วิเคราะห์ชายแดนใต้ในเส้นทางพูดคุยสันติภาพ
โดย อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์
การลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อหาทางออกสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้เป็นความหวังว่า อาจเป็นจุดเปลี่ยนสถานการณ์ ช่วงที่ผ่านมา 9 ปี กระบวนการพบปะระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานี จะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสรรคปัญหามากมาย
ช่วงเวลาเดียวกับการลงนามข้อตกลงพูดคุยเพื่อสันติภาพกับบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ และเอ็นจีโอด้านสันติวิธี จากสวีเดนกลุ่มหนึ่ง เดินทางมาประเทศไทย และลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยการประสานงานระหว่างรัฐบาลสวีเดนกับสถาบันพระปกเกล้า
ที่น่าสนใจคือหนึ่งในคณะจากสวีเดน คือ ‘ยาสรี คาน’ วัย 27 ปี ซึ่งทำงานด้านสันติวิธี ในโครงการพระราชดำริของกษัตริย์แห่งสวีเดน เขาเป็นลูกชายของ ‘ซัมซูดิง คาน’ รองประธานองค์กรเอกราชปัตตานี หรือพูโลซึ่งอยู่ที่ประเทศสวีเดน
ซัมซูดิง ถือเป็นแกนนำก่อตั้งพูโล เขาเป็นแคนดิเดตสำคัญที่จะขึ้นเป็นประธานพูโลคนต่อไป ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซัมซูดิงได้รับเชิญหลายครั้งจากหลายหน่วยงานทั้งของไทยและนานาชาติ เข้าพูดคุยในเวทีการสร้างสันติภาพชายแดนภาคใต้ของไทย ร่วมกับ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือเบอร์ซู และตัวแทนกลุ่มต่อสู้เพื่อปัตตานีกลุ่มอื่นๆ
สำหรับ ยาสรีคาน บุตรชายของซัมซูดิง ทำงานในองค์กร Muslim for justice and peaceเป็นองค์กรของกลุ่มปัตตานีพลัดถิ่นในสวีเดน ทำงานเชื่อมต่อกับกลุ่มนักต่อสู้ (ยูแว) และรัฐบาลสวีเดน เพื่อแนวทางสันติภาพ
ผู้ประสานงานของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนำคณะจากสวีเดนลงพื้นที่ บอกว่า ยาสรีมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลสวีเดน และข้อเสนอของเขาเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีของสวีเดนให้ความสนใจรับฟัง
การเดินทางเข้ามาประเทศไทยครั้งนี้ เนื่องจากในเร็วๆนี้ตัวแทนรัฐบาลไทยกำลังจะเดินทางไปสวีเดนเพื่อเปิดกระบวนการสันติภาพกับขบวนการต่อสู้กับอีกกลุ่มหนึ่ง การเข้ามาพูดคุยกับคนปัตตานีครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลจากฝ่ายต่างๆกลับไปเสนอต่อรัฐบาลสวีเดน เพื่อเชื่อมต่อไปยังองค์กรที่มีบทบาทต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ ทั้งสหภาพยุโรป และ OIC
ยาสรีออกตัวว่า สิ่งที่เขาจะบอกกล่าวหลังจากนี้ เป็นความคิดเห็นจากประสบการณ์ของเขาซึ่งไม่เกี่ยวกับ ซัมซูดิง คาน ผู้เป็นพ่อแต่อย่างใด
แต่เมื่อถามถึงการเป็นนักต่อสู้ของพ่อ กับบทบาทของเขาซึ่งเป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ยาสรีบอกว่า พ่อของเขาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเห็นว่าจะต่อสู้ด้วยความรุนแรงไม่ได้ ซึ่งคนปัตตานีที่มาอยู่สวีเดนพยายามหาทางเลือกอื่นที่จะต่อสู้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจต่างกับนักต่อสู้ที่อยู่ในพื้นที่ แม้ว่าจะสังกัดองค์กรเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขให้ใช้วิธีการต่อสู้ที่แตกต่างกัน
“บทบาทของบางคนในสวีเดนไม่ใช่ผู้สั่งให้เริ่มใช้ความรุนแรง แต่ก็มีอำนาจสั่งให้หยุดใช้ความรุนแรงได้ต่อเมื่อมีการตกลงกันกับรัฐไทย เหตุผลที่สั่งได้คือ ความไว้วางใจ จะต้องมีเหตุผล มีข้อตกลงกันอย่างชัดเจน เพราะหากสั่งให้หยุดโดยที่ฝ่ายรัฐยังไม่มีการแก้ปัญหา สั่งอย่างไรก็ไม่หยุด และจะไม่มีใครวางใจเชื่อฟังคำสั่งอีกต่อไป การจะสั่งได้จึงต้องมีการตกลงกันให้แน่ชัดก่อน”
ในฐานะประธานชมรมมุสลิมแห่งสวีเดน และการทำงานเป็นเอ็นจีโอด้านสันติภาพ ทำให้เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มต่อสู้ต่างๆ ไม่เฉพาะกลุ่มปัตตานี แต่รวมถึงขบวนการต่อสู้ในบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และอาเจะห์ อินโดนีเซีย ขณะเดียวกันในฐานะลูกชายของแกนนำนักต่อสู้เพื่อปัตตานี เขาติดตามข่าวสารสถานการณ์ปัตตานีอย่างสม่ำเสมอ ผ่านทุกสื่อและทุกช่องทาง
ยาสรีมองว่า การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ปัตตานีขาดการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่การแก้ปัญหาต้องรู้ถึงความคาดหวังของคนในพื้นที่ที่ผ่านมารัฐไทยต้องการให้ผสมกลมกลืน โดยไม่เคารพต่อความคาดหวังของคนในพื้นที่
เขามองว่า คนในพื้นที่คาดหวังว่า รับไทยต้องยอมรับภาษาวัฒนธรรม สิทธิในการกำหนดอนาคตตัวเอง ดังนั้นเรื่องเอกราช การปกครองรูปแบบพิเศษเป็นเพียงกระบวนการโดยพื้นฐานเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกที่ว่านี้ แต่จะได้หรือไม่ต้องสู่จุดที่มีเป้าหมายอย่ามองแค่กระบวนการ การแก้ปัญหานั้นทุกฝ่ายจะต้องมองเห็นตรงกันคือความต้องการที่แท้จริงที่ว่านี้
"เรา (คนปัตตานีซึ่งหมายถึงประชาชนและนักต่อสู้) สามารถเชื่อมั่นต่อรัฐไทยได้แค่ไหนทั้งๆ ที่ไม่เคยให้เกียรติเราซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี2523”
ปี2523 ที่ยาสรีกล่าวถึงคือแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในชาติทั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งสามารถยุติความขัดแย้งมีผู้เห็นต่างซึ่งต่อสู้กับรัฐจำนวนมากที่ ยอมรับและวางอาวุธกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่สิ่งที่ยาสรีกังวลคือหลังการเข้ามอบตัวของขบวนการในอดีต เพียง2-3 ปีต่อมารัฐไทยก็ไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับสมาชิกขบวนการ
“ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญดังนั้นการต่อสู้หลากหลายรูปแบบที่ปรากฎขึ้นจึงเป็นเป้าหมายเพื่อที่จะได้พูดกับรัฐไทยให้ชัดขึ้น ผู้ต่อต้านรัฐมีกองกำลังรัฐก็มี แม้หลังจากนั้น(2523) มีโครงการมอบตัวแต่มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆที่ได้ตกลงไว้ ทำให้คิดว่ารัฐไทยไม่จริงใจ จึงเป็นความรู้สึกที่รับไม่ได้"
ยาสรีประเมินว่าการประเมินความจริงใจที่รัฐไทยจะรับฟังความคาดหวังของคนในพื้นที่ผ่านมาแล้ว30 ปี นับตั้งแต่ปี2523และจากปัญหาที่ปะทุขึ้นมาใหม่ซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนถึงขณะนี้หากจะให้พิสูจน์ความจริงใจจากรัฐไทย กลุ่มนักต่อสู้เห็นว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปี
ยาสรีบอกว่า เหตุที่ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปีในการประเมินความจริงใจของรัฐไทย เพราะการต่อสู้ที่ดำเนินอยู่นี้คงไม่หยุดง่ายๆ บรรดาขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในขณะนี้หวาดกลัวที่จะต้องเผชิญกับสิ่งที่รัฐไทยเคยทำมาก่อน นั่นคือ เมื่อความรุนแรงยุติลง รัฐไทยก็ไม่ทำตามสัญญาอีก ดังนั้นการต่อสู้ยังคงต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับแนวทางสันติวิธี จนกว่าจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน
“ถ้าลงนามกันอีกแล้วรัฐบาลไทยไม่จริงใจอีกก็ต้องรบกันอีก นี่คือสิ่งที่นักต่อสู้ทั้งหลายกังวล”
สำหรับการลงนามข้อตกลงพูดคุยสันติภาพ ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กับ ฮัสซัน ตอยิบ เลขาธิการขบวนการบีอาร์เอ็น นั้น ยาสรีมองว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แสดงให้เห็นถึงการยอมรับว่าอีกฝ่าย(ขบวนการฯ)มีตัวตนที่สามารถพูดคุยกันได้ อย่างน้อยก็สร้างแนวทางว่าหาคนที่จะมาหารือเพื่อยุติปัญหาได้ และรัฐไทยไม่ได้แสวงหาสันติภาพเพียงฝ่ายเดียว แต่มีคนมาร่วมทำงานแสวงหาสันติภาพด้วยกัน
“ถ้าคน 2 คนต่อสู้กัน ก็ต้องให้ทั้งสองคนนั่นแหละมาร่วมกันแสวงหาแนวทางสันติภาพ”
