แปลและเรียบเรียง นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ
สำนักสื่อวารตานี [WARTANI]
รายงานเสวนาพิเศษท่ามกลางการทำสงครามกับหลากหลายแนวทางสู่สันติภาพปาตานี นักวิชาการอิสระ อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ แนะสู้ในกรอบรัฐธรรมนูญฉบับพลเมือง ยืนยันประชาชนปาตานีสามารถกำหนดชะตากรรมตนเองได้ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐไทย สิ่งสำคัญมันจะทำได้จริงหรือไม่ต้องกลับถามตัวเอง
ผู้ดำเนินรายการ : อาเต๊ฟ โซ๊ะโก
นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า
หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA]
หากใครจำกันได้และศึกษาประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาที่เกิดสงครามระหว่างปาตานีกับรัฐไทยที่ซึ่งมีกรุงเทพเป็นศูนย์กลางของอำนาจ การต่อสู้ที่ผ่านมาระหว่างปาตานีกับรัฐไทยมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
ประเด็นแรก คือ ทุกครั้งสงครามที่เกิดจากรัฐไทยสงครามนั้นจะเป็นสงครามเพื่อขยายดินแดน แต่สงครามที่เกิดขึ้นจากปาตานีจะเป็นสงครามที่ต้องการปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง นี่คือความแตกต่าง
วันนี้เราคงได้มาฟังกันว่า ปาตานีทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่กับรัฐไทยอันมีกรุงเทพเป็นศูนย์กลางของอำนาจหกครั้งด้วยกัน สงครามในแต่ละครั้งจะผลัดกันแพ้และผลัดกันชนะ แต่ครั้งสุดท้ายที่ปาตานีแพ้สงครามคือปี ค.ศ.1786 นั้นคือปีสุดท้ายที่ปาตานีแพ้สงคราม และเป็นครั้งสุดท้ายอีกเช่นกันที่ปาตานีมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง จากนั้นเป็นต้นมาเราก็เปลี่ยนสถานะจาก Patanian Citizenship หรือพลเมืองของปาตานีกลายมาเป็นพลเมืองของประเทศไทยโดยจำใจหรือยอมรับโดยดุษฎีก็สุดแล้วแต่ นั่นเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เกิดขึ้นระหว่างปาตานีกับรัฐไทย
หลังจากนั้นเป็นต้นมาการปรับเปลี่ยนนโยบายและการดำเนินนโยบายจากรัฐไทยก็มีอย่างเสมอมาเพื่อที่จะให้เมืองที่อยู่ภายใต้บรรณาการ ไม่เฉพาะปาตานี บางส่วนของอีสาน และบางส่วนที่เป็นล้านนาก็เกิดขึ้น หนึ่งนโยบายที่เราทราบกันก็คือ นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม หรือ Assimilasi ในภาษามลายู Assimilation ในภาษาอังกฤษ นโยบายผสมกลมกลืนคือ การกลืนความเป็นมลายูที่ละนิดทีละหน่อย ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดคือพวกเรา ณ ที่นี้ เราสามารถใช้ภาษาไทยและเข้าใจภาษาไทยได้มากกว่าภาษาของบรรพบุรุษตนเอง นี่คือผลพวงจากนโยบาย Assimilation ที่ชัดเจนที่สุด
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เนื่องจากการใช้นโยบายผสมกลมกลืนก็เกิดการต่อสู้จากปาตานีอยู่เรื่อยมา การแข็งเมือง การเรียกว่าเป็นกบฏเจ็ดหัวเมือง เป็นต้น มันก็มีอยู่ตลอดเวลาแต่การใช้นโยบายเพียงแค่นั้นมันยังไม่เพียงพอ นโยบายถัดมาคือ Divide and rule นโยบายแบ่งแยกและปกครอง คือแบ่งแยกปาตานีจากที่เป็นรัฐเดียวกลายเป็นรัฐเจ็ดหัวเมืองด้วยกัน แบ่งเป็นหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยและแต่งตั้งคนที่ตัวเองไว้ใจ บ้างก็เป็นคนมลายูปาตานีที่ใส่ความคิดสยามเข้าไป บ้างก็เป็นคนมลายูปาตานีที่คิดว่าต้องรักษาภาพว่าตนเองยังให้อำนาจต่อคนมลายูปาตานีอยู่ ยังไม่เพียงพออีกเช่นกัน
