ไพซอล ดาโอ๊ะ
เหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยสามารถที่จะกำหนดคำนิยามได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะสิ้นสุด (Protracted Social Conflict) การปะทุขึ้นมาของเหตุการณ์รอบใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา สูญเสียชีวิตของพลเมืองไทยทั้งพุทธและมุสลิมกว่า 5,000 คน[1] ทุกชีวิตนั้นมีค่ามหาศาล ณ วันนี้ไม่มีใครสามารถรับรองความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่นี้ได้ เหตุการณ์ความรุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสร้างความเจริญ ทำให้พื้นที่ขาดการพัฒนา หลายๆ คน จะมีแนวคิดที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโครงการพัฒนามากขึ้นย่อมหมายถึงตัวเลขของงบประมาณจะมีมากขึ้น เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาเพื่อต้องการให้มีการเข้าถึงตัวของประชาชนในพื้นที่ และคาดหวังว่าประชาชนเหล่านั้นเข้ามาร่วมมือกับฝ่ายรัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสภาพโดยทั่วไปสถานการณ์ภาคใต้ก็ยังไม่ดีขึ้น ถึงแม้ได้เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย แต่ละยุคสมัยของรัฐบาลได้พยายามทุ่มเทในการแก้ปัญหา หลายๆ ยุทธศาสตร์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาได้นำไปปฏิบัติในพื้นที่ อย่างเช่นวิธีการแก้ไขปัญหาโดยใช้กำลังทหารและการทุ่มงบประมาณการพัฒนามากมาย สุดท้ายก็ไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงลงได้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จได้ สืบเนื่องจากมีหลายเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหานั้นไม่บรรลุผล
หนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมต่อคดีความที่เกี่ยวกับความมั่งคงในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างผู้ที่ถูกกล่าวหาที่เป็นมุสลิมและพุทธหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นปัญหาการวางตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดความเป็นกลางในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีการสืบสวนและทำสำนวนคดี จากการศึกษาหลายคดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนไทยพุทธถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง อ้างจากบทสัมภาษณ์นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า
“บทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไอปาแยเห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ โดยหลังเกิดเหตุการณ์ไม่มีการปิดล้อมตรวจค้น ต่อมาเมื่อผู้ต้องสงสัยเข้ามอบตัวก็สามารถประกันตัวได้ ทั้งๆ ที่อีกหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดกับพี่น้องมุสลิม เจ้าหน้าที่จะทำการปิดล้อมตรวจค้น เมื่อเจอผู้ต้องสงสัยก็จะเอาตัวไปก่อน ไม่มีการให้ประกันตัว”
นี่เป็นหนึ่งกรณีที่เห็นชัดและยังมีอีกหลายกรณีทีไม่ได้ยกตัวอย่างมา ณ ที่นี้
สืบเนืองจากความไม่พอใจต่อกระบวนยุติธรรมในพื้นที่ดังนั้นทางแม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายใหม่ออกมาโดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ประกาศนโยบาย “คืนความเป็นธรรม”[2] ให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา ด้วยการสั่งรื้อคดีคาใจทุกคดีเพื่อหวังลดเงื่อนไขและแสวงหาแนวทางสร้างสันติสุข ดังนั้น คงต้องรอการพิสูจน์ในการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ถ้ามีการดำเนินการตามที่ประกาศมานั้นจะเป็นเรื่องดีมากๆ หวังว่าคงไม่ใช่เพียงนโยบายทีสวยหรูแต่ในทางปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกัน สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์บิดาของสุไลมาน แนแซ[3] เหยื่อผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวภายในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร ตำบลหนองจิก อำเภอบ่อทอง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2553 โดยเขาได้กล่าวว่า
"แม้ผู้บังคับบัญชาจะมีนโยบายที่สวยหรู แต่สำหรับชาวบ้านที่ต้องเผชิญกับสภาพความเป็นจริงจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับหน่วยเฉพาะกิจนั้น ไม่ได้สวยหรูหรือเป็นไปตามนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาได้ประกาศไว้ ระดับปฏิบัติแตกแถวตลอด สุดท้ายชาวบ้านก็ตกเป็นผู้ถูกกระทำเหมือนเดิม"
เหตุผลประการที่สอง อัตลักษณ์ที่ต่างกันระหว่างคนในพื้นที่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างเช่น ศาสนา ภาษา และชาติพันธ์ จะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้ที่บริหารประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงขาดความรู้ความเข้าใจจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฎิบัติของคนในพื้นที่ จากหลายๆ กรณีรัฐมีนโยบายที่ขัดกับจารีตประเพณีของคนในพื้นที่ เช่น เริ่มจากรัฐบาลทักษิณมีการแจกทุนการศึกษา หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ โดยเงินเหล่านั้นได้มาจากกำไรของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ขาดการส่งเสริมภาษาถิ่น ไม่ให้ความสำคัญต่อวันสำคัญของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นที่นับถือของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่และศาสนาอื่นนอกจากพุทธศาสนา และหนึ่งในประเด็นปัญหาของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือการได้มาของ ส.ว สรรหาในปี 2554[4] ในยุคสมัยของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้บ่งบอกของการขาดธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจในเมืองไทยว่าไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชาติพันธ์ที่ต่างกัน เข้ามากำหนดนโยบายและกลั่นกรองกฎหมายของชาติ จากการวิเคราะห์โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี “ในบรรดา ส.ว ที่ถูกเลือกมาไม่มีมุสลิมสักคนเดี่ยวเข้ามาเป็นตัวแทนของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น ส.ว.สรรหาเหล่านี้อาจจะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองของไทย เช่น การเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” จะมีประโยคคำพูดที่มักได้ยินจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยจะพูดอยู่เสมอว่า “เราต้องยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน” แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่อาจจะเป็นหนึ่งประเด็นที่ทำให้กลุ่มขบวนการนำมาอ้างความชอบธรรมต่อปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ ควรที่จะหาทางเลือกใหม่ โดยยอมคิดที่จะทำนอกกรอบของความเป็นไทยที่ยึดติดกับโครงสร้างการปกครองของไทยแบบเดิมๆ ที่ให้ความสำคัญเรื่องชาตินิยมความเป็นไทยมากเกินไปโดยลืมที่จะแบ่งปันเกียรติ์และศักดิ์ศรีให้กับคนไทยที่ต่างชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยในชาติพันธุ์อื่น อันเนื่องจากเพื่อรักษาเกียรติของความเป็นไทย
แนวทางนอกกรอบที่กล่าวถึงนั้นคือเปิดโอกาสให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาไกลเกลี่ยและสร้างสันติภาพให้ประจักษ์ขึ้นในพื้นที่ที่ร้อนระอุเช่นนี้ บางหน่วยงานและองค์กรจากต่างประเทศจะมีอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับคนในพื้นที่ และสามารถพูดคุยเข้าใจถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ได้ดีกว่า เช่นองค์กรจากกลุ่มประเทศมุสลิมหรือในนามรัฐบาลประเทศมุสลิม และถึงแม้จะมาจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เขาอาจจะมีความเป็นกลางและยืนหยัดบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดนี้ก็คงจะเป็นแนวทางที่ทางรัฐบาลไทยยากที่จะยอมรับได้ แต่ตอนนี้ควรต้องนำมาไตร่ตรองเพื่อแลกกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ถ้ารัฐบาลไทยเปิดโอกาสของการเข้ามาร่วมมือของกลุ่มที่สามในพื้นที่นี้และประกาศความพร้อมของรัฐบาลไทยต่อการเข้าสู่โต๊ะการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace talk) ถึงแม้กลุ่มขบวนการไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งนั้น รัฐบาลก็คงได้รับการชมเชยจากคนในพื้นที่นี้ นี่เป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้โดยสันติวิธี ฝ่ายขบวนการจะได้รับความกดดันจากประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเพื่อสร้างสันติภาพ แท้จริงแล้วความอยู่รอดของกลุ่มขบวนการนั้นคือประชาชนในพื้นที่เปรียบเสมือนปลากับน้ำ เมื่อไหร่ที่ประชาชนหันหลังให้กับกลุ่มขบวนการนั้นก็คือจุดจบของกลุ่มขบวนการใต้ดินต่างๆ
จากการที่ได้ทำการศึกษากรณีของการเข้ามาขององค์กรต่างประเทศในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างเช่น ในอาเจะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) มินดาเนา (ประเทศฟิลิปปินส์) ติมอร์เลสเต้ โดยแต่ละพื้นที่จะมีองค์กรต่างประเทศที่มีรูปแบบแตกต่างกัน
ในอาเจะห์นั้นการเจรจาประสบ อันเนื่องจากการเข้ามาของ Crisis Management Initiative หรือ CMI นำโดย Marti Ahtisaari อดีตประธานาธิบดีของประเทศฟินแลนด์ ในเวลาต่อมาได้มีการเซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ (MOU Helsinki) ในวันที่ 15 สิงหาคม 2548[5] ก่อนที่จะถึง ณ จุดนี้ ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยอมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อจะให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับของชาวอาเจะห์ ณ วันนี้กลุ่มขบวนการปลดปล่อยเพื่อเอกราช GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ได้แปรสภาพเป็นพรรคการเมืองต่อสู้ในระบอบรัฐสภาและได้ส่งตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอาเจะห์
เช่นเดียวกันในพื้นที่ความรุนแรงในมินดาเนาหรือภาคใต้ของฟิลิปปินส์ แท้จริงแล้วในพื้นที่นี้ได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างกลุ่มขบวนการปลดปล่อยชนชาติโมโร Moro National Liberation front (MNLF) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ สนธิสัญญานั้นเรียกว่า Tripoli Agreement ในปี 2540 (1996) ภายใต้การจัดกระบวนการโดยโอไอซี(Organization of the Islamic Conference, OIC) และอดีตประธานาธิบดีของลิเบีย พลเอก โมอัมมัร กัดดาฟี ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเจรจาในครั้งนั้นโดยได้อำนวยความสะดวกและตั้งใจที่จะให้การเจรจานั้นบรรลุผล ผลของการเจรจาทำให้มีการทำให้พื้นที่บางส่วนของมินดาเนาเป็นพื้นที่การปกครองพิเศษ เราจะรู้จักในชื่อว่า Autonomous Region of Muslim Mindanao (ARMM) แต่ไม่เป็นที่น่าพอใจของบางส่วนในกลุ่มขบวนการปลดปล่อยชนชาติโมโร เลยทำให้กลุ่มที่ไม่พอใจต่อสนธิสัญญานั้นแยกตัวออกมาก่อตั้งกลุ่มขบวนการใหม่ที่มีชื่อว่าขบวนการปลดปล่อยมุสลิมโมโร Moro Islamic Liberation Front (MILF) โดยมีการพยายามในการจัดการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยมุสลิมโมโรที่ยังมีการเคลื่อนไหวในพื้นทื่มินดาเนา
ในครั้งล่าสุดนี้กลุ่มขบวนการที่เข้ามาเจรจานั้น เป็นกลุ่ม MILF ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธเป็นที่นิยมชื่นชอบจากคนในพื้นที่ องค์กรที่เป็นตัวกลางในการเจรจาในครั้งนี้ คือ International Monitoring Team ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากมาเลเซีย บรูไน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และอินโดนีเซีย
ประเทศมาเลเซียเป็นตัวหลักในการดำเนินการในครั้งนี้ การพูดคุยเจรจานั้นเกือบจะประสบผลสำเร็จ แต่ท้ายสุดมีกลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมกับนักการเมืองบางส่วนยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดของประเทศฟิลิปปินส์ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า กระบวนการสันติภาพที่จะมีการเซ็นสัญญานี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 (2008)[6] ก็ถือว่าโมฆะ แต่ความพยายามนั้นยังไม่ได้ลดละที่จะเดินหน้าต่อไปในการสร้างสันติภาพในพื้นที่
ท้ายที่สุดจากการได้รับการพลักดันจากประธานาธิบดีเบเนกโน อากีโน ที่สาม ได้ทำให้กระบวนการสันติภาพในพื้นที่มินดาเนาได้มีการลงนามกรอบข้อตกบังซาโมโรในปี 2012 ระหว่างกลุ่ม MILF ภายใต้การนำของนายมูราด อิบราฮิม และนี้ก็เป็นละครฉากหนึ่งในพื้นที่ความขัดแย้งที่มีความเหมือนกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่มันจะมีความต่างเพียงตรงที่ผู้นำของเขามีแรงบันดาลใจทีแรงกล้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เกิดอย่างบริสุทธ์ใจ
ทั้งสองพื้นที่ซึ่งยกตัวอย่างมานี้จะเป็นพื้นที่ที่มีความเหมือนกับกระบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและยังเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ยกตัวอย่างเช่นในกรณีอาเจะห์หลายคนจะมีความสับสนเกี่ยวกับสถานภาพของคนอาเจะห์ ซึ่งจะมีคำถามขึ้นมาว่าทำไมคนอาเจะห์ต้องสู้กันเอง (มุสลิมด้วยกันเองหรือชาวอินโดนีเซียด้วยกัน) แต่แท้ที่จริงแล้วชาวอาเจะห์ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนอินโดนีเซีย และเขายังบอกว่าเขาไม่ใช่คนชาติพันธุ์ชวา ซึ่งประชากรในประเทศอินโดนีเซียประกอบด้วยชาวชวาเป็นชนส่วนใหญ่ และคนที่อยู่บนเกาะสุมาตราเป็นชนส่วนน้อย ชวาได้ทำการกดขี่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวอาเจะห์มีเชื้อสายเป็นชาติพันธุ์มาเลย์ อาเจะห์เป็นจังหวัดที่มีแหล่งทรัพยากรน้ำมันจำนวนมหาศาล แต่รายได้ของการขายน้ำมันจะขึ้นตรงสู่เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย จากการได้ทำสนธิสัญญาบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน ในเดือนสิงหาคม 2548 (2005) อาเจะห์ได้รับส่วนแบ่งจากการขายน้ำมัน 70% และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่ชาวอาเจะห์ถูกย้ายไปประจำการที่จังหวัดอื่นๆของประเทศ ส่วนตำแหน่งของข้าราชการประจำถูกบรรจุโดยชาวอาเจะห์มาแทนที่ เจ้าหน้าที่ทหารจากส่วนกลางถูกถอนกลับเหลือแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่โดยส่วนมากก็เป็นคนในพื้นที่
อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและได้บรรลุผลของการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้นคือติมอร์เลสเต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ชาวติมอร์เลสเต้นับถือศาสนาคริสตร์เป็นส่วนใหญ่และคนเหล่านั้นถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกว่าเหตุใดกลุ่มประเทศจากยุโรป สหประชาชาติโปรตุเกส และประเทศออสเตรเลีย เข้ามาแทรกแซงเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นบนพื้นฐานของมนุษยชน กลุ่มต่างประเทศเหล่านั้นได้ทำการกดดันรัฐบาลของประเทศอินโดนีเซีย ในยุคสมัยของประธานาธิบดี บีเจ ฮาบีบี (B.J Habibi) เพื่อให้มีการทำประชามติในปี 2542 (1999) ประจวบเหมาะในช่วงนั้นประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 (1997) ผลสุดท้ายพื้นที่นี้ถูกแยกเป็นเอกราชอันเนื่องจากการแทรกแซงของกลุ่มประเทศยุโรปและสหประชาชาติตามผลกันลงประชามติของชาวติมอร์เลสเต้
ส่วนความร่วมมือของฝ่ายที่สามจากต่างประเทศในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถพบเห็นการเข้ามาในรูปแบบการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ซึ่งมีการให้งบประมาณสร้างมัสยิด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ระบบประปา ฯลฯ และด้านสังคมสงเคราะห์อย่างเช่นช่วยเหลือคนยากจน เด็กกำพร้า หรือให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศตะวันออกกลางและเสริมทักษะด้านอาชีพหรือให้ทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เราจะพบเห็นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพโดยตรงจากองค์กรต่างประเทศได้น้อยมากอันเนื่องจากการจำกัดขอบเขตความร่วมมือขององค์กรต่างประเทศโดยรัฐบาลไทย องค์กรต่างประเทศที่คลุกคลีอยู่กับสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ องค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch, Amnesty International, OIC, International Islamic Relief Organization of Saudi Arabia (IIROSA), PACTA, JICA, Sasakawa Foundation, Asia foundation, UNDP, HDC และ หน่วยงานกาชาดสากล และในรูปแบบของรัฐบาลต่างประเทศ ก็มีประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซี่ยน กลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มประเทศในยุโรป ในจำนวนเหล่านี้จะมีเพียงบางองค์กรพยายามที่จะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอย่างเช่น PACTA, HDC, OIC, EU ,กลุ่มประเทศจากยุโรป มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
จากการที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาบริบทของกลุ่มที่สามจากต่างประเทศที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทต่างๆ พบว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีกลุ่มเหล่านั้น อันเนื่องจากเหตุผลข้างต้น ถึงแม้ผู้บริหารประเทศและชนชั้นนำของประเทศไทยจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเข้ามาของกลุ่มองค์กรต่างประเทศ ผู้นำของไทยมักจะพูดว่า ปัญหาในสามจังหวัดเป็นปัญหาภายใน ดังนันแล้วเราจะแก้ปัญหากันเอง โดยใช้กฎหมายของประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีองค์กรต่างประเทศมากมายมาทำงานในพื้นที่ด้านต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นความไม่สงบตั้งแต่ปี
color:#434343">2547
มีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้กันเองได้แล้ว และฝ่ายที่เหนือกว่าก็ไม่สามารถที่จะล้มล้างอีกกลุ่มหนึ่งให้สิ้นซากลงได้ อันเนื่องจากยิ่งปราบปราม เหตุการณ์ก็ยิ่งรุนแรง คล้ายกับทฤษฎีสามเหลี่ยมที่ออกแบบโดย Gultung
กล่าวคือทั้งสามส่วนจะเชื่อมซึ่งกันและกัน ถ้าใช้พฤติกรรมที่รุนแรงอีกฝ่ายหนึ่งก็จะตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นกัน ถ้าเขาหมดหนทางที่จะตอบโต้หรือกระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ เขาก็จะหันมากระทำต่อชาวบ้านผู้บริสุทธิ์นี่คือสิ่งที่เราไม่ปรารถนา ในทางกลับกันหากฝ่ายที่เหนือกว่าใช้วิธีการอ่อนโยนในการแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการปรับทัศนคติตามด้วยพฤติกรรม ความรุนแรงของสถานการณ์ก็จะเบาบางลงการพูดคุยก็จะง่ายขึ้น
การที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาทางออกโดยการเจรจาจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีบุคคลที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้วิธีการตามความเหมาะสม สามารถที่จะดูได้จากรูปประกอบ
สมมติว่ากลุ่ม A กับกลุ่ม B สามารถพูดคุยกันได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาและความขัดแย้งก็คงไม่ยืดเยื้อยาวนาน แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ก็ควรที่จะมีกลุ่มที่สามเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อที่จะบรรเทาหรือขจัดปัญหาความขัดแย้งโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหา ถ้าทั้งสองฝ่ายมีการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลก (ICJ) ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศาลโลกก็จะมีการพิพากษาคดีต่างๆ ปัญหาก็จะจบลงตามคำพิพากษานั้นๆ ส่วนแนวทางการใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นนั้นๆ อย่างเช่น กองกำลังของสหประชาชาติที่เข้าไปในอีรัก อัฟกานิสถาน แนวทางนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะต้องแลกกับความสูญเสียมากมายตามมา และปัญหาก็ยังไม่แน่ว่าจะจบลงหรือเปล่า ถึงแม้กองกำลังทหารนั้นสามารถยึดครองพื้นที่ได้แต่ยังไม่แน่ว่าสามารถที่จะครอบงำแนวคิดของพลเมืองนั้นได้หรือไม่ บางทีจะยิ่งสร้างความเคียดแค้นให้กับคนในพื้นที่
สรุปได้ว่าแนวทางของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้นคือการไม่ใช้ความรุนแรงในการเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าสามารถที่จะดึงมวลชนในทุกระดับในสังคม และภาคประชาสังคมเพื่อที่จะยืนยัดในรูปแบบสันติวิธี หนึ่งในนั้นคือการสร้างแรงกดดันต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันคงจะไม่ง่ายที่จะมานั่งพูดคุยหาทางออกด้วยกันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีฝ่ายที่สามที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อใจและไวใจได้เป็นตัวประสานระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพูดคุยในครั้งแรกนั้นมันไม่สำคัญแต่จุดเริ่มของการพูดคุยนั้นคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
[1]Srisompob Jitpiromsri, The protracted violent amidst unstable political situation after election 2011, http://www.deepsouthwatch.org/node/2343
[2]22/7/2554, กองทัพภาค 4 เปิดแนวรุก ประสานทุกส่วนเดินหน้าดับไฟใต้ แม่ทัพภาค 4 สั่งรื้อทุกคดีคาใจ ชูนโยบาย 'คืนความเป็นธรรม-แยกโจรออกจากศาสนา' หวังคืนความสงบยั่งยืนwww.komchadluek.net/detail/20110722/103683/กองทัพภาค4เปิดแนวรุกใหม่ดับไฟใต้.html
[3]www.isranews.org/south-news/Other-news/item/3186-คุกเหยื่อซ้อม-คนหาย-ถูกใส่ร้าย-สามคดีร้องเรียนแดนใต้พิสูจน์นโยบาย-คืนความเป็นธรรม.html วันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 13:48 น. เขียนโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต, นาซือเราะ เจะฮะ, อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ และทีมข่าวอิศรา
[4]ดร.ศรีสมภพ วิเคราะห์ ‘ส.ว.สรรหา’ทางตันดับไฟใต้ เมื่อวันที่ 19 เมษา 2554 ที่มา www.deepsouthwatch.org/node/1632
[5]Gordon P. Means, Political Islam in Southeast Asia, Lynne Rienner Publishers, Selangor, Malaysia, 2009. หน้า. 273
[6] บทความในหัวข้อ Defining the Bangsamoro Right to Self Determination in MILF Peace Processที่เขียนโดย Ayesah Abubakar and Kamaruzaman Askandar เรียบเรียงโดย Azmi Sharom, Sriprapha Petcharamesree, Yanuar Sumarlan ในหนังสือ Human Right in Southeast Asia series1 Breaking the Silence, จัดทำโดย Southeast Asian Human Right Studies Network, Mahidol University,Thailand, ตุลาคม 2554, หน้า 149