อิสมาอีล บิน มูฮำหมัด ฮายีแวจิ
สำนักสื่อ Wartani
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คำว่า “การลงนามเจรจาสันติภาพ” กลายเป็นหัวข้อพาดข่าวยอดฮิตในมุมของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยโดยผ่าน พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีที่มีชื่อว่า BRN แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนมากนัก
ข้อเท็จจริงต่างๆที่สื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกพยายามโหมกระแสตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คงไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับคนระดับรากหญ้าอย่างเราๆที่ได้รับผลกระทบโดยตรงผ่านเงื่อนไขการลงนามเจรจาของตัวแทนจากทุกฝ่ายหลังจากนี้ว่าตกลงแล้ว การลงนามเพื่อตกลงที่จะเจรจาสันติภาพนั้นเป็นเรื่องจริง หรือ จัดฉากเหมือนเคย หรือไม่? อย่างไร? ตัวแทน BRN นั้นเป็นตัวจริงหรือไม่? อย่างไร? กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพจริงๆแล้วมีกี่ขั้นตอน? แล้วตอนนี้อยู่ขั้นตอนที่หนึ่ง หรือ ขั้นตอนที่เท่าไรแล้ว? ใครได้ประโยชน์? ใครเสียประโยชน์? และเราได้อะไรจากการพูดคุยของพวกเขาในครั้งนี้และครั้งต่อๆไป? และคำถามอีกมากมายที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เวลา 13.30 น. – 16.00 น. สำนักสื่อ Wartani ร่วมกับเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [INSouth] ได้จัดวงเสวนาวิเคราะห์ข้อมูลข้อข้องใจในเวที Bicara Patani หรือ เสวนาปาตานี ในหัวข้อ “28 กุมภา...กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ กระบวนการพูดคุยประนีประนอม” ณ ศูนย์ประสานงาน INSouth หรือ บ้าน INSouth ซ.ปินัง ถ.โรงเหล้า (สาย ก.) จ.ปัตตานี
โดยมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาว่าจะสอดคล้องกับกระบวนพูดคุยสันติภาพที่เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่ ? อย่างไร ? และจะนำไปสู่การเพิ่มเงื่อนไขสันติภาพ หรือ เพิ่มเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อหรือไม่ ? อย่างไร ? ในฐานะภาคประชาสังคมและภาคประชาชนควรมีบทบาทในการประนีประนอมหรือสร้างสันติภาพหรือไม่ ? อย่างไร ? เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบข้อสงสัยใคร่รู้ของผู้คนจำนวนมาก
ตูแวดานียา บิน ตูแวอิสมาอีล ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA]
normal">ตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามเซ็นสัญญาตกลงให้เกิดสันติภาพนั้น ตกลงมันเป็นตัวผลักดันให้เกิดสันติภาพจริงหรือไม่
font-weight:normal">? หรือเป็นแค่เพียงภาพที่จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ผ่อนคลายลงไปบ้าง
font-weight:normal">? จากเวทีการลงนามเมื่อวันที่
font-weight:normal">28 กุมภา ทำให้เกิดข้อสงสัยและพยายามตั้งข้อสังเกตมาหลายประเด็น ผ่านบทความ
font-weight:normal">“28 กุมภา ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ : เพิ่มเงื่อนไขสันติภาพ หรือ เพิ่มเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อ
font-weight:normal"> ?”
ข้อมูลอ้างอิงจากเวทีอบรมกระบวนการสันติภาพ โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ [DSW] ร่วมกับมูลนิธิเบิกร์ออฟ สามารถเป็นคำตอบให้พอสมควรสำหรับหลายๆประเด็น
ประเด็นที่ 1 คือ การเปิดตัวของอุซตาสฮาซัน ตอยิบ ในนามรองเลขาธิการและหัวหน้าฝ่ายการเมืองของ BRN อ้างอิงจากข้อมูลที่สื่อได้นำเสนอก่อนหน้านี้มา ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่คิดว่า ”คนที่มีอำนาจเชิงโครงสร้างและมีอิทธิพลในการต่อสู้กับรัฐไทยมาเป็นตัวแทนพูดคุยกับตัวแทนของรัฐไทยที่มีอำนาจเพียงแค่เลขาธิการ สมช. หากจะเทียบเชิงโครงสร้างอำนาจ ระดับเลขาธิการ สมช. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นที่สิ้นสุด” เพราะเป็นเพียงแค่องค์กรที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนและแปลงเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติเท่านั้น
