Skip to main content

ถก "ภาษามลายู" ไม่ใช่ภาษาก่อการร้าย



โดย มูฮำหมัด ดือราแม, สะรอนี ดือเระ, อารีด้า สาเม๊าะ 

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้


นับเป็นความหวังใหม่ของการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อรัฐบาล โดยสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) ลงนามความร่วมมือในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับแกนนำกลุ่ม "บีอาร์เอ็น" หรือ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" 


การลงนามดังกล่าวแม้จะไม่ทำให้เหตุการณ์ยุติลงในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเจรจา หรือลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสงบสุข 

ไม่เฉพาะความพยายามในระดับรัฐบาลเท่านั้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานในระดับพื้นที่ อย่างสถาบันการศึกษา กลุ่มนักศึกษา และภาคประชาสังคมเอ. ก็จัด กิจกรรมหลายๆ อย่าง โดยมี เป้าหมายตรงกันคือนำความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นที่


อย่างเช่นวงเสวนา "ที่ทางภาษามลายูในโลกการสื่อสาร" ซึ่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สำนักข่าวประชาไท กลุ่ม AWAN BOOK สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน และวิทยาลัยประชาชน ร่วมกันจัดขึ้นที่ห้องประชุม 310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้


โดยตั้งต้นจากคำถาที่ว่า "จะทำอย่างไรที่ให้ภาษามลายู ไม่ใช่ภาษาแห่งการก่อการร้ายในสายตาของคนทั่วไป และจะทำอย่างไรให้ภาษามลายูนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่สันติภาพได้"

เพราะที่ผ่านมา ภาษามลายูที่คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ใช้สื่อสารตามวิถีชีวิตปกติ กลับถูกคนส่วนใหญ่ที่ใช้ภาษาไทยมองอย่างหวาดระแวงสงสัย 

ขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่มักพูดภาษามลายูปนกับคำในภาษาไทย รวมทั้งใช้ประโยคที่ ผิดเพี้ยนไปจากโครงสร้างทางภาษา จนมีผู้ห่วงใยว่าภาษามลายูกำลังจะวิบัติ


นี่อาจเป็นเวทีแรกๆ สำหรับประเด็นนี้ จึงมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษามลายูเพื่อการสื่อสารเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งผู้เสพสื่อภาษามลายูในพื้นที่


เวทีเริ่มต้นด้วยการฉายวีดิทัศน์เรื่อง "ต้นธารภาษามลายู" ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของภาษามลายู อักษรยาวี และพัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


จากนั้น นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้สื่อข่าวประชาไท และบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดตัว "ซีนารัน" (Sinaran) หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ เพื่อผลิตนักข่าวและสื่อภาษามลายู ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกในรอบ 20 กว่าปี หลังการล่มสลายของนิตยสาร AZAN ในปี พ.ศ.2517 และหนังสือพิมพ์ Fajar ที่ออกมาหลังจากนั้น

นายดอรอแม หะยีหะซา หรือ อุสตาซแม แดวอ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Fajar กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษามลายูกว่า 300 ล้านคน ทุกปีจะมีการแข่งขันปาฐกถาภาษามลายูของเยาวชนจากทั่วโลก แต่ไม่เคยมีตัวแทนจากไทย หรือปาตานี ไปร่วมแข่งขันด้วย สะท้อนว่าเยาวชนบ้านเรามีปัญหาเรื่องการสื่อสารด้วยภาษามลายู


ส่วน นายอัศโตรา โตะราแม อดีตคอลัมนิสต์ อภิปรายว่าภาษามลายูเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีการวางแผนขยายฐานผู้ใช้ เช่น มาเลเซีย ที่ให้ทุนแก่คนต่างชาติทั่วโลกมาเรียนภาษามลายูต่อเนื่องหลายปี รวมกว่า 70,000 คน เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีคนต่างชาติมาเรียนภาษามลายูจำนวนมาก


ขณะที่ ดร.ฮามีดิน สะนอ หรือ บาบอดิง ปาแดรู กวีมลายู ก็ตั้งข้อสังเกตว่า ปาตานีเป็นที่เดียวที่ยังรักษาอักษรยาวีให้มีชีวิตได้จนถึงปัจจุบัน แต่ประเทศมลายูหันไปใช้อักษรรูมี เพราะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ส่วนตัวมองว่าภาษามลายู และอักษรยาวีมีความสำคัญ เพราะเป็นภาษาที่เชื่อมโยงกับภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาหลักของศาสนาอิสลาม

"ถามว่าปัญหาของภาษามลายูปาตานีอยู่ตรงไหน อยู่ที่ตัวเขียน หรือสำเนียงพูด ความจริงภาษามลายูทั้งหมดมีรากศัพท์เดียวกัน แต่มีสำเนียงต่างกัน แต่การเขียนต้องเป็นภาษากลาง ต่างกันตรงที่ ปาตานีใช้อักษรยาวีเป็นหลัก" ดร.ฮามีดินแสดงความเห็น

ด้านวงเสวนา "ภาษามลายูในโลกสื่อสารร่วมสมัย ใครทำอะไรอยู่" ก็อภิปรายกันอย่างเข้มข้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหวัง และความต้องการที่จะรื้อฟื้นภาษามลายูของคนปาตานีอย่างเห็นได้ชัด

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู ที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน กล่าวว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือเรียนรู้และพัฒนาภาษามลายู และเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยืดเยื้อได้

เช่นเดียวกับ อาจารย์ฟารีดะห์ หะยีเต๊ะ หัวหน้าหลักสูตรวิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ตั้งความหวังว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเปิดสอนภาษามลายูมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และกำลังจะมีบัณฑิตด้านภาษามลายูในปีหน้า เชื่อว่าคนเหล่านี้จะสามารถเติมเต็มด้านการพัฒนาภาษามลายูในพื้นที่ได้อย่างดี


1.บันทึกเทปรายการเคเบิลท้องถิ่น

2.เสวนา "ที่ทางภาษามลายูในโลกการสื่อสาร"

3.-4.ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


ขณะที่ นายอับดุลมุฮัยมิน ซอและห์ หรือ จูและห์ จากมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาชายแดนใต้ (Perkasa) ยังมีความกังวลว่า ได้ผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษามลายูอักษรยาวีสำหรับโรงเรียนตาดีกา มากกว่า 200 เล่ม และยังผลิตวารสารชื่อ Pelita กว่า 20 ฉบับ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการศึกษาและศาสนา แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายใน วงกว้าง ทำให้เห็นว่าสื่อภาษามลายูไม่เป็นที่นิยมในท้องตลาด ทั้งที่มีสื่อภาษามลายูจำนวนมาก


สำหรับคนทำสื่อรุ่นใหม่ อย่าง นายศอลาฮุดดิน กริยา จากกลุ่ม AWAN BOOK ที่ต้องการให้ภาษามลายูมีชีวิต เริ่มผลิตหนังสือการ์ตูน 3 ภาษาคือ ภาษาไทย มลายูอักษรยาวี และรูมี เพื่อให้สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของทุกครอบครัว สะท้อนปัญหาว่าสื่อภาษามลายูที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นตำราเรียน และหนังสือด้านศาสนาอิสลาม 


ทางกลุ่มจึงคิดทำหนังสือการ์ตูนของ AWAN BOOK เป็นนิทาน และเรื่องเล่า มีประกอบภาพที่คนเข้าถึงได้ง่าย โดยเชื่อว่าจะสามารถทำให้ภาษามลายูเป็นที่คุ้นเคยแก่คนทั่วไปได้มากขึ้น



นอกจากกลุ่มคนทำหนังสือแล้ว ในวงเสวนายังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดานักจัดรายการวิทยุภาษามลายูด้วย เกือบทั้งหมดสื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของรายการ เป็นคนที่สื่อสารด้วยภาษามลายูถิ่น ซึ่งอาจสวนทางกับบรรดานักวิชาการที่สื่อสารด้วยภาษามลายูมาตรฐาน


เรียกได้ว่าเวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาภาษามลายูอย่างแท้จริง เมื่อทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา รวมทั้งนักจัดรายการวิทยุล้วนต้องการให้ภาษามลายูมีชีวิตในโลกการสื่อสาร แม้มีการ ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในเรื่องมาตรฐานของภาษามลายู แต่ ทุกคนก็ต้องการเห็นภาษามลายูเป็นภาษาใช้งาน หรือ "Working language" โดยเฉพาะเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


หลายฝ่ายต้องการเห็นสถาบันภาษาที่ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานของภาษามลายู ขณะที่นักจัดรายการวิทยุท้องถิ่นต้องการให้มีพี่เลี้ยงด้านภาษาเพื่อช่วยพัฒนาภาษาของตน



ด้านกลุ่มสื่อโทรทัศน์ก็ตื่นตัวเรื่องนี้ไม่ แพ้กัน

นายอับดุลรอแม เจะกายอ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ยะลาเคเบิลเน็ตเวิร์ก (YCN) บอกว่าพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ต้องการผลิต และนำเสนอรายการภาษามลายู เพราะมีเวทีและ มีผู้ชมอยู่แล้ว ขอเพียงเนื้อหาภาษามลายูจาก ผู้ที่สนใจเท่านั้น 


ขณะที่ นายแวหะมะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) ก็สะท้อนประสบการณ์ว่า รายการวิทยุของตนเป็นราย การภาษามลายู 80 เปอร์เซ็นต์ แม้ผู้ดำเนินรายการไม่ใช่มืออาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู แต่ทุกคนทำงานด้วยอุดมการณ์เพื่อให้ภาษามลายูกลับคืนมา ถึงเวลาแล้วที่ทุกคน จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความมีมาตรฐานของภาษามลายู

ในส่วนมุมมองของนักวิชาการ อาจารย์ชินทาโร่ ฮาร่า ชาวญี่ปุ่นที่สอนภาษามลายู ร่วมบอกว่าภาษามลายูปาตานีเสมือนภาษาที่กำลังป่วยไข้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่พ่อแม่ใช้ภาษามลายู

อาจารย์ชินทาโร่ บอกอีกว่าคนปาตานีสามารถใช้ภาษามลายูสำเนียงไหนก็ได้ ทั้งภาษามลายูถิ่น หรือมลายูกลาง ไม่ต้องกังวลเรื่องมาตรฐาน เพราะเมื่อภาษามีชีวิตก็จะเกิดการปรับเปลี่ยน หยิบยืมและการผสมกลมกลืนของภาษา จนท้ายที่สุดจะนำไปสู่มาตรฐานเอง


อีกคนที่สำคัญคือ นายอัฮหมัด ลาติฟ อดีตนักเขียนและกองบรรณาธิการนิตยสาร AZAN เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกสื่อภาษามลายูในชายแดนใต้ ก่อนจะออกไปโลดแล่นในวงการสื่อนอกแผ่นดินเกิดกว่า 40 ปี 


ร่วมบอกเล่าปัญหาที่พบว่า เมื่อครั้งเริ่มผลิตนิตยสาร AZAN นั้น ต้องเร่ขายนิตยสารที่ตีพิมพ์เพียง 2,000 เล่ม ไปตามโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทั่วทั้ง 3 จังหวัด ต้องขึ้นลงรถเมล์เพื่อวางขายตามร้านหนังสือ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงหลังจากผลิตได้เพียง 7 ฉบับ

 
อัฮหมัด ลาติฟ เล่าอีกว่าในช่วงนั้นมีหนังสือและสื่อภาษามลายูจากมาเลเซียวางขายอยู่ไม่มาก และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งช่วงหนึ่งไม่มีสื่อภาษามลายูวางขายอยู่เล

 
"เราทิ้งภาษามลายูไปนานมากแล้ว ดังนั้น การเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ซีนารัน แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง" อัฮหมัด ลาติฟ ตั้งความหวัง
 

 

 

www.khaosod.co.th/view_newsonline.php