Skip to main content

 

หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นบทเกริ่นนำของรายงาน “สนทนาชายแดนใต้/ปาตานี: บทสังเคราะห์จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ครั้งที่ 1-5)" ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับปีในการสร้างพื้นที่สร้างสันติภาพจากคนใน (IPP – Insider Peacebuilders Platform) ด้วยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้มีพูดคุยระหว่างผู้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองและภูมิหลังที่แตกต่างกันผ่านการวิเคราะห์ความขัดแย้งด้วยกัน การตั้งต้นวิเคราะห์โจทย์ในพื้นที่ซึ่งปลอดภัยเพียงพอร่วมกันโดยผู้คนที่แตกต่างกันดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ กองบรรณาธิการเห็นว่าเอกสารชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกฝ่าย จึงนำมาเผยแพร่ในที่นี้
 
คลิกดาวน์โหลดรายงาน “สนทนาชายแดนใต้/ปาตานี: บทสังเคราะห์จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ครั้งที่ 1-5)"
 
 
เกริ่นนำ
 
ปรากฏการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้[1]ได้ดำเนินล่วงเข้าสู่ปีที่สิบ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและยังผลให้มีเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เกี่ยวข้องไปไม่น้อย อาการความยืดเยื้อเรื้อรังของความรุนแรงปรากฏขึ้นจนยากจะเยียวยาและฟื้นฟูได้ด้วยแนวทางการทหารและวิธีการชนิดที่สังคมไทยเคยประสบพบเจอมาก่อน แต่กระนั้นเมื่อไม่นานมานี้ สัญญาณในทางบวกเกี่ยวกับการแสวงหาหนทางคลี่คลายความขัดแย้งที่รุนแรงดังกล่าวด้วยแนวทางการเมืองก็เผยให้เห็นโอกาสหลายประการ
กลางปี 2554 องค์กรทางวิชาการภายในประเทศ อันได้แก่ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และองค์กรประชาสังคมอย่างศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ร่วมกับมูลนิธิเบิร์กฮอฟจากประเทศเยอรมัน จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยวางเป้าประสงค์ในเบื้องต้นไว้ดังนี้ คือ
ประการแรก สร้างเวทีหรือพื้นที่กลาง (platform) ที่หลอมรวมเอาผู้คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองและภูมิหลังอันแตกต่างหลากหลายเพื่อร่วมกันทำงานวิเคราะห์ความขัดแย้งและผลักดันการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
 
 
 
ประการที่สอง ร่วมพัฒนาแผนที่เดินทางเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรมในบริบทของความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ (หรือ “ปาตานี” (Patani) ในอีกแง่หนึ่ง[2]) ที่จะหนุนเสริมและสะท้อนความจำเป็นของกระบวนการสันติภาพในเส้นทางเดินที่ 1 (Track 1)[3] พร้อมๆ กับปฏิบัติการในการสร้างสันติภาพและสนับสนุนความยุติธรรมที่หลากหลายระดับ ซึ่งในตอนท้าย จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของเครือข่ายที่มีความหลากหลายดังกล่าว
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีจำนวน 5 ครั้ง ระหว่างเดือนกันยายน 2554 – มิถุนายน 2555 ภายใต้ “โครงการประชุมสัมมนาวิชาการการพัฒนาการส่งเสริมทางด้านยุทธศาสตร์ของผู้สร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้” นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ของกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีผ่านการร่วมกันพูดคุยสนทนาเพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้งด้วยกระบวนการเครื่องมือต่างๆ โดยผู้คนที่มีภูมิหลังและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถวิเคราะห์ความขัดแย้งเชิงระบบ (systemic conflict analysis) มองให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของความขัดแย้ง (complexify) และมีบทสรุปที่ตกผลึกเรียบง่ายต่อการเข้าใจสถานการณ์และการนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา (simplify) ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าเราจะไม่สามารถ    เข้าใจความขัดแย้งได้หากไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนของมัน และเราจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้หากไม่มีบทสรุปรวบยอดที่ชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ     
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในวงสนทนาจะฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ได้แจ่มชัดขึ้น ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมกระบวนการที่ต่างเป็น “คนใน” ในฐานะที่เป็นผู้คนที่อยู่กับความขัดแย้ง ผู้คนที่สัมผัสกับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบโดยตรง รวมไปถึงผู้คนที่มีความพยายามจะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี่เองที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ให้เดินไปทิศทางที่สร้างสรรค์และเอื้อต่อการแสวงหาทางออกมากที่สุด
บทเรียนจากหลายประเทศพบว่าหากกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเดินไปโดยไรซึ่งบทบาทสำคัญของ “คนใน” หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง ก็ยากที่ข้อตกลงสันติภาพหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้รับการเสนอขึ้นมานั้นจะมีประสิทธิภาพและความยั่งยืน การให้ความสำคัญกับ “คนใน” ดังกล่าวอยู่บนฐานคิดที่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีความชอบธรรมอย่างยิ่งต่อการเสนอว่าอนาคตสังคมที่พวกเขาอยู่จะหน้าตาควรเป็นเช่นไร สิ่งนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานของการแสวงหาพื้นที่กลางที่จะรวบรวมเอาผู้คนที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่มีภูมิหลังและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันให้สามารถเข้ามาร่วมกันคิด ถกเถียง วิเคราะห์ กระทั่งสามารถผลักดันทำงานร่วมกันในอนาคต
กระบวนการดังกล่าวเป็นเป้าหมายในตัวมันเองสำหรับการสร้างพื้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ความรุนแรงจากทุกฟากฝ่ายกำลังดำเนินอยู่อย่างไม่ลดละและกดดันเสียจนกระทั่งว่าเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งนักที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมากับผู้คนที่เห็นแตกต่างกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาทั้ง 5 ครั้ง ซึ่งรวมแล้วประมาณ 50 คน ที่สลับหมุนเวียนกันไปบ้างในแต่ละรอบนั้น ประกอบไปด้วยผู้ที่มี “ความเห็นต่างทางการเมือง” จากหลากหลายภาคส่วนที่เน้น “คนในพื้นที่” เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ สมาชิกกลุ่มสตรีและเยาวชน ครู นักวิชาการ ตลอดจนคนทำงานของกลุ่มประชาสังคมในมิติของสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเยียวยา การพัฒนาชุมชน สันติวิธี การศึกษา วัฒนธรรม และการปฏิรูปการเมืองการปกครอง โดยมีทั้งคนไทยพุทธ คนมลายูมุสลิม และคนจีน ตามสัดส่วนที่สะท้อนจำนวนประชากรในพื้นที่[4] ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด แต่ก็สามารถสะท้อนความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆได้ครอบคลุมในระดับที่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ความขัดแย้งร่วมกัน
การแลกเปลี่ยนข้างต้นนี้ถือได้ว่า “เป็นครั้งแรกที่นำผู้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับความขัดแย้งในมิติต่างๆมาวิเคราะห์ร่วมกัน ที่ผ่านมา...ต่างฝ่ายต่างวิเคราะห์จากจุดยืนของตนเอง จึงทำให้นโยบายสาธารณะ ข้อเสนอ มาตรการทางกฎหมาย และกิจกรรมทางสังคมของภาคประชาสังคมมีแค่มุมเดียว ไม่กว้างขวาง”[5]   
ภูมิหลังและภารกิจหลักที่แตกต่างกันดังกล่าวของผู้เข้าร่วมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้กรอบการมองปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นั้นแตกต่างกัน ทั้งยังมีลักษณะการทำงานเพื่อสันติภาพที่แยกส่วนกัน หรือในที่นี้คือการมุ่งไปสู่การสร้าง “สันติภาพในภาพย่อย (Peace Writ Little)” ซึ่งถือเป็นสภาพการณ์ปกติในพื้นที่ซึ่งอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ทว่าความแตกต่างเหล่านี้ก็เป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อก่อร่างสร้างภาวะที่เรียกว่าสันติภาพ-ยุติธรรมด้วยเช่นกัน หากได้ร่วมกันนั่งลงและวิเคราะห์ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างกรอบการมองปัญหาในทิศทางเดียวกันและก่อความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง “สันติภาพในภาพใหญ่ (Peace Writ Large)” ในระยะต่อไป (กรุณาดูรายละเอียดในภาคผนวก ก)
            ผู้เข้าร่วมประชุมต่างได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นในการวิเคราะห์ความขัดแย้งในประเด็นดังนี้
1) ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ มีลักษณะอย่างไร?  (แผนที่ตัวแสดงและความสัมพันธ์ – Actor-Relationship Mapping)
2) กลุ่มที่เกี่ยวข้องหลักมีความขัดแย้งในประเด็นได้บ้าง? (จุดยืน จุดสนใจ ความจำเป็นพื้นฐาน และความกลัว – Position, Interest, Need, and Fear)
3) ปัจจัยอะไรที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ความขัดแย้งมีลักษณะรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรัง? (แรงขับเคลื่อนความขัดแย้ง – Drivers of Conflict)
4) แต่ละกลุ่มมีเรื่องเล่าหรือมุมมองต่อประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งอย่างไร? (เรื่องเล่าของความขัดแย้ง – Narratives of Conflict)   
5) ความขัดแย้งดำรงอยู่ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมใด และมีความพยายามที่ผ่านมาในการสร้างสันติภาพอย่างไรบ้าง?  (บริบทของความขัดแย้ง – Context)
เอกสารฉบับนี้จะเป็นบทสังเคราะห์ข้อคิดเห็นและมุมมองของผู้เข้าร่วมประชุมที่จะมีทั้งความเห็นร่วมและความเห็นต่างในแต่ละประเด็นข้างต้นโดยอิงกับหลักการฉันทามติที่เพียงพอ (sufficient consensus) อันจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีความคิดเห็นตลอดจนความเป็นมาที่หลากหลาย มีมุมมองต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีอย่างไร และในอีกแง่หนึ่ง ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสารนี้ จะมิได้หยุดนิ่งตายตัว หากแต่จะมีความเป็นพลวัตและอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผลที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือต่างๆ ร่วมกัน ภายใต้บริบทของสถานการณ์และประสบการณ์ของแต่ละคน 
ในท้ายที่สุด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสังเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ที่จะกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงหารือในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีและในสังคมไทยโดยรวม ตลอดจนจะเป็นข้อมูลที่สามารถสร้างวาระร่วมที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการทำงานร่วมกันในการแสวงหาทางออกที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ในระยะต่อไป  
 