นโยบายถัดมาที่ใช้ต่อปาตานีคือ มีนโยบายที่จะทำยังไงก็ได้ที่สามารถกลืนความเป็นมลายูปาตานีให้มากที่สุด ซึ่งมันก็ทำไม่ได้ผล การแบ่งแยกและปกครองก็ทำได้ชั่วขณะเท่านั้น คนมลายูปาตานีถูกกล่าวหาเป็นคนที่ค่อนข้างหัวแข็งและแข็งกร้าว ก็เลยมีการดึงคนที่ไม่รู้อะไรต่อเรื่องนี้เลย หรือเพื่อนชาวไทยที่เป็นคนภาคอีสานและที่เป็นคนภาคเหนือ หรือกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนที่ต้องการหาที่ทำกิน รั
ฐก็มีการเปิดนโยบายให้มีการย้ายคนเหล่านั้นเข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้คนมลายูปาตานีมีสัดส่วนน้อยลง นโยบายดังกล่าวเขาเรียกว่า Transmigration หรือนโยบายการอพยพคนจากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่ง ซึ่งเราจะพบเห็นจากนิคมต่างๆที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในปาตานีและเนื่องจากใช้นโยบายเหล่านั้น ใช้ไม่ได้ผลก็ต้องใช้การบังคับ นโยบายถัดมาเป็นนโยบายแบบรัฐไทยนิยม มีการใช้บังคับให้เราเปลี่ยนวัฒนธรรม คือนโยบายทางทหาร หรือ Militarization
คือการใช้กฎหมายที่บังคับ อย่างปัจจุบันที่เราทราบดีอย่างชัดเจนคือ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และพรบ.ความมั่นคง นี่คือภาพรวมทั้งหมดระหว่างสงครามระหว่างปาตานีกับรัฐไทย
อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
ผู้อำนวยการ หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า
สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ อย่างไร ขอตอบว่าได้แน่นอน มั่นใจเต็มล้านเลยว่าได้ เพราะมันมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งที่เราพูดวันนี้เราพูดภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดนอกเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเราพูดนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญแล้วเราอาจจะมีข้อกล่าวหาเป็นคนอย่างอื่น รัฐธรรมนูญที่รองรับคำตอบผม ว่าได้หรือไม่ได้ ที่น่าสนใจหลายมาตราในรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคืออย่านอนเคลิ้มต้องให้ใครมาปลุก แต่วันนี้ผมรู้สึกว่าทุกคนยังอยู่ในสภาวะนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2550 มีพื้นฐานที่กล่าวอยู่สี่ข้อ หนึ่งคือให้การคุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ข้อที่สองคือ ลดการผูกขาดอำนาจของรัฐและเพิ่มอำนาจของประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐถืออำนาจมากเกินไปและเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน ข้อที่สามคือการเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ข้อที่สี่คือทำให้องค์กรตรวจสอบมีความอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าใจตรงนี้ เพราะฉะนั้นหากใครฟัง ต้องฟังให้ชัด ต้องฟังให้หมด อย่าฟังแบบไม่ชัดแล้วเข้าไปรายงานให้กับเจ้านายทราบ
