Skip to main content

 ๘ มีนาคม ๒๕๕๖

 
แถลงการณ์
สร้างความมั่นคง ปลอดภัย และสนับสนุนผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้ง
ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพและกระบวนการตัดสินใจ
 
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาจนปัจจุบันเกือบ ๑๐ ปี ได้ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิง/เด็กหญิงจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันพบผู้หญิง/เด็กหญิงจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ หรืออยู่ในสถานะหม้าย และกำพร้า ผู้หญิงต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและแบกรับภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มีความปลอดภัย ความรุนแรงยังได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้หญิง/เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาความไม่ปลอดภัยปลอดภัย ความกลัว การไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการดูแลด้านอนามัยเจริญพันธ์ ปัจจุบันพบผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV/AIDs ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงยาและการรักษา รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศโดยการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรง ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเด็ก การเข้าไม่ถึงวัคซีนของเด็กและรวมถึงปัญหาค่าเฉลี่ยของความสามารถทางเชาวน์ปัญญา (I.Q.) ของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในระดับต่ำ
 
ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพพบว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการสนับสนุนผู้หญิงให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการแก้ปัญหาและการพัฒนา รวมถึงโอกาสทางการศึกษา แต่มูลนิธิฯพบว่าในหลายบริบทโอกาส ความเท่าเทียม และการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงยังเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริงรวมถึงผู้หญิงยังคงไม่สามารถมีส่วนร่วมในทุกระดับของการตัดสินใจในการแก้ปัญหา หรือการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
ในโอกาสวันสตรีสากลวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้
 
       ๑. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องสร้างกลไกป้องกันไม่ให้มีการใช้ผู้หญิง / เด็กหญิงเป็นเครื่องมือในการใช้ความรุนแรง
 
๒. สนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมในทุกระดับของการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา
 
๓. สร้างกลไกเพื่อป้องกันผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัวในกรณีที่ผู้หญิง/เด็กหญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ รัฐต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างเหมาะสม มีการเยียวยา ฟื้นฟู และช่วยเหลือให้ผู้หญิงซึ่งได้รับผลกระทบให้เข้าถึงความยุติธรรม โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางด้านกฎหมาย และให้คำปรึกษาที่จำเป็นกรณีที่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและจะต้องไม่แนะนำให้ผู้เสียหายจากความรุนแรงถอนฟ้องหรือยอมความโดยผู้เสียหายไม่เต็มใจ
 
๔.  สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงยาและการรักษาให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้หญิง ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับบริบททางศาสนา และวัฒนธรรม