Skip to main content
 
 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
เนื่องในช่วงวันสตรีสากล และวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้
วันที่ 13 มีนาคม 2556
ณ.มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
 

9 ปีกว่าของสถานการณ์ไฟใต้สร้างผลกระทบและความสูญเสียแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งกลายเป็นเหยื่อของเหตุการณ์มากกว่าร้อยละ 90  ในขณะที่คู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐก็เผชิญกับความสูญเสียไม่ต่างกัน จึงเห็นได้ว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะทุกฝ่ายมีแต่ความสูญเสียและบอบช้ำโดยเฉพาะผู้หญิง ผู้เป็นแม่ๆ เมียๆ ของทุกฝ่ายที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัว จับกุมคุมขัง ต้องเป็นผู้แบกรับภาระผลกระทบและผลพวงจากเหตุการณ์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ ได้หันหน้าเข้าหากันมาสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 28  กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จึงขอแสดงความเห็นและเรียกร้องต่อทุกๆ ฝ่ายดังนี้

 1.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธีที่คู่ขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งกันทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพูดคุยให้นำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนเพื่อคืนความสงบและสันติสุขให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.กระบวนการพูดคุยที่มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐในครั้งนี้ต่างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาจต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง กว่าจะบรรลุข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับกันได้และในระหว่างการพูดคุย ก็ย่อมมีปัญหาอุปสรรค รวมทั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงขอเรียกร้องให้ทุกๆฝ่ายในสังคมไทยเข้าใจในกระบวนการดังกล่าวว่ากระบวนการพูดคุยครั้งนี้ คงไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถสร้างสันติภาพได้ชั่วข้ามคืน

3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยมีความจริงใจต่อกันเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันทำให้พื้นที่การพูดคุย มีความปลอดภัยและไว้วางใจ รวมทั้งอดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการพูดคุย เพื่อพัฒนาไปสู่การแสวงหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันให้ได้

4.ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลในการพูดคุยแต่ละครั้งเพื่อให้ประชาชนซึ่งมีส่วนได้เสียได้รับทราบ นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้พิจารณามีตัวแทนของภาคประชาสังคมที่มีผู้หญิงอยู่ด้วยเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้

5.ในระหว่างนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศ และสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายลดการใช้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธต่อกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งต้องได้รับผลกระทบ

6.สันติภาพ สันติสุข ในความหมายของผู้หญิง นอกเหนือจากหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังหมายถึงการ “มี 4 อ” คือ อ.อาหาร อ.อาชีพ อ.อนามัย อ.อัตลักษณ์ และต้อง “ไม่มี 1  อ” คือ อ.อยุติธรรม ส่วน “อ.สุดท้าย”คือ อ.อำนาจในการจัดการตนเองที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ต้องการให้สมาชิกในสังคมได้มีสิทธิมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง.

 

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้