มาตรา 69 “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศไทย โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งหากคนอื่นคิดที่จะทำกับเราในรูปแบบอื่น เราสามารถที่จะปกป้องตนเองได้ ทุกคนลองคิดดูเอาเองแล้วกันว่าอะไรบ้างที่คนอื่นเขาทำต่อเรา
ถนนคนเดิน ไม่ใช่ให้รถถังวิ่ง ทุกวันนี้ผมไปนราธิวาสเจอ 13 ด่านที่ต้องขับผ่าน บางด่านบอกว่า “ขออภัย ถ้าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตัวไม่สุภาพ” เขาแปลเป็นภาษามลายูว่า “Minta Maaf Kalau Pegawai Kerajaan Kerja Kurang Ajar”
มาตรา 37 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ชัดเจนมากในมาตรานี้
ซึ่งถ้าหากเรานำมาแปลเป็นภาษามลายูในมาตรานี้คือ คนมลายูมุสลิมสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรานี้ อย่างเช่น ถ้าหากในหมู่บ้านหนึ่ง คนมุสลิมทุกคนต้องการที่จะใช้ระบบชูรอเพื่อเลือกผู้ใหญ่บ้าน หากใครบอกว่าทำไม่ได้ คนนั้น คือ คนที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญและต่อต้านกฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม)
ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองไม่ให้รัฐกระทำอันใดๆอันเป็นการริดรอนสิทธิ” เราต้องการที่จะเลือกใช้ระบบชูรอ (ระบบการเลือกตั้งสภาในอิสลาม) หรือจะทำอะไรก็ได้เพราะว่าเราถูกปกป้องโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพียงแค่เราไม่รู้และไม่เคยใช้ เคยใช้แต่ใช้เพียงครึ่งเดียว ไม่เคยใช้ให้หมด เพราะกลัว ไม่ได้น่ะ!! เพราะประชาธิปไตยมันต้องมีการเลือกตั้ง อีหม่ามยังต้องเลือกเลย
ตอนนี้มอบเงินเดือนให้คนละ 3,000 บาท ก็วุ่นวายแล้ว ยังไม่รวมถึงเงินเดือนผู้ใหญ่บ้านอีก 7,000 บาท บวกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อีก 20,000 กว่าบาท ซึ่งจะเห็นว่าเงินเดือนมากกว่าปริญญาตรีอีก เพราะฉะนั้นกลับไปสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านดีกว่า
มาตรา 66 “บุคคลซึ่งรวมเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี” ลองกลับไปอ่านดูมาตราที่ 66 เพิ่มเติมว่ามันมีอะไรบ้าง เพราะเราจะเห็นความสวยงามของบ้านเรา แต่เรากลับไปไม่ได้ อย่างเช่น ป่าบาลาฮาลา ถ้าหากใครเห็นว่าป่าบาลาฮาลาสวยงามแล้วต้องการจะกลับไปจะต้องไปกับ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และถ้าหากจะไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านที่ถูกไล่ออกสมัยไล่กลุ่มคอมมิวนิสต์ก็ไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคง
และถ้าหากเราต้องการที่จะเห็นประวัติศาสตร์ของคนปาตานีที่หนีสงครามขึ้นไปอยู่บนยอดเขาป่าบาลาฮาลาเป็นร้อยๆปี ถึงช่วงเวลาหนึ่งที่กลุ่มคอมมิวนิสต์เข้าไปในหมู่บ้าน พวกเรากลับถูกรัฐไล่ออกและเผาหมู่บ้านนั้นทิ้ง ส่งผลให้ต้องอพยพมาอยู่ริมถนน จนวันนี้ก็ยังอยู่ริมถนนอีก แต่คนจีนในประเทศมาเลเซียเข้ามาทำสงครามในรัฐไทยสุดท้ายก็เรียกเข้ามาเพื่อให้มาเป็นคนไทยอยู่ในพื้นที่อำเภอเบตงเต็มไปหมด แล้วสรุปคนมลายูปาตานีได้อะไรไปบ้าง นี่คือ สิทธิที่เราควรจะพูด ควรจะเรียกร้อง ในสิ่งที่มันเรียกร้องได้ แต่เราก็ไม่เรียกร้องเพราะเราไม่รู้
“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ดำรงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” อย่างเช่น น้ำตกหลายแห่งเราเข้าไปไม่ได้เพราะถูกปิดไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง
มาตรา 78 “รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง” นี่แหละคือสิ่งที่สามารถกำหนดชะตากรรมของพวกเราได้ วันนี้เราไปถึงจุดนี้แล้วหรือยัง กระทรวงมหาดไทยตอบว่า “ผมให้การปกครองดีแล้ว ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปกครองดูแลห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีอยู่แล้ว” แต่ทำไมจังหวัดอื่นไม่มี ศอ.บต.เหมือนกับเราบ้าง ? มีอยู่แต่ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร ? “ก็ผมให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แล้ว” ถามต่อว่า อบต.มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็น อบต.ของประชาชนอย่างแท้จริง ผมเคยเป็นนายก อบต.สมัยที่หนึ่ง ผมรู้ว่า อบต.มีประโยชน์มากๆต่อประชาชน แต่ถามพวกเราว่า อบต.ที่บ้านเขาทำอะไรบ้าง ? มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ? เงิน 100 บาท ไปถึงประชาชนกี่บาท ? นี่คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ
ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลาดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศรวมทั้งให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น” มันยุติธรรมมากในตัวบทรัฐธรรมนูญที่ร่างเอาไว้ แต่ในส่วนการนำไปปฏิบัตินั้นเราต้องถามตัวเราเอง เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนๆที่สามารถถืออำนาจได้ สิ่งไหนที่เป็นอำนาจของประชาชนพวกเขาก็ปิดไว้ไม่ให้ประชาชนทราบ เมื่อประชาชนขอครั้งหนึ่งพวกเขาก็เปิดให้ครั้งหนึ่ง แต่สิ่งไหนที่เป็นอำนาจของตนเองเขาก็กลับนำไปใช้
เพราะฉะนั้นพวกเราวันนี้อย่าไปเร่งรีบให้มาก ศึกษาดูก่อน ศึกษาให้รู้ ให้มากและให้ละเอียดแล้วค่อยมาว่ากัน อาจจะใช้พื้นที่ มอ.ปัตตานีนี้เป็นฐานในการพูดคุยอย่างนี้ เพราะ มอ.ปัตตานี เป็นแหล่งวิชาการที่สมควรมาพูดวิชาการ ไม่ใช่พูดเพื่อแบ่งแยกดินแดน
“เพราะฉะนั้นคำตอบที่ผมตอบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราสามารถที่จะจัดการตนเองได้ เชื่อแล้วหรือยัง ? ยังไม่เชื่ออีกหรือ ? เชื่อหรือไม่ว่าเราทำได้ ? ในตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญตอบว่า เราทำได้ แต่สิ่งที่มันจะสามารถทำได้จริงหรือไม่นั้นต้องกลับไปถามตัวเราเอง”
อะไรคืออุปสรรคของการจัดการตนเอง ? ตอบว่า ผู้หญิง หรือผู้ชาย หรือทหาร หรือกฎหมาย สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถให้เรากำหนดชะตากรรมตนเองได้ ? ตอบว่าไม่ใช่ทั้งนั้น ตัวเราที่ไม่ใช่เงาและภาพลวงตา ลองกลับไปถามตนเองว่า เราจะสู้หรือไม่สู้ ? ต่อสู้ ณ ที่นี่ คือ การต่อสู้ในเรื่องของการเรียกร้อง คำว่า “ยูแว” อย่าเข้าใจว่าเป็นการต่อสู้เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว
“สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ถามตนเองให้แน่ชัดและให้กระจ่างว่าจะอยู่อย่างนี้ต่อหรือไม่ ?” ถ้าหากอยู่ได้ก็จงอยู่ตามสะดวก ไม่มีใครมาว่าอะไร ก็อยู่ไปเรื่อยๆทำ “อามาลอีบาดัต” ต่อไป เพราะอาจจะใกล้ถึงวันตายของเราและวันสิ้นโลกแล้ว ท่านศาสดาสุไลมานเคยกล่าวว่า “ในช่วงภาวะสงครามหากใครยังขอดุอาอยู่ก็จงตัดคอเสียเลย” จะบอกว่าสำคัญถึงขนาดนั้นเลย
ถ้าอยู่ไม่ได้ต้องช่วยกันหาทางออกร่วมกันเป็นเครือข่าย มีทางออกมากมาย เช่น คุย สนทนา เจรจา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่เหมาะสม”
“จะคุยกับใคร ? หรือจะคุยกับผู้ใด ?” คือคำถามที่รัฐชอบใช้บ่อยมาก เช่น ถ้าหากจะคุยกับกลุ่มก่อการร้ายแล้วจะคุยกับใคร ? แล้วก็เดินไปคุยกันมั่ว ทั่ว ไปถึงประเทศสวีเดน ไปถึงประเทศอียิปต์บ้าง แต่ความจริงไม่ได้เดินทางไปคุยเจรจาเพื่อหาข้อยุติแต่อย่างใด กลับไปคุยเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว คุยเรื่องรถเบนซ์รุ่นใหม่ล่าสุด นั้นคือสิ่งที่รัฐไทยเดินทางเพื่อหาข้อยุติตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี
“ใครควรจะยื่นมือก่อน ? ใครควรจะเสนอก่อน ? การยื่นมือ หรือการส่งสัญญาณเชิงบวก รัฐทำได้ ผู้คิดต่าง หรือคิดไม่เหมือนกับรัฐ” ซึ่งผมเองก็คิดต่าง หากไปคิดว่าผู้คิดต่างกับรัฐเป็นกบฏ ทุกคนในห้องนี้ก็เป็นกบฏกันทุกคน
“ถ้าหากทั้งคู่ต้องการจะให้เกิดสันติสุข (เมื่อคู่ต่อสู้หลักเห็นร่วมกัน มีความกังวลต่อบุคคลที่สาม ผู้สวมรอย หรือผู้ฉวยโอกาสทั้งหลาย ก็จะสามารถใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสให้แก่ตนเองได้น้อยมาก)”
กลุ่มที่รอฉวยโอกาส คือ “กลุ่มอุตสาหกรรมในภาวะสงคราม กลุ่มอุตสาหกรรมในความมั่นคง” เช่น ถ้าหากทหารไม่ลงมาในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ ถามว่าเมื่อไหร่รัฐจะสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ? เมื่อไหร่จะสามารถซื้อรถถังใหม่ ? เมื่อไหร่จะสามารถตั้งฐานไว้บนถนน ? มองซ้ายก็เจอ ขวาก็เจอ บนอากาศก็เจอ เขาสร้างกันทุกที่แต่ก็ยิงได้กันทุกวัน ได้ยินแทบทุกวัน เดียวนี้พวกอิทธิพลอำนาจมืด ค้าของเถื่อนมันมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เป็นคนเถื่อนเพราะไม่ใช่คนไทย แต่พวกเราทุกคนคือคนไทยจึงไม่ใช่คนเถื่อน
“กลุ่มค้ายาเสพติด” ก็เป็นกลุ่มที่รอฉวยโอกาส แต่มันจะเกิดขึ้นในบ้านเราได้ยากมาก หากเราสังเกตดูการรักษาความปลอดภัยในบ้านเรา หรือว่าบ้านเรามีอยู่กี่ฝ่ายที่เราจะต้องฟันฝ่า มีอีกหลายกลุ่มมากมายที่เราจะต้องข้ามมันให้ได้
“กลุ่มคนติดอาวุธที่ไม่เห็นหน้า” ปิดด้วยผ้าหรือใส่แว่นตาดำเพื่อไม่ให้เราจำหน้าได้
“กลุ่มรัฐบาล ที่มาแล้วก็ไป” พวกเราคิดว่าไว้ใจได้หรือไม่ ? แต่รัฐบาลนี้อยู่นานหน่อย แต่รัฐบาลที่อยู่ครึ่งๆกลางๆก็ไม่ได้ทำอะไรเลย สองปีเจ็ดเดือนดีแต่พูด
“กลุ่มมือที่มองไม่เห็น แต่มีอำนาจในการจัดการสารพัด” ถ้าหากผู้ว่าราชการจะมาก็ต้องขออนุญาตจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ นี่คือมือที่มองไม่เห็น แล้วเราจะจัดและทำกับกลุ่มบุคคลอย่างนี้ได้อย่างไร ? มองไม่เห็น เป็นเงา แต่กลับมีอำนาจ ไม่รู้ว่าใคร แต่มีคนถูกยิง “ไอ้เทพบอกว่าอย่าหันมาทางป๋าน่ะ !!”
