Skip to main content

นับเป็นก้าวย่างแห่งประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยกับบีอาร์เอ็นลงนามร่วมกันในข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับการใช้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนของฝ่ายตรงข้ามอย่างเปิดเผยและยอมให้เผชิญหน้าอยู่ในระนาบเดียวกันต่อหน้าสาธารณะ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวตนออกมาสู่สายตาประชาชนทั่วไป โดยยอมเปิดโครงสร้างองค์กรบางส่วน

ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกต/ข้อเสนอที่ผมต้องการส่งไปให้ถึงคู่ขัดแย้งและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดทิศทางขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าวให้บรรลุความสำเร็จในการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อสังเกตที่ผมเห็นนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้วิถีทางแห่งการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ นั่นคือ รัฐไทยและขบวนการก่อเหตุรุนแรงต่างก็ต้องตระหนักว่า ทั้งคู่กำลังร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการนี้อยู่ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่มีความย้อนแย้งในตัวเองค่อนข้างมาก

สังคมไทยกล่อมตัวเองกันอยู่เสมอว่า สังคมเรานั้นมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่สุดในสามโลกแล้ว แต่ก็เป็นสังคมเราเองนี้มิใช่หรือ? ที่ต่อต้านการสร้างมัสยิดและการคลุมฮิญาบของเด็กนักเรียน

สังคมไทยหลอกตัวเองมาโดยตลอดว่า เราต้องให้เกียรติกับภาษาท้องถิ่นในฐานะรากเหง้าตัวตนอันดีงาม แต่ก็เป็นสังคมเราเองนี้มิใช่หรือ? ที่ปฏิเสธการใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทยในพื้นที่ชายแดนใต้

สังคมไทยมักโลกสวยเรียกร้องว่า เราอยากให้รัฐใช้สันติวิธีแก้ปัญหาภาคใต้ แต่ก็เป็นสังคมเราเองนี้มิใช่หรือ? ที่เรียกขบวนการฯ ว่าโจรใต้ แล้วรู้สึกสะใจเสมอเมื่อพวกนี้ถูกวิสามัญ และจะสบถให้ฆ่าพวกนี้ให้หมดเมื่อได้ข่าวการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

สังคมไทยพร่ำสอนกันมาให้ฝังจำฝังใจและรื้อฟื้นประวัติศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีก่อนให้มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดว่า พม่ามารุกรานชาติไทยและเป็นศัตรูตัวฉกรรจ์ ส่วนเขมรนั้นหน้าไหว้หลังหลอกต้องระวังและอย่ายอมให้มันเอาปราสาทพระวิหารไป แต่ก็เป็นสังคมเราเองนี้มิใช่หรือ? ที่ป่าวร้องให้คนในพื้นที่ลืมเหตุการณ์ที่ตากใบเมื่อไม่ถึงสิบปีก่อนเสียเถอะ อภัยให้กันเถอะ     

นี่คือโจทย์ที่พวกเขาต้องคำนึงถึงด้วยนะ เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้มันชี้ว่ารัฐไทยและขบวนการก่อเหตุรุนแรงกำลังร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้กันอยู่ภายใต้บริบทของสังคมดัดจริตซึ่งประกาศตนเป็นผู้มีศีลธรรมอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็พยายามจับผิดให้ได้ตลอดเวลาว่าใครบ้างที่หลุดออกไปจากมาตรฐานความเป็นไทย สังคมนี้มักเรียกร้องให้หาทางออกจากความขัดแย้งด้วยการพูดคุยใช้เหตุผล และไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรง แต่ก็น้อยคนนักที่จะเคยสำเหนียกครุ่นคิดจริงจังว่า เรายอมรับให้เกิดการพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้จริงๆ อย่างงั้นหรือ? ถ้าเกิดคู่ขัดแย้งที่เราต้องคุยด้วย เขาอยากพูดเรื่องเอกราชล่ะ แน่ใจนะว่าเราจะยอมถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าจะแจ้งตำรวจจับ? เอากาแฟสาด? เอาเก้าอี้ฟาด? หรือจับยัดถังแดงแล้วเผา? 