แต่ข้อสงสัยของฝ่ายต่างๆ ทั้งสังคมไทยและภายในกลุ่มต่างๆ ในขบวนการ ถึงเบื้องหลังของการลงนามพูดคุยครั้งนี้ ก็ทำให้ ยาสรีในฐานะผู้ดำเนินการกระบวนการสันติภาพกังวลว่า เป็นไปโดยสมัครใจหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีข่าวว่าฝ่ายขบวนการถูกกดดันและบีบบังคับให้ลงนาม
“หากผลออกมาว่ารับไทยไม่ซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือของกระบวนการพูดคุยก็จะลดน้อยลงไป กระบวนการเพื่อสันติภาพก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเพื่อรักษากระบวนการนี้เอาไว้ รับไทยจะต้องทำให้เห็นถึงการฟังความต้องการที่แท้จริงของประชาชน รวมทั้งให้ระบบรัฐสภาได้รับรู้ถึงแนวทางนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว”
กระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและขบวนการต่อสู้ อาจเป็นความหวังถึงสันติภาพ แต่ระหว่างทางที่ยังเสี่ยงต่อความรุนแรง เมื่อถามถึงปฏิบัติการของกลุ่มต่อสู้ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ยาสรีกล่าวถึงการก่อเหตุที่เกิดขึ้นว่า ประเทศไทย รัฐบาลไทย ไม่เคยฟังว่าพวกเขา(ชาวมลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้)มีสิทธิในดินแดนนี้มาก่อน แต่รัฐไทยกลับอ้างถึงความมั่นคงตลอดมา ซึ่งทำให้เกิดการปะกันกันตลอดมา และคงจะตลอดไป เพราะต่างฝ่ายทั้งขบวนการต่อสู้และรัฐไทยต่างก็มองว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก แต่ใครผิดหรือถูกนั้นคงต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
“ผมพูดคุยกับนักต่อสู้(ยูแว)อยู่เสมอว่า การขับเคลื่อนเพื่อสิทธินั้นมีหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือภาคประชาชน การต่อสู้จึงควรต้องเข้าไปมีบทบาทในหลายๆ ทางทั้งการเมืองและภาคประชาชน จึงจะทำให้เกิดการสื่อสารกันได้ ถ้ายึดแต่แนวทางจับอาวุธอย่างเดียวก็พูดคุยกันไม่ได้ และถ้าหากว่ารัฐไทยยอมรับการมีอยู่ของขบวนการต่อสู้ก็จะทำให้ท่าทีของกลุ่มต่อสู้โดยจับอาวุธนั้นอ่อนลงได้ แต่ถ้าปิดกั้นไม่ยอมรับก็จะยังคงรุนแรงกันต่อไป”
บันทึกบทสนทนา
‘ยาสรี คาน’กับกลุ่มเยาวชนปัตตานี
กลุ่มเยาวชน : คิดว่าปัตตานีจะได้เอกราชหรือไม่
: คำตอบอยู่ที่ประชาชน หากว่าอัตลักษณ์ของประชาชนไม่เข้มแข็งก็จะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ในสวีเดน มีทีมฟุตบอลปัตตานีที่สร้างคน เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสเลือกว่าเขาอยากเป็นอะไร และไม่กลัวคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นเชื่อเราต้องเชื่อตัวเองก่อน
กลุ่มเยาวชน :ถ้าจะได้เอกราช จะต้องทำอะไรก่อน ถ้าประชาชนต้องการทำอย่างไรให้ได้ เอกราช จับอาวุธหรือว่ามีทางอื่นอยู่ไหม
: การพูดเรื่องเอกราชไม่ได้พูดในเชิงของการตัดสิน แต่เราต้องมองเรื่องสันติภาพ และจะต้องมีความยุติธรรม ถ้าไม่มีสันติภาพจะมีปัญหาเรื่องความยุติธรรม
ถ้าฝ่ายขบวนการทำงานไม่ดีก็ไม่ควรสนับสนุน ถ้าไม่มาจากภาคประชาสังคมก็นำไปสู่สันติภาพไม่ได้ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทางการเมือง คนก็จะจับอาวุธต่อสู้ การเข้าสู่กระบวนการสันติภาพมีพลวัตอยู่ตลอด และได้รับการยอมรับมากขึ้นจากที่แต่ก่อนไม่ได้รับการยอมรับ
ต้องมี model ที่ทำให้คนฉลาดเพื่อที่จะต่อสู้กับอำนาจ ถ้าไม่มี model ก็ต้องยกตัวเองขึ้นมาเป็น model
กลุ่มเยาวชน : ถ้าได้เอกราชจะกลับมาปัตตานีไหม
: กลับมาผมไม่เหมือนลูกหลานปัตตานีในที่สวีเดนแบบคนอื่นๆ พวกนั้นสบายแล้ว แต่เราเองสบายเพราะมีคนที่ช่วยเหลือเรา เราเองจึงอยากช่วยเหลือคนอื่นต่อ ผมอยากมาคุยกับคนที่นี่ กับคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมา ส่วนตัวเขา แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่าคนปัตตานีจะสร้างความเจริญได้
หมายเหตุ :
ความหมายของปัตตานีในการสัมภาษณ์ มิใช่แค่ จ.ปัตตานี แต่หมายถึง ภาพรวมของชายแดนภาคใต้ทั้งหมด
รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2556