Skip to main content
Tuan Danial Tuan Isma-il
สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
 
 
“คุณไม่สามารถแยกสันติภาพออกจากอิสรภาพได้
เพราะไม่มีใครสักคนที่สามารถอยู่ในภาวะสันติภาพได้
โดยปราศจากอิสรภาพ
Malcom X’ 1965
 

ในที่สุดผลของการพูดคุยสันติภาพภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยตามเนื้อหาข้อตกลงที่ ฮาซัน ตอยิบ สมาชิกระดับสูงของ BRN เป็นผู้ลงนาม ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ก็ไม่ได้ผิดคาดไปจากการวิเคราะห์ของกูรูนักสันติภาพทั้งหลายมากนัก ก็คือ รัฐไทยขอให้ลดการก่อเหตุ ทาง BRN ขอให้ลบบัญชีดำออก 3 หมื่นรายชื่อ

ซึ่งผลของการพูดคุยยาวนานถึง 12 ชั่วโมงนั้น สาธารณชนทั่วโลก ได้รับรู้จากการรายงานข่าวจากทางรัฐไทยฝ่ายเดียว โดยเลขาธิการ สมช.

หลายๆ คนอาจจะรู้สึกดีใจอย่างมีความหวังมากเลยทีเดียวว่า การริเริ่มพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วโลกร่วมเป็นสักขีพยาน ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น เป็นสัญญาณบวกต่อกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะสำหรับกระบวนสันติภาพที่คำว่า “สันติภาพ” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ปราศจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกับรัฐด้วยอาวุธหรือความรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ว่าความดีใจอย่างมีความหวังดังกล่าว ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการประเมินสถานการณ์ความเป็นจริงในมุมของผู้มีอุดมการณ์แตกต่างกับรัฐที่ต้องการปลดปล่อยจากพันธนาการการกดขี่ของความเป็นจักรวรรดินิยมและคงมีเพียงคำว่า “เอกราช” เท่านั้น ที่จะสามารถทำให้หลุดพ้นจากพันธนาการเหล่านั้นได้

ซึ่งลำพังการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธแล้วเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ด้วยแนวทางการเมืองหรือสันติวิธีเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีคำว่า อิสรภาพ รองรับสันติภาพ คงไม่ตอบโจทย์การต่อสู้ในแนวทาง “การปฏิวัติ”ที่ไม่ใช่แปลว่า การยึดอำนาจการบริหารรัฐอย่างฉับพลันที่ทหารไทยเคยทำไว้เมื่อหลายๆ ครั้งในอดีต แต่การปฏิวัติในบริบทของปัญหาปาตานีหรือชายแดนใต้คือ เจตจำนงของชาวปาตานีซึ่งต้องการการปลดปล่อยจากพันธนาการของโครงสร้างการปกครองของความเป็นจักรวรรดินิยม ที่ทำการยึดครองดินแดนด้วยการล่าอาณานิคม

เป็นที่ชัดเจนว่าในแนวทางการปฏิวัติที่ต้องการปลดแอกจากโครงสร้างเก่าแล้วแทนที่ด้วยโครงสร้างใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ศัตรูตัวฉกาจของการปฏิวัติก็คือ “การปฏิรูป” ซึ่งมีความหมายว่า “การเปลี่ยนแปลงกลไกเล็กกลไกน้อยบางอย่างของโครงสร้างภาพใหญ่เพื่อให้เห็นว่าโครงสร้างเก่าไม่มีปัญหากับชุดอุดมการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกับรัฐ

เหตุการณ์ 28 กุมภา ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมา หลายๆ คนมีท่าทีที่ดูแล้วเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากๆ อาจจะด้วยความคาดหวังต่อสันติภาพมานาน เลยทำให้ยอมปิดตาอีกข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้มองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพของคำว่า “สันติภาพ”

ความจริงดังกล่าวก็คือ วันนั้นไม่ใช่เพียงแค่เกิดการริเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการและเปิดเผย ของรัฐไทยกับผู้หรือกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐอย่างเดียว แต่เป็นการริเริ่มยุทธการการช่วงชิงความชอบธรรมในเงื่อนไขการสร้างสันติภาพ ระหว่างแนวทางการปฏิรูปที่รัฐหรือกลไกของรัฐต่างๆเป็นตัวขับเคลื่อน กับ แนวทางการปฏิวัติโดยประชาชนซึ่งมี BRN (Barisan Rivolusi National Patani) หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี เป็นตัวขับเคลื่อนนำ

เพราะจะมีเพียงแต่นักปฏิวัติอาชีพที่เสียสติหรือถูกบีบบังคับเท่านั้น ที่ยอมลงนามตกลงที่จะพูดคุยเพื่อสันติภาพภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของรัฐจักรวรรดินิยม

จะด้วยสาเหตุเพราะเสียสติหรือถูกบังคับก็ตาม ผลของการลงนามโดย ฮาซัน ตอยิบ วันนั้น ทำให้วันนี้ BRN มีสถานะทางการเมืองเป็นที่ยอมรับของสังคมสาธารณะทั่วโลกว่าไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นผู้หรือกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐไทย ที่ยอมต่อสู้ภายใต้กรอบกฎหมายของรัฐไทยแล้ว

ถ้าใน BRN มีสมาชิกและแนวร่วมที่เสียสติทุกคนหรือภักดีอย่างสูงสุดต่อ ฮาซัน ตอยิบ ทุกคน กระบวนการสันติภาพปาตานีก็คงใช้เวลาไม่นานและคงไม่เกินภายในปีนี้

แต่ถ้าในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นหล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น แล้วประชาชนคนปาตานีจะต้องวางตัวอย่างไร

ตามหลักการการปฏิวัติโดยประชาชนนั้น ย่อมไม่สามารถเดินร่วมทางกับหลักการการปฏิรูปแน่นอน 28 กุมภา ได้เร่งให้กงล้อการปฏิวัติโดยประชาชนต้องหมุนเร็วขึ้น โดยเฉพาะในปีกงานทางการทูตและงานมวลชนต้องเร่งฝีเท้ากันแล้ว เพราะเวลานี้   ภววิสัยได้บีบอัตตวิสัยอย่างปฏิเสธไม่ได้

เมื่อปรากฏการณ์ปัจจุบันของการต่อสู้ระหว่างขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานีกับรัฐไทยเป็นเช่นนี้ มีเพียงสองเส้นทางเท่านั้นที่ประชาชนคนปาตานีจะต้องเผชิญหรือต้องเลือกว่าจะเดินในเส้นทางไหนระหว่างเส้นทางการปฏิรูป กับ เส้นทางการปฏิวัติ เพราะก่อนหน้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น สถานะทางการเมืองของ BRN ยังคงปิดลับ

 

ซึ่งถ้าเลือกเส้นทางการปฏิรูป

สถานีแรกที่ต้องไปให้ถึงคือ การทำให้ฝ่ายปฏิวัติยอมจำนนจะด้วยการสร้างภาพจัดฉากขึ้นมาหรือเป็นเรื่องจริงไปเลยก็ไม่สำคัญ

สถานีที่สอง พยายามดึงฝ่ายปฏิวัติให้มาสู้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย

สถานีที่สาม มอบฉันทานุมัติให้รัฐสภาไทยเป็นผู้กำหนดอนาคตชาวปาตานี

แต่ถ้าเลือกเส้นทางการปฏิวัติโดยประชาชน

สถานีแรกที่ต้องไปให้ถึงคือ การผลักดันให้ BRN ในฐานะแกนนำของผู้ที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ซึ่งรัฐไทย รัฐมาเลเซีย และสังคมสาธารณะทั่วโลกให้การยอมรับผ่านการลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 มีสถานะทางการเมืองที่เทียบเท่ากับรัฐไทย คือ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างความเป็นพลเมืองไทยกับรัฐไทย แต่เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างชาวปาตานีกับรัฐไทย

สถานีที่สอง นำไปสู่การไกล่เกลี่ยที่มีคนกลางที่ทำหน้าที่ตัวกลางไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเหมือนบทบาทมาเลเซียที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องไกล่เกลี่ยภายใต้กรอบกฎหมายสากล ที่อิงกับมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(xv) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม”(Declaration on the Granting of Independence Countries and Peoples) และผลของการไกล่เกลี่ยคือมอบฉันทานุมัติให้ประชาชนได้กำหนดชะตากรรมตนเอง

สถานีที่สาม นำไปสู่การทำประชามติเลือกว่าจะอยู่กับรัฐไทยหรือต้องการเอกราช โดยประชาชนคนปาตานี และ UN เป็นผู้จัดการการทำประชามติดังกล่าว