไปโกงเขามาก่อน ชาตินี้เราเลยถูกเขาโกง ถึงแม้ว่าเราไม่เชื่อในชาติที่แล้วแต่เราก็สามารถให้อภัยได้ ถ้าเราเจอกับความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท แต่เรารักตัวเอง แล้วเราไม่อยากให้ตัวเราทุกข์ เราต้องให้อภัย ถ้าเราเริ่มต้นตรงที่เห็นเขาในอีกมุม พระพุทธเจ้าบอกว่าการที่คนจะลดความพยาบาท มี 2 วิธี คือ 1.การได้เห็นความทุกข์ของเขา 2.การได้เห็นความดีของเขา เวลาที่เราโกรธเราเกลียดใคร เราจะไม่เห็นความดีของเขาเลย ถ้าเราได้เห็นความดีของเขาเราก็จะเริ่มคลายความพยาบาท การจะตักน้ำออกจากจอกแหนทำอย่างไร ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการแหวกจอกแหน เราจึงจะตักน้ำได้

 

บางคนที่เป็นฆาตกร ถ้าเราก้าวข้ามเส้นแบ่งเข้าไป เราอาจมองเห็นว่าในวัยเด็กของเขานั้นเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำมาก่อน ไม่มีพ่อแม่ แล้วถูกทำร้ายมีชีวิตที่ลำบาก เมื่อเขาสำนึกผิด เราสงสารเขา เราก็จะเข้าใจในความทุกข์ของเขา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการคลายความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท แล้วจึงให้อภัย 

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่ทำได้ แต่ถ้าไม่เห็นตรงนี้ก็ยากที่จะให้อภัย ยากที่เราจะข้ามความแค้นความโกรธไปได้