Skip to main content
อับดุลกอฮาร์  หะยีอาวัง
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

วันที่ ๑๒ มีนาคม เป็นวันซึ่งทนายความที่เคยร่วมทำงานอุดมการณ์เดียวกับทนายความสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ต้องใจหายจากการที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญที่เป็นแบบอย่างของการต่อสู้และเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งที่ทนายสมชายไม่ใช่คนสามจังหวัด แต่ด้วยความรู้สึกถึงความผูกพันในฐานะที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาเดียวกัน และเห็นว่าคนในสามจังหวัดเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลายาวนานในอดีต จึงอาสาเข้ามาให้ความช่วยเหลือในคดีความมั่นคงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยอุดมการณ์และความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้ในแนวทางสันติ โดยใช้วิธีการเสียสละทางด้านวิชาชีพทนายความที่ตนเองยึดถือ ใช้เป็นพื้นที่หนึ่งในการต่อสู้ภายใต้กรอบของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่อยู่ภายใต้อำนาจที่ดำมืดและอาณาจักรแก่งความหวาดกลัว ทั้งนี้ เพื่อปลดปล่อยคนในสามจังหวัดให้มีช่องทางในการเรียกร้องสิทธิของตนเองขั้นพื้นฐานที่สุดในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย

ก่อนที่ทนายสมชายจะหายตัวไป หลังเหตุการณ์ปล้นปืน วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาห้าคนในคดีปล้นปืน คือ นายมะกะตา ฮารง นายสุกรี มะมิง นายอับดุลเลาะ อาบูคารี นายมะนาเซ มามะ และนายซูดือรือมัน มาและ ที่ถูกควบคุมตัวที่กองปราบปราม จากการบอกเล่าของผู้ต้องหาทั้งห้า ในขณะพบผู้ต้องหาผ่านล่ามซึ่งเป็นทนายความในสามจังหวัดที่ทำงานร่วมกันได้แปลให้ฟัง เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าของผู้ต้องหาถึงการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมาน ด้วยวิธีการและการกระทำที่ทารุณโหดร้ายและแปลกประหลาดพิศดาน ด้วยวิญญาณของคนที่ไม่ชอบการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง และความรู้สึกเจ็บปวดเสมือนผู้ถูกกระทำเป็นพี่น้องของตน  ทำให้มือขวาของทนายสมชายต้องกำหมัดแน่นท่ามกลางเสียงร้องของผู้ต้องหาในห้องขังที่เหมือนกับได้มีโอกาสระบายความรู้สึกครั้งแรกหลังจากอัดอั้นตันใจมานาน ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลใด เพราะต้องถูกแยกคุมขังอย่างโดดเดี่ยวมาเป็นเวลาหลายวัน

ทนายสมชายได้สูญหายไปพร้อมกับทิ้งภารกิจสองอย่าง ที่เขาได้ต่อสู้และเรียกร้องจนสุดกำลังตามความสามารถของคนธรรมดาเช่นเขา คือ ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานผู้ต้องหาทั้งห้าไปยังหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ  และเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ที่ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ โดยการล่ารายชื่อไปยังประชาชน รวมทั้งองค์กรทางศาสนาอิสลามทั้งในกรุงเทพมหานครและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้เข้าไปพบนักการเมืองมุสลิมในสามจังหวัดทั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เพื่อให้มาร่วมกันเรียกร้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาในฐานะตัวแทนของประชาชน และให้มาช่วยกันมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเล็งเห็นแล้วว่ากฎหมายนี้จะสร้างปัญหาในอนาคต แต่ก็ไร้ซึ่งการตอบรับจากองค์กรและเหล่าบรรดานักการเมืองเหล่านั้น

หลังจากทนายสมชายหายไปแล้ว ไม่นานได้มีการออกแถลงข่าวใหญ่ กรณีกำนันอนุพงศ์ พันธชยางกูร (กำนันโต๊ะเด็ง) แถลงต่อสื่อมวลชนว่าเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ นักการเมืองในนามของกลุ่มวาดะห์มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุ โดยได้มีการร่วมประชุมกันที่บ้านของนายนัจมุดดิน อุมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส รวมถึงซัดทอดและพาดพิงไปยังนักการเมืองคนอื่น รวมถึง นายเด่น โต๊ะมีนา ในฐานะที่เป็นแกนนำคนสำคัญ จากนั้นได้มีการพาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพต่อหน้าสื่อมวลชน และชี้บ้านของนายนัจมุดดิน ที่ได้มีการตกลงประชุมเพื่อไปปล้นปืน  เป็นการรับสารภาพที่เป็นเรื่องเป็นราวต่อหน้าสื่อมวลชนครั้งใหญ่สร้างความตกตะลึงและทุกคนต้องจดจำได้ไม่ลืมจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่สุดท้ายกำนันโต๊ะเด็งต้องออกมายอมรับว่าได้กระทำไปเพราะถูกซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายถึงกับนำขึ้นไปบนเครื่องบิน เพื่อขู่จะถีบให้ลงจากเครื่องจนต้องร้องขอความช่วยเหลือสุดชีวิต และยอมกระทำทุกอย่างตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ

ผลจากการแถลงข่าวใหญ่กำนันโต๊ะเด็ง ประกอบกับการสูญหายของทนายสมชาย ทั้งสถานการณ์ขณะนั้นมีเหตุการณ์ระเบิด และยิงฆ่ากันเกิดขึ้นรายวัน ด้วยความอ่อนแอของทนายความที่ร่วมทำงานกับทนายสมชายในขณะนั้น ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องอำนาจที่อธรรม ประกอบกับอยู่ในภาวะหวาดกลัวและสับสนต่อบทบาทของตนเองในการที่จะก้าวเดินต่อไป รวมถึงความอ่อนแอทั้งตัวบุคคลและองค์กรมุสลิมทั้งมีตำแหน่งหน้าที่ต้องรับผิดชอบและไม่มีตำแหน่ง ทำให้ไม่สามารถป้องกันความเลวร้ายจากการใช้อำนาจเหล่านั้นได้ เปิดทางนำมาซึ่งการจับกุมชาวบ้านหลายคน ในจังหวัดนราธิวาส โดยใช้กฎอัยการศึก ส่วนใหญ่ถูกนำไปควบคุมตัวและทำการซ้อมทรมาน บีบบังคับให้รับสารภาพ ด้วยวิธีการเดียวกันกับห้า ผู้ต้องหาที่ทนายสมชายเคยให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านบางคนถูกกันไว้เป็นพยานในคดีปล้นปืน ในขณะที่บางคนถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กำนันโต๊ะเด็ง ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าดาบตำรวจปัญญา ส่วนนัจมุดดิน ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นปืน ร่วมกับผู้ต้องหาอื่นอีกประมาณ ๕๐ กว่าคน เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยปราศจากการตรวจสอบ การละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นต่อหน้าชาวบ้านตาดำๆ โดยไม่มีใครปกป้องได้ ความอธรรมได้แพร่กระจายขยายวงกว้างไปทุกหย่อมหญ้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ดำเนินเรื่องมาถึงวันนี้เป็นเวลาเก้าปี สองสิ่งที่ทนายสมชายได้ต่อสู้มันเหมือนกลับมามีชีวิตใหม่ ไม่ได้หายไปกับความสูญหายของทนายสมชายแต่อย่างใด หากการสูญหายของทนายสมชายเป็นชัยชนะของผู้ที่มีความปรารถนาจะใช้อำนาจที่อธรรม ทั้งที่ภารกิจการให้ความเป็นธรรมเป็นภารกิจของรัฐ วันนี้เป็นสัจธรรมที่พิสูจน์แล้วว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมในสามจังหวัด รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อคนต่างเชื้อชาติ เป็นเงื่อนไขสำคัญและเป็นโจทก์ใหญ่ของรัฐที่ต้องตอบกับสังคมโลก และยิ่งเป็นการพิสูจน์สัจธรรมว่าแท้จริงแล้ว ไม่มีใครอธรรมต่อตัวเรา แต่เราเองนั่นแหละ ที่อธรรมต่อตัวเอง

มาถึงวันนี้ทุกฝ่ายกำลังมองหาสันติภาพ ทุกฝ่ายกำลังอยากสร้างบรรยากาศของการเจรจา ทำอะไรก็ได้ขอให้ได้มาซึ่งสันติภาพในสามจังหวัด  และเข้าใจว่าสันติภาพสามารถแสวงหาได้ง่าย เมื่อมีเงินและมีอำนาจ โดยไม่ต้องสนใจอดีต แต่ขอให้ปัจจุบันทำให้ดีก็พอ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและสังคมต้องการ แต่ทว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นมันทดสอบทั้งผู้มีอำนาจและคนในพื้นที่ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นมุสลิมแล้ว ภารกิจในการปกป้องความเลวร้ายหรือความอธรรมเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ปล่อยเป็นภาระหรือหน้าที่ของบุคคลหรือองค์กรใดโดยลำพัง เมื่อสังคมใดปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีความรู้สึกเดือดร้อนต่อมัน สังคมนั้นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (ขอให้พ้นจากความสาปแช่งของพระองค์) และบนสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ด้วยนิอฺมัตและความโปรดปรานของพระองค์เท่านั้นที่จะสร้างความเป็นสมานฉันปรองดองและภราดรภาพได้ ดังที่พระองค์ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอ่าน ความว่า   “ และพระองค์ทรงทำให้จิตใจของพวกเขา (บรรดาผู้ศรัทธา) สมัครสมานปรองดองกัน หากแม้นว่าเจ้า (โอ้มุหัมมัด) ใช้จ่ายด้วยสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ในแผ่นดินนี้ (เพื่อให้พวกเขาเกิดความปรองดองกัน) เจ้าก็จะไม่สามารถทำให้จิตใจของพวกเขาปรองดองและสมานฉันท์กันได้ แต่ทว่าอัลลอฮฺคือผู้ทรงทำจิตใจของพวกเขาโอนอ่อนและปรองดองกัน เพราะแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณยิ่ง “ (8:63) ดังนั้น ด้วยความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์เท่านั้นที่จะนำไปสู่สันติภาพ และสุดท้ายทุกชีวิตต้องกลับไปสู่พระองค์

การต่อสู้ของทนายสมชายย่อมไม่มีวันตาย เพราะเป็นการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยแนวทางสันติวิธี และการต่อสู้ก็ยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ทนายสมชายเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับห้า ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมทรมาน ถามว่า วันนี้การซ้อมทรมานได้หมดไปหรือไม่ สิ่งที่ทนายสมชายเรียกร้องล่ารายชื่อเพื่อขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก กฎหมายฉบับนี้ก็ยังคงใช้บังคับอยู่ ถูกยกเลิกเฉพาะในช่วงที่ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.) เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ในช่วงหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีการปฎิวัตรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนปัญหาความไม่เป็นธรรมขยายวงกว้างลุกลามไปสู่กรุงเทพหมานคร แต่ในสามจังหวัดกฎอัยการศึกก็ยังคงประกาศใช้ต่อไป โดยคราวนี้ใช้ควบคู่ไปกับพรก.ฉุกเฉิน (ดับเบิ้ลพิเศษ) จนกระทั่งทุกวันนี้ หนำซ้ำกฎอัยการศึกยังเป็นกฎหมายที่ขึ้นชื่อว่าผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด สิ่งเหล่านี้ถามว่าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและสังคมมุสลิมได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อมันเพียงใด เพราะความอธรรมเหล่านี้มันเกิดกับคนที่อยู่ในพื้นที่ และคนที่เจ็บปวดกับสิ่งเหล่านี้ก็คือคนในพื้นที่ หาใช่คู่กรณีที่รัฐบาลไปลงชื่อเจรจาที่ประเทศมาเลเซียแต่อย่างใด

ความอธรรมและสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ทุกวันนี้เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่เห็นแต่เพียงปลายยอดเท่านั้น ยังมีอีกมากกับคนที่ถูกกระทำแต่ไม่อยากออกมาบอกกับสังคม ไม่อยากออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง จนต้องหลบซ่อนหรือหนีกระเจิดกระเจิงออกไปอยู่นอกพื้นที่ เก้าปีที่ผ่านมาคงจะให้คำตอบได้ว่าการใช้อำนาจเช่นนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่  และสิ่งที่ต้องตระหนักก่อนที่จะเรียกหาสันติภาพ ควรถามก่อนว่าเราอยากให้สิ่งเลวร้ายเหล่าคงดำรงอยู่ในพื้นที่อีกต่อไปหรือไม่ เพราะเมื่อมันเกิดกับกลุ่มชนใด กลุ่มชนนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการปกป้องด้วยการสอดส่อง ตรวจสอบ นำเสนอข้อเท็จจริง และตักเตือนเท่าที่จะทำได้ เพราะ “ ความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ จงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่า และเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน “  (41:34)  วันนี้เป็นหน้าที่มุสลิมทุกคนที่ต้องทบทวนตนเองและปกป้องความเลวร้ายเหล่านั้น  ด้วยการสร้างเอกภาพและภารกิจนี้ในแนวทางเดียวกัน หาใช่เพียงการสร้างเอกภาพเพื่อแสวงอำนาจทางการเมืองไม่ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ทั่วทั้งโลกได้ให้ความสนใจและตระหนักถึงปัญหานี้  จึงไม่แปลกที่องค์กรจากต่างประเทศต้องเข้ามาปกป้องสิทธิแทนคนในพื้นที่ รณรงค์เรียกร้องให้เกิดองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน ผลักดันโดยใช้วิธีกดดันให้รัฐออกกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน การบังคับให้บุคคลสูญหาย สร้างกลไกเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในพื้นที่ แต่นักการเมืองในพื้นที่กลับไม่รู้สึกเดือนร้อนต่อปัญหานี้  ในขณะที่ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกสามจังหวัด รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาต้องลุกออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะเห็นประจักษ์ชัดถึงความอธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ความอธรรมในเชิงปัจเจก แต่เป็นระบบของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง การต่อสู้ของกลุ่มเหล่านี้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้น และเติบโตอย่างต่อเนื่องและนับวันมีพลังที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจกับบุคคลที่อ้างว่ามาจากประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน กลับอ่อนแอยิ่งในภารกิจนี้