Skip to main content
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เผยแพร่วันที่  4  ม.ค. 56
 
แถลงการณ์  ครบรอบ  9 ปี  กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง  จ.นราธิวาส  แม่ทัพภาคที่ 4  ได้ออกประกาศกองทัพภาคที่ 4  ให้ใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  จังหวัดปัตตานี  และจังหวัดยะลา  เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งแรกและมีผลใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 21 กรกฎาคม  2548  ได้มีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ แทน และมีประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549  หลังจากที่มีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ได้เพียง 1 ปี  คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ  แม้ต่อมาจะได้มีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่  แต่ยังคงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  จังหวัดปัตตานี  และจังหวัดยะลา  ไว้จนถึงปัจจุบัน  นับว่ารัฐบาลทุกชุดได้คงไว้ซึ่งการบังคับใช้กฎอัยการศึกทับซ้อนกับการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลานานถึง  9  ปีแล้ว
ผลกระทบจากการบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏชัดเจนคือการปิดล้อม  ตรวจค้น  จับกุม  และควบคุมตัว  โดยไม่ต้องมีหมายค้น  หมายจับ  และหมายควบคุมตัวจากศาล  กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอย่างกว้างขวางในการใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้  โดยไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรอื่นๆ แม้กระทั่งศาลหรือระบบตุลาการ แต่อย่างใด กล่าวคือ  ในการตรวจค้น  จับกุม  และควบคุมตัวหรือกฎหมายใช้คำว่า “กักตัว” ได้  ไม่เกิน  7  วัน ตามมาตรา 15 ทวิ  นั้น  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจตามดุลพินิจของตนเองว่ามีเหตุและมีความจำเป็นต้องจับกุมและควบคุมตัวบุคคล  ซึ่งตามพรก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะกำหนดให้ต้องมีการขอออกหมายจากศาลก่อนเท่านั้น เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบถึงความชอบด้วยเหตุผลที่จะจับกุมและควบคุมตัวบุคคลว่ามีเหตุเพียงพอหรือไม่ที่จะต้องกระทำเช่นนั้น  ช่วยกลั่นกรองการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินความจำเป็น
การบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 9 ปี  ที่ผ่านมา  พบว่า  มีปัญหาหลายประการ  เช่น  การควบคุมตัวบุคคลไปโดยไม่แจ้งให้ญาติทราบว่าจะนำตัวไปที่ควบคุมที่ใด  เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ใดก็ได้  การไม่มีข้อกำหนดหรือระเบียบที่ชัดเจนว่าให้ญาติเยี่ยมได้หรือไม่เพียงใด  และแม้ว่าทางทหารจะไม่ได้บังคับใช้อำนาจทุกรูปแบบแต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้มีผลทางกฎหมายหลายประการ อาทิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ใน 3 เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการยุทธ เรื่องที่เกี่ยวกับการระงับปราบปราม เรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลง และขับไล่ ทหารมีอำนาจตรวจค้น เช่น ตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข ภาพบทโฆษณา บท คำประพันธ์ ทหารมีอำนาจการห้าม เช่น การห้ามประชาชนมั่วสุม ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจกซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์ ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด ทั้งหมดอำนาจบังคับต่างๆ เหล่านี้ไม่เป็นหลักการประชาธิปไตย เราไม่สามารถเริ่มกระบวนการสันติภาพได้ถ้าไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย  และรัฐยังคงให้อำนาจทหารในการใช้กฎอัยการศึกต่อไป
เนื่องจากครบรอบ  9  ปี  การประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน  จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้ดำเนินการ  ดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้มีการทบทวนการประกาศพรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนนั้น  ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่  ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ยากแก่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่  แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นต้องให้อำนาจฝ่ายพลเรือนเป็นหลักในการกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนอำนาจทางการทหารดังที่ผ่านมา 9 ปี เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในการริเริ่มดำเนินงานด้านการสร้างสันติภาพอย่างจริงจัง
2.  ขอให้มีการออกระเบียบหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว  ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามกระบวนการยุติธรรม  ต้องเปิดเผยให้ผู้ถูกควบคุมตัวและญาติทราบถึงเหตุของการควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัว  ตลอดจนกำหนดวิธีการเกี่ยวกับการเยี่ยมและการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว  เป็นต้น
3. ขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้มีความสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถือหลักการแบ่งแยกอำนาจ  หลักนิติธรรม  และหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เป็นสำคัญ  เนื่องจากพรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457  เป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  จึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ  โดยไม่มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอื่นๆ ที่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย