Skip to main content


 

 

 

 

เขตพื้นที่ป่าเขาอันสลับซับซ้อนและป่าดงดิบอันหนาทึบของเทือกเขาสันกาลาคีรีฝั่งตะวันตก ความกว้างใหญ่ของป่ากินพื้นที่ครอบคลุม หลายอำเภอในจังหวัดยะลา อันได้แก่ อ.ยะหา, อ.รามัน, อ.ธารโต, อ.กรงปินัง รวมไปถึง อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นที่จับตาของผู้ที่สนใจสถานการณ์ชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถือเป็น “เขตงาน” อันแข็งแกร่งของผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีกระบวนการจัดตั้งเครือข่ายที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีประวัติของการเป็นแหล่งกบดานและซ่องสุมอาวุธ ซึ่งทางการสามารถตรวจค้นได้อยู่บ่อยครั้ง
พื้นที่ดังกล่าว ยังมีประวัติของการจับกุมเครือข่ายสมาชิกผู้ก่อความไม่สงบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ต.บาเจาะ อันเป็นบ้านเกิดและเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ‘นายอหมัด ตืองะ’ หรือ ‘อุสตาสมะ’ ที่ครอบคลุม ต.บาเจาะ, ต.บันนังสตา, ต.บันนังกูแว ใน อ.บันนังสตา รวมถึง ต.แหร ใน อ.ธารโต จ.ยะลา อดีตครูสอนศาสนาคนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหลบหนีที่ทางการตั้งค่าหัวไว้สูงถึง 2 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่งานของ ‘นายสะการียา หะยีสาเมาะ’ โต๊ะอิหม่ามซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านคอรอคาเอ ต.บาเจาะ เช่นกัน โดยถือว่าเป็นแกนนำคนสำคัญที่ปลุกปั่นเยาวชนให้เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ระดมกำลังกวาดล้างเครือข่ายในพื้นที่ อ.บันนังสตาระลอกใหญ่จนตัวเองต้องหลบหนี แต่กลุ่มแนวร่วมในเครือข่ายนับสิบคนถูกจับกุม ซึ่งแม้ว่าเจ้าหน้าที่ จะได้สลายเครือข่ายนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังปรากฏเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง

 

อ. บันนังสตา จึงเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทั้งของกลุ่มแกนนำและกองกำลังที่ออกมาก่อความไม่สงบ รวมทั้งเป็นพื้นที่บ่มเพาะทางความคิดของกลุ่มขบวนการ

 

ข้อมูลงานวิจัยของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (IDSW) เรื่อง ความรุนแรงไฟใต้ในรอบ 2 ปี พบว่า มีเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บันนังสตา 26 ครั้ง ซึ่งหมายถึงว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลา 1 เดือน อ.บันนังสตา จะเกิดเหตุรุนแรงในความถี่กว่า 2 ครั้งต่อเดือน

 

เมื่อย้อนสำรวจเหตุที่เกิดขึ้น ใน อ.บันนังสตา จะพบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นเขตซึ่งเกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบที่หนักหน่วงขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่นับรวมการก่อเหตุในลักษณะการลอบยิงชาวบ้าน ลอบวางระเบิด เผาทรัพย์สินสาธารณะ ที่เป็นลักษณะการก่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำรายวัน จะเห็นความชัดเจนของการเป็น “เขตงาน” ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

8 พฤศจิกายน 2548  มีการระดมแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบกว่า 100 คน ปิดล้อมโจมตีสถานีตำรวจและบ้านพักนายอำเภอบันนังสตา ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการเย้ยอำนาจรัฐครั้งใหญ่ โดยครั้งนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐประสบความสำเร็จในการป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบต้องสูญเสียแกนนำคนสำคัญคือ ‘นายหาสือมิง จารง’ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะนำกำลังเข้าโจมตี สภ.อ.บันนังสตา

 

2 มกราคม 2549   กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่ต่ำกว่า 10 คน ซุ่มโจมตีชุดปฏิบัติการรบพิเศษที่ 534 ที่บ้านคอลอกาเอ ม.5 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ส.อ.สมจิต หล่อแสง ทหารของชุดปฏิบัติการดังกล่าว เสียชีวิตและถูกตัดศีรษะ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สุดโหดเหี้ยมครั้งหนึ่ง

 

21 มกราคม 2549  คนร้ายประมาณ 6-10 คน แต่งกายชุดดำ ใช้อาวุธสงครามอาก้าและเอ็ม 16 ซุ่มยิงกำลังตำรวจ ตชด.ชุด 301 กองร้อย 325 จ.น่าน ที่ตั้งฐานประจำที่โรงเรียนบ้านบาเจาะ ม.2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 

22 มกราคม 2549   การขยายผลจากการจับกุมคนร้ายที่ตามประกบยิง ตำรวจตระเวนชายแดน จากหน่วย ที่ 3401 ที่ อ.รามัน ในช่วงต้นเดือน ได้ขยายผลมาสู่การทลายเครือข่ายที่มั่นของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่สีแดงของ จ.ยะลา โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นขนำที่พักชั่วคราวภายในสวนยางบนเขาหมู่ 5 บ.คอรอฆาเอ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ตรวจยึดอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก
24 มกราคม 2549   ควบคุมตัว ‘นายอิบรอเฮง กาแซ’ อายุ 29 ปี อุสตาซโรงเรียนตาดีกา หมู่ 3 ต.บันนังสตา มาสอบสวน ซึ่งนายอิบรอเฮงให้การกับเจ้าหน้าที่ว่ามีหน้าที่เป็นฝ่ายจิตวิทยาของขบวนการ โดยเป็นผู้ที่จัดหาวัยรุ่น และ เยาวชนในพื้นที่ให้เข้าร่วมขบวนการ ปลูกฝังอุดมการณ์ และเป็นผู้ทำซุมเปาะ (สาบาน) ให้กับแนวร่วมในพื้นที่ นอกจากนั้นยังเป็นผู้ปลุกระดมชาวบ้านในพื้นที่ให้เชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่

 

31 มกราคม 2549   เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร กว่า 100 นายเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านผู้ต้อง ที่บ้านพงจืองา หมู่ที่ 3 ต. บันนังสตา ภายหลังสืบทราบว่าแนวร่วมที่ผ่านการฝึกการรบหลักสูตร RKK รวมตัวกันอยู่ เกิดการยิงปะทะกันนานประมาณ 10 นาที คนร้ายที่อยู่ในบ้านได้วิ่งหลบหนีออกไปทางด้านหลังซึ่งเป็นภูเขา
 
26 สิงหาคม 2549   คนร้ายวางระเบิดและลอบยิงรถยนต์ของ พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับการกรมพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากรที่ 2 กองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร ในฐานะผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ยะลา และกำลังทหารติดตาม ที่บริเวณถนนภายในหมู่บ้าน พื้นที่ ม.4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา หลังจากเดินทางกลับงานทอดผ้าป่าที่วัดบันนังกระแจะ อ.ธารโต จ.ยะลาแล้ว เขากำลังจะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามคัมภีร์วิทยา บ้านบาโงสะโต 

 

ลักษณะเหตุที่ลำดับมาดังกล่าวเป็นปฏิบัติการโดยใช้กองกำลังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในพื้นที่ จู่โจมเป็นสำคัญและเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ช่วยขับเน้นให้เห็นความเป็น ‘เขตงาน’ ของกลุ่มขบวนการภายในพื้นที่ อ.บันนังสตา ซึ่งยังไม่นับรวมเหตุรายวัน ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนภาวะแห่งความหวาดกลัวและหวาดระแวงปกคลุมไปทั่วพื้นที่ หลายพื้นที่เกิดภาวะการณ์ปฏิเสธการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐ ตัดขาดการติดต่อหรือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกประการ และที่น่าสนใจคือ ชุมชนไทยพุทธที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านและนิคมสร้างตนเอง ทั้งในพื้นที่ อ.บันนังสตาไปจนถึง อ.ธารโต ตกอยู่ในสภาวะ ‘ภูมิคุ้มกันพลเมือง’ บกพร่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่สามารถปกป้องคุ้มครองการสูญเสียของชาวไทยพุทธได้
 
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่สวนทางคือ กลุ่มชาวไทยมุสลิมกลับไม่ต้องการการคุ้มครองป้องกันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และพยายามโดดเดี่ยวตนเองจากอำนาจรัฐ โดยต้องการอยู่ตรง ‘กลาง’ ระหว่างความขัดแย้ง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐ
 ลักษณะการณ์เช่นนี้ ยืนยันได้ดีที่สุดจากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านชุมนุมขับไล่อำนาจรัฐออกจาก อ.บันนังสตาที่โรงเรียนบ้านบาเจาะ ม. 2 ต.บาเจาะเมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน) จากลักษณะของการใช้กองกำลังในการจู่โจมนำมาสู่การใช้เด็กและสตรีเช่นเดียวกับวิธีการที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส แต่ในขณะเดียวกันการปฏิบัติการด้วยการใช้กองกำลังก็ยังคงอยู่ เพราะในวันเดียวกันนี้ เกิดเหตุการณ์ซุ่มลอบโจมตีคณะของ พ.อ.ชินวัตร แม้นศรี ขณะเดินทางกลับจากการไปตรวจสอบโรงเรียนบ้านบางลางที่ถูกเผาจนเกิดการปะทะกันนานนับชั่วโมง และในช่วงค่ำวันเดียวกัน คณะของเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังสันติสุข ชุดหน่วยรบพิเศษ ซึ่งเดินทางกลับจากบ้านบาเจาะ ก็ถูกลอบวางระเบิดบนถนนสาย 410 เขตพื้นที่ อ.เมืองยะลา จนทหารเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 3 นาย 1 ในนั้นเป็นนายทหารระดับพันเอก

 

นี่คือการแพร่ขยายความรุนแรง ที่ลงลึกไปสู่บริบทของงานการเมือง ที่อาศัยการรวมตัวของมวลชนเป็นตัวขับเคลื่อน ที่แม้จะใช้ความรุนแรงแบบวิธีการทหารเป็นตัวนำทาง แต่ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม ของการเปลี่ยนผ่านทางยุทธวิธี ซึ่งทำให้พื้นที่ อ.บันนังสตา เป็นพื้นที่เขตงานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่อำนาจรัฐเจาะเข้าไปได้ไม่ง่ายนัก!