ผลการพบปะสื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่ทหารและศอ.บต.เมื่อ 18 กพ.ที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ค่อยมีข้อมูลใหม่อะไรออกมามากนัก แต่ท่วงทำนองการตอบข้อซักถามเรื่องกรณีการปะทะที่บาเจาะดูโดยภาพรวมแล้วให้อารมณ์ประหนึ่งว่าในทางการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ได้กลายเป็นฝ่ายถูกรุกไปแล้วเรียบร้อย
ข่าวเหตุการณ์ค่ายทหารที่บาเจาะถูกบุกที่ลงเอยด้วยความตายของฝ่ายบุกจำนวน 16 ศพ (ซึ่งมีนักข่าวอย่างน้อยสองคนอ้างข้อมูลทางฝ่ายชาวบ้านบอกว่าอันที่จริงมีมากกว่านี้) เจ้าหน้าที่ระบุว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการเตรียมตัวรอรับไว้ล่วงหน้าแล้วเป็นอย่างดี เนื่องจากมีชาวบ้านไปปูดข่าวบวกกับการที่ได้ข้อมูลมาจากปฏิบัติการจับกุมครั้งก่อนหน้า สรุปอย่างสั้นคือพวกเขากำลังบอกว่า งานข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แรกทีเดียวนั้นกองเชียร์ต่างก็ตื่นเต้นดีอกดีใจเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ค่ายทหารโดนบุกแต่กลับพลิกเกมกลายเป็นฝ่ายกระทำ ก่อนๆหน้านี้มีแต่บาดเจ็บล้มตายแถมถูกปล้นอาวุธมาโดยตลอด อีกประการหนึ่งนั้น ข่าวปะทะหนนี้กลายเป็นเครื่องคลี่คลายโจทก์ในใจหลายคน ในแง่ของคนที่ไม่เชื่อ ในที่สุดก็เห็นได้ชัดว่ามีตัวจริงเสียงจริงหลังจากที่รู้สึกว่าสู้กับเงามาโดยตลอด ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็เชื่อว่าพวกเขาพบคำอธิบายที่จะคลี่คลายปมข่าวลือที่ทำให้ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเรื่อยมาว่าทหารทำร้ายประชาชน เนื่องจากการเข้ากระทำของกลุ่มคนในค่ำคืนนั้น มาในชุดเครื่องแบบนักรบเต็มที่
ทว่ากองเชียร์อารมณ์ดีได้ไม่กี่ชั่วโมงก็พบว่า กระแสตอบรับของชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนตีกลับ ปรากฏข่าวที่กลายเป็นการจุดชนวนให้มีการตั้งคำถามมากหลาย และแต่ละอย่างล้วนแล้วแต่พัฒนากลายเป็นคำถามที่ถาโถมเข้าสู่สาระสำคัญของวิธีการจัดการปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของฝ่ายรัฐทั้งสิ้น
ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นก็คือการเปิดปากพูดของบรรดาสมาชิกครอบครัวผู้ที่ถูกยิงตาย ซึ่งไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นเพราะส่วนใหญ่ตายแล้วมักเงียบแต่กลายเป็นพลังแค้นไปโผล่ที่ความรุนแรงแทน แถมในงานนี้สื่อกระแสหลักขยัน คือนำบทสัมภาษณ์เหล่านั้นไปออก เท่ากับช่วยเปิดประเด็นสู่วงกว้าง คำให้สัมภาษณ์โดยเฉพาะจากปากของภรรยามะรอโซ จันทรวดี ที่บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามี บวกกับภาพจากการจัดงานศพที่มีคนเข้าร่วมมากมาย วิธีปฏิบัติต่อศพและอื่นๆที่รวมแล้วบ่งบอกถึงความรู้สึกของชาวบ้าน- อย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ไปร่วมงานศพ -ว่าคิดอย่างไร สองประการนี้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามทำให้สังคมไทยต้องขบคิดกันอย่างหนัก การตอบโต้กันในหน้าโซเชี่ยลมีเดียที่แม้ว่าจะฟังดูรุนแรงหรือบางรายเข้าใกล้อาการเจียนคลั่ง แต่โดยภาพรวมแล้วน่าจะถือได้ว่าเป็นอาการของการโต้แย้งทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องภาคใต้อันเป็นเรื่องที่ควรจะเกิดมานานแล้วกับปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งอันนี้ ว่าเหตุใดจึงมีคนจับอาวุธลุกขึ้นสู้รัฐ
อุดมการณ์ชาตินิยมนั้นมีอยู่แน่นอน แต่ปัญหาสำหรับรัฐไทยและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ประเด็นหลักคือคำถามถึงต้นตอของปัญหาอันหนึ่ง – แม้ไม่ใช่ทั้งหมด - คือปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยมีกรณีที่นับเป็นประสบการณ์ตรงของคนจำนวนหนึ่งในบรรดาสิบหกคนที่เคยถูกจับและถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ สิ่งที่น่าสนใจคือปฏิกิริยาของจนท.ฝ่ายความมั่นคงต่อประเด็นนี้ที่ส่งผ่านมาจากบรรยากาศการตอบข้อซักถามนักข่าว
สิ่งหนึ่งที่จนท.พยายามอธิบายคือสถานการณ์ของการปะทะนั้นพวกเขาไม่ได้เลือกที่จะวิสามัญคนเหล่านั้น นาวาเอกสมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้บอกว่า “ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต” พร้อมอธิบายว่าฝ่ายขบวนการที่บุกค่ายทหารในวันนั้นไปกันพร้อมอาวุธครบมือ “การกระทำของจนท.เป็นการป้องกันตัวเอง ถ้าไม่ทำอย่างดี คนที่ตายจะกลายเป็นทหาร” พร้อมกับบอกว่า “มันไม่ใช่ความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเราต่างก็เกิดบนแผ่นดินเดียวกัน”
นับเป็นท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนที่ไม่ค่อยได้เห็น
สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างแม้จะยังเห็นน้อยมาก ก็คือความเห็นต่อผลกระทบต่อกรณีตากใบ หลังจากที่มีข้อมูลออกมาระบุว่า ผู้ตายจำนวนหนึ่งเป็นคนที่เคยถูกจับและดำเนินการจากกรณีตากใบ ทำให้มีการตั้งคำถามที่ใหญ่กว่าว่า ผลสะเทือนจากการจัดการที่ผิดพลาดของเหตุการณ์ตากใบที่มีส่วนร่วมสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้ร้าวลึกนั้นมีมากน้อยเท่าใดกันแน่ เนื่องจากที่ผ่านมาที่ยังไม่เคยมีใครศึกษาชัดเจนเพราะกระแสในเรื่องของตากใบถูกกลบด้วยแรงปรารถนาในหมู่เจ้าหน้าที่และสังคมไทยในอันที่จะลืมความผิดพลาด และโดยที่ไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจด้วยว่า การเยียวยาที่เห็นเป็นตัวเงินนั้นไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเพราะสิ่งที่ผู้คนในพื้นที่ต้องการนั้นคือความเป็นธรรม
ในตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกเราว่าความเชื่อมโยงระหว่างกรณีสิบหกศพและตากใบนั้นไม่เกี่ยวข้องกันหรือว่าเกี่ยวข้องน้อยมาก โดยให้ข้อมูลว่าจากที่ไปพูดคุยกับครอบครัวที่สูญเสีย พวกเขายืนยันมาเช่นนั้น
ถึงแม้ว่าอาจจะจริง แต่ว่านั่นก็คือการตีความแบบแคบ ถ้ามองให้กว้างออกไปจะพบว่า ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ ไม่ว่าใคร เมื่อกล่าวถึงกรณีตากใบมันคือเหตุการณ์ที่กลายเป็นการต่อยอดความขัดแย้งและการเยียวยาที่เป็นตัวเงินช่วยแทบไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อบวกรวมกับอีกหลายกรณีที่ตอกย้ำในประเด็นเดียวกัน คำขอโทษจากปากผู้นำรัฐบาลแม้จะออกมาแต่ไม่มีมาตรการทางกระบวนการยุติธรรมรองรับก็กลายเป็นถ้อยคำที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผลพวงอันนี้ขอเพียงแค่เป็นคนที่คลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่ก็ต้องมองเห็น จึงไม่แปลกที่ผู้นำกองทัพที่ลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุตากใบอย่างพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จะยอมรับในตอนหนึ่งของการตอบข้อซักถามว่า แม้เหตุการณ์ตากใบจะเป็นการผลักดันของฝ่ายต่อต้าน จนท.เชื่อว่าชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกหลอก และ“เมื่อได้เข้าไปแล้วจะถูกกระทำเรื่อยๆ” แต่แม่ทัพภาคสี่ก็ยอมรับว่าความเคียดแค้นจากเหตุการณ์นั้นมีจริง และความชิงชังยังคงอยู่ แม้รัฐบาลจะพยายามทำหลายอย่าง “แต่ความเคียดแค้นมันไม่หายไปสำหรับคนบางคน”
นับว่าน้อยครั้งจะได้ยินการยอมรับเช่นนี้ โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคง แต่ทว่าก็ยังห่างไกลจากจุดที่จะทำให้เริ่มมีการแก้ไขปัญหาอีกมากโข ที่สำคัญคำพูดของแม่ทัพภาคสี่ยังไม่ทันได้รับการบอกเล่าออกไป เรากลับได้ยินเสียงจากกรุงเทพฯดังมาจากปากพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ว่าขอให้หยุดพูดเรื่องตากใบเสียที “จะมาอ้างตากใบหรือกรือเซะแล้วทำให้ฆ่าคนได้หรือ ไม่ใช่เอาเรื่องเก่ากลับมาพูดกันใหม่”
ตอกย้ำแนวเดิมๆแบบไทยๆ คืออะไรที่แล้วก็ให้แล้วกันไป
ปัญหาก็คือ คนอื่นเขาไม่แล้วด้วยน่ะซิ
นอกจากนี้จนท.หลายคนยังเชื่อว่าปัจจัยเงื่อนไขเรื่องของตากใบและปัญหาเก่าๆไม่มีนัยสำคัญเทียบเท่ากับปัจจัยเรื่องความคิดชาตินิยมในแง่ของการเป็นเหตุผลสนับสนุนการต่อสู้แยกดินแดน ในความเห็นของพวกเขา มีหรือไม่มีกรณีตากใบก็ครือกัน – ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า อย่างน้อยที่สุดกรณีตากใบได้เพิ่มน้ำหนักให้กับความเชื่อที่ว่ารัฐไทยไม่ “เวิร์ค” คือไม่เป็นจริงไม่อาจตอบสนองพวกเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้ควรจะสำรวจกันอย่างจริงจังว่า มีหรือไม่ผู้คนที่ลงเอยด้วยข้อสรุปอันนี้เพราะประสบการณ์กรณีตากใบโดยตรง รวมทั้งเรื่องที่ว่าความไม่เป็นธรรมโดยรวมเป็นสาเหตุให้ผู้คนปฏิเสธรัฐไทยอย่างไรและแค่ไหน
ถ้าอ่านอาการของจนท.จากการตอบคำถามเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ถึงความลำบากของพวกเขาที่ต้องปะทะกับปัญหาสองด้าน ด้านหนึ่งคือในพื้นที่ที่ต้องรับมือปัญหาความไม่สงบที่กำลังแถมด้วยความฮึกเหิมของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐที่ถูกปลุกขึ้นมาแล้วด้วยความตาย 16 ศพ อีกด้านที่ต้องเผชิญ ก็คือแนวรบที่นำโดยฝ่ายกองเชียร์ในกรุงเทพฯที่ไม่ยอมถอยร่นและเปิดพื้นที่ให้ได้ทำงาน พวกเขาส่งเสียงอึงมี่คัดค้านการใช้ไม้นวมหรือมาตรการการเมือง เห็นตัวอย่างได้จากประเด็นเรื่องของการเยียวยาที่โดนตอกกลับผ่านในโซเชี่ยลมีเดียจนเละว่าเป็นการเยียวยา “โจร” เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศอ.บต. ต้องออกมาบอกนักข่าวว่า เงินช่วยเหลือห้าพันบาทต่อครอบครัวนั้นอันที่จริงเป็นการควักกระเป๋าส่วนตัวของเลขาธิการศอ.บต. พตอ.ทวี สอดส่อง มิได้ใช้เงินหลวงแต่อย่างใด
สำหรับจนท. หากจะใช้นโยบาย “การเมืองนำหน้า” ให้ได้อย่างที่ประกาศมา ภารกิจหลักอันหนึ่งอาจจะเป็นการที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทยให้รับเผือกร้อนก้อนนี้เอาไว้ให้ได้ ตั้งสติเพื่อให้ถกถึงปัญหากันได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนับว่ายากเย็นอย่างยิ่งเพราะผู้คนสะสมเอาไว้ทั้งความโกรธ เกลียดชังและไม่เข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมจนหลายคนแทบไม่เหลือช่องว่างให้คิดเป็นอื่น
ที่สำคัญการขจัดเงื่อนไขอันเกิดเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมอย่างเช่นในกรณีตากใบนั้นเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ต้องคิดและทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะฝากความหวังไว้กับทหารตัวเล็กๆแต่ละคนในพื้นที่ให้แสดงบทบาทได้ยกเว้นแต่ให้ทำงานอย่างทหารมืออาชีพและไม่ไปละเมิดชาวบ้านเพิ่มเติม แต่จนท.ระดับนโยบายต้องถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาพร้อมหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แทนที่จะนั่งทับระเบิดเวลาไว้รอให้หลักฐานมาปูดอยู่เบื้องหน้าแล้วรับมือไม่ได้เหมือนในกรณีปัจจุบัน ซึ่งทำให้การทำงานของจนท.ระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ยากหนักขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ผลของความตายสิบหกศพ กลายเป็นมือที่มองไม่เห็น ผลักให้ความขัดแย้งในสามจังหวัดเข้าประชิดตัวสังคมไทยในชั่วพริบตา มันได้ทำให้แนวหลังกลายเป็นแนวหน้าและเป็นแนบรบอีกด้านไปแล้วเรียบร้อย