Skip to main content
มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
คณะรัฐศาสตร์ ม. รามคำแหง
 
การมีความเห็นร่วมกันว่า “ต่อไปนี้เราจะคุยกัน” แทนการสาดกระสุนใส่กัน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธรังแต่จะสร้างความพินาศร่วมกัน (mutual destruction) ให้แก่ทั้งสองฝ่าย ประเด็นอื่นๆเช่นเรื่องตัวจริงหรือตัวปลอมที่มีการพูดกันจึงเป็นเพียงประเด็นย่อย มิพักต้องกล่าวว่ารัฐจะต้องคุยกับทุกกลุ่มไม่ว่ากลุ่มไหน อีกทั้งการพูดคุยเป็นกระบวนการมิใช่เหตุการณ์เฉพาะ กระบวนการนี่เองจะเป็นตัวขัดเกลา ดึงตัวจริงเข้าหรือคัดของปลอมออก ข้อกังวลเรื่องตัวจริงตัวปลอมจึงเป็นข้อกังวลที่สามารถปัดเป่าให้หายไปได้ด้วยกระบวนการดังกล่าวข้างต้น
 
ผมยังมองไม่เห็นว่ารัฐไทยจะสูญเสียอะไรจากการพูดคุยภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยที่พรักพร้อมด้วยอำนาจทางการทหารและยุทโธปกรณ์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญอย่างมาเลเซียก็ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน กลุ่มประเทศที่ประชุมโลกอิสลามหรือ โอไอซี (Organization of Islamic Conference, OIC) ซึ่งมีซาอุดิอารเบียเป็นแกนนำหลักสำคัญก็ไม่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนดังที่ท่านเลขาธิการ ดร.เอกเมลดดิน อิซาโนกลู ได้ออกแถลงการณ์ทุกครั้งที่เยือนประเทศไทย ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ทางการเมืองรวมทั้งภูมิรัฐศาสตร์ในโลกอาหรับก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากทศวรรษ 1960-1980 ที่ประเทศในภูมิภาคนี้แข่งกันสนับสนุนขบวนการปฏิวัติในโลกมุสลิมกันอย่างกว้างขวาง กลุ่ม BRN ที่นำโดย อุสตาส การีม ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตอันนี้ ประเทศที่เคยให้ความช่วยเหลือกลุ่มพูโล (PULO) และ BRN อย่าง ลิเบีย อียิปต์ ตูเนียเซีย หรือ อิรัก กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยไปหมดแล้ว (แม้จะเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย) ส่วน ซีเรียดินแดนที่ตวนกู บิรอ (d.2008) ผู้นำ PULO ผู้ล่วงลับใช้เป็นแหล่งพักพิงก่อนเสียชีวิตและฝังศพ กำลังมีปัญหาสงครามกลางเมืองที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะลงเอยแบบใด ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดังกล่าวข้างต้นล้วนทำให้การแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่งในในศตวรรษนี้ แกนนำระดับบริหารและปัญญาชนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบล้วนตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี เห็นได้จากท่าทีของ นาย กัสตูรี มะห์โกตา ผู้นำ กลุ่มพูโลที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ไทยช่องหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ วาทกรรมเรื่องการเจรจาแล้วอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนที่กำลังเผยแพร่กันอย่างเอิกเริกในสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้จึงเป็นสำนวนโวหารที่ว่างเปล่า (Emptied Rhetoric) ปราศจากข้อเท็จจริงและภาวะแวดล้อมสนับสนุน
 
ปัญหาที่อาจเกิดจากการพูดคุยจึงไม่ได้อยู่ที่รัฐไทย แต่อยู่ที่ ตัวBRN เองต่างหาก การที่รัฐไทยลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับ BRN ทำให้เกิดคำถามขึ้นตามมาก็คือ BRN เป็นตัวแทนอันถูกต้องและชอบธรรมของประชาชนชาวปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือไม่? การลงนามเป็นการยอมรับกลายๆจากรัฐไทยว่าเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ BRN ก็สามารถนำมาอ้างได้ว่าพวกเขาพูดกับรัฐไทยในนามของประชาชนชาวปาตานี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าเรื่องที่ลงนามหรือพูดคุยกันเป็นเรื่องระหว่าง BRN ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ BRN กับรัฐบาลมิใช่เป็นเรื่องของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ประเด็นที่ต้องพิจารณาถัดไปก็คือ ถ้า BRN อ้างว่าเป็นตัวแทนอันถูกต้องและชอบธรรมที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติก็คือ ชอบธรรมอย่างไร? ที่ผ่านมาอย่างน้อยในรอบ 20 ปี BRN ได้เคยรับฟังความคิดเห็นด้วยการทำงานในระดับรากหญ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างฉันทามติร่วมกันหรือไม่ (มิใช่เพียงแค่ชักจูงกลุ่มวัยรุ่นในโรงเรียน) กลุ่มฮามาส (Hamas) ในปาเลสไตน์เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรในลักษณะปฏิวัติที่ BRN มีส่วนคล้ายอยู่บ้าง (แน่นอนเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่เราเปรียบเทียบเพื่อหาสิ่งเปรียบเทียบ) ฮามาสทำงานอย่างหนักกว่า 20 ปี ด้วยการสร้างเครือข่ายทางสังคมและองค์กรการกุศลในระดับรากหญ้าเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ เมื่อมีคนป่วย คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้เสียชีวิตที่ไหนฮามาสไปถึงที่นั่น ฮามาสสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และคลินิก ทั้งยังมีหน่วยกู้ภัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอาหรับ ในความรู้สึกของคนปาเลสไตน์ฮามาสคือผู้ช่วยเหลือ คอยแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนในขณะที่รัฐ (คณะกรรมการบริหารตนเอง/Palestine Authority, PA) ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้าง ห่างจากประชาชน และล้มเหลวแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น แจกจ่ายยาในภาวะของการเจ็บไข้ได้ป่วย  ด้วยเหตุนี้ในสายตาของชาวปาเลสไตน์ กลุ่มฮามาสจึงมีความชอบธรรมในการต่อสู้ในนามของพวกเขา เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2006 ฮามาสจึงชนะอย่างถล่มทลายยิ่งเป็นการการันตีความชอบธรรมให้กับฮามาสในฐานะ “ตัวแทนของประชาชนชาวปาเลสไตน์”  
 
ปัญหาของ BRN ก็คือ ที่ผ่านมา BRN แค่เล่นกับความรู้สึก (ทางประวัติศาสตร์/การกดขี่ข่มเหง/ความอยุติธรรม) ที่ผู้คนในอาณาบริเวณนั้นประสบจากรัฐไทย โดยผลประโยชน์และความผิดพลาดในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นตัวสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ให้กับ BRN แต่เมื่อเข้าสู่โต๊ะเจรจา BRN ต้องเจรจาในนามของประชาชนชาวปาตานี นี่เองจะเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจาก BRN มิได้เป็นองค์กรที่เกิดจากฉันทานุมัติของประชาชน หรือเป็นองค์กรที่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันของบรรดาเหล่าผู้รู้ทางศาสนา (อูลามาอ์) ดังเช่นในกรณีของอาเจ๊ะ ซึ่งมี องค์กรรวมอูลามาอ์อาเจ๊ะ (Persatuan Ulama Seluruh Aceh, PUSA) เป็นหัวหอกในการต่อสู้  อีกทั้งแนวทางการต่อสู้ของ BRN ก็มิได้เป็นการแสวงหาเครือข่ายหรือสร้างพันธมิตร ยังไม่ต้องพูดถึงว่าชาวบ้านยังไม่รู้ว่า BRN ทำอะไรให้กับชาวบ้านบ้างนอกจากสร้างความกลัวและกำจัดผู้ที่เห็นต่างจากแนวทางของตน
 
แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นสำหรับ BRN ก็คือ ถ้าเป้าหมายสูงสุดในการเจรจาคือ การร่วมกันใช้อำนาจ (Power Sharing) ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง BRN จะใช้อำนาจบนพื้นฐานของอะไรถ้าไม่ได้รับการเห็นพ้องต้องกันและฉันทานุมัติจากประชาชนชาวปาตานีในทุกๆภาคส่วน ทั้งมุสลิมสายเก่า สายใหม่ พี่น้องชาวพุทธ นักธุรกิจ ปัญญาชน คนชั้นกลาง นักการเมือง ข้าราชการ ครู สื่อมวลชนในพื้นที่ พี่น้องเชื้อสายจีนที่คุมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปัตตานี) ฯลฯ เพราะการใช้อำนาจในปัจจุบันต้องผูกโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (เว้นเสียแต่ BRN ต้องการใช้อำนาจแบบเกาหลีเหนือ) ภาคประชาชนและองค์กรเอ็นจีโอ (NGOs) อาจมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือในด้านข้อเสนอที่มาเลเซีย แต่นั่นมิได้ทำให้ BRN มีความชอบธรรมมากขึ้นในการใช้อำนาจเนื่องจาก ตัวบุคล องค์กร ตลอดจนแนวทางการต่อสู้ มิได้เกิดจากการสร้างการยอมรับด้วยความสมัครใจ หากแต่ใช้ความกลัว แต่ความกลัวไม่มีภาวะของการดำรงอยู่จริง (Ontological Existence) กล่าวคือ ภาวะของความกลัวเกิดจากการ “ขาด (Absent)” ภาวะนี้จะหายไปเมื่อส่วนของเหตุและผล (Faculty of Reasoning)ในตัวมนุษย์ได้ทำงานของมันเต็มที่ (Presence)
 
ถึงเวลาแล้วที่ BRN จะต้องปฏิรูปองค์กรและแนวทางการต่อสู้ไปพร้อมๆกับการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาถ้า BRN ต้องการที่จะเป็นตัวแทนที่ถูกต้องและชอบธรรมของประชาชนชาวปาตานี หาไม่แล้ว ผู้ที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกระบวนการพูดคุย คงหนีไม่พ้นนักการเมืองหน้าเดิมๆ เนื่องจากพวกเขามีสิ่งสำคัญที่ BRN ไม่มี คือความชอบธรรมอันเนื่องมาจากการที่พวกเขาการยึดโยงอยู่กับภาคประชาชน
 
    
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชน ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2556