 


[1] ตามการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา คืออำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
[2] ความแตกต่างในการใช้คำว่า Patani (ปาตานี) หรือ Pattani (ปัตตานี) แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่ระหว่างวาทกรรม “(อาณาจักร) ปาตานี” และ “(จังหวัด) ปัตตานี” ในฐานะที่คำแรกสะท้อนให้เห็นความปรารถนาทางการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่อันยาวนาน และคำหลังที่เป็นหนึ่งในชื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐไทยที่สะท้อนการธำรงไว้ซึ่งสถานภาพเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ การริเริ่มใช้คำว่า “Pa(t)tani” โดยคณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform – IPP) จึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่
[3] กระบวนการสันติภาพในเส้นทางเดินที่ 1 หรือ Track 1 นี้ คือ ความพยายามในการสร้างสันติภาพระหว่างผู้กำหนดนโยบายของคู่ขัดแย้งหลักสองฝ่าย
[4] การพิจารณาเชิญผู้เข้าร่วมวางอยู่บนหลักเกณฑ์ 5 ประการ ได้แก่ (1) มีความมุ่งมั่นที่จะยุติความรุนแรงและเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งดังกล่าวอย่างจริงจัง (2) สามารถสะท้อนเสียงผู้คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้ (3) มีเครือข่ายการทำงานที่สามารถขยายผลการทำงานต่อไปได้ (4) เป็นคนที่มีจิตใจ เปิดกว้างที่จะทำงานกับคนที่เห็นแตกต่างกันหรือมีภูมิหลังต่างกันได้ และ (5) สามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะหมุนเวียนกันเชิญเข้าร่วมในการประชุมครั้งละประมาณ 30 คน
[5] คำกล่าวเปิดการประชุมโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ จากเอกสารสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์ความขัดแย้ง: แผนภาพกลุ่มผู้ขัดแย้งและความสัมพันธ์” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2554 ภายใต้โครงการประชุมสัมมนาวิชาการ การพัฒนาการส่งเสริมทางด้านยุทธศาสตร์ของผู้สร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกับสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี