พยาบาลงานมนุษยธรรมในไฟใต้
บทความโดย นวพล ลีนิน
Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;
mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:
minor-bidi">
หากความทุกข์ยากคือความจริงของวัฏฏะชีวิต ความงดงามอันเกิดจากการขัดสานวิธีการแก้ปัญหาความทุกข์ยาก ผู้ทำหน้าที่รักษาเยียวยาความทุกข์ยากที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติภัย ประหนึ่งการทักทอแพรผ้าเป็นอาภรณ์ทิพย์ ด้วยเส้นใยของการต่อสู้ต่ออุปสรรคในความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ นั้นคืออาภรณ์ที่แสนอบอุ่นในความหมายแห่งความดีงามของชีวิต ทั้งยังเสริมให้ผู้พบเห็นได้รู้สึกปลื้มปิติ โดยเฉพาะคุณค่าของงานบริการผู้คน ผู้เจ็บป่วยในฐานะพยาบาล
เมื่อเราเดินเข้าไปในห้องป่วยรวม อาจเป็นห้องที่ญาติผู้ใหญ่สักคน เป็นคุณตาสักคนที่อายุมากแล้ว จำเป็นต้องพักในห้องผู้ป่วยรวมที่ชื่ออายุรกรรมชาย ในบรรยากาศซึ่งอวนไปด้วยเชื้อโรคดื้อยาของโรงพยาบาลของรัฐสักแห่งหนึ่ง เราจะพบว่าในห้องมีคนป่วยที่นอนเรียงกันอยู่บนเตียงอย่างแออัดเว้นช่องไว้พอให้พยาบาลเข้าออกได้ ผู้ป่วยนอนหายใจหอบแรงยาวๆ บ้างก็หายใจรวยระรินสั้นๆ มีเครื่องช่วยหายใจครอบอยู่ที่จมูกกับปาก มีสายยางให้อาหารสอดไว้ทางรูจมูกข้างหนึ่ง สายยางสำหรับให้น้ำเกลือที่แขนข้างหนึ่ง บ้างรายต้องเจาะที่คอเพื่อช่วยหายใจ สายท่อปัสสาวะที่สอดสวนไปถึงกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงไว้ชรา เราได้ยินเสียงหายใจผสมเสียงครวญคราง เสียงเครื่องวัดระดับชีวิตดังเป็นจังหวะระงมประสานเสียงเครื่องช่วยหายใจ ในระหว่างนั้นมีเสียงที่สอดแทรกเข้ามาเป็นระยะ นั้นคือเสียงของพยาบาล เสียงญาติเฝ้าไข้ และเสียงผู้ดูแลผู้ป่วย เสียงที่ดุดัน ทั้งขู่เข็ญและปลอบประโลมผู้ป่วยให้คนป่วยกินยา กินอาหาร สอดสายยาง นอน ลุกนั่ง คนป่วยส่วนหนึ่งถูกมัดมือสองข้าง เพื่อป้องกันการดึงสายยาง รอบๆมีเครื่องช่วยหายใจเครื่องวัดระดับชีวิต อุปกรณ์เครื่องมือทางแพทย์ ข้าวของเครื่องใช้ของญาติคนป่วยที่วางอยู่ในพื้นที่จำกัด ญาติเฝ้าไข้ปูเสื่อนอนอยู่ข้างเตียงบ้าง ใต้เตียงบ้าง และตามระเบียงห้องด้านนอน ภายในห้องอวนไปด้วยกลิ่นยา ของเสีย และบรรยากาศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อตามคำเตือนของป้ายที่แขวนไว้ ภาพเสียงและกลิ่นแห่งความทุกข์ระทมที่ชวนให้อึดอัดใจ อาจทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราสามารถทนต่อสภาพเช่นนี้ หรือปล่อยให้ญาติที่เป็นคนป่วยของเราอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร และดูคล้ายท่าที่ชำนาญการอย่างเยือกเย็น พยาบาลสักคนหาได้สนใจต่อการยืนอย่างเกะกะของเรา เธอขอทางเดินเข้าไปใช้เครื่องดูดเสมหะคนป่วยทางช่องที่เจาะคอ เสียงดังครอกคราก ด้วยแววตาที่สงบนิ่งกับผ้าปิดปากที่ทำให้เราอาจหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
อาชีพพยาบาลคือหนึ่งในคำตอบหนึ่งจากเด็กๆในคำถามที่ว่า “โตขึ้นหนูจะเป็นอะไร?” โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงหลายๆคนพวกเธอเฝ้าถึงการสวมใส่เครื่องแบบพยาบาลอันสง่างาม ภาพหญิงสาวหน้าตาสะสวย รอยยิ้มที่อิ่มด้วยความใจดี ชุดขาวที่ช่วยทำให้รู้สึกอบอุ่นในท่วงท่าที่อ่อนโยน หมวกกะบังที่เสริมความเข้มขลังแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นผู้อภิบาล ดั่งคำเปรียบเปรยนางพยาบาลว่าเป็นนางฟ้าหรือแม่พระที่ค่อยปรนนิบัติผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่ในความเป็นจริง อาชีพพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วยนั้นต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่กดดันมากมายในแต่ละวัน ทั้งเหตุการณ์ที่เตรียมตัวรับมือ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าคุณพยาบาลจะเข้าเวรกะไหน ได้นอนเต็มอิ่มหรือไม่ก็ตาม คุณพยาบาลต้องพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา การเจาะเลือด ล้างแผล เย็บแผลสด การผ่าตัด สอดใส่ท่ออาหาร ชำระล้างของเสียในร่างกาย ในท่วงท่าที่รวดเร็วแข่งกับจำนวนผู้ป่วย ความเป็นความตายที่ยากเกินกว่าจะรักษาท่วงท่าของนางฟ้าผู้อ่อนโยนเอาไว้ได้
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลกับคนไข้มีท่าที่ที่น่าสนใจ คือท่วงท่าที่แข็งกร้าวเมื่อคนป่วยดื้อดึง คำบางคำที่อาจกระทบต่อความรู้สึกของคนป่วยหรือญาติผู้เฝ้าไข้ “ถ้าอยากตาย ก็ถอดอีกทีได้เลยนะ เครื่องช่วยหายใจน่ะ คราวนี้จะไม่ใส่ให้แล้ว” นั้นอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ต้องจัดการกับคนป่วยของพยาบาลสักคนหนึ่ง เมื่อพยาบาลที่ผ่านหลักสูตรในบทเรียนและได้ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง การจัดการกับสภาพร่างกายอารมณ์และความรู้สึกของพยาบาลเองจึงเป็นทักษะที่ละเอียดอ่อนมาก ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง จึงพบว่าผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานมามากกว่า 10 ปีสามารถควบคุมอารมณ์ในระหว่างการทำงานได้มากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับ แพทย์ พยาบาลและผู้ดูแลคนป่วยในการปรับสภาพอารมณ์ให้พร้อม เพื่อความรู้สึกที่ดีต่อการรักษาพยาบาลคนป่วยทั้งทางร่างกายและการเสริมสร้างกำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตื่นตัวไปกับกระบวนการรักษา และให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการเยียวยาตนเองและเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานของรัฐที่แสดงตัวชี้วัดระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตัวชี้วัดในช่วงยุคเร่งรัดพัฒนานั้นคือ ถนน โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำประปาและโรงพยาบาล คุณภาพของการพัฒนาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินนโยบายของรัฐ โรงพยาบาลสามารถสะท้อนภาพการปฏิบัติต่อพลเมืองของรัฐผ่านทางผู้ทำหน้าที่ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในโรงพยาบาลกับพลเมืองคือผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ที่ใกล้ชิดที่สุดคือ“พยาบาลและผู้ดูแลคนป่วย” ตามหลักจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาล ไม่อาจเลือกปฏิบัติต่อคนป่วย ไม่ว่าคนป่วยจะเป็นใคร ความเป็นพลเมืองไทย เป็นคนกลุ่มน้อย หรือผู้ไม่มีสัญชาติไทย แม้กระทั่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นโจรผู้ร้ายเข้ามาเนื่องจากสาเหตุการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในความเป็นผู้ช่วยชีวิตตามหลักการที่ต้องให้การรักษาเพื่อช่วยชีวิตในฐานะมนุษย์ ในความเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ โรงพยาบาลจึงเป็นจุดเชื่อมต่อสายความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐ ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในบทบาทระหว่าง “หมอพยาบาลเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล”กับ “คนป่วยและญาติคนป่วย” จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ความรู้สึกที่มีปัจจัยเสริมมาจากทัศนคติเดิมที่มีต่อกันได้ ในความเป็นตัวตน ในอัตตาลักษณ์แห่งตน ศาสนา ชาติกำเนิด สถานภาพ สีผิว หรือ ทัศนะแปลกแยกในทางความคิดอื่นๆ
ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปร่วมสัมมนากับกลุ่มมะขามป้อมที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 1 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นมีโอกาสนั่งรถสองแถวจากอำเภอเชียงดาวมายังตัวเมืองเชียงใหม่ รถสองแถวแวะรับชาวไทยภูเขาสามคน(ไม่แน่ใจว่าใช้สรรพนามที่ถูกต้องหรือเปล่า) ที่เรียกชาวไทยภูเขาเพราะสังเกตจากลักษณะการแต่งกาย และศาลารอรถที่ปากทางขึ้นดอย เนื่องจากระยะทางที่ไกลและขดเคี้ยว ประกอบกับทางโค้งที่น่าหวาดเสียวในแต่ล่ะโค้งทำให้พวกเราบนรถเกิดรอยยิ้มและหัวเราะกัน แล้วจึงได้พูดคุยกัน หญิงชาย 2 สามีภรรยาวัยกลางคน กับลูกชายวัยรุ่นเป็นชาวเผ่าลีซอ พวกเขากำลังเดินทางไปเยี่ยมยายซึ่งกำลังนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่ ชายวัยรุ่นเล่าว่า พวกเขาโชคดีที่มีบัตรประชาชนไทย เพื่อนบ้านบางคนไม่มีบัตร เดินทางมาได้แค่ตัวอำเภอ หากจะมาเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาล บางครั้งต้องเสียเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจรายทาง จากดอยเชียงดาวไปจนถึงโรงพยาบาลเชียงใหม่ต้องเสียเงินไปหลายร้อยบาท คนบนดอยต้องหยุดงานเพื่อไปเฝ้าไข้คนป่วยที่โรงพยาบาล ต้องเสียเงินให้กับเจ้าหน้าที่ที่เห็นแก่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากทัศนะคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อชาวไทยภูเขาว่าเป็นพวกที่ร่ำรวยผิดปกติ ด้วยผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด จากการเป็นแหล่งพักยาหรือเป็นผู้ค้ายาเสพติด เช่นเดียวกันกันอคติที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ในทัศนคติด้านลบที่มองว่าชาวเขาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด พวกตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่ถูกมองแบบเหมารวมได้รับผลกระทบไปด้วย
มองมาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ในท่ามกลางปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น หากย้อนไปก่อนปี พ.ศ. 2547 ในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา แพทย์และพยาบาลที่เป็นลูกหลานของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่เกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ยังน้อยมากเนื่องจากโอกาสทางการศึกษา ตามระบบโรงเรียนของรัฐไทย อย่างไรก็ดีภาครัฐพยายามในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาเพื่อผลิตบุคคลากรด้านสาธารณสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่ภาครัฐเร่งส่งเสริมจากคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาลัยพยาบาลจังหวัดยะลาและสงขลา การเพิ่มโอกาสพิเศษในการผลิตพยาบาล 3,000 คนในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐไทยพยายามสร้างสายสัมพันธ์ในจุดปมที่สำคัญที่สุด ระหว่างพลเมืองไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับความรู้สึกร่วมที่ให้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อรัฐไทย อย่างน้อยพยาบาล 3,000 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่แล้วนั้น ส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่พวกเขาได้เรียนรู้ คือการเข้าเรียนในวิทยาลัยพยาบาล พร้อมกับลงพื้นที่ชุมชนสภาพสังคมในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย และจุดยึดโยงในความเป็นลูกหลานของคนในท้องถิ่นที่ โดยส่วนหนึ่งพยาบาล 3,000 คนเป็นบุตรหลานผู้นำชุมชนที่มีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคง อย่างไรก็ดีปัญหาด้านสาธารณสุขยังเป็นเหมือนฝุ่นใต้พรม ปัญหาส่วนหนึ่งเนื่องจากผลกระทบจากการปฏิบัติการทางการทหารของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขบวนการ
เพื่อนสมัยมัธยมต้นโรงเรียนนราธิวาสของผมคนหนึ่ง ชื่อ “ขวัญ” ขวัญจบพยาบาลวิชาชีพจากวิทยาลัยพยาบาลนราธิวาสซึ่งปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อทำงานในพื้นที่ได้ระยะหนึ่งจึงไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อสำเร็จจึงกลับมาทำงานกลุ่มงานบริหารในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส
“ขวัญ” เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งบ่อยครั้งที่เหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นไม่ไกลจากโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ แต่เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่จึงเข้าใจสถานการณ์ดี ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจึงไม่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปมากนัก ในความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของฝ่ายขบวนการที่จ้องทำร้าย หากเปรียบเทียบกับ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและครู สาเหตุหนึ่งเนื่องจากงานพยาบาลที่ทำงานด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าฝ่ายไหนได้รับบาดเจ็บมา โรงพยาบาลรับดูแลรักษาเพื่อช่วยชีวิตอย่างถึงที่สุด
แม้ในช่วงที่ผ่านมาได้การตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพการทำงานของพยาบาลในโครงการ 3,000 คน และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง แต่ทางหน่วยงานหลักได้จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุปสรรคในการทำงานนั้น เรื่องภาษานั้นมีไม่มากนัก เพราะพยาบาลได้รับการฝึกให้ใช้ภาษามลายูถิ่นพื้นฐาน ในคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล อาทิเช่น เจ็บ,ไข้,กินยา,เบาหวาน,ความดัน,น้ำเกลือ,ฉีดยา,ก่อนอาหาร,หลังอาหาร
อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคจากความเชื่อตามหลักศาสนาบางอย่าง พยาบาลต้องทำความเข้าใจกับคนป่วยมุสลิมที่ไม่ยอมรับเลือดคนต่างศาสนา หรือหากจำเป็นจริงๆก็ต้องขอบริจาคเลือดจากญาติพี่น้องที่ยอมรับ กรณีตัวยาบางชนิดที่ไม่ฮาลาลเพราะมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ส่วนประกอบจากสุกร ซึ่งจำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
สำหรับความมุ่งในการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีสุขภาพที่ดี เนื่องจากจำนวนของหมอ เพียง 7 คน จากมาตรฐานโรงพยาบาลระดับอำเภอที่ควรมีหมอ 16 คน โครงการออกรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นงานที่สำคัญ มีเป้าหมายเพื่อให้คนในพื้นที่เกิดความเข้าใจในการดูแลใส่ใจสุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยลดจำนวนคนป่วยที่ต้องเข้ารับรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ในอีกด้านหนึ่งคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในพื้นที่ แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หน่วยงานส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาลไม่สามารถออกพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย
การต่อสู้ด้วยวิธีการก่อการร้าย การดักซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งเป็นยุคเร่งรัดพัฒนาจนกระทั่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่องว่างในเรื่องคุณภาพชีวิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างทัศนคติในระดับปัจเจกบุคคล ประชาชนที่เปิดใจรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขรัฐ เพื่อการพัฒนาสุขลักษณะในการดำเนินชีวิตประจำวันที่เอื้อต่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดี กับสภาพความพร้อมในการทำงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลและสาธารณสุข เชื่อมโยงสู่ปัญหาการพัฒนาในระดับโครงสร้าง ความพร้อมของรัฐในการขยายอาคารสถานที่พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ และผลิตบุคคลากรด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์พยาบาลให้เพียงพอต่อสัดส่วนประชากร
ในขณะเดียวกัน หากการปิดกั้นการทำงานส่งเสริมสุขภาพ จากการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการที่ต่อต้านอำนาจรัฐยังทำงานได้ผล การทำงานด้านมนุษยธรรมก็ชะงักงันขาดความต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาไม่นานภาพความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพชีวิตจะปรากฏชัดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือวัตถุดิบชั้นดีในการจุดเชื้อไฟปลุกระดมมวลชนของฝ่ายขบวนการ โดยการตั้งกำแพงปฏิปักษ์ต่อความไม่จริงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของรัฐ ด้วยข้ออ้างทางศักดิ์ศรีที่จะไม่รับการพัฒนาเพราะความไม่ศรัทธาในรัฐ นั้นคือโจทย์ที่ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำเป็นต้องรับไว้พิจารณา หากเจ้าหน้าที่งานพยาบาลสาธารณสุขผู้ชูธงนำในนามมนุษยธรรม ยังไม่สามารถทำงานส่งเสริมสุขภาพได้ คำถามคือคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใด.
mso-ascii-font-family:Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:
Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";
mso-bidi-theme-font:minor-bidi">
mso-ascii-font-family:Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:
Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";
mso-bidi-theme-font:minor-bidi">