ประเด็นที่ 2 คือ ตัวอย่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพในโลกสากลที่เกิดความขัดแย้งนั้นก่อนที่จะมีการตกลงและกำหนดเงื่อนไขในการพูดคุย จะต้องมีการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจเกิดขึ้นเสียก่อน แต่วันนี้ยังไม่เห็นการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจเกิดขึ้น ดั่งที่ทุกคนรับรู้มาว่าก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในวันที่ 28 กุมภา เราจะเห็นการก่อเหตุที่อุกอาจและสร้างความสลดใจต่อสังคมในพื้นที่มาก อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 นักศึกษาถูกสื่อกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการ BRN และเหตุการณ์อื่นๆที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจไปสู่เวทีการเจรจาลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภา เสียเลย
คิดว่าการพูดคุยในครั้งนี้ไม่ควรที่จะมีเงื่อนไขที่เป็นเงื่อนไขปิด เพื่อให้ผู้สนทนา หรือคู่ขัดแย้งหลักมีความเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ในวันดังกล่าวมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเงื่อนไขที่แข็งมากโดยรัฐไทยกำหนดในเอกสารลงนามว่า “ต้องคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เท่านั้น
ประเด็นที่ 3 ผู้อำนวยการพูดคุย [Facilitator] ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการพูดคุย ต้องสร้างความไว้วางใจ อย่าให้คู่ขัดแย้งหลักมีความรู้สึกว่าผู้อำนวยการพูดคุยโน้มเอียงหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในวันที่ 28 กุมภา ผู้อำนวยการพูดคุยก็มีเงื่อนไขที่แข็งเช่นเดียวกันว่า “ทางรัฐมาเลเซียไม่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนของ BRN
ซึ่งกลายเป็นว่าโดยภาพรวมในการพูดคุยที่ผ่านมานั้น BRN เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยว่ามันน่าจะมีลับลมคมในหรือเปล่า ? จากหลายประเด็นที่ดูแล้วมันไม่ค่อยชอบมาพากล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการพูดคุยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กัวลาลัมเปอร์ นั้น BRN มีความสมัครใจอย่างเต็มใจหรือถูกบังคับให้สมัครใจหรือไม่
สำหรับผมแล้วกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพครั้งนี้ ไม่ใช่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่มัน คือ กระบวนการพูดคุยประนีประนอม โดยรัฐใช้มาตรา 21 มารองรับไว้ ซึ่งหากเราสังเกตดูแล้วจะเห็นได้ว่าวิธีการของรัฐครั้งนี้มันคล้ายคลึงกันมากกับวิธีการที่รัฐเคยใช้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.) เมื่อปี พ.ศ.2523 เพื่อให้เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างนักต่อสู้ที่ก้าวหน้ากับนักต่อสู้ที่อนุรักษ์นิยม นำมาสู่ช่องทางตามมาตรา 21 ที่รัฐขุดไว้ล่ออยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น ตลอดระยะเวลาการสู้รบมาจนถึงวันนี้ พื้นที่ทางการเมืองมันเกิดขึ้นแล้ว สำหรับวันนี้มันมีเงื่อนไขสำคัญที่ภาคประชาชนในฐานะผู้ที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างแท้จริงจะใช้โอกาสกำหนดเองได้ แต่มันขึ้นอยู่กับการกำหนดอนาคตของตนเองว่ามันจะอยู่บนฐานของการชี้เป้าที่ถูกต้องและชัดหรือเปล่า ? จะชี้เป้าในสามแยกที่มันเกิดขึ้นหรือเปล่า ?
สถานการณ์ตอนนี้มันมีแนวทางอยู่ 3 แยกด้วยกัน ทางแยกที่ 1 คือ คลอดก่อนกำหนด ทางแยกที่ 2 คือ คลอดตามกำหนด และทางแยกที่ 3 คือ การทำแท้ง ซึ่งถ้าผลของพื้นที่ทางการเมืองที่มันคลอดออกมาครบกำหนดแน่นอนมันต้องแข็งแรง แต่ทางแยกที่ผมเป็นห่วงคือมันมีกลิ่นอายของความไม่ชอบมาพากลอยู่มาก ผมกลัวว่าความหวังดีในการเกิดของพื้นที่ทางการเมืองครั้งนี้คือการแท้ง มันคือการเกิดแล้วตาย ซึ่งถ้าเราไปหวังให้ทารกที่ตายไปให้มันฟื้นชีพขึ้นมาใหม่นั้นมันคงไม่สมเหตุสมผล ส่วนพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นผลพวงของการคลอดก่อนกำหนดนั้น แน่นอนอาการของมันก็จะเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายมาก ต้องมีการดูแลรักษาฟื้นฟูเป็นอย่างดี และคงต้องใช้เวลานานพอสมควรที่กว่าจะหายป่วยได้
ดังนั้นถ้าหากเราเดินไปอย่างมั่วๆมันคงเป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกมากไป ซึ่งมันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะการตัดสินใจมันต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจน
ชินทาโร ฮารา นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า แรกที่เห็นข่าวตามสื่อต่างๆผมรู้สึกได้เลยว่าเหตุการณ์นี้อุปโลภขึ้นมา มันไม่ใช่ความจริงแน่นอน คิดว่าเป็นแผนการทางการเมืองของทั้งสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ข้อมูลจากเพื่อนที่เป็นนักข่าวในมาเลเซียเล่าให้ฟังว่า “อุซตาสฮาซัน ตอยิบ เสมือนผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกทางรัฐบาลมาเลเซียควบคุมตัว และรัฐบาลไทยเดินทางมาข่มขืน” ฉะนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ข่มขืนทางการเมือง”
สำหรับประเด็นการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียนั้น ปัจจุบันเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่มีต่อนายกฯนาจิบ ราซัก นั้นค่อนข้างจะน้อยมาก และหลังจากนี้ฝ่ายค้านอาจจะชนะเสียงในการเลือกตั้งแทนพรรคเก่านี้ เนื่องจากวันนี้ประชาชนเริ่มไม่ค่อยไว้วางใจต่อผู้นำของรัฐบาลพรรค UMNO ที่มีนายกฯนาจิบ ราซัก เป็นผู้นำของพรรค ระยะต่อไปพรรคนี้อาจจะพ่ายแพ้กันไป
สุดท้ายผมขอแสดงความไม่พอใจต่อความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยในประเด็นที่เกิดขึ้นหลังจากลงนามเซ็นสัญญาตกลงเจรจาเมื่อวันที่ 28 กุมภา นั้นก็คือเหตุการณ์ระเบิดที่นราธิวาสและยะลา แต่นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา” “แต่อย่าลืมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำลายชีวิตของผู้คน” ขอยกตัวอย่างในทำนองเดียวกัน ถ้าหากเหตุการณ์เช่นนี้มันเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แล้วนายกฯออกมากล่าวว่า “เป็นเรื่องธรรมดา” นายกฯคนนั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง ณ วันและเวลานั้นทันที มันคือสปีริตในความรับผิดชอบ ถ้ามีนายกฯหรือผู้นำที่พูดอย่างนี้ผมคนหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้กับนายกฯคนนั้น
อาเต๊ฟ โซะโก หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA] ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ที่เราเห็นตามสื่อหรือที่เราได้ฟังกันตามร้านน้ำชา ซึ่งหากได้อ่านหนังสือ ดูทีวีแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเจอในโลกนี้มาก่อน แต่สิ่งที่เราควรตั้งข้อสังเกต คือ ใครได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์จากการที่ได้มานั่งคุยกันในครั้งนี้ ?
ฝ่ายที่ 1 คือ “BRN” สิ่งที่ BRN ได้ประโยชน์คือ มีพื้นที่หรือสถานะทางการเมืองในสังคมชุมชนระหว่างประเทศได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการก่อตั้ง BRN ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนที่ BRN เสียประโยชน์ คือ เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่ BRN เซ็นยอมรับที่จะพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งงราชอาณาจักรไทย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จริงองค์กรของคุณคงเป็นองค์กรที่แย่มาก
ฝ่ายที่ 2 คือ “รัฐบาลไทย” เป็นตัวละครที่ได้ประโยชน์มากกว่า BRN หากมองดูแล้วรัฐบาลไทยชุดนี้เป็นรัฐบาลที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่สามารถดึงคนที่มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐมาพูดคุยกัน ซึ่งภาพที่ออกมาโดยทั่วไป โลกจะมองเห็นว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างมาคุยกัน
แต่อาจจะดูมีปัญหาภายในเกิดขึ้นเล็กน้อย ฝ่ายทหารอาจจะไม่เห็นด้วยสักทีเดียว และฝ่ายความมั่นคงหรือที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “อำมาตย์” นั้น อาจจะไม่พอใจ แต่ก็ถือว่าเป็นแค่ปัญหาเล็กๆน้อยๆเท่านั้น
ฝ่ายที่ 3 คือ “รัฐบาลมาเลเซีย” ดูแล้วเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ผลที่สามารถเห็นได้ชัด คือ ถ้าหากการลงนามเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 28 กุมภา เป็นความจริง รัฐบาลที่เป็นพรรคหลักใน Barisan Nasional [BN] อย่างพรรค UMNO คงจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเชื้อชาติปาตานีที่เป็นพลเมืองในประเทศมาเลเซียจำนวนประมาณอาจจะหลักล้านคนอย่างมากเลยทีเดียว
เราต้องมองทุกฝ่ายแบบไม่ได้แยกส่วนจากสังคม ผมไม่อยากพูดถึง BRN เพราะถ้าพูดถึง BRN ทุกคนก็จะบอกว่า BRN เข้าถึงยาก ซึ่งความจริงแล้วชาวบ้านเข้าถึงได้มากกว่าเรา ฉะนั้นในเรื่องการคิดต่างจากรัฐอย่างเรื่องเอกราช ทุกคนก็เห็นด้วยและสนับสนุนเขา ที่นี้เมื่อเกิดความเพลี่ยงพล้ำในกระบวนการเจรจาเขาก็เลยเป็นเดือดเป็นร้อนไปด้วย ก็เสมือนกับผู้คนที่เลือกพรรคไทยรักไทยจำนวน 15 ล้านเสียง พวกเขาก็เห็นด้วยทุกอย่างกับสิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำ และเรื่องไหนที่มันเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายเกี่ยวกับเขา ทุกคนก็ต้องทุ่มเทและเชื่อใจพร้อมให้กำลังใจพรรคไทยรักไทย ฉะนั้นตามระบอบประชาธิปไตยเราจะค้านเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคไหนมากกว่ากันไม่ได้
ซึ่ง BRN ก็เช่นเดียวกัน ถ้าประชาชนมีจุดร่วมและเป้าหมายเดียวกันกับ BRN กระบวนการเจรจาที่มันเพลี่ยงพล้ำแบบนั้นมันต้องล้มด้วยซ้ำไป ถ้าไม่ล้มก็หมายความว่าเราเองก็ไม่เข้าใจว่าองค์กรในสังคมที่จะเคลื่อนไหวในประเด็นอะไรก็ตาม มันมีส่วนที่เชื่อมโยงกับสังคม ไม่อย่างนั้นมันคงอยู่ไม่ได้ ถ้าเราปิดตัวเองแล้วมันจะปฏิบัติการได้อย่างไร ? บางครั้งเราก็ต้องมองจากความจริงบ้าง แล้วความจริงแบบไหนล่ะ หรือถ้าผมบอกว่าผมมีความจริง แต่อีกคนบอกว่าผมมีความจริงมากกว่า สรุปคือความจริงทุกความจริงมันก็เป็นความจริง บางทีไม่มีใครรู้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่เรารู้บางอย่างมันมาจากการพูดคุยว่าคนที่รู้นั้นมันรู้มากแค่ไหน ? ไม่อย่างนั้นมันไม่เป็นธรรมสำหรับคนพูดจริงที่มีเป้าหมายและเห็นด้วยกับ BRN
ฉะนั้นวันนี้หน้าที่ของเราคือ หาข้อมูลข้อเท็จจริง ถ้าการลงนามครั้งนี้เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมา ก็แสดงว่าเขาโกหกทุกคน และถ้าเรายอมรับในเวทีที่เขาอุปโลกน์ขึ้นมานั้น ก็แสดงว่าเราก็โกหกประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเรารู้ชัดเจนแล้วว่าเป็นเวทีโกหกนั้น เราจะต้องยกเลิกเวทีเหล่านี้ให้ได้ นั้นคือหน้าที่ของเราในวันนี้
รอมฎอน บิน ซาการียา ปัญจอร์ ผู้ปฏิบัติการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ [DSW] เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภา ข้อมูลที่ได้จากสำนักข่าวอัลจารีซ่า อุซตาสฮาซัน ตอยิบ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่าย BRN ได้กล่าวไว้ว่า “อินชาอัลลอฮฺ เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้” และ “เราจะพูดคุยกับประชาชนของเราให้ช่วยกันทำงานเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้” ซึ่งเป็นคำพูดที่สำคัญมาก คิดว่านี้คือท่าทีของฝ่าย BRN เพราะมีคำพูดว่า
1. “เขาจะแก้ปัญหา”
2. “เขาจะแก้ปัญหานี้ให้ดีที่สุด”
3. “เขาจะบอกและสื่อสารกับประชาชน”
ส่วนท่าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยพบเยอะมาก อย่างบทสัมภาษณ์ของ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในรายการตอบโจทย์ ที่พยายามทำความเข้าใจกับสังคมไทยว่า ตอนนี้พวกเขากำลังทำอะไรอยู่
คือ ผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่าตกลงเราสามารถมองเวทีเมื่อวัน 28 กุมภา ที่ผ่านมาได้อย่างไรบ้าง ?
กระบวนการสันติภาพจริงๆแล้วไม่ได้เดินแบบเส้นตรง ไม่ได้เดินแบบจากหนึ่งไปสอง จากสองไปสาม ไม่ได้ยืนอยู่บนความสมบรูณ์แบบทั้งหมด แต่มันเป็นกระบวนการทางการเมือง ฉะนั้น มันจึงมีความไม่แน่นอน มันแล้วแต่ว่าช่วงเวลานั้นว่าคุณจะสามารถต่อรองได้อย่างไร ? แบบไหน ? แต่ความไม่แน่นอนอย่างนี้มันดีกว่าการใช้ความรุนแรง เพราะมันยิ่งไม่แน่นอนกันใหญ่ มันสามารถควบคุมได้ยากมากกว่า
ซึ่งกระบวนการทางการเมืองมันก็ไม่ต่างจากหลายที่ที่มันพลิกและเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์นั้นๆ มันขึ้นอยู่กับข้อมูล มันขึ้นอยู่กับจุดยืน มันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ และมันขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถตอบได้
แต่สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากมัน คือ จากกรณีของอุซตาสฮาซัน ตอยิบ และ มะรอโซ จันทรวดี ที่ทำให้เราเห็นระหว่างกิจกรรมทางการทหารและกิจกรรมทางการเมืองที่มันปรากฏขึ้นต่อสาธารณะ มันเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งในการรับรู้ของสังคมไทย และสังคมมลายูปาตานี ซึ่งมันสามารถทำให้เราเห็นว่า “การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเอกราชปาตานีมันมีอยู่จริง”
และประเด็นที่ผมอยากจะเปลี่ยนวันนี้มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1 BRN ใช้การทหารมากเกินไป มากจนไม่สามารถที่จะขายไอเดียให้คนอื่นเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ของตนเอง วันนี้เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร ? ฉะนั้นการประเมินร่วมกันบนพื้นฐานความไม่รู้นั้นมันสุ่มเสี่ยง เท่ากับความไม่รู้ว่ารัฐไทยคิดอย่างไร ? รัฐไทยเป็นอย่างไร ? สังคมไทยเป็นอย่างไร ? การเปลี่ยนผันของรัฐไทยเป็นอย่างไร ? และศูนย์กลางของอำนาจรัฐไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ? การไม่รู้สภาพแบบนี้ในบริบทคุณไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้
ประเด็นที่ 2 ผมรู้สึกว่าในสถานการณ์ที่มันมีการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ ข้อมูลและความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างเรื่องการพูดคุยนั้น มีการเตรียมพร้อม มีการวางฉากข้างหลังมากมาย แต่การที่ต้องปกปิดในสถานการณ์ที่มันยังไม่พร้อมนั้นถือว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น ฉะนั้นการรู้ข้อมูลมันใช้บ่งบอกถึงความเป็นจริง
ดังนั้น การเมืองของการรู้ข้อมูล คือ คนที่รู้มันมีความชอบธรรมที่จะบอกหรือจะเสนออะไรก็ได้ ยิ่งถ้าหากรู้อย่างลึก ลับ จริง มาก ข้อเสนอและข้อคิดเห็นของเขาจะยิ่งมีความชอบธรรมสูงและสามารถกำหนดให้คนอื่นเชื่อตามได้ง่ายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องระวังด้วย
ทุกคนพูดถึงประชาชน ทุกคนรู้ว่าการสื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนรู้ถึงทิศทางที่ตนเองกำหนดไปนั้นมันเป็นเรื่องสำคัญ โลกวันนี้มันต้องโยงกับประชาชน สำหรับคนที่อยู่ตรงกลาง อย่างนักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการและนักประชาสังคม หน้าที่ของมันคือต้องพูดกับประชาชนว่ากระบวนการสันติภาพนั้นมันเป็นอย่างไร ? และท้ายที่สุดจะต้องขยายพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดในสิ่งที่เขาต้องการว่ามันคืออะไร ? ต้องเอาเสียงของชาวบ้านขึ้นมา
เพราะเสียงของชาวบ้านมันจะชี้นำประเด็นที่คุยกันในวงเจรจา ถ้าวงเจรจาไม่ได้ฟังเสียงของชาวบ้าน แน่นอนในอนาคตมันคงไม่มีความยั่งยืน เพราะต่อให้เจ้าหน้าที่ไป แต่ถ้าชาวบ้านไม่ชอบมันก็ไม่ได้ ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ชาวบ้านต้องการนั้นมันคืออะไร ? วันนี้บรรยากาศและพื้นที่ทางการเมืองมันเปิดแล้ว ถ้าอยากได้เอกราชแล้วหน้าตาเอกราชมันจะเป็นอย่างไร ? อย่าปล่อยให้เงื่อนไขที่กำลังเปิดตอนนี้เป็นของตัวจริงหรือตัวปลอมข้างบน แต่ต้องทำให้ข้อเสนอที่มันเกิดจากข้างล่างมันตื่นขึ้นมาให้ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ให้สังคมไทยทั้งสังคมรู้ว่าพื้นที่นี้มันต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะคนมันอยู่กับความรุนแรงแบบนี้ไม่ได้ คนมันอยู่กับการกดขี่แบบนี้ไม่ได้
ดังนั้น คุณจะเอาเสียงของชาวบ้านขึ้นมาอย่างปลอดภัยและเป็นระบบพอที่จะบอกคนอื่นได้ว่าชาวบ้านเขาต้องการอย่างนี้ แล้วไปพูดกับรัฐบาลไทย พูดกับ BRN ว่าสิ่งที่เราต้องการคือแบบนี้ ส่วนเรื่องที่คุณมีจิตใจต่อสู้ คุณมีความรู้สึกร่วม คุณมีความรู้สึกเจ็บปวดอะไรต่อประวัติศาสตร์หรือเปล่านั้นมันได้ข้อสรุปไปแล้ว ดังนั้นวันนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเดินไปอย่างไร ?
