อาบีบุสตา ดอเลาะ
กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้ (KAWAN-KAWAN)
เป็นที่ยอมรับทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ว่าการจะเป็นรัฐจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ กล่าวคือ 1.ดินแดน (Territory) 2.ประชากร (Population) 3.อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) 4.รัฐบาล (Government) ซึ่งมีที่มาและสอดคล้องกับอนุสัญญามอนตาวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the rights and Duties of states) ค.ศ.1933 มาตรา 1 (Article 1) ซึ่งบัญญัติว่า “The state as a person of international law should possess the following qualification: (a) a permanent population; (b) a defined territory; (c) government; and (d) capacity to enter into relations with the other states”
1 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สงครามที่ปาตานีเริ่มมีความชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งหมายถึง การต่อสู้เพื่อเอกราช แต่อย่างไรก็ตามเอกราชจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐ ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานีจะมีแนวทางและกระบวนการไปถึงจุดมุ่งหมายอย่างไร หากไม่สามารถสร้างรัฐที่มีองค์ประกอบตามหลักสากลได้ เอกราชคงเป็นเพียงอุดมการณ์ที่เลื่อนลอยเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่รัฐไทยดำเนินการอยู่ในการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็คือมาตรการป้องกันไม่ให้กลุ่มขบวนการสามารถสร้างองค์ประกอบของความเป็นรัฐได้อย่างสมบูรณ์
การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะสามารถสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ และรัฐไทยมีโอกาสสูญเสียดินแดนปลายด้ามขวานที่ตนยึดมาจากรัฐปาตานีในอดีตมากน้อยเพียงใด ประการหนึ่งที่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้คือ ปาตานีสามารถสร้างและมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐตามหลักสากลได้มากน้อยเพียงใด
ประการแรก ดินแดน (Territory) การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปาตานีเป็นการต่อสู้เหนือดินแดนที่มีอาณาเขตชัดเจนเพื่อให้ดินแดนที่อยู่ในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้แก่ นาทวี จะนะ เทพาและสะบ้าย้อย ได้รับการปลดปล่อยจากรัฐไทย โดยพื้นที่ทั้งหมดล้วนเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่คนปาตานีเชื่อว่าเคยเป็นรัฐปาตานีมาก่อน ดังนั้น พื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศเหนือพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีโอกาสเป็นรัฐปาตานีในอนาคต
ประการที่สอง ประชากร (Population) ตามหลักสากลจำนวนประชากร เชื้อชาติหรือศาสนาของคนในรัฐหามีความสำคัญไม่ เพียงแต่ควรมีมากเพียงพอที่จะรักษาสถาบันต่างๆของรัฐและดำเนินกิจการต่างๆของรัฐได้ ในรัฐหนึ่งอาจประกอบด้วยประชากรหลากหลายศาสนาหรือหลากหลายเชื้อก็ได้ ที่ปาตานีก็เช่นกันในปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่หลากหลายศาสนาหลากหลายเชื้อชาติโดยมีประชากรเชื้อสายมลายูมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากที่สุดประมาณ 80% ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ จากดินแดนที่กล่าวไว้ข้างต้น ประชากรของรัฐปาตานีจึงน่าจะเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นาทวี จะนะ เทพาและสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่มีวัฒนธรรม ภาษาและวิถีการดำเนินชีวิตจำเพาะแต่ต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง โดยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 2.3 ล้านคน
อนึ่ง ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) คือ รัฐประชาชาติ (Nation-State) ซึ่งหมายถึง หน่วยการปกครองที่ประกอบด้วยประชาชนที่มีจิตสำนึกในทางประวัติศาสตร์และในทางวัฒนธรรมร่วมกัน มีความสำนึกในความเป็นกลุ่มก้อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกำเนิดที่มา มีอนาคตและชะตากรรมร่วมกัน ที่เรียกว่าว่าสำนึกแห่งความเป็นชาติ (Nation) เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ปาตานี เพราะประชาชนปาตานีไม่มีจิตสำนึกของความเป็นรัฐประชาชาติ ดังนั้นที่ปาตานี หากจะมีรัฐปาตานีได้ คนในพื้นไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดและศาสนาใดจะต้องสร้างสำนึกความเป็นชาติร่วมกันอย่างสมัครใจและภาคภูมิใจ เพื่อเป็นรัฐประชาชาติซึ่งไม่ใช่สำนึกความเป็นชาติที่มาจากการบังคับจากผู้ปกครองอย่างที่รัฐไทยเคยทำกับคนมลายูปาตานีในอดีต
