Skip to main content

 

 

 “โต๊ะปาเก”สายสัมพันธ์สยามมลายูและความขัดแย้งที่คุณยายไม่เข้าใจ

 

บทความโดย นวพล ลีนิน Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;
mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:
minor-bidi">

                ในการก่อเกิดมนุษย์เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น ไม่ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาอารยะธรรมหรือเทคโนโลยีไปได้ก้าวไกลแค่ไหน มนุษย์ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความมีชีวิตของมนุษย์ย่อมสัมพันธ์กับธรรมชาติ มนุษย์เรียนรู้การสื่อสารผ่านธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งสื่อสารกันในมิติที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ในรูปแบบของความเป็นมนุษย์ นั้นคือการสื่อผ่านในรูปแบบของผีสางเทวดา ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ที่ง่ายต่อการอธิบาย ไม่ซับซ้อนต่อสิ่งที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และเรื่องราวประสบการณ์ให้คุณให้โทษของบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว สัมพันธ์กับประสบการณ์ที่ผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน เมื่อชีวิตคืนสู่ธรรมชาติ ใครคนหนึ่งเสียชีวิตไป แต่ยังทรงอิทธิพลต่อความเป็นไปในชุมชน นั้นคือกระบวนคิดของวิถีชาวบ้านในท้องถิ่นสังคมเกษตรกรรมสุวรรณภูมิที่ผสมผสานหลักศรัทธาเรื่องกรรมในพุทธศาสนา กับพิธีกรรมทางพราหมณ์ฮินดูและการนับถือดวงวิญญาณบรรพบุรุษ นำสู่การสถาปนาผู้ที่เคยทำคุณงามความดีให้กลายเป็นเทพภูมิค่อยปกปักษ์รักษาชุมชน

   

                พื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดีครอบคลุมอำเภอ บาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ และอำเภอสุไหงปาดีในจังหวัดนราธิวาส สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างสวนยางพารา สวนผลไม้ ซึ่งแม้ในอดีตเคยมีนาข้าวอยู่มากแต่ปัจจุบันเหลือน้อยเพราะชาวบ้านหันมาปลูกยางพาราในช่วงที่ราคายางสูงขึ้น พื้นที่ที่เหลือเป็นป่าธรรมชาติ ป่าพรุ ป่าดิบชื้นที่อยู่บนภูเขา  หมู่บ้านเล็กๆที่กระจัดกระจายรายรอบอยู่ตามแนวเขาบูโดสุไหงปาดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรีนั้น หลายหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมลายูมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน อาจเคยมีผู้คนเชื้อสายอินเดียและปากีสถานที่เร่ขายสินค้าอยู่บ้างในอดีตแต่คนกลุ่มนี้มักตั้งถิ่นฐานอยู่ในตัวเมืองที่เป็นเขตธุรกิจร้านตลาดมากกว่าพื้นที่ในชนบท  จากสถานการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ไม่หวังดีมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแยกความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน การลอบยิง ข่มขู่คุกคามทำร้ายต่อชีวิต และทำลายทรัพย์สิน ทำให้หลายพื้นที่ ชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนหนึ่งอพยพออกจากพื้นที่ด้วยความหวาดกลัว

  เครือข่ายเยาวชนเมล็ดพันธุ์สันติวิถีลงพื้นที่ชุมชนบ้านตลิ่งสูงที่หลุมศพโต๊ะปาเก

เครือข่ายเยาวชนเมล็ดพันธุ์สันติวิถีลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนบ้านตลิ่งสูงบริเวณหลุมศพโต๊ะปาเก 

                อย่างไรก็ดี หมู่บ้านอีกหลายหมู่บ้านที่ชาวบ้านต่างศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างมีน้ำอดน้ำทน หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านตลิ่งสูง หมู่ 9 ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นอีกหมู่บ้านที่มีสัดส่วนประชากรพุทธและอิสลามอยู่ร่วมกัน 30:70 จากประชากรประมาณ 400 คน เรื่องราวการเบิกร้างถางพงของกลุ่มชาวสยามที่อพยพมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เนื่องในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่2 เศรษฐกิจในรัฐกลันตันประเทศมาเลเซียตกต่ำอย่างหนัก จากเรื่องเล่าของยายพลับ บุญศิริ ยายของผมเอง ท่านมีพื้นเพอยู่ที่บ้านยุงเกา อำเภอตุมปัต รัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย ที่เล่าถึงความลำบากยากแค้น ชีวิตชาวบ้านชาวป่าแบบไทยๆที่ไม่สามารถทนต่อภาษีที่ดินของรัฐบาลอังกฤษได้ เข้าใจได้ว่ารัฐบาลอังกฤษกำลังเตรียมการเพื่อรับมือกับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงระดมเก็บภาษีในอาณานิคมเพื่อสะสมขุมกำลัง แม้ตอนนั้นยายยังเด็กมากและสุขภาพไม่ค่อยดีแต่ครอบครัวก็ตัดสินใจอพยพมาฝั่งประเทศไทยเพื่อโอกาสที่ดีกว่า  ยายเสียชีวิตในช่วงที่เหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนกำลังครุกรุ่น ช่วงปี จากปี2546 จนถึงปี 2551 (ซึ่งเป็นปีที่ยายเสียชีวิต) มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้านหลายครั้ง นับจากลอบยิงญาติที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน วางระเบิดถนนหน้าหมู่บ้าน การลอบยิงชุดเฝ้าโรงเรียน ฆ่าผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 สามีภรรยาในสวนยาง และเสียงปืนเสียงระเบิดในแต่ล่ะครั้งทำยายเสียขวัญ ความดันโลหิตสูงตามมาด้วยอาการเป็นเป็นลม ยายเล่าว่าในชีวิตที่กลัวมากอยู่ 2 ครั้ง คือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยายเรียกว่า “ศึกญี่ปุ่น” เหตุการณ์ครั้งนั้นยายกับตาทำหลุมหลบภัยการโจมตีทางอากาศ กับเหตุการณ์ที่ 2 ที่ยายกลัวมากๆคือสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ซึ่งยายไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เพราะการทำศึกเอาบ้านเอาเมืองเขาไม่ทำร้ายชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ ยายไม่เข้าใจว่าผู้ก่อเหตุทำร้ายหรือฆ่าชาวบ้านทำไม เรื่องตลกร้ายที่ยายบอกว่า ปัจจุบันญาติพี่น้องในมาเลเซียมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นฐานะดีขึ้น ในขณะที่อยู่ประเทศไทยเศรษฐกิจก็แย่ลง และต้องหวาดกลัวเหตุการณ์ร้ายที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไ

 ชาวบ้านไทยพุทธเชิญชาวบ้านไทยมลายูมุสลิมมาละหมาดให้โต๊ะปาเก

ชาวบ้านไทยพุทธเชิญชาวบ้านไทยมลายูมุสลิมมาละหมาดที่หลุมศพโต๊ะปาเก

                หมู่บ้านตลิ่งสูงเดิมรวมหมู่บ้านไอกูบูเป็นหมู่ 1 ต่อมาแยกเป็นหมู่ 9  ตลิ่งสูงเป็นหมู่บ้านหนึ่งในหลายๆหมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบๆแนวภูเขาเล็กๆลูกหนึ่งที่แยกออกมาจากภูเขาบูโดสุไหงปาดี หากเราเปิดแผนที่ป่าไม้จะพบชื่อภูเขาที่มียอดชื่อ ปิแนมูดอ (แปลว่าหมากอ่อน) หรือเรียกว่าภูเขาตลิ่งสูง ความเป็นมาของตลิ่งสูงนั้นเกิดขึ้นไม่นานนักโดยการอพยพเขามาบุกเบิกที่ทำกินในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เชื่อมโยงกับชุมชนเก่าแก่ที่ตำบลสุไหงปาดี ซึ่งเป็นตัวตำบลที่มีชาวไทยพุทธมากที่สุดในอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งหลายเครือวงญาติในพื้นที่ที่มีบรรพบุรุษเป็นทั้งชาวสยามพุทธและมลายูมุสลิมผสมกัน สันนิฐานกันว่าชุมชนพุทธที่วัดโบราณสถิตมีความเป็นมาเก่าแก่มากกว่า 200 ปี ครั้งหนึ่งตัวตำบลสุไหงปาดีเคยเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอสุไหงปาดี ในยุคที่ยังมีการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก สายน้ำที่เดินเรือ จากพื้นที่ป่าเขาสู่พื้นที่พรุ ผ่านท้องนาท้องไร่ เส้นคลองที่เชื่อมไปปากน้ำแบ่ง 2 ทางแยก แยกหนึ่งไปถึงอำเภอตากใบ เข้าประเทศมาเลเซีย แยกสายหนึ่งไปบางนรา(ตัวเมืองนราธิวาส) จากชื่อสุไหงที่แปลว่าคลอง ปาดีที่แปลว่าข้าว แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยเรือกสวนไร่นา ในยุคการบุกเบิกพื้นที่ป่าพรุและป่าดิบชื้นค่อยๆถูกบุกเบิกกลายเป็นพื้นที่นา โดยการขยายตัวของประชากรที่มากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่นาเริ่มกลายเป็นสวนยาง และตัวอำเภอสุไหงปาดีได้ย้ายไปยังตำบลปะลุรู เมื่อถนนสายจารุเสถียรและทางรถไฟมาบรรจบกันที่ตำบลปะลุรู ด้วยสายถนนที่เชื่อมต่อ อำเภอเมือง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโกลกเชื่อมเส้นทางข้ามไปประเทศมาเลเซีย ทางเดินเรือในลำคลองก็ลดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิง

                จำได้ว่าในสมัยที่ยังเป็นเด็กมากๆ ยายพาผมไปทำไร่ ไร่ที่เกิดจากพื้นที่ระหว่างแถวปลูกต้นยาง ต้นยางเมื่อครบอายุต้องโค่นเพื่อปลูกใหม่ พื้นที่ระหว่างแนวต้นยางเป็นลานโล่งเหมาะสำหรับปลูกพืชไร่หมุนเวียน พืชจำพวกที่ต้องการแสงแดดมากๆ พวกถั่ว มัน ข้าวโพด พืชผักต่างๆแตงโม แตงไทยและพืชไร่ตามฤดูกาล โดยเจ้าของสวนยินดีแบ่งที่ทางให้ชาวบ้านไปช่วยกันปลูก นอกจากช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ยังช่วยถางให้พื้นที่โล่งเตียนง่ายต่อการปลูกยางมากขึ้น ที่ไร่ยางโต๊ะปาเก พวกเราเด็กไปเล่นกันที่นั้น สนุกกับการเผาหัวมัน และวิ่งเล่นปีนต้นไม้ ปีนจอมปลวกไปตามเรื่อง แต่สำหรับที่หลุมศพโต๊ะปาเก พวกเด็กๆถูกห้ามไม่ให้ไปซุกซนบริเวณนั้น ก่อนเข้ามาถึงบริเวณไร่ยางใกล้ๆหลุมฝังศพโต๊ะปาเก ยายจะกล่าวประโยคว่า “แช โต๊ะปาเก ลูกหลานขอมาทำมาหากิน อย่าได้ทักได้ท้วง” เมื่อยายกล่าวแล้ว ก็บอกให้ผมว่าตาม ยายเล่าว่าครั้งหนึ่งสมัยที่ลุงซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ยังเป็นเด็กๆ ยายพาลุงมาทำไร่อย่างนี้แหละ แล้วพอกลับไปบ้านลุงซึ่งยังเด็กอายุสัก 7 ขวบมีอาการไข้ขึ้น ท้องเสีย และอาเจียนอย่างหนัก ถามได้ความว่าลุงไปปีนเล่นบนหลังคาเหนือหลุมฝังศพโต๊ะปาเก ยายจึงจุดธูปบอกกล่าวขอขมา อาการของลุงก็ดีขึ้น

ลำธารตลิงสูงที่มาของชื่อหมู่บ้าน

ลำธารตลิ่งสูงไหลมาจากภูเขาตลิ่งสูงที่มาของชื่อหมู่บ้าน

                หลุมฝังศพโต๊ะปาเกมีประวัติความเป็นมาอย่างไรยังไม่มีใครทราบแน่ชัด สอบถามเอาจากคนเฒ่าคนแก่ทั้งพุทธและมุสลิม ท่านก็บอกต่อกันมาว่ามีมาตั้งแต่มาอยู่ที่นี่แล้ว ที่รู้ว่าเป็นหลุมฝังศพเพราะมีหินสีขาวที่วางบนพื้นดินตามแบบหลุมศพของชาวมลายูมุสลิมทั่วไป ต่อมาชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธเกิดเลื่อมใสในพลังเร้นลับที่เกิดขึ้น ช่วงระหว่างไปทำไร่ทำสวน หรือไปล่าสัตว์บริเวณดังกล่าว จึงได้ต่อเติมเป็นหลังคาคลุมพื้นที่ไว้ ปัจจุบันหลุมศพโต๊ะปาเกอยู่ในพื้นที่สวนยางของชาวบ้านตลิ่งสูงซึ่งเป็นคนไทยพุทธ ในสมัยที่ยังทำนาอยู่ชาวบ้านจะบวงสรวงโต๊ะปาเกในช่วงที่พืชผลออกผลผลิต ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพิธีลาซังก่อนและหลังการทำนา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี สัตว์ป่าพวกหมูป่า นก หรือหนูนาไม่มารบกวน หากใครมีเรื่องร้อนใจมาร้องกล่าวบนบานก็มักนำเครื่องเซ่นสังเวยมาบวงสรวงแก้บนด้วย มีเรื่องเล่าว่าชายชาวบ้านคนหนึ่งมาบนบานขอหวยโดยสัญญาว่าจะเชือดแพะมาบวงสรวงถ้าหากถูกหวย แต่พอถูกหวยชายคนดังกล่าวก็ไม่ได้ทำตามสัญญา หลังจากนั้นมีคนฝันว่ามีชายแก่ไว้หนวดยาวนุ่งชุดขาวโพกผ้าแบบมุสลิม มาบอกว่า “พวกมนุษย์นี่เชื่อไม่ได้...”  จากนั้นจึงไม่มีใครไปขอหวยอีก หรือมีแต่ไม่ได้เลขอย่างที่ขอ จากท่าทีในความฝันทำให้เชื่อว่าท่านจะไม่ให้อะไรๆตามคำบนบานอีกแล้ว

                ความเข้มขลังของโต๊ะปาเกเริ่มขึ้นในสมัย มโนราพุธ ท่านเป็นคนรุ่นทวดของผม มโนราพุธเป็นผู้มาบุกเบิกตั้งบ้านเรือน ซึ่งคุณยายเป็นหนึ่งในผู้ติดตามร่วมคณะมาด้วย บ้านของมโนราพุธหลังใหญ่ มีคณะมโนราและลูกหลานมากมายเป็นบ้านบริวารอยู่รายรอบ มโนราพุธถือเป็นคหบดีผู้ร่ำรวยระดับต้นๆของจังหวัดนราธิวาสในสมัยนั้นที่เดียว วันหนึ่งช้างที่เลี้ยงไว้ตกมันแล้วหลุดหนีไปในป่า ท่านจึงประกาศสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยจับช้างไว้ ช้างมาติดอยู่บริเวณหลุมฝังศพโต๊ะปาเก โดยโซ่ติดอยู่กับก้อนหินที่สามารถกลิ้งไปได้ง่ายๆ หากเทียบกับกำลังช้างตกมัน หลังจากนั้นจึงเริ่มมีพิธีบวงสรวงในฐานะที่มโนราพุธเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในพื้นที่ ลูกหลานจึงสืบความเชื่อนี้มาด้วย

                แม้ความสอดคล้องที่ไม่ใคร่ลงตัว ระหว่างศาสนาอิสลามที่ถือว่าพิธีบวงสรวงวิญญาณหรือพระภูมิเจ้าที่เป็นสิ่งต้องห้าม หรือแม้กระทั่งตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเองก็ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการผสานกัน ระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกันในเรื่องภาษาพูด ศาสนา และวัฒนธรรมบางอย่างที่ยังไม่รับประสานกัน ในความขัดแย้งที่มีอยู่จริงคือ ความเป็น “ซีแย”(สยามพุทธ) กับ “นายู”(มลายูมุสลิม) หรือ ความคิดในกรอบ คนไทยกับคนแขก ซึ่งมีความปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน หากเรามองในแง่ของกุศลโลบายเพื่อการอยู่ร่วมโดยไม่สูญเสียอัตตาลักษณ์ของตัวตนไป ทั้งยังสามารถเป็นรับในสิ่งดีงามของกลุ่มอื่นที่แตกต่างกัน

                ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การลอบยิงชาวบ้านไทยพุทธและชาวบ้านไทยมลายูมุสลิม ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนไป ชาวบ้านจำเป็นต้องรวมกลุ่มเฝ้าระวังสอบถามสถานการณ์ระหว่างกัน ก่อนออกไปทำมาหากิน ออกไปทำสวน ไปกรีดยาง หรือไปจับจ่ายซื้อของในตลาด ชาวพุทธและมุสลิมส่วนหนึ่งยังมีความห่วงใยซึ่งกันและกันอยู่ และในความตลกร้ายเรื่องที่2 ของบทความนี้คือ ชาวบ้านพุทธและมุสลิมต้องแกล้งแสดงความเกลียดชังกัน ชาวบ้านบางคนบอกว่าถ้าเจอกันในตลาดก็อย่าพึ่งทักทายกัน เพราะกลัวว่ามีแนวร่วมหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีติดตาม พวกผู้ไม่หวังดีไม่ชอบเห็นชาวไทยมลายูมุสลิมสนทนากับคนไทยพุทธ การเข้าออกชุมชนระหว่างพุทธและมุสลิมต้องบอกกล่าวกันก่อนว่า มาหาใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร มาขนไม้ยางพารา มาธุระกับเจ้าของสวนยาง มารับจ้างสร้างบ้าน รับจ้างถางป่า เอาของมาขาย นั้นคือความสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

                พื้นที่ร่วมทางจิตวิญญาณ แม้ไม่ค่อยลงตัวตามหลักศรัทธาความเชื่อทางศาสนา แต่ในการยอมรับนับถือผู้คนต่างศาสนาในฐานะคนดีอย่าง “โต๊ะปาเก” โดยเชื่อว่าท่านเป็นผู้ประพฤติตนมีศีลธรรม รักสันโดษ จึงปลีกวิเวกมาบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าลึก ด้วยพลังความดีเมื่อตายไปแล้วยังสามารถให้คุณให้โทษกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ความดีงามที่ข้ามพ้นเชื้อชาติศาสนาคือคุณค่าที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี แม้คนรุ่นใหม่ที่พยายามหาหลักฐานเพื่อยืนยันตามหลักวิชาการ ในตำนานความเชื่อต่างๆ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แล้วอาจสรุปว่าเรื่องเล่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือได้ แต่อย่างน้อยเรื่องเล่าที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยรับใช้สังคมและชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกัน ในสายสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ
 

วิธีที่คุณยายสื่อสารกับพลังธรรมชาติอย่างเรียบง่าย ประหนึ่ง “โต๊ะปาเก”เจ้าที่แขกคือญาติผู้ใหญ่ของท่านคนหนึ่งที่พูดคุยกัน จับเนื้้อต้องตัวกันได้ ยายสามารถเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของท่านคราว “ศึกญี่ปุ่น”ได้ว่า นั้นคือ ไอ้ยุ่น ไอ้แขก ไอ้เจ็กจีน ไอ้คนขาว ไอ้คนไทย หรือเงาะป่าซาไก แล้วก็หยอกล้อกันด้วยสรรพนามที่ใสซื่อแบบชาวบ้าน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า คำสรรพนามเหล่านั้นเป็นคำที่นักวิชาการรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเห็นว่า นั้นคือการเหยียดชาติพันธุ์ หากความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนในความขัดแย้งในอดีต คงไม่ทำให้ยายเกิดความมึนงง แล้วตั้งคำถามว่า “ถ้าทำศึก มันก็เอาบ้านเอาเมือง ถ้าไม่มีคนอยู่มันจะเป็นบ้านเป็นเมืองได้อย่างไร” และในอนาคตจะเหลือชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้อีกมากแค่ไหน อะไรจะมาเป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนรุ่นใหม่รุ่นลูกหลานของพวกเราอยู่ร่วมกันได้อีก.

mso-ascii-font-family:Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:
Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";
mso-bidi-theme-font:minor-bidi">