Skip to main content
 วลักษณ์กมล จ่างกมล
คณะวิทยาการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกสำหรับคำกล่าวปิดในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 13 มีนาคม 2556 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา
 
 
กิจกรรมตลอดระยะเวลาสองวันในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่สาม คงทำให้เราได้เห็นภาพว่า สำหรับการทำงานเพื่อเป้าหมายแห่งสันติภาพนั้น ความร่วมมือของภาคีต่าง ๆ เพื่อเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน เป็นตัวแปรสำคัญของการนำไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่วนหลักๆ คือ ภาคประชาสังคม องค์กรการสื่อสาร และกลุ่มนักวิชาการ เนื่องจากภาคีสามส่วนนี้มีจุดแข็ง สิ่งที่ถนัด และงานที่เชี่ยวชาญที่จะช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
 
กล่าวคือในขณะที่ภาคประชาสังคมมีฐานความแข็งแกร่งในเรื่องมวลชนและการรวมตัว ความสามารถเข้าถึงซึ่งกันและกัน ภาคส่วนของสื่อก็จะหนุนเสริมการเชื่อมร้อยรัดให้การรวมตัวและการเข้าถึงกัน เหล่านั้นให้เข็มแข็งและต่อเนื่องยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยขยายเครือข่ายแบบทวีคูณให้กับกระบวนการร้อยรัดดังกล่าว โดยมีสถาบันหรือกลุ่มทางวิชาการช่วยเติมเต็มองค์ความรู้และออกแบบกระบวนการ โดยใช้องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ มาช่วยให้การขับเคลื่อนมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
 
ที่กล่าวมานั้น คือสิ่งที่เราอาจเรียกมันว่าเป็นมิติใหม่ของการสื่อสาร ที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างสันติภาพ หรือช่วยเป็นกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้ง
 
และที่กล่าวมานั้น คือภาพสะท้อนของการจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ที่ฉายชัด อยู่ในวันนี้และในสองครั้งที่ผ่านมา
 
และจากการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่กล่าวมานั้น ทำให้ต้องมองย้อนไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อ สันติภาพ ที่เป็นแนวทฤษฎีการสื่อสารทางเลือกที่พยายามแทรกตัวมาอยู่ในแนวคิดการสื่อสารกระแสหลัก ที่เรามีความคุ้นเคยกันอยู่แล้วก่อนหน้านี้ แนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติภาพ หรือการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ หรือวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ หรือที่ล่าสุดมีการบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาว่า สันติวารสารศาสตร์ ก็แล้วแต่ว่าเราพอใจจะเรียกมันว่าอะไร แต่ก็ต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าแนวคิดนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ การสื่อสารเป็นกลไกหรือเป็นเวทีกลางในการเปิดพื้นที่ให้กับทางออกที่นำไปสู่สันติ
 
ถ้าเราจะพิจารณาให้ลึกลงไป ทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงวิชาการแล้ว การสื่อสารเพื่อสันติภาพ อาจแบ่งได้เป็น 2 แง่ นั่นคือ แง่ที่หนึ่ง การสื่อสารเพื่อสันติภาพในแง่ของแนวปฏิบัติในวิชาชีพข่าวหรือสื่อมวลชน ภาษาอังกฤษเราใช้ว่า Peace journalism และในแง่ที่สอง การสื่อสารเพื่อสันติภาพในแง่ของโครงการหรือกิจกรรม การมีส่วนร่วม การผลิต และการสื่อสาร หรือใช้สื่อประเภทต่างๆ เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ เราใช้ศัพท์ในแง่นี้ว่า เป็น Peace-oriented communication
 
แม้จะมีที่มาและได้รับอิทธิพลมาจากนักคิดนักทฤษฎีเกี่ยวกับ Peace and conflict studies และมีแนวคิดหลักที่คล้ายคลึงกัน ในเรื่องของการใช้สื่อเพื่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสันติภาพ แต่แนวปฏิบัติของ การสื่อสารเพื่อสันติภาพทั้งสองจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง
 
Peace journalism ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานของวิชาชีพข่าวและสื่อมวลชน ที่เรียกร้องให้รื้อสร้างระบบแนวคิดเกี่ยวกับคัดเลือกและประเมินคุณค่าข่าวเสียใหม่ ไม่ตัดสินความเป็นข่าวสำคัญเพียงแต่ความกว้างขวางของผลกระทบ ความรุนแรงของเหตุการณ์​ความเข้มข้นของความความขัดแย้ง หรือความแปลกประหลาดของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ peace journalism พยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวเชิงบวก เช่น ความริเริ่มเพื่อสันติภาพก็สามารถมีคุณค่าเทียบเท่าคุณสมบัติที่ กล่าวมาข้างต้นได้
 
นอกจากนี้ peace journalism ยังได้เสนอการรื้อสร้างระบบคิดในการออกแบบวิธีการนำเสนอข้อมูลความขัดแย้ง หรือความรุนแรงเสียใหม่ โดยเน้นย้ำว่าสื่อเพื่อสันติภาพไม่ได้หมายถึงการละเลยเพิกเฉยไม่นำเสนอความรุนแรง แต่เน้นที่วิธีการนำเสนอมุมมองจากหลากหลายฝ่ายที่มากพอ และสามารถเรียบเรียงข้อมูลให้รอบด้านเพื่อสร้าง ให้เกิดเวทีสนับสนุนกลไกของการมองหา “ทางออก” ให้มากที่สุด
 
ในอีกแง่หนึ่งของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ นั่นคือแง่ที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมของการมีส่วนร่วมในการผลิต การสื่อสาร และการใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพ หรือ peace-oriented communication นั้น เป็นความพยายามของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาสังคม ในการใช้สื่อและการสื่อสารประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงในเชิงบวกให้กับกระบวนการสร้าง สันติภาพ เหมือนที่พวกเราในพื้นที่และ ณ ที่นี่ กำลังทำกันอยู่ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที การผลิตรายการวิทยุ การสร้างกิจกรรมของกลุ่มผู้หญิงเพื่อสื่อสารความคิดของตน หรือแม้แต่การผลิตสินค้าชุมชน เพื่อกระจายไปสู่กลุ่มคนทั้งภายนอกและภายในชุมชน ก็นับเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง สภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศักยภาพของชุมชน เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงสภาพที่แท้จริงของชุมชน และมองออก ว่ามันมีชีวิตคนอยู่ในความขัดแย้ง รวมทั้งตระหนักว่าชีวิตคนนี่แหละที่เป็นเหตุผลใหญ่ที่เราต้องเดินไปสู่สังคมสันติภาพ
 
ในส่วนของกลุ่มภาคีที่เกี่ยวข้องกับ Peace-oriented communication นั้น มีความหลากหลายทั้งกลุ่มนักวิชาการ ที่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประชาชนทั่วๆ ไป กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ  กลุ่มประชาสังคม รวมไปถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ หรือคนที่ทำงานในแวดวงสื่อด้วยก็ได้
 
สิ่งที่ต้องการนำเสนอในที่นี้ก็คือ เรื่องของการสื่อสารเพื่อสันติภาพมิติใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับ องค์กรสื่อ นักสื่อสารมืออาชีพ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเท่านั้น แต่มิติของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ที่สามารถทำให้เกิดผลได้จริงนั้น ต้องเป็นการประสานเครือข่ายทั้งส่วนที่เป็น Peace journalism และ Peace-oriented communication เหมือนแนวคิดการดำเนินงานที่งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ และอีกหลาย ๆ โครงการดี ๆ ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้
 
งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่สาม กำลังจะจบลงแล้วในวันนี้ แต่ภารกิจแห่งการสื่อสารสันติภาพคงยังไม่จบ และไม่ว่าความขัดแย้งจะยังคงมีอยู่หรือจบลง ภารกิจของการสื่อสารสันติภาพก็ยังคงจำเป็นที่จะคงอยู่ เพราะสันติภาพนั้นเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายของเราทุกคนในที่นี่ ขอให้พระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ท่านนับถืออำนวยพรให้ภารกิจเพื่อสันติภาพของพวกเราทุกคนในที่นี่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและสำเร็จ ดั่งที่หวังและตั้งใจทุกประการ