เปิดประเด็นแลกเปลี่ยนผู้เข้าร่วม
ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
อับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) วิเคราะห์ว่า เวทีลงนามเจรจาสันติภาพทำให้ผมได้ตั้งคำถามว่า ขบวนการถูกหลอกหรือเปล่า ? มันเป็นไปได้หรือเปล่า ? เป็นสภาโจ๊กหรือเปล่า ? เป็นสภาที่ไม่มีเสถียรภาพหรือเปล่า ? แล้วรัฐบาลไทยได้อะไร ? รัฐบาลมาเลเซียได้อะไร ? ขบวนการได้อะไรไปหรือเปล่า ? เป็นคำถามที่ผมพยายามวิเคราะห์
ประเด็นที่ 1 ความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาในพื้นที่สำหรับ “เอกราช” ผมยังมองไม่เห็นแสงสว่างของมันเลยและคิดว่ามันค่อนข้างจะยากมากในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง BRN เสียเปรียบตั้งแต่เข้ามาอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยแล้ว
ประเด็นที่ 2 จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมาเลเซียทุ่มกับเวทีนี้สุดตัว มีทั้งระดับรัฐมนตรี ระดับฝ่ายความมั่นคง และระดับ สมช. ที่ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐบาล ฉะนั้นหากการนำตัวอุซตาสฮาซัน ตอยิบ เป็นเรื่องที่ผิดตัวหรือเป็นตัวปลอม รัฐบาลมาเลเซียคงเสียอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
ฉะนั้นการตั้งข้อสังเกตของผมคือ ปรากฏการณ์ของมะรอโซ และเวทีลงนามการเจรจาสันติภาพครั้งนี้คุณว่ามันสอดคล้องกันหรือเปล่า ? ซึ่งระยะเวลามันห่างกันไม่มากนัก เหมือนกับมีผู้กำกับคนเดียวกัน ตัวแสดงก็อยู่ในลายเดียวกัน มันรู้สึกไม่ชอบมาพากล เพราะฉะนั้นนอกจากที่เราสามารถมาวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว เรายังสามารถมีส่วนร่วมในแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง ?
การเสียเปรียบหรือไม่นั้นผมมองว่ามันยังไม่มีใครเสียเปรียบใคร เนื่องจากครั้งนี้มันเป็นเพียงแค่การลงนามตกลงที่จะเจรจาเฉยๆ เป็นแค่เบื้องต้นในการพูดคุยกัน เพียงแค่รัฐบาลมาเลเซียเรียกตัวมาคุยกันเฉยๆ คุณจะคุยหรือไม่ก็แล้วแต่คุณ แต่ใช่ว่ามีการเจรจากันแล้ว ฉะนั้นเราไม่ต้องมาวิตกกังวลก่อนว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น
ความเป็นไปได้
แซนดี บิน อับดุลรอเซะ ดือราแม คณะทำงาน ศูนย์ประสานงานโครงการบูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน [YICE] กล่าวว่า “วาทกรรม “เอกราช” ความเป็นไปได้กับความเป็นไปไม่ได้ อันที่จริงการที่เราจะเดินเคลื่อนไหวไปข้างหน้ามันจะต้องมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว”
เขาถูกจับ ถูกขัง และถูกบังคับ
วันอับดุลเราะห์มาน บิน วันฮุสเซ็น ผู้จัดการ องค์กรสันติภาพโลกประจำประเทศมาเลเซีย [Global Peace Mission Malaysia] สังกัดอาบิม [Angkatan Belia Islam Malaysia [ABIM]] กล่าวว่า ผมภูมิใจที่ทุกคนพยายามตั้งคำถามถึงบทบาทของมาเลเซียระหว่าง “ผู้อำนวยการพูดคุย [Facilitator]” กับ “คนกลาง [mediator]” ในฐานะที่ผมเป็นพลเมืองของประเทศมาเลเซีย ผมเองก็ยังรู้สึกสงสัยกับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียเช่นเดียวกัน
แต่สำหรับคำถามที่ว่า ใครคือ อุซตาสฮาซัน ตอยิบ ? ที่เปิดตัวตามสื่อต่างๆในวันที่ 28 กุมภาที่ผ่านมานั้น จะบอกว่าช่วงวันเดือนปีนั้นผมอยู่ที่ปาตานีและในวันที่ 1 ผมบินกลับไปที่กัวลาลัมเปอร์ ประมาณหนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้นมีตัวแทนทหารมาเลเซีย ตัวแทนพรรค UMNO และตัวแทนพรรค PAS มาถามว่า “รู้จักอุซตาสฮาซัน ตอยิบ หรือเปล่า ?”
