ความพยายามของภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้พัฒนารูปแบบกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองแทบจะตั้งตัวไม่ติดในการตั้งรับกับการแก้ไขสถานการณ์ ทั้งปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าและแนวทางการป้องกันแก้ไขในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหลักการทฤษฎีที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ล้วนถูกแกะออกมาใช้อย่างหมดเปลือกก็ว่าได้ และแทบจะไม่มีเครื่องมืออะไรเหลือในคลังสมองอีกแล้ว แม้กระทั่งทฤษฎีการแยกปลาออกจากน้ำของเหมาเจ๋อตุงเองก็ดี ก็เคยนำมาปัดฝุ่นออกมาใช้แล้วเช่นกัน ที่ถือว่าเป็นสุดยอดบิดาแห่งสงครามสำหรับนายทหารไทยบางคน และไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีทางจิตวิทยาต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง ที่เคยนำไปใช้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอดีตจนประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย
วัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการที่จะสยบความเคลื่อนไหวของผู้ที่กำลังพยายามต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่รัฐเองก็เชื่อว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดอุดมการณ์เพื่อปลดแอกจากการปกครองของรัฐไทย โดยหวังอย่างลึกๆ ว่าด้วยแนวทางและทฤษฎีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดแรงสนับสนุนจากมวลชน ที่เป็นดั่งสายน้ำคอยหลอเลี้ยงกลุ่มดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดแล้วความพยายามทั้งหมดก็ล้วนแต่คว้าน้ำเหลวมาโดยตลอด เฉกเช่นงบประมาณที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ได้เอาไปใช้ให้ถูกที่ถูกทางและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ที่เปรียบเสมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือบางครั้งก็อาจเปรียบได้กับการขี่ช้างจับตักแตน ในประเด็นที่ได้มีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจที่เกินความจำเป็นฉันใดก็ฉันนั้น
ซึ่งในจำนวนทฤษฎีทั้งหลาย ทางฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่ลืมที่จะงัดเอากลเม็ดเคล็ดลับเกี่ยวกับงานการสร้างมวลชนเพื่อจะเอาชนะทางจิตวิทยาอีกด้วย เพื่อต้องการที่จะต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามอย่างทุกวิถีทางให้จนถึงที่สุด โดยการอาศัยเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นหรือที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ที่เคยถูกนำมาเป็นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในอดีต เพื่อต้องการดึงมวลชนไม่ให้เข้าไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามและที่สำคัญเพื่อให้กลุ่มมวลชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชนของตนเองแทนเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นโครงการตาสัปรด เป็นต้น
อัตลักษณ์ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในงานด้านการแย่งชิงมวลชนที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การนำเอาอัตลักษณ์ทางด้านภาษามลายูอักษรญาวีมาใช้ในงานการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย ทั้งการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตามท้องถนนหนทางทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้สองภาษาควบคู่กับภาษาไทย อันเป็นภาษาของชาติ
ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น นับวันดูเหมือนภาษามลายูอักษรญาวีจะยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยปริยาย อันเนื่องมาจากการที่รัฐเองเริ่มมีความเข้าใจถึงความเป็นไปและความจำเป็นในการใช้ภาษาของคนในท้องถิ่นเพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับพี่น้องประชาชนผ่านภาษาของแม่หรือภาษาแห่ง “ภูมิบุตร” (bahasa ibunda) และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ก็เพื่อเป็นการมุ่งเน้นในด้านภารกิจงานจิตวิทยาในการเรียกร้องความสนใจของประชาชนให้มีความรู้สึกถึงการให้ความเคารพของรัฐ ที่มีต่อสิทธิทางการเมืองและภาษาของคนมลายู และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับอักษรญาวีไปในตัวอีกด้วย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
การเปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์แก่คนมลายูถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะหากย้อนไปในอดีตช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ล้วนแต่มีการปิดกั้นพื้นที่และโอกาสสถานเดียวในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรจะได้รับ ในประเทศที่อ้างว่าได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการบริหารการปกครอง
จริงอยู่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่รู้กันอยู่ก็ตาม แต่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ค่อยจะเต็มใบเสียเท่าไหร่นัก เพราะกลุ่มชนบางกลุ่มไม่สามารถที่จะใช้สิทธิที่ควรมีได้อย่างเสรี กล่าวคือยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร แม้กระทั่งการเชิดชูภาษาของคนในพื้นที่เอง ก็ยังถูกปิดกั้นแทบไม่มีช่องว่างให้ได้หายใจแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำกลุ่มชนที่พยายามลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนกลับโดนตีตราหน้าว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดความเป็นชาตินิยมสูงเกินขอบเขต
แต่ในความหวังดีที่ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องภาษาที่มีความละเอียดอ่อน ก็ย่อมไม่เกิดผลกำไรในทางปฏิบัติแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการสร้างบรรยากาศความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน กล่าวคือ เป็นการบ่งบอกถึงความมักง่าย ความไม่เอาใจใส่ ความไม่จริงใจของภาครัฐในการแสดงออกถึงมิตรไมตรีที่แท้จริง และเหนือสิ่งอื่นใดนั้นก็คือ เป็นการเพิ่มความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย ในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายภาษา การสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคนในพื้นที่โดยที่รัฐเป็นผู้ที่ก่อขึ้นมาเอง ซึ่งประเด็นความรู้สึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
จากการที่รัฐเองขาดความเข้าใจและความละเอียดอ่อนหรืออาจจะเป็นความอ่อนด้อยเองของรัฐ ในประเด็นที่ค่อนข้างจะมีความอ่อนไหวเช่นนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของหมู่ชนก็ยิ่งเป็นสิ่งที่พึงต้องระวังเป็นอย่างมาก ถึงแม้ความเสียหายจะไม่เท่ากับการก่ออาชญากรรมก็ตาม แต่ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนโดยรวมแล้วถือว่าเป็นก่ออาชญากรรมและความเสียหายที่ไม่สามารถจะประเมินเป็นมูลค่าได้ในเชิงคุณค่าของวัฒนธรรมในด้านภาษา
ในจำนวนป้ายข้อเขียนต่างๆ ที่รัฐได้เขียนขึ้นมาโดยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนมีความบกพร่องแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขณะเดียวกัน มันได้ส่อถึงความรู้ของบุคลากรของรัฐเองที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องการใช้ภาษาของคนในพื้นที่ และยังได้บ่งถึงศักยภาพของรัฐที่มีอยู่อีกด้วย ในการใช้ทรัพยากรบุคคลได้อย่างดีโดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย
ในประเด็นการใช้คำไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาและการเรียบเรียงประโยค มักจะพบความไม่เหมาะสมแทบทุกครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวแทนที่รัฐจะได้คะแนนบวกกลับได้คะแนนติดลบโดยปริยาย ถึงแม้ว่าความไม่รู้ที่เกิดขึ้นจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่สิ่งที่ได้สะท้อนในความรู้สึกของผู้ที่เป็นเจ้าของภาษามาตั้งแต่กำเนิดนั้นก็คือ การไม่ให้เกียรติและการไม่เอาใจใส่ในความลึกซึ้งและความละเอียดอ่อนของภาษามลายูทั้งอักษรญาวีและโรมัน
ในประเด็นนี้จะขอหยิบยกตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น จากหลายๆ กรณีที่ภาครัฐเป็นเจ้าของผลงานหรือโครงการ อย่างเช่น ป้ายการประชาสัมพันธ์ขนาดยักษ์ของโครงการ “ทางสายใหม่ ” หรือโครงการ “ญาลันนันบารู” ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้าหรือ กอ.มน.ภ.4 เป็นเจ้าภาพ ที่ถูกติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ ทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ การสะกดคำบางคำกลับไม่ตรงกับหลักการเขียนของภาษามลายู ซึ่งตรงจุดนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนไปในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ที่มีความรู้ทั้งหลาย
ซึ่งในที่นี้ขออนุญาตอธิบายมาพอสังเขปสั้นๆ ดังนี้ คำว่า JALANNANBARU นั้นถือว่าเป็นการเขียนที่มีความผิดพลาดที่มิน่าผิดพลาดในการใช้ภาษาของรัฐ ถึงแม้ว่าอักษรญาวีจะเขียนได้อย่างถูกต้องแล้วก็ตาม แต่การเขียนทับศัพท์ที่เป็นภาษาไทยนั้นกลับไม่ตรงกับความเป็นจริง
โครงการ ทางสายใหม่ ในภาษามลายูอักษรโรมัน เขียนว่า jalannanbaru อ่านว่า ญาลันนันบารู ที่มีการเขียนอย่างผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มตัว n ลงไปเป็นสองตัวซ้อน ทำให้เกิดความเสียหายในเชิงการเขียนและความหมาย ซึ่งหากตามความเป็นจริงแล้วการเขียนในลักษณะดังกล่าวจะไม่ให้ความหมายใดๆ เลยในทางวิชาการ และยิ่งไปกว่านั้น การจัดพิมพ์ป้ายของโครงการดังกล่าวในครั้งล่าสุด (ครั้งที่สอง) ก็ยิ่งผิดพลาดไปกันใหญ่ นั่นก็คือ จากเดิมที่เขียนขึ้นต้นด้วยอักษร j แต่กลับใช้อักษร y ซึ่งมันเหมือนกับการเขียนทับศัพท์คำที่มาจากภาษามลายูที่เขียนด้วยพยัญชนะไทยอย่างชัดเจน นี่คือประเด็นที่บางฝ่ายอาจมองไม่เห็นในจุดนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคนในพื้นที่อย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนแต่ประการใด
อย่างไรก็ตามการที่ผู้เขียนได้นำเสนอในประเด็นดังกล่าวนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะโฆษณาเปิดโปงถึงความบกพร่องของภาครัฐอย่างเดียวไม่ หากแต่เพื่อเป็นบทเรียนและแนวทางในการดำเนินงานในครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างซ้ำซากอย่างนี้อีก ในประเด็นที่ควรจะต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการใช้สำนวนภาษามลายู
ภาษามลายูเปรียบเสมือนศิลปะแขนงหนึ่งที่มีอัตลักษณ์และความเป็นสุนทรียภาพสูงในตัวของมันเอง หากไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คงจะไม่มีวันที่จะเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของความหมายที่แท้จริงได้
การเขียนภาษามลายูอักษรญาวีตามอำเภอใจของภาครัฐ โดยที่ปราศจากหลักการที่คู่ควรและความสมเหตุสมผล คงจะไม่เกิดประโยชน์เลยแม้แต่น้อยในการที่จะเข้าใจ เข้าถึง และการพัฒนา นอกเหนือจากที่ไม่ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงความไม่รู้ ความไม่เข้าใจของภาครัฐต่อภาษาของคนมลายูในพื้นที่นี้อีกด้วย อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย
อับดุลเลาะห์ วันอะฮ์หมัด (Awan Book)