ฉะนั้น นี่คือความย้อนแย้งอิหลักอิเหลื่อประการสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ สังคมนี้ไม่ยอมรับการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการใช้ความรุนแรง แต่พร้อมกันนั้น สังคมเดียวกันนี้เอง ก็ไม่เปิดให้ใช้วิธีอื่นนอกจากการมุดลงไปใต้ดินแล้วใช้ความรุนแรงเพื่อสื่อสารเรื่องบางเรื่อง และความย้อนแย้งนี้เองจะเป็นอุปสรรคขัดขวางประการสำคัญไม่แพ้การไม่ยอมลดละที่ใช้มาตรการทางทหารของสายเหยี่ยวทั้งในฝ่ายรัฐไทยและขบวนการฯ      

ภายใต้ข้อสังเกตอันห่วงกังวลของผมในเรื่องนี้ ทางออกสำคัญอยู่ที่บทบาทของสื่อมวลชน ที่ควรจะต้องทำงานกันหนักมากยิ่งขึ้นใน 2-3 เรื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนบริบทแห่งการพูดคุยให้เอื้อและหนุนส่งให้การพูดคุยนั้นรุดหน้า แทนที่จะเป็นบริบทแห่งอุปสรรคขัดขวาง พร้อมทั้งยั่วยุให้ใช้กำลังกันอยู่ตลอดเวลา

หนึ่ง คือ หน้าที่ในการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและเป็นกลไกตรวจสอบการขับเคลื่อนกระบวนการให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมไม่ใช่นำไปสู่การเกี๊ยะเซี๊ยะกันระหว่างคู่ขัดแย้ง แล้วทอดทิ้งคนในพื้นที่ที่อยู่ตรงกลางและเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาโดยตลอดไว้เบื้องหลัง ในภารกิจหน้าที่นี้ สื่อมวลชนจะต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมสร้างความตระหนักว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมไทย 

สอง คือ หน้าที่ในการร่วมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้การพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติแทนที่การใช้กำลังในภารกิจหน้าที่นี้ สื่อมวลชนต้องเลิกเรียกขบวนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ว่าโจรใต้ เพราะด้วยสามัญสำนึกของคนทั่วๆ ไปที่รับสาร มันย่อมไม่มีความชอบธรรมใดที่รัฐไทยจะต้องไปเจรจากับโจร ขณะเดียวกัน แม้ว่าในข้อเท็จจริง อาจจะมีกลุ่มที่พอเรียกว่า โจร ได้บ้าง เช่น กลุ่มที่เกี่ยวพันกับเหตุรุนแรงด้วยแรงจูงใจจากความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ธุรกิจผิดกฎหมาย ฯลฯ แต่กลุ่มที่เกี่ยวพันกับการก่อเหตุรุนแรงด้วยแรงจูงใจของการแบ่งแยกดินแดน เรียกร้องเอกราช ไม่ใช่โจร เพราะต่อสู้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่อาญากรรมปล้นชิงวิ่งราวปกติ การที่สื่อมวลชนเรียกขานพวกเขาว่าโจรใต้  แล้วเน้นการนำเสนอดราม่าของเหยื่อผู้ถูกใช้ความรุนแรง โดยเพิกเฉยต่อการทำความเข้าใจเหตุที่มาของการใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง รังแต่จะเพาะบ่มความเกลียดชัง โกรธแค้น และก่อรูปความคิดเกี่ยวกับทางออกของปัญหาให้กับคนในสังคมได้เพียงทางออกเดียว นั่นคือ “ฆ่าพวกแม่งให้หมด”ซึ่งภายใต้บรรยากาศแบบนี้ การพูดคุยเพื่อลดความสูญเสียและความเจ็บช้ำของทุกฝ่ายจากการใช้กำลังย่อมเป็นไปไม่ได้     

สาม คือ หน้าที่ในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาชายแดนใต้อย่างรอบด้านมากขึ้นให้กับคนในสังคมในภารกิจหน้าที่นี้ สื่อต้องพาสังคมหลุดออกจากม่านมายาของข้อเท็จจริงด้านเดียว และภาพลักษณ์การรับรู้ที่ฝังหัวเกี่ยวกับสิ่งใดใดที่แตกต่างและเป็นอื่นไปจากมาตรฐานความเป็นไทยกรุงเทพฯ เพื่อเข้าใจความหลากหลายของความคิด และความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเหตุรุนแรงในชายแดนภาคใต้ เช่น สื่อมักโหมกระพือในเรื่องการตายของทหาร แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่จะพูดถึงการซ้อมทรมานประชาชนอันเป็นเงื่อนไขผลักให้เขาเข้าไปเป็นขบวนการฯ ผลลัพธ์จากภารกิจของสื่อในข้อนี้ จะช่วยให้สังคมไทยมองและ“เห็น” ความเป็นไปในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างมีวุฒิภาวะมากขึ้น  

สื่อมวลชนจะต้องตระหนักว่า ทุกคนในสังคมล้วนสามารถที่จะมีส่วนซ้ำเติมหรือบรรเทาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พร้อมๆ กัน โดยที่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็เป็นผลมาจากบทบาทของสื่อเองว่าจะนำเสนอเรื่องราวของปัญหามาในรูปแบบใด ต้องการให้คนในสังคมคิดเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ฟาตอนีออนไลน์ http://www.fatonionline.com/index.php/news/detail/1433