หลังจากนั้นอุซตาสฮาซัน ตอยิบ ก็ถูกจับตัวไปที่รัฐตรังกานูและส่งตัวมายังกัวลาลัมเปอร์ด้วยแฮลิคอปเตอร์ เพื่อพาไปขังในคุกโรงเรียนนายร้อย แต่ไม่ใช่ขังตัวในโรงแรม ซึ่งไม่มีใครสามารถขอพบเจอตัวเขาได้ นอกเสียจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างการนำตัว อุซตาสฮาซัน ตอยิบ ไปพบเจอ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เก็นติ้ง ไฮแลนด์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเช็คและตรวจสอบได้
ความจริงเป็นอย่างไร
ชารีฟ บิน มุสตอฟา สะอิ เลขาธิการ เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [INSouth] ตั้งคำถามว่า เราทำงานในพื้นที่มาหลายปีพอสมควร ก็รู้สึกกังวลกับเหตุการณ์ครั้งนี้เราเองก็ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่ามีความเป็นมาอย่างไร ? แต่ถ้าหากเป็นไปตามที่วันอับดุลเราะห์มาน ได้เล่าให้ฟังว่า อุซตาสฮาซัน ตอยิบ ถูกจับกุมและบังคับให้เซ็นสัญญาจริงมันก็น่าเป็นห่วง แต่ด้วยวิธีการเหล่านี้ไม่ทราบว่ามันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ? อย่างไร ?
และขอฝากคติกับทุกคนว่า “สัจธรรมต้องศึกษาและค้นหา พลังและอำนาจต้องวางแผนและมั่นใจในแนวทาง”
สู้อย่างเท่าเทียม
ฮาดีย์ บิน อับดุลลาเตะ หะมิดง นักเคลื่อนไหวอิสระ ตั้งคำถามว่า จากเวทีเมื่อ 28 กุมภา มีคำถามอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นที่ 1 จะเห็นได้ว่าเวทีครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางรัฐบาลมาเลเซียออกมามีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในระยะยาวมันจะมีผลกระทบต่อขบวนการในการพูดคุยต่อไปหรือไม่ ? หรือมันจะกระทบต่อความสงบสุขและสันติสุขในพื้นที่มากแค่ไหน ?
ประเด็นที่ 2 BRN เสียท่าอย่างมากเลยเดียว อนาคตจะเป็นอย่างไร ? และจะจบแบบไหนก็ไม่สามารถบอกได้ แต่ BRN พอจะมีกลยุทธ์ [Tactics] ที่พอจะสู้แบบสมน้ำสมเนื้อกัน หรือเท่าเทียมกันหรือไม่ ?
ชาวบ้านรู้และมีวิจารณญาณพอที่จะคาดเดาได้
สะรอนี บิน มาห์มูด ดือเระ บรรณาธิการ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ [DSJ] ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากอุซตาสฮาซัน ตอยิบ ไม่ใช่ตัวจริงมันก็เกิดการพ่ายแพ้กันไป เพราะแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใช่ตัวจริงหรือไม่ ? แต่ถ้าเราดูก่อนหน้านี้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงพูดอยู่เสมอว่า “จะไม่เจรจาเด็ดขาด” เพราะการเจรจาคือการยอมรับสถานะของกลุ่มโจรเหล่านี้ว่ามันมีอยู่จริง แต่อยู่ๆมันก็เกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ใหญ่ และผมเชื่อว่าชาวบ้านเขารับรู้และพอจะมีวิจารณญาณในการรับรู้ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น ?
กระบวนการสันติภาพต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
อัซฮาร์ บิน อับดุลฮาดี สารีมะเจ๊ะ กรรมการ สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งอุซตาสฮาซัน ตอยิบ และมะรอโซ จันทรวดี เป็นตัวแสดงหน้าฉากที่เป็นตัวแทนของอุดมการณ์ชิ้นหนึ่งและมีประชาชนส่วนหนึ่งมีความเห็นร่วมด้วย ฉะนั้นคิดว่าการเจรจาน่าจะยังไม่ใช่ความต้องการของกลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มติดอาวุธ
จากการที่ได้ติดตามและศึกษาถึงกระบวนการสร้างสันติภาพอยู่พอสมควร จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องมาสู่โต๊ะเจรจา ฉะนั้นความสำเร็จของการเจรจามันก็คงไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งเลย นอกจากเป็นความต้องการของประชาชนโดยรวม หรือเป็นความต้องการของคนที่มีผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ
ฉะนั้นหลังจากนี้ไปอาจจะต้องเป็นการยกระดับโต๊ะเจรจาหรือกระบวนการเจรจา ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ให้เป็นไปตามความต้องการของ BRN หรือรัฐไทย หรือรัฐบาลมาเซียด้วยซ้ำไป หมายความว่า ถ้าเป็นไปตามความต้องการของทั้งสามฝ่ายนี้แล้ว มันเหมือนกับว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่หลอกหลวงหรือเปล่า ? สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องทำอย่างเร่งด่วน จะต้องช่วยกันทำให้มันเป็นจริงมากขึ้น แต่การเจรจารอบนี้ความรู้สึกแรกทำให้เราเห็นความหวัง คิดว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากขึ้น
ดังนั้น เวทีต่อไปจะยกระดับการเจรจาอย่างไรให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ ? เมื่อถึงวันนั้นหากมีคนที่จะมาทำลายหรือล้มกระดานกระบวนการสันติภาพตามที่ประชาชนเขาต้องการนั้น ความชอบธรรมของการเจรจามันจะมีผลอย่างไร ?
เสียงประชาชนล้ำค่า
ซอลาหุดดีน บิน ฮัสบุลเลาะห์ กริยา คณะทำงานสำนักพิมพ์ Awan Book กล่าวว่าตั้งแต่เกิดเวทีเมื่อวันที่ 28 กุมภา เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์เสียงของประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในส่วนขององค์กร มันสะท้อนให้เห็นว่า “ความกล้าหาญที่จะแสดงออกในความคิดต่าง” ณ วันนี้เสียงมันเริ่มเบ่งบานขึ้น
ในส่วนของภาครัฐเองเริ่มที่จะคลี่คลายความเข้มงวดลง และเขาจะไปอบรมให้กับขบวนการอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่รับมาโดยตรงจะต้องมีเสียงของประชาชนเอง เสียงที่ประชาชนจะสะท้อนออกมานั้นเป็นอย่างไร ? หรือประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสันติภาพนี้อย่างไร ? ซึ่งเสียงของประชาชนบางครั้งก็เป็นเสียงที่ล้ำค่าสำหรับพวกเขา ฉะนั้นจะถกเถียงกันอย่างไร ? ในเมื่อข้อมูลชั้นความลับนั้นเราเข้าไปไม่ถึง แต่เราสามารถที่จะพูดในสิ่งที่เราเห็นและเข้าใจได้ ดังนั้นข้อมูลของเรานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่หลายเสียงของประชาชนคือความต้องการที่แท้จริง อย่าลืมว่าสันติภาพมันเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง
ต้องลบพื้นที่ความกลัวให้ได้
กริยา บิน วันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] กล่าวว่า วันนี้ทุกคนไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดหรอก แต่ทุกคนต้องการสิ่งที่จริงที่สุด และต้องการข้อเท็จจริงที่จริงที่สุด ผมมีอยู่ 2 ประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนคือว่า
ประเด็นที่ 1 คือ คิดว่าคนในพื้นที่เขาไม่ได้ต้องการกระบวนการเจรจาที่ดีที่สุด แต่คิดว่าเขาคงต้องการกระบวนการเจรจาที่จริงที่สุด และคิดว่าสิ่งที่เราควรจะขับเคลื่อนในวันนี้ให้ได้ก็คือ พื้นที่ความกลัวที่มีอยู่ในวันนี้ เราต้องลบมันให้ได้
ประเด็นที่ 2 วันนี้ถ้าเราจะลบความกลัวออกไปและความปลอดภัยที่เราจะต้องสร้างขึ้นมานั้นมันควรเป็นอย่างไร ? ฉะนั้นกระบวนการที่เราควรพูดคุยในวันนี้คือ กระบวนการ Safety หรือกระบวนการความปลอดภัย ถ้าหากเราต้องฟังเสียงของประชาชน สิ่งที่เราจะต้องเดินอย่างเต็มรูปแบบและเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ กระบวนการความปลอดภัย เพราะวันนี้ชาวบ้านเกิดคำถามมากว่า “การเจรจาคืออะไร ?” ชาวบ้านเขาอยากจะรู้แต่เขากลัวที่จะถามดังๆ เราก็สามารถอธิบายข้อเท็จจริงได้เพียงแค่นิดหน่อยเท่านั้นจากข่าวลือที่เราได้มา ฉะนั้นกระบวนการสันติภาพมันจะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานความปลอดภัยและความมั่นใจเท่านั้น
จากการตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ และเปิดประเด็นแลกเปลี่ยน Wartani หวังว่าคงจะเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สามารถจะเป็นคำตอบสำหรับผู้ใคร่รู้จำนวนมากที่ไม่สามารถตอบโจทย์ข้อสงสัยที่ผ่านมาได้ อาจจะไม่สามารถตอบได้ทุกคำถาม แต่อย่างน้อยก็พอที่จะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าจะสามารถไปประติปะต่อเป็นจิ๊กซอได้ Wartani ขอเป็นสื่อทางเลือกหนึ่งที่จะค้นหาคำตอบให้กับประชาชนที่ใคร่รู้ในเรื่องชะตากรรมของตนเองที่ถูกคนบนเก้าอี้ และห้องแอร์ กำหนดให้มาตามใจตนเองปรารถนา หลังจากวันนี้เป็นต้นไปเราคงจักต้องติดตามเวทีที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน ? อย่างไร ?
ดูวิดีโอเสวนา (คลิ๊ก)