Skip to main content
อุสตาซอับดุชชะกูร  บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก  ดินอะ)
ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคม (EDS)
 
เดือนกุมภาพันธ์ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ และ10-11 กุมภาพันธ์ 2556 จะมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่าO-NET ที่ย่อมาจาก Ordinary National Education Test เป็นการสอบที่ถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมาย
สำหรับนักเรียนชายแดนใต้ ซึ่งในอดีตก่อนปี 2554 ผลการสอบ O-NET ทุกวิชาและทุกระดับชั้นของโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คะแนนจะอยู่ในอันดับสุดท้ายของประเทศ คือ อันดับที่ 75-77 ตลอดมา

            แต่ปี 2554 ปีที่ผ่านมา จากการติดตามและวิเคราะห์ผลการสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2554 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าคะแนนดังกล่าวสูงขึ้นผิดปกติโดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ ทั้งๆที่สภาพความเป็นจริง การจัดการศึกษาท่ามกลางความรุนแรงประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนปิดบ่อย 

การหยุดเรียน เลิกเรียนก่อนเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้าน   ผู้เรียนไม่มาเรียนสม่ำเสมอ(ขาดเรียนบ่อย) แต่มีหลายวิชาที่ผลการสอบ O-NET ได้คะแนนสูงขึ้น ระดับประเทศเช่น วิชาภาษาอังกฤษ จังหวัดยะลาได้คะแนนดีที่สุดใน 3 จังหวัด โดยมีคะแนนเฉลี่ย 38.96 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ นักเรียนในจังหวัดยะลาได้คะแนน เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ อีก 50 จังหวัด เช่น ราชบุรี สมุทรปราการ สงขลา และนครศรีธรรมราช และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 38.37 ถึงร้อยละ 0.59 ตามด้วยจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 37.48 อยู่ในอันดับที่ 35 และจังหวัดปัตตานีได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 34.88 อยู่ในอันดับที่ 51 ของประเทศ ซึ่งยังสูงกว่าจังหวัดกาญจนบุรี พัทลุง ตรัง และสตูล
            วิชาภาษาไทย จังหวัดยะลาได้คะแนนร้อยละ 42.69 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 52 ของประเทศ ตามด้วยจังหวัดปัตตานีอันดับที่ 57 จังหวัดนราธิวาสอันดับที่ 74 สูงกว่าจังหวัดที่ได้อันดับสุดท้ายของประเทศ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน พังงา และสตูล 

            หากเราดูตัวเลขดังกล่าวอย่างผิวเผินเราน่าจะดีใจว่าคุณภาพการศึกษาชายแดนใต้ต้องดีแน่และพัฒนาขึ้นเพราะการสอบ O-NET เป็นเครื่องการันตีของคุณภาพการศึกษาดังที่เว็ปไซด์ ของ  สำนักงาน

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ(สทศ) ประกาศไว้ว่าเพราะผลการสอบหรือคะแนนของผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งสะท้อนได้ทั้งระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และในภาพรวมระดับประเทศ ผลจากการทดสอบสามารถชี้จุดเด่น จุดควรพัฒาผู้เรียนในทุกระดับ และสามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้
จากการที่ผู้เขียนและคณะจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคม (EDS)  ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษา( สมศ.) เข้าประเมินสถานศึกษาในยี่สิบกว่าโรงของโรงเรียนรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า  คะแนนO-NET  ระดับประถมศึกษาปีที่6 สูงกว่าหลายจังหวัดในประเทศไทย มีโรงเรียนหนึ่งคะแนนภาษาอังกฤษผ่าน ทุกคนแต่เมื่อไปสัมภาษณ์นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่1 (นักเรียนอยู่ในระดับปีที่ 6 ปีที่ผ่านมาและผ่านการสอบO-NET )  ดังกล่าวพบว่าอ่านภาษาอังกฤษหรือแม้กระทั่งภาษาไทยยังไม่คล่องและในตัวบ่งชี้ที่สี่เรื่องการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนทุกโรงเรียนยังอยู่แค่ระดับพอใช้ 
ทีมงานเราจึงเจาะไปต่อพบว่า  การสอบในแต่ละโรงเรียนที่เข้าประเมินมีความไม่โปร่งใสในการสอบ
ความไม่โปร่งใสดังกล่าวไม่ใช่มีโรงเดียวแต่มีหลายโรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และทำเป็นขบวนการจากผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา หรืออาจจะมีไฟเขียวจากผู้ใหญ่ที่สูงกว่านั้น เพื่อยกผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอันจะส่งผลดีต่อตำแหน่งการงาน เพราะผลO-NET   จะวัดถึงความสามารถของผู้บริหาร
            หากนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษยังไม่คล่องจะทำข้อสอบวิเคราะห์ระดับชาติได้อย่างไร
            หากพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและดำเนินอีกในการสอบO-NET ปีนี้  ก็จะเป็นการก่อการร้ายอย่างร้ายแรงต่อเด็ก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ใหญ่ได้หน้า  แต่เด็กคุณภาพการศึกษาของเด็กที่แท้จริงยังต่ำอยู่   
---------------------------------
 
หมายเหตุ  บทความนี้อยากจะให้ผู้อ่านอ่านเปรียบเทียบกับบทความของดร . รุ่ง   แก้วแดง  ใน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350347716&grpid=03&catid=03
และบทความของครูประสิทธิ  หนูกุ้ง http://www.gotoknow.org/posts/362981