ภารกิจด้านสันติภาพนั้นมาก หนักหนาสาหัส หนทางมีแต่ระยะทางยาวไกล ณ ปลายสุดขอบฟ้าที่เอื้อมถึง แม้จะอยู่ไกลแต่เราจะไปให้ถึงจุดหมายนั้น อยู่ที่ทุกคนว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง ?
ถ้าหากเรามาดูองค์ประกอบกองกำลังติดอาวุธของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากคำนวณขั้นต่ำตามข้อมูล Deep South Watch (DWS) มีประมาณ 150,390 คน แบ่งเป็นทหารตำรวจอาชีพ (Military Police Professional.) 27 % เป็นกองกำลังกึ่งทหาร (Semi-Military Forces.) 17 % พลเรือนติดอาวุธ (Armed Civilians.) 56 % เฉลี่ย (1 เจ้าหน้าที่ : 13 ประชาชน) หรือ “เจ้าหน้าที่ถืออาวุธ 1 คน สามารถดูแลประชาชน 13 คน” แต่เก้าปีประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 5,000 กว่าคน
ส่วนงบประมาณที่ใช้โดยประมาณเฉลี่ยเก้าปีต่อประชาชนคนละ 100,000 บาท เพราะว่าใช้ไปทั้งหมดกว่าสองแสนล้านบาทแล้ว หากเอางบประมาณส่วนนี้มาสร้างโรงพยาบาลก็สามารถสร้างหลายร้อยกว่าโรงแล้ว อีกทั้งยังสามารถหาหมอดีๆมาอยู่ในพื้นที่บ้านเรา แต่วันนี้ถ้าหากไปโรงพยาบาลตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงเช้ากว่าจะได้ตรวจเลือดก็ประมาณ 11 โมง จะเห็นได้ว่าก่อนจะตรวจเลือดทุกคนก็เป็นลมกันเป็นแถว นี่คือ “ชะตากรรมของคนปาตานี”
ประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบสองล้านคนต้องการจะอยู่อย่างมีอนาคตหรือไม่มีอนาคต ขึ้นอยู่กับทุกคนรุ่นนี้จะตัดสินใจ จะอยู่ในรูปแบบพี่แกละ น้องคอดีเญาะ เพื่อนซก หรืออย่างไร ? หรือเรายังจะอยู่ในยุคไดโนเสาร์ ? หรือจะอยู่ในรูปแบบสุดคาดเดาได้ ใครมาฆ่าให้หมด ? หรือ เรายังสนุกกับการห้ำหั่นอีกหรือ ?
ผู้ดำเนินรายการ
เมื่อสักครู่ผมมีหลายเรื่องมากที่จะท้าทายอาจารย์ เพราะผมฟังทั้งหมด ฟังแล้วเหมือนดูดีมาก แต่สรุปดูเข้าจริงกลายเป็นว่าอาจารย์เองก็ยอมรับที่จะอยู่ภายใต้รัฐไทย ผมขออนุญาตถามอาจารย์แต่ผมไม่อนุญาตให้อาจารย์ตอบช่วงเวลานี้ สมมุติว่าคนปาตานีไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้รัฐไทยแล้ว แน่นอนสิ่งที่คนปาตานีต้องการเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย บางคนก็เลือกที่จะสู้โดยที่ไม่ต้องใช้อาวุธ บางคนก็เลือกที่จะสู้โดยใช้อาวุธ แต่ถ้าคนปาตานีเลือกที่จะสู้ด้วยการสนับสนุนการใช้อาวุธแล้ว อาจารย์จะตอบว่าอย่างไร ?
บทเสวนาที่เกี่ยวข้อง
- ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [1] อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
วิดีโอเสวนา