Skip to main content
พลเดช  ปิ่นประทีป
หมายเหตุ: เขียนให้โพสต์ทูเดย์ 6 มีนาคม 2556
 
          เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ทั้งคณะได้ไปประชุมที่ ศอ.บต. ยะลา โดยเชิญทหารตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ค่ายนาวิกโยธินถูกโจมตีที่บาเจาะ นราธิวาสเมื่อ 13 ก.พ. 2556 มาเล่าข้อมูลและแลกเปลี่ยนซักถามกัน  ผู้การฯ นาวิกโยธินเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า มักถูกนักข่าวถามว่าไล่ล่าพวกโจรไปถึงไหนแล้ว  ตอบว่าตนไม่ได้คิดจะทำอย่างนั้นเลย เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่โจร เขาเป็นเพียงพี่น้องที่เห็นต่างและเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำจากรัฐมาก่อน  แทนที่จะไล่ล่าตนกลับจะต้องรีบรุดไปหาญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นแทน เพื่อแสดงความเสียใจและเห็นอกเห็น
 
          อันที่จริงการสู้รบทั้งสองฝ่าย ต่างผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบกันมาโดยตลอด ความสูญเสียทุกครั้ง ไม่ว่าของฝ่ายใดล้วนเป็นเรื่องที่น่าเศร้าโศกเสียใจทั้งสิ้น เพราะทุกคนคือพี่น้องคนไทย ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ควรที่เราจะมายินดีหรือยินร้ายกับใคร ไม่ควรสะใจหรือโกรธแค้นเหมือนคนเชียร์มวย  แต่เราควรต้องช่วยกันภาวนาให้ทั้งสองฝ่ายหยุดสู้รบกัน โดยส่งเสียงดังๆ ว่าขอสันติภาพกลับคืน
    
          วันนี้ผมมีข้อเสนอรูปธรรมการถอยคนละก้าวและให้ที่ยืนแก่กันและกัน  เป็นเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพจากภาคประชาสังคมครับ
 
1. สร้างเงื่อนไขการหยุดยิง สร้างบรรยากาศสันติภาพ (Peace Building)
 
          การหยุดใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน การเกิดความรู้สึกที่ปลอดภัย การสามารถใช้วิถีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ เหล่านี้คือรูปธรรมของสันติภาพ ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพังหรือการใช้กำลังที่เหนือกว่าไปบังคับอีกฝ่าย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างบรรยากาศสันติภาพ ดังนี้
 
          1) รัฐบาล ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการสร้างสันติภาพ พร้อมทั้งแสดงความจริงใจด้วยการนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ มาใช้แทน พ.ร.ก.การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉินฯ แบบเต็มทั้งพื้นที่ โดยทันที  นี่เป็นงานการเมืองและงานนโยบายเชิงรุกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ นักการเมืองไม่ควรไปแย่งฝ่ายปฏิบัติทำในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ไม่ควรกลัวว่าใครจะมาแย่งซีน ไม่ฉวยโอกาสหาเสียงกันแบบมักง่าย ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องเล่น จะต้องทำให้เรื่องนี้พ้นจากความเป็นขั้วเป็นฝ่ายทางการเมืองเสียที
 
          2) ฝ่ายขบวนการ  (BRN Coordinate, RKK, Juwae) ต้องหยุดระเบิด หยุดเข่นฆ่าทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไร้ทางสู้ โดยทันทีเช่นกัน เพราะการปฏิบัติการณ์เช่นนั้นรังแต่จะเสียการเมือง ทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้  พื้นที่สำหรับยืนในระยะยาวจะยิ่งหดแคบ ความกลัวของสาธารณชนในท้องถิ่นเมื่อถึงขีดสุด จะเปลี่ยนเป็นความเกลียดและกล้าที่จะเป็นปฏิปักษ์
 
          3) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการเมืองของฝ่ายรัฐ ต้องเดินหน้ากระบวนการพูดคุยและเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างในระดับผู้ตัดสินใจอย่างหวังผลสัมฤทธิ์ ต้องใช้การข่าวและหลักวิชาชีพที่เป็นจุดแข็งของสถาบันและความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองมาใช้เป็นเครื่องมือจนเสียการ
 
          4) กอ.รมน. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านปฏิบัติการด้านการทหาร ต้องเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบปลอดภัยของบ้านเมือง ต้องใช้มาตรการการเมืองนำการทหารอย่างเข้มข้นและเตรียมการรองรับการคืนสู่เหย้าเข้าร่วมพัฒนาชายแดนใต้ของพี่น้องผู้เห็นต่าง
 
          5)ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนา ต้องเดินหน้าการเยียวยาเชิงสมานฉันท์ในเชิงรุกและสนับสนุนการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ โดยทุกกิจกรรมทุกขั้นตอนต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพอย่างจริงจัง
 
          6) ภาคประชาสังคม ในฐานะเป็นพลังที่เป็นกลาง ต้องทำหน้าที่กำกับ สนับสนุนและตรวจสอบทุกฝ่าย รวมทั้งร่วมสร้างบรรยากาศสันติภาพอย่างจริงจัง ในทุกรูปแบบ
 
2. เสริมสร้างบทบาทและพลังชุมชนในงานพัฒนา (People Empowerment)
          การพัฒนาที่ถูกทิศทางและมีความสมดุล สามารถป้องกันปัญหาความขัดแย้งได้ จึงนำมาซึ่งสันติภาพและสันติสุข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักและประชาชนมีบทบาทสำคัญ  จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนภาคประชาชนในงานพัฒนา ดังนี้
 
          1) รัฐบาล ควรจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นกลไกการทำงานเสริมให้กับ ศอ.บต.ในการสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณและกำกับดูแลให้เป็นองค์กรเสริมสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นที่ปลอดจากการเมืองและมีความเป็นมืออาชีพในด้านงานพัฒนาอย่างแท้จริง
 
          2) ภาคประชาสังคม ควรก่อตั้งกลไกและพัฒนาระบบมูลนิธิกองทุนชุมชน (community foundation) เพื่อระดมการบริจาคสาธารณะและจัดการทุนสนับสนุนแก่กลุ่มและองค์กรอาสาสมัครที่หลากหลายในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชายแดนใต้เคียงคู่กับภาครัฐด้วยระบบการพึ่งตนเอง
 
3. ส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการจัดการตนเอง (Decentralization)
 
          การพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเป็นการเปิดพื้นที่สันติให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเห็นต่างได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมั่นใจแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์รับข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ  ถึงแม้นว่าการหาข้อยุติในรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับท้องถิ่นชายแดนใต้ยังคงต้องใช้ระยะเวลา แต่การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเช่นนี้ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุน ดังนี้
          1) สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีวิชาการเพื่อพัฒนารูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจที่หลากหลาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องต่อไป
 
          2) สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ควรจัดทำสรุปประเด็นสำคัญความต้องการของภาคประชาชนด้านการกระจายอำนาจที่ได้จากการจัด 200 เวที เสนอต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนกิจกรรมการเสนอกฎหมายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้สามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามขั้นตอนและกติกาของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด