Skip to main content
บัณฑิต ไกรวิจิตร
24 มีนาคม 2556
 
 
สืบเนื่องจากบทความของ อิลยาส หญ้าปลัง ที่เพิ่งเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ (กรุณาดู ปฏิรูปบีอาร์เอ็น) ทำให้ผมคิดบางเรื่องขึ้นมาได้และต้องการแลกเปลี่ยนกับหลายท่านที่ติดตามเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ ความจริงผมก็อ่อนประสบการณ์กับปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างมาก ถึงแม้จะอยู่ไกล้แบบได้ยินเสียงระเบิดก็ตาม (เพราะสอนหนังสืออยู่ใน มอ.ปัตตานี) แต่ก็เรียกได้ว่ายังขาดความรู้อยู่อีกมาก
 
ข้อเขียนนี้ของผมเคยแสดงความคิดเห็นในสื่อกระแสรองอย่างเฟสบุ๊คมาก่อน (หรือคุยลับหลังอย่างที่ อ.ยุคติ ว่าไว้ในประชาไทล่าสุด) ชวนเพื่อนแลกเปลี่ยนกัน เช่น รัฐควรเจรจากับ BRN หรือไม่ คราวนี้เห็นทีต้องบันทึกเอาไว้และเปิดประเด็นในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
 
ความคิดผมต่อบทความอิลยาสก็คือ โดยรวมก็เห็นด้วยกับอิลยาสนะครับ แต่ผมยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นท้ายๆ ที่พูดถึงความกลัว และลงความเห็นว่าความกลัวมาจากสิ่งที่คล้ายๆ กับ lacking (การขาด) แล้วเข้าใจว่าไม่ใช่ความจริง เขาจึงลงความเห็นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ผมคิดว่า ความขาดไม่มีพอ คือขาดความมั่นคงของชีวิต ทำให้ เกิด subjectification ต่ออำนาจที่ตนเองระแวงภัย และสร้างหรือมีความเป็น ผู้กระทำการ (agency) จาก ความขาด ดังกล่าวรวมถึงสร้างสภาวะเหตุผลให้แก่การกระทำการได้ว่าที่ตนเองทำเช่นนี้เพราะอะไร อาจจะหลบเลี่ยงประเด็นที่ตนเองไม่ต้องการเผชิญ (เพิ่มเติม ความกลัวมันไม่ได้คงที่ ในบางคร้ังมองไม่เห็นแต่สามารถลื่นไปซ่อนได้ หรือไม่ถูกนำมาอยู่ในบทสนทนา การกระทำการจากบุคคลในบางครั้งไม่ได้อ้างอิงมันแต่มันมีผลต่อการกระทำ ดังนั้นผมจึงโต้แย้งว่า มันมีจริง และไม่ใช่ว่าเหตุผลจะสามารถทำลายมันได้ แต่หากเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความกลัวหมดไป ความกลัวอาจจะยังไม่หมดแต่เก็บไว้ในความทรงจำ มากน้อยแตกต่างกันไป ผมไม่มีหน่วยวัดให้นะครับ)
 
ที่จริงแล้ว ความกลัว – ความรู้สึก - มีจริง อย่างน้อยก็สามารถอธิบายได้ในความรู้อีกแบบหนึ่ง ผมไม่ได้แย้งกับความเห็นทั้งหมด แต่การเจรจามันเกิดขึ้นจากความกังวลและความสูญเสีย ขั้นตอนการเจรจาที่สมบูรณ์อาจจะไม่ได้มาจากอุดมคติ แต่ผมคิดว่าการเจรจาครั้งนี้มาจากความสูญเสีย จึงเป็นการเจรจากันภายใต้การเมืองของการต่อรองเพื่อความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะขยับมาต่อสู้ในมิติอื่นกระมัง
 
ในสภาวะนี้ ในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่เจรจาหลักก็คงทำอะไรได้บ้าง แต่คงยังไม่สามารถมีบทบาทนำได้มากครับ เพราะยังไม่ใช่คู่ต่อรองทางอำนาจทางการเมืองจริง ผมยังหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการเจรจา อย่างน้อยก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าสงครามทั้งหมดยังมีเป้าหมาย ไม่ใช่ความรุนแรงที่ปราศจากเป้าหมาย จึงมีทิศทางที่สามารถเจรจาได้
 
ไอเดียหลังนี้มาจาก พาธา ชาตเตอร์จี (Chatterjee, 2004) กล่าวคือการเจรจาจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ยอมรับความจริงในเชิงวัตถุวิสัยว่ามีข้อขัดแย้งหลักที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรง และขยายความรุนแรงเมื่อเกิดการปะทะกัน ผมคิดว่าการเจรจาเป็นการยอมรับความจริงข้อนี้ และยอมรับว่าสังคมไม่มีความสุข ส่วนการรณรงค์เพื่อการมีส่วนร่วมนั้นผมก็คิดว่าสำคัญ แต่มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการประหัตประหารกันในเวลานี้ครับ ส่วนว่าคู่เจราจาจาก BRN เป็นตัวจริงหรือไม่นั้น ผมไม่มีข้อมูลหรือความรู้ที่จะอธิบายได้
 
..........
 
 
หลังจากแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายจำนวนหนึ่ง ผมคิดว่ามีข้อความของหลายท่านที่น่าสนใจ ใคร่ขอหยิบยกบางส่วนมาแสดงในที่นี้ด้วย อาทิ
 
Ernesto De Camper
อ่านต้นขั้วจบไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน ไม่พบความคิดอะไรใหม่ในบทความ อาเจะห์ ปาเลสไตน์ บริบทต่างกัน เทียบกันมิได้แม้จะเทียบเพื่อให้เคียงกัน สำหรับผม การเจรจาจะมีไม่ได้หากไม่ยอมรับความจริง ความจริงคืออะไร? อันนี้สำคัญกว่า ความจริงคือสิ่งที่พูดไม่ได้ หรือไม่ได้ถูกพูดบนดิน(สาธารณะ) หรือเปล่า?
 
Bundit Grivijitr
เรืองความจริงที่ไม่รู้นี่ ผมจนปัญญา ความจริงที่พูดไม่ได้เช Ernesto De Camper น่าจะถนัดกว่าใครอื่นในการทำให้ความจริงที่ถูกเก็บกดปรากฏตัว อย่างคลุมเครือ จนอำนาจวางเฉยต่อความจริงที่ทะลักออกมา แล้วปล่อยให้มันทำงานในความคิดด้วยตัวของมันเองกับหัวคน. ที่ทำงานไปด้วยกัน เอาเข้าจริงๆผมก็ไม่ได้เคยปวดหัวกับความจริงเหล่านี้เท่าไหร่ ไม่รู้จะใส่ใจทำไมเพราะผมไม่สามารถหามาด้วยตัวเอง ดูตามที่มันสมเหตุสมผล ส่วนความจริงในเชิงวัตถุวิสัยที่ผมพูด หมายถึง ความสูญเสีย ความตาย ความเกลียด ความแค้นใจ. ของหลายๆฝ่าย มันมีจริง ไม่สามารถกวาดมันทิ้งได้จากปรัชญา
 
ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเลยทั้งจากทั้งสองฝ่าย แต่ข้อเสนอของ อิลยาส ว่าให้เพิ่ม Partner ในการเจรจา ผมว่ามันยุ่งไปกันใหญ่ เพราะง่ายๆ ว่าใครที่เป็นคู่ขัดแย้งในสงคราม คนที่ต้องการให้เข้าไปสู่การเจราจา ใช้อำนาจในส่วนใดเข้าไปเจรจา หากการเจรจาล้มเหลว ภาคส่วนประชาสังคม และภาคประชาชน จะเดินต่อเนื่องอย่างไรในการเป็นคู่ Partner กับ BRN ไม่เท่ากับ เพิ่มความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นหรือ แต่หาก BRN เพิ่มโดยให้ประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา ไม่ทันแล้วหละครับ ผมคิดว่าถ้าการเจรจามีทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของประชาชนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมก็อาจจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อ take the part ในส่วนของสาธารณะและการเจรจาในอนาคต
 
 
Ernesto De Camper
ความจริงที่พูดไม่ได้ที่จริงมันถูกพูดไปแล้ว ถึงหูถึงตามากต่อมากแล้ว เพียงแต่ถ้อยคำไม่ได้มีร่องรอยของปากใคร ผมคิดว่าพี่และหลายคนเข้าถึงความจริงข้อนี้แล้ว ผมเองก็รู้สึกถึง มันอาจเป็นเพียงความจริงข้อหนึ่งจากหลายๆ ข้อ ความจริงที่ไม่ได้ร่วมกันเปล่งเสียงพร้อมๆ กัน ความจริงที่ดังในเสียงกระซิบ ความจริงที่สัมผัสและรู้สึกได้ในบรรยากาศและอาณาบริเวณ ที่จริงบางทีความจริงแสนซื่อ การตีความสิไปไกล อาจไกลเกินจากความจริง
 
