Skip to main content

ไชยยงค์ มณีพิลึก

           การเลือกตั้งองค์การบริการส่วนตำบล หรือ อบต. ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลาจำนวนกว่า 150 แห่ง ที่จะมีขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า กลายเป็น ประเด็นร้อนขึ้นทันที เมื่อมีข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงรายงานว่า ในการเลือกตั้งระดับ อบต.ครั้งนี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตเป็นผู้นำขบวน มีแผนในการส่งคนเข้ายึดครอง อบต. ในครั้งนี้ เพื่อขยายฐานที่มั่นในหมู่บ้านที่มี “แนวร่วม” และ “แกนนำ” ที่เข้มแข็ง เพื่อ ต่อต้านอำนาจรัฐ

           โดยข้อเท็จจริง แม้หน่วยข่าวความมั่นคงจะไม่ออกมาเปิดประเด็นในเรื่อง “ บีอาร์เอ็นฯ” เตรียมยึด “อบต.” ให้เป็นประเด็นร้อนจนสร้างความไม่พอใจให้กับหน่วยงานและองค์กรหลายองค์การที่ต้องการอยู่อย่างเงียบเฉยด้วยวิธีการซุกขยะไว้ใต้พรม แต่ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชนิด “เกาะติด” ต่างทราบดีว่าการส่งคนของขบวนการเข้าแทรกซึมในองค์กรต่างๆ ของ”บีอาร์เอ็นฯ” ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. โรงเรียน ส่วนราชการต่างๆ มีการดำเนินการมานานร่วม 10 ปี แล้ว จนปัจจุบันในหน่วยงานต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “อำเภอ” และ โรงพัก” รวมทั้ง หน่วยงานของ”ทหาร” ต่างมี คนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ แฝงตัวอยู่ทั้งนั้น

           ในการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น ตั้งแต่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ผ่านมาก็มีความพยายามจาก ขบวนการบีอาร์เอ็น ในการส่งคนของตนเองเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนและของกรมการปกครองเพื่อหวังผลในการสถาปนาอำนาจการปกครองซ้อนอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการยึดอำนาจรัฐมาเป็นของขบวนการ

           ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต.ทุกครั้ง ที่ผ่านมา “บีอาร์เอ็น” ก็พยายามในการสงคนของตนเองเข้าไปนั่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงแต่ที่ผ่านๆ มา ไม่มีใครนำข่าวดังกล่าวมาเปิดเผยให้เป็นที่ตื่นเต้นตกใจของคนทั่วไป เนื่องจากคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ต่างยังไม่ค่อยรู้ถึงสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีความรุนแรงและ “ลึก” แค่ไหน

           ดังนั้น เมื่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างทราบถึงแผนของขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นอย่างดีว่าจะส่งคนของตนเข้ายึดครององค์กรปกครองท้องถิ่นจึงต้องวางแผนในการผนึกกำลังต่อต้าน เพื่อมิใช้แผนของ “บีอาร์เอ็น” บรรลุผลตามที่ต้องการ ไม่ใช่แค่ตื่นตกใจ และ “โบ้ย” ว่าเป็นแค่เรื่องหวาดระแวงของฝ่ายความมั่นคง หรือพูด “ประชด” เพียงว่า “อย่าเลือกตั้งเสียเลยดีมั้ย” เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา

           และวิธีการแก้ปัญหาการเลือกตั้ง โดยการป้องกันกลุ่มคนที่ “บีอาร์เอ็นฯ” ส่งเข้ามาเป็นตัวแทนนั้น อย่าได้หวังพึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ กกต.จังหวัด เพราะลำพังเพียงการควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างถูกต้องตาม ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ กกต.จังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเอาตัวเกือบไม่รอด แม้แต่การหาคณะกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ กกต.ท้องถิ่น ประจำหน่วยเลือกตั้ง ยังไม่สามารถที่จะหาได้อย่างสมบูรณ์ จึงอย่างหวังพึ่ง กกต.จังหวัด ในการที่จะป้องกันกลุ่มบุคคลที่แฝงตัวเข้ามาจากขบวนการ “บีอาร์เอ็น”

           โดยเฉพาะผู้ที่ถูกส่งลงสมัครให้ประชาชนเลือกนั้น ทุกคนไม่มีคดีความผิดติดตัว ดังนั้นจึงมีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายในการที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อชนะการเลือกตั้งเพราะประชาชนลงคะแนนให้แล้ว เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นนั้นๆ

           ดังนั้นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะป้องกันมิให้คนของ “บีอาร์เอ็น” เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ต้องให้ความช่วยเหลือ กกต.จังหวัด ในการเปิดเผยข้อมูล สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องประโยชน์ สิทธิของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ชี้ถึงผลดี ผลเสีย เพื่ออย่าให้ประชาชนเลือกเข้ามา

           เพราะประชาชนในพื้นที่ต่างรู้ดีว่า คนในหมู่บ้านของเขาว่าใครเป็นใคร คนไหนที่เป็นคนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ที่เขาต้องเลือก เพราะมีการ “ชี้นำ” จากบุคคลที่เขาเชื่อถือ และบุคคลที่เขาเกรงกลัวในอิทธิพลและอำนาจมืด ดังนั้นในหมู่บ้านเป้าหมาย ที่ฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลของขบวนการในการส่งคนลงรับการเลือกตั้ง หน่วยงานของรัฐจะต้องไม่ปล่อยให้มีการชี้นำและมีการข่มขู่ประชาชนเกิดขึ้น

           รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ในพื้นที่แห่งความไม่สงบ จะต้องมีมาตรการป้องกัน ผู้สมัครคนอื่นๆ ที่เป็น “คู่แข่ง” ของผู้สมัครจากขบวนการฯ ไม่ให้เป็น “ไข้โป้ง” ก่อนถึงวันลงคะแนน เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้สมัครผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ในพื้นที่ บ้านตาเซ๊ะ ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ที่เพิ่งเกิดขึ้น จนสุดท้ายหาผู้สมัครไม่ได้

           และสิ่งสำคัญคือ ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมต่างๆ หรือสมาพันธ์ที่เป็นองค์กรนำขององค์กรท้องถิ่น กกต.ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ต้องยอมรับความจริง อย่า “ตะแบง” ว่าเป็นการใส่ร้าย เป็นการวิตกจริตของฝ่ายความมั่นคงและอย่าคิดแต่ปกป้ององค์กรของตนเองว่าดีเด่น บริสุทธิ์ อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะนั่นไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและไม่ใช่การร่วมกันแก้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

           สถานการณ์การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น “เหตุเกิดที่หมู่บ้าน” จึงต้องระดมแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือแก้ที่หมู่บ้าน และต้องเน้นในเรื่องของ “การเมือง” วิธีการที่ “บีอาร์เอ็น” ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้วิธีการแบบเดียวกัน และจะต้องเหนือกว่า จึงจะได้ชัยชนะ และหากหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาล “พ่าย” ในหมากเกมของการเลือกตั้ง อบต.ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอในครั้งนี้ ย่อมหมายถึงการ”พ่าย”ในเรื่องของ “การเมือง” ที่สำคัญที่สุดนั่นเอง