Skip to main content
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(YDA)
เวลา 15.45 น. วันที่ 5 มีนาคม 2556
 
ถือได้ว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยโดยผ่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีที่ชื่อว่า BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ ที่ผ่านมา เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกเลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่ท่าทีของรัฐไทยและรัฐมาเลเซียยอมรับสถานะทางการเมืองอย่างเป็นทางการของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ต่อหน้าคนทั่วโลกร่วมกันเป็นสักขีพยาน โดยการเผยแพร่ของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกแทบทุกช่องและทุกสำนักในรอบ 227 ปี ตั้งแต่ดินแดนปาตานีถูกยึดครองโดยอาณาจักรสยามเมื่อ ค.ศ.1786
 

 
ถ้ามองแบบผิวเผินแค่เพียงเปลือกนอกของกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ ก็จะเห็นและรู้สึกได้อย่างตรงกันว่าสัญญาณบวกต่อกระบวนการสร้างสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้ว
 
แต่ทว่าถ้ามองลึกลงไปในเนื้อใน ก็จะเห็นและรู้สึกได้อย่างตรงกันเช่นเดียวกันว่า สัญญาณลบต่อกระบวนการสันติภาพ (peace process) ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน
 
สัญญาณบวกต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งอยู่ที่เปลือกนอกของกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ ก็คือกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพได้ริเริ่มอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยการชี้วัดจากท่าทีของคู่กรณีขัดแย้งหลักว่ามีความไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นผลพวงสำคัญมาจากบทบาทของผู้อำนวยการพูดคุย (Facilitator) โดยยึดมั่นอย่างแข็งขันในหลักการอำนวยความสะดวกให้คู่กรณีขัดแย้งได้พูดคุยสานเสวนาให้มากเท่าที่จะมากได้ ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวนั้นปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือการวางกรอบการพูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น
 
สัญญาณลบต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นเนื้อในของกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ ก็คือมีกลิ่นอายของการพูดคุยเพื่อประนีประนอม (compromise dialogue) มากกว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (peace dialogue) ที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งเริ่มต้นกระบวนการด้วยการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจซึ่งกันและกันก่อน โดยยังไม่มีเงื่อนไขหรือกรอบของการพูดคุยใดๆทั้งสิ้น
 
ซึ่งสัญญาณลบที่ว่านั้น เห็นได้จากท่าทีที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนของรัฐไทยและรัฐมาเลเซียต่อจุดยืนและความต้องการของขบวนการ BRN นั่นก็คือคำว่า “Patani Merdeka” หรือปาตานีเอกราช โดยผ่านเนื้อหาข้อตกลงการพูดคุย คือรัฐไทยได้แสดงจุดยืนว่า “การพูดคุยต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น” และรัฐมาเลเซียก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่า สถานะของมาเลเซียนั้นไม่ใช่  “คนกลาง” (mediator) เป็นแค่ผู้ประสานงานและผู้อำนวยการพูดคุยเท่านั้น และชัดเจนว่ารัฐมาเลเซีย “ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน” ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี
 
 
คำว่า peace คือ สันติภาพที่มาจากความพึงพอใจในผลการเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ต่อทางเลือกสันติภาพที่มีอยู่ทั้งหมดและนำไปสู่การมีภาวะของการใช้ชีวิตที่มีหลักประกันความสุขด้วยความเป็นธรรมและร่มเย็น
 
คำว่า compromise คือการประนีประนอมหรือยอมความรับในสิ่งที่ตนไม่พึงพอใจด้วยความไม่เต็มใจ แต่ต้องจำยอมเพราะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับ
 
เมื่อปราฎการณ์การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN อย่างเป็นทางการโดยมี สมช.มาเลเซียเป็นคนกลางที่ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Mediator) และมีกรอบการพูดคุยที่ออกนอกรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่กลับดึงตัวแทน BRN ระดับรองเลขาธิการพรรคและหัวหน้าสภาการเมือง (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2556 ชื่อบทความ “แฉปาหี่ระดับโลก ‘ปู-นาจิบ’ ชู ‘ทักษิณ’ ต้นคิดเจรจา BRN กองทัพไม่เกี่ยว”) ยอมขึ้นโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพที่คนทั่วไปตาสีตาสาไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพก็มองเห็นชัดเจนว่า ตัวแทน BRN เสียเปรียบ
 
ประกอบกับภาวะวิสัยการเมืองปัจจุบันของทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซีย ซึ่งถ้าทั้งสองสามารถอธิบายอย่างเชื่อมโยงให้ดีกับผลลัพธ์เปลือกนอกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทั้งสองได้ล่ะก็ ผลประโยชน์ทางการเมืองในรูปของการได้ใจประชาชนก็จะเกิดขึ้นโดยปริยาย กล่าวคือฝั่งของรัฐบาลไทยที่บริหารโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งมีพี่ชายนายกฯ อยู่ในภาวะที่กำลังหาช่องทางให้สามารถกลับบ้านได้นั้นอาจจะได้ประโยชน์ และทางฝั่งรัฐบาลมาเลเซียที่บริหารโดยพรรค UMNO ซึ่งอยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งนายกฯคนใหม่ก็อาจจะได้ประโยชน์เช่นกัน
 
แต่ที่แน่ๆก็คือทั้งสองนั้นสามารถสร้างสัมพันธ์ทางการทูตได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งรัฐย่อมมาเป็นที่หนึ่ง เหนือผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งมีผลประโยชน์อันมหาศาลทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจรองรับ
 
ไปๆ มาๆ ผู้ที่ สมช.ไทยและ สมช.มาเลเซียเรียกว่าเป็นตัวแทน BRN ก็ตกกระไดพลอยโจรเข้าแผนขุดบ่อล่อปลาของรัฐไทยอีกแล้ว โดย สมช.ไทยเป็นคนขุดบ่อและ สมช.มาเลเซียเป็นคนล่อปลา หรืออาจจะใช้การบีบบังคับปลาด้วยซ้ำไปก็เป็นได้
 
คงไม่แปลกที่ปฏิกิริยาหลังจากการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ของกองกำลังขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี จะชื่อ BRN หรือชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือนัยยะการก่อเหตุอย่างเข้มข้นกระจัดกระจายอย่างไม่ลดละ ไม่เว้นวันทั่วพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี จนถึง ณ เวลาผู้เขียนกำลังเขียนบทวิเคราะห์นี้ก็เกิดเหตุระเบิดหน้าสถานีรถไฟยะลา จะเป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้หรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวก็โชคดีไป จะได้ไม่ต้องปวดหัววิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลบวกหรือผลลบกับกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นอีกหลายฉากหลังจากนี้จนกว่าสงครามจะยุติ 
 
 
แต่ทว่าการก่อเหตุดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 28 กุมภา ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ สมช.ไทย กับ สมช.มาเลเซีย คงต้องถอดบทเรียนแล้วสิว่า ส่งผลให้เพิ่มเงื่อนไขสันติภาพ หรือ เพิ่มเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อ กันแน่?