Asama Mungkornchai
เราโอเคกับงานของอ.Muhammad Ilyas Yahprung ต้องออกตัวว่าเราไม่มีความรู้เรื่องขบวนการฯเลยแม้แต่น้อย แต่เสียงอ.อิลยาส คือเสียงที่กำลังทักท้วงในเรื่องของความชอบธรรม และถามว่าให้เสียงบีอาร์เอ็นอย่างเดียวสมควรหรือเปล่า บีอาร์เอ็นเหมาะสม (และชอบธรรมเพียงไร) เพราะภายหลังการเจรจาเข้าใจว่าไม่ใช่แค่สันติภาพที่อาจจะบังเกิดขึ้น แต่การปันตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วย ในส่วนของประเด็นความกลัว เราก็เห็นด้วยเช่นกันว่าไม่ได้ดำรงอยู่จริง แต่คนเรามันรู้สึกจริง argument นี้ของอ.อิลยาสเราไม่ปฏิเสธ แต่เรามีคำถามว่า เงื่อนไขที่จะทำให้สู่ภาวะของการใช้เหตุใช้ผล บนสนามจริง มันไม่ง่าย...แน่นอน ในระยะเวลาอันใกล้นี้
 
Muhammad Ilyas Yahprung
ผมรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณทุกท่านที่ถกเถียงเกี่ยวกับบทความ จากการแลกเปลี่ยนข้างต้นผมขอ response นิดๆดังนี้
 
1) ผมได้แนวคิดเรื่องความกลัวที่ว่านี้มาจากข้อเขียนของ อ นิธิ ที่เขียนลงในมติชนซักสองปีมาแล้วเกี่ยวกับเด็ก ม6 คนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกจับ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ เพียงแค่เด็กคนนี้ "กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องยกเลิกพรก ฉุกเฉิน (ถ้าจำไม่ผิด) แล้ว อ. นิธิ บอก พวกเราว่าอย่ากลัว เพราะความกลัว มันเป็นแค่ "ความรู้สึก" ความรู้สึกมันไม่ใช่เหตุผล ผมเลยตีความว่าสิ่งที่เป็นความรู้สึกของความกลัวมันจะหายไปเมื่อมีเหตุผลเข้ามาแทนที่ (ผมหาบทความนี้ไม่เจอตอนนี้ใครมีช่วยแชร์หน่อย)
 
2) เรื่องคุณ Camper บอกว่ามันคนละบริบท ยิ่งพูดยิ่งถูกครับ ไทย ไม่เหมือนกัมพูชา กัมพูชา ไม่เหมือน เวียดนาม ลาว ไม่เหมือนสิงคโปร์ ฯลฯ เราคงหาความขัดแย้งที่มีบริบทเดียวกันคงจะไม่ง่ายนักครับ ผมเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการต่อสู้ กับ ไทย imperialism ในกรณี BRN และ อิสราเอลในกรณีของ hamas ผมเพียงแต่ชี้ประเด็นว่าในกรณีของ hamas พวกเขาต่อสู้ ในนามของทั้ง Arab Palestine CHristian PAlestine, coptic palestine, และการต่อสู้ของเขาเริ่มจากรากหญ้า และ BRN ยังไม่สายที่จะทำแบบนั้น ไปพร้อมๆกับกระบวนการพูดคุย
 
ผมคงต้องจบด้วย ประโยคมี่ว่า การเรียกร้องไปสู่สันติภาพจะไร้ความหมายถ้าเราไม่ criticize แนวทางของ BRN และหาทางออกให้พวกเขา"
 
Bundit Grivijitr
ผมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมครับ เรื่องเป็นตัวแทนนั้นผมก็ไม่คิดว่า BRN เป็นตัวแทนความรู้สึกของประชาชนได้ และ BRN ก็คงไม่ได้แคร์มาก ผมคิดว่า BRN ไม่ใช่ตัวแทนแน่ๆ แต่เป็นการอ้างอิงจากอำนาจ ในการกระทำการ และเป็น (มีส่วนร่วม) ในการเป็นผู้สร้างสถานการณ์ที่นำมาสู่ความรุนแรงและเกิดการเจรจา โดยส่วนตัว แล้วผมคิดว่าประชาชนนำเสนอความคิดแบบอิสระดีกว่าที่จะเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของการเจรจา จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร