Skip to main content

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตกที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ที่ได้สร้างความตกตะลึงให้กับคนไทยทั้งประเทศและคนทั้งโลกมาแล้วเมื่อเก้าปีที่แล้ว

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้คร่าชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงทรัพย์สินที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้

จากวันนั้นเป็นต้นมาพื้นที่แห่งนี้ก็ได้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและหวาดระแวงมาโดยตลอด

การที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้ฝ่ายรัฐเองได้หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว บางรัฐบาลแทบจะไม่มีบทบาทมากนักกับการแก้ไขปัญหาที่กำลังบั่นทอนความมั่นคงของชาติ

อย่างสมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านสมัคร สุนทรเวช ซึ่งในสมัยดังกล่าว นโยบายการต่างประเทศในการหาทางการพูดคุยเพื่อหาข้อยุติด้วยแนวทางทางการเมืองแทบจะถูกปิดกั้นทุกด้าน เสมือนไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายขบวนการเท่าใดนักหากเปรียบเทียบกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

อาจเป็นเพราะว่าทางรัฐบาลเองไม่กล้าที่จะออกจากกรอบของตัวเอง ที่เคยยึดติดกับความเป็นรัฐไทย โดยไม่ต้องการให้ความเคารพต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐแม้แต่น้อย ไม่ยอมเคารพในความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ความเชื่อ และชาติพันธุ์ ของคนในพื้นที่

อีกทั้งนโยบายการพูดคุยของรัฐบาลที่ผ่านมา มักไม่ค่อยที่จะให้เกิดเป็นข่าว บ่อยครั้งและอาจจะทุกครั้งด้วยซ้ำ ที่โต๊ะเจรจามักจะถูกคว่ำโดยภาครัฐเอง เพราะรัฐมัวแต่กังวลอยู่กับความคิดเก่าๆ ความคิดเดิมๆ ที่ไม่ยอมให้สถานะทางการเมืองให้กับผู้เห็นต่างกับรัฐหรือผู้ที่กำลังดำเนินการต่อสู้ในทางการเมือง

รัฐมักจะชอบคุยแบบลับๆ ล่อๆ มากกว่าแบบเปิดเผย ทำไมหรือถึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมหรือรัฐไม่ชอบที่จะทำอย่างเปิดเผย? หากรัฐมีความจริงใจเหตุใดรัฐจะต้องปกปิดเรื่องดังกล่าวด้วย? ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้

ซึ่งคำถามเหล่านี้คนในพื้นและฝ่ายขบวนการยังคงคาใจอยู่ถึงความจริงใจของรัฐไทยในการแสวงหาทางออกร่วมกันผ่านวิถีทางการเมือง โต๊ะเจรจาเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่เมืองแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวจนได้ เมื่อฝ่ายรัฐอาจมองว่าเห็นท่าไม่ดี

โต๊ะเจรจาที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ที่ประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเจรจา ที่ถือว่าเป็นครั้งแรกของการเจรจาอย่างเป็นทางการ และยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพที่ปาตานีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ที่มีกลุ่มขบวนการต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมือง ยังไม่เคยปรากฏเหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้

ความเป็นไปได้ของความสำเร็จและความล้มเหลวถือว่ามีค่าเท่ากัน เพราะคงไม่ง่ายนักที่จะราบรื่นตลอดช่วงระยะของการพูดคุย ในเมื่อจุดยืนของแต่ละฝ่ายมันไม่ได้อ่อนข้อตามความต้องการของอีกฝ่าย ข้อต่อรองของแต่ละฝ่ายถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของฝ่ายขบวนการที่ถือว่าหินที่เดียว

ข้อเรียกร้องของ BRN-Coordinate

โดยข้อเรียกร้องที่ทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนตได้กำหนดไว้แบบไม่เป็นทางการในเบื้องต้น จำนวน 9 ข้อ คือ

1.ผู้ที่จะมาเจรจาต้องเป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยเท่านั้น

2.รับรองในอัตลักษณ์ ภาษา ชาติพันธุ์ มลายู

3.ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ

4.ให้กองกำลังท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทน

5.จัดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ

6.ให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง และสำนักนายกรัฐมนตรีของสองประเทศในการเจรจา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล(นายนายิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายอับดุลเลาะ บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรี เท่านั้น)

7.การเจรจาครั้งนี้ไม่ต้องผ่านโอไอซี และองค์กรจากยุโรป

8.ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด

9.การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยึดโมเดลของเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย

ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดจะต้องเสนอผ่านสันติบาลประเทศมาเลเซีย ก่อนเสนอไปยังฝ่ายเจรจาของประเทศไทย (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ประจำวันที่ 26/03/2013)

อีกทั้งยังเป็นงานหนักของฝ่ายขบวนการอีกด้วยที่จะต้องสะสางให้ประชาชนและผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ให้รับรู้เหตุและผลในการเปลี่ยนเป้าหมายของการต่อสู้ ซึ่งนับจากอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ในเมื่อเป้าหมายที่ได้วางไว้นั้นเพื่อความเป็นอิสรภาพเพียงอย่างเดียว (MERDEKA)  แต่ในเมื่อการเจรจาเกิดขึ้น แน่นอนเป้าหมายที่ได้เคยวางไว้นั้นอาจจะต้องลดลงอย่างแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าประชาชนที่เคยและคอยสนับสนุนแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอด พวกเขาจะรับได้หรือไม่ ในเมื่อเป้าหมายในการเลือกเข้ามาต่อสู้กับรัฐไทย ไม่ได้เป็นเขตปกครองพิเศษแต่อย่างใด

 

เสียงรากหญ้าต่อกระแสการเจรจาที่มาเลเซีย

ชาวบ้านท่านหนึ่งที่ไม่ขอเอยนามได้ให้ความเห็นต่อกรณีข่าวการเจรจาเพื่อสันติภาพปาตานีที่ผ่านมาว่า จากการที่ได้รับรู้และติดตามข่าวสารถึงการเจรจาที่มาเลเซียนั้น หากเป็นพวกที่กำลังต่อสู้จริงหรือจะอย่างไรก็แล้วแต่ เสมือนว่าพวกเขาได้เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมไปแล้ว ซึ่งจากเดิมที่ไม่มีการต่อรองใดๆ กับสยาม (คือจะไม่มีการเจรจา) เป็นอันขาด เพราะการต่อรองมันคือความพ่ายแพ้

และอีกอย่างหากการเจรจานั้นเป็นการเจรจากับตัวจริง เสมือนว่าผู้ที่กำลังกระทำการเจรจานั้น พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อประชาชนชาวปาตานีอีกต่อไปแล้ว และเป็นการทำเพื่อตัวเองมากกว่า และเป็นการแสวงหาความโปรดปรานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นความโปรดปรานของพระเจ้า

เพราะหากเป้าหมายในการต่อสู้ได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ที่นอกเหนือจากความเป็นเอกราชอย่างเดียวแล้ว ถือว่าเราเองอาจยังไม่ได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า นอกจากการได้รับความโปรดปรานจากพวกมนุษย์ (สยาม) ด้วยกัน ซึ่งเท่ากับว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อโลกนี้เท่านั้นไม่ใช่เพื่อความโปรดปรานในโลกหน้าแต่อย่างใด  (ส่วนหนึ่งของบทสนทนากับชาวบ้านอำเภอบาเจาะ เมื่อ 24/03/2013)

ซึ่งหากมองดูความเห็นของประชาชนระดับรากหญ้าอย่างข้างต้นแล้ว ดูเหมือนความเป็นไปได้ในการที่จะบรรลุสันติภาพอย่างถาวรนั้น ค่อนข้างที่จะยากมากทีเดียว และจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะตกผลึกได้ ตราบใดที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอก พื้นที่แห่งนี้ก็อาจจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปอย่างไม่มีวันจบ ประวัติศาสตร์และวีรบุรุษของแต่ละฝ่ายจะต้องเกิดขึ้นอีกมากมาย หากสันติภาพที่พยายามอุปโลกน์ไร้ซึ่งความจริงใจจากแก่นแท้ของหัวใจมนุษย์

Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;
mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:
minor-bidi">