ประการที่สาม รัฐบาล (Government) แม้การต่อสู้ที่ปาตานีจะมีกลุ่มขบวนการหลายองค์กร แต่กลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน คือ BRN มีการจัดตั้งองค์กรและมวลชนอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งรัฐบาลเงาและกระทรวงที่สำคัญเพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน BRN เป็นพรรคที่มีบทบาทและอิทธิพลมากที่สุดในพื้นที่ จึงคาดหมายได้ว่าระยะแรกของการปฏิวัติเมื่อเกิดรัฐปาตานีพรรคที่จะเป็นรัฐบาลบริหารกิจการต่างๆของรัฐคือ BRN
ในส่วนองค์ประกอบสุดท้าย อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ซึ่งหมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดรัฐปาตานี อำนาจสูงสุดของรัฐจะเป็นของใคร เป็นไปตามหลักการปกครองประเทศว่ารัฐปาตานี จะใช้ระบอบใดในการปกครองประเทศ ประชาธิปไตยหรือระบอบคอมมิวนิสต์หรือระบอบอื่น นอกจากนี้ยังจะต้องดูเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้ปาตานีได้รับเอกราช ว่าเกิดจากการสนับสนุนของประเทศค่ายไหน ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม สหรัฐอเมริกาหรือจีน จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษาการปฏิวัติที่ปาตานี เป็นการปฏิวัติของประชาชนและจะสำเร็จไม่ได้หากประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ โอกาสที่รัฐปาตานีจะปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ปกครอง
อำนาจสูงสุดในการปกครอง เป็นสิ่งเดียวที่กลุ่มขบวนการยังไม่มีอย่างชัดเจนที่สุด เห็นได้จากรัฐไทยยังคงมีอำนาจที่จะจัดการและดำเนินการทุกอย่างที่ปาตานี ขณะที่ BRN ยังไม่สามรถดำเนินการใดๆในทางการเมืองได้เว้นแต่การทหาร เนื่องจากองค์กรยังไม่มีฐานะทางการเมืองที่ชอบธรรม แต่หากมองในแง่อำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีคำถามชวนสงสัยว่า รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีหรือไม่ ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนปาตานีสมัครใจที่จะยอมมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่รัฐไทยหรือไม่ เช่นเดียวกันกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN การต่อสู้เพื่อเอกราชจะได้รับการรับรองและยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศตามหลักสากลหรือไม่ การต่อสู้จะต้องได้รับความไว้วางใจและเห็นด้วยจากประชาชนปาตานีที่จะมอบอำนาจอธิปไตยที่มีอยู่เหนือดินแดนปาตานี ให้ BRN เป็นตัวแทนของตนในการปกครองประเทศ
เมื่อคู่ขัดแย้ง คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN กับรัฐไทยกำลังวาดระแวงและไม่มั่นใจว่าประชาชนปาตานีจะเห็นด้วยกับฝ่ายใด การพลักดันและสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองเพื่อสันติภาพ เช่น การเจรจาเพื่อสันติภาพ(ไม่ใช่การเจรจาเพื่อประนีประนอม) การลงประชามติ จากทั้งสองฝ่ายจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือเสียเปรียบได้ เมื่อการเมืองอ่อนแอการทหารก็จะต้องเข็มแข็ง การปฏิบัติการทางทหารการจากขบวนการและฝ่ายความมั่นคงจะยังคงมีต่อไป ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้
ดังนั้น แม้ในทางทฤษฏี องค์ประกอบของความเป็นรัฐ จะมี 4 ประการ แต่สิ่งเดียวที่ที่สำคัญที่สุดและจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าใครแพ้ใครชนะสงคราม คือ ประชาชน ประชาชนเห็นด้วยและจะมอบอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่พวกเขาอยู่ให้ใคร หากประชาชนปาตานีเห็นด้วยกับรัฐไทย รัฐไทยก็จะสามารถปกป้องรักษาดินแดนปาตานีไม่ให้เสียไปได้ หากประชาชนปาตานีเห็นด้วยกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN การได้มาซึ่งองค์ประกอบอื่นๆของความเป็นรัฐก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป รัฐปาตานีจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน หรือประชาชนอาจจะมีตัวเลือกอื่นเพราะไม่เห็นด้วยทั้งกับรัฐไทยและ BRN เพราะสันติภาพไม่ได้อยู่ที่รัฐไทยหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN แต่อยู่ในมือของประชาชนปาตานี
รัฐไทยมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐ 4 ประการ คือ 1.ดินแดน (Territory) มีทั้งหมด 77 จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 2.ประชากร (Population) มีประมาณ 63 ล้านคน 3.อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นของประชาชน 4.รัฐบาล (Government) คือ พรรคเพื่อไทย
หากเกิดรัฐปาตานี น่าจะมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐ 4 ประการ ดังนี้ 1.ดินแดน (Territory) มีอาณาเขตในจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้แก่ นาทวี จะนะ เทพาและสะบ้าย้อยปัจจุบัน 2.ประชากร (Population) มีประมาณ 2.3 ล้านคน 3.อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เป็นของประชาชน 4.รัฐบาล (Government) คือ พรรค BRN