Skip to main content
คัมภีร์ ทองพูน
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
 
ปฏิบัติการที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในกรณีปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในอีกหลายกลุ่มที่เรียกร้องความเป็นอัตลักษณ์ของรัฐปัตตานีด้วยการให้ได้มาซึ่งเอกราชของความเป็นมลายูปัตตานี จากการพบปะชาวบ้าน นักวิชาการ นักพัฒนาจากองค์กรเอกชนหลายภาคส่วน บางส่วนเห็นด้วยกับมิติที่รวดเร็ว ทันด่วน ของรัฐบาลเพื่อไทยที่เกิดกระบวนการลงนามเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา เพื่อนำไปสู่กระบวนการการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถึงแม้ว่ายังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเนื้อหาอะไรแอบอยู่ข้างใน และยังคงมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่าเกาถูกที่คันไหม หมายถึงว่าได้แก้ปัญหาตรงจุด ตรงประเด็นหรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นการขายภาพประชานิยม สร้างความเชื่อมั่นทางฐานเสียงทางการเมืองซึ่งได้กระทำการแต่งตั้งกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นทั้งฝ่ายทางการไทยและมาเลเซีย
 
กระบวนการพูดคุยเริ่มมีมานานแล้ว อย่างน้อยที่เป็นจริงและไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งเป็นมีการพูดคุยเป็นรูปแบบไม่เป็นทาง (Informal Dialogue) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความจริงใจของฝ่ายรัฐและฝ่ายกลุ่มขบวนการฯ แต่ไม่สามารถหาความจริงใจได้จากทั้งสองฝ่าย เพราะต่างยืนกระต่ายขาเดียวแสดงจุดยืน (Position) ของตนเองอย่างชัดเจน, มีการปะทะด้านแนวคิดตลอดเวลา รวมถึงการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเข้ามาห้ำหั่น แย่งชิงมวลชนและผลประโยชน์กัน  ผลการกระทำเหล่านี้แทบทั้งสิ้นผู้รับชะตากรรมคือชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม ทั้งการปฏิเสธการประนีประนอม (compromise) เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันในแนวทางที่ต่างได้รับตอบแทน(win-win) ที่จะไปนำสู่การแก้ปัญหา (Problems solving) จึงไม่สามารถเปิดพื้นที่พูดคุยได้ เพราะไม่มีระบบหรือแนวทางที่จะสามารถรับรองว่าเมื่อมีการเปิดการพูดคุย ทั้งสองฝ่ายจะปลอดภัยจากการถูกลอบทำร้าย
 
การเปิดพื้นที่พูดคุยเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำมานานแล้วสำหรับระดับนโยบายคือรัฐบาล ประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักคือไม่ควรลงนามกับทีมใดทีมหนึ่งทีมเดียว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและก่อให้เกิดความรุนแรง ประเด็นที่รัฐควรทำความเข้าใจในขณะนี้คือการพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนในสังคมไทยที่ยังขาดความเข้าใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขาดความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ความเป็นรอยยิ้มสยาม ที่ลบเลือนหายไป และประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นประชากรเกือบค่อนประเทศอยู่บนพื้นฐานของความสะใจ มีประชากรน้อยมากที่จะอยู่บนพื้นฐานของความเห็นใจ เพราะรับฟังข่าวด้านเดียว เช่นคนไทยทั้งประเทศรับข้อมูลตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชน คงมีเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดปัญหา เท่านั้นที่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในขณะนี้
 
สิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลควรทำในขณะนี้
 
  • สร้างพื้นที่ความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความวางใจแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการเปิดพื้นที่การพูดคุยรับฟังกับประชาชนทุกภาคส่วน
  • ในการเปิดพื้นที่พูดคุยควรมีเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงได้และสามารถประสานงานกันได้
  • ต้องยอมรับว่ากระบวนการสร้างสันติภาพเป็นแนวทางความดีร่วมกันทุกฝ่าย
 
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการจัดเวทีพูดคุยของภาคประชาสังคมในปัตตานีหลายต่อหลายครั้ง ในประเด็นการพิจารณาหาทางออกร่วมกันว่าเราควรเดินทางไหน สรุปสาระสำคัญคือการสร้างพื้นที่ความปลอดภัยในการพูดคุยเพื่อหาทางออกอย่างแท้จริง มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา โดยประเด็นปัญหาทั้งหมดที่กล่าวยกมาต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรงและใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง