Skip to main content

 โรงเรียนสันติวิธี
ความเป็นไปได้ในการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันที่ชายแดนใต้

โดยนวพล ลีนิน

สภาพบ้านพักครู(ร้าง)โรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
 


     เชื่อหรือไม่ว่า สังคมน่าอยู่ขึ้นทุกวัน สังคมดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในการเคลื่อนไหวแบบ ก้าวถอยหลัง
 3 ก้าว เพื่อ ก้าวกระโดดไปข้างหน้า 5 ก้าว ? ลองสมมติว่าหากผู้คนยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนทั้ง ผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ คนพิการ คนหนุ่มสาวและเด็กมีสิทธิในการแสดงส่วนร่วมต่อโลกที่เขาอาศัยอยู่ รากฐานของสังคมและชุมชนคือคุณภาพชีวิตของผู้คน ในสังคมที่เข้มแข็งกติกาที่วางไว้จึงได้รับความเคารพ ความเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ดังที่กล่าวมานี้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละสังคมนั้น การเรียนรู้ที่สามารถสร้างความตระหนักได้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในตัวแห่งตน” จากจุดเล็กๆในบ้าน สู่โรงเรียน และการเรียนรู้ด้วยการใช้ชีวิตในชุมชน ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งในการสร้างความน่าอยู่ให้กับชุมชน สำหรับเด็กและเยาวชนโรงเรียนมีความสำคัญมาก ปัญหาที่จำเป็นต้องให้ความสนใจคือ เหตุใดโรงเรียนจึงไม่สามารถสร้างพื้นที่ที่น่าอยู่ให้กับเด็กนักเรียนบางกลุ่ม ทั้งที่มีการกล่าวกันว่าโรงเรียนเปรียบเหมือนบ้านหลังที่2 บ้านซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้ที่จำเป็นในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจในตัวตน และยังสามารถสานความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

  “โรงเรียนสันติวิธี”เป็นแนวคิดในการสร้างการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เน้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน โรงเรียนกับชุมชน โดยนำแนวทางสันติวิธีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการโรงเรียน และปรับกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา วิธีการสอนที่มุ่งสร้างพฤติกรรมมากกว่าการเร่งเร้าให้นักเรียนเป็นในสิ่งที่เขาอาจยังไม่เข้าใจ โรงเรียนสันติวิธีเป็นโรงเรียนที่พร้อมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับนักเรียน พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น พื้นที่การมีส่วนร่วม พื้นที่ปลอดภัย นำสู่การสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานได้ดีขึ้นด้วย

ในช่วงกว่า 2 ปี (พ.ศ.2553-2555)ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะผู้จัดการโครงการได้ลงพื้นที่โรงเรียนมัธยมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการลงพื้นที่โรงเรียนเป้าหมาย 12 โรงเรียน ในพื้นที่ 3 จังหวัด 9 ได้แก่ อำเภอกะพ้อ, อำเภอสายบุรี, อำเภอเมือง, ของจังหวัดปัตตานี อำเภอยะหา, อำเภอรามัน, อำเภอเมือง, ของจังหวัดยะลา และ อำเภอรือเสาะ, อำเภอสุคิริน, อำเภอเมือง,ของจังหวัดนราธิวาส โดยโครงการกำปงซือแนเป็นหนึ่งในโครงการของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรร่วม 2 องค์กร คือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และองค์กรช่วยเหลือเด็ก(Save the Children) มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ด้วยการใช้แนวทางด้านสันติวิธี สิทธิเด็ก และวินัยเชิงบวก(Positive Discipline) โดยในส่วนของโรงเรียน ในช่วงเริ่มต้นได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน จัดสนทนากลุ่มกับคณะครูในโรงเรียน และจัดการสนทนากลุ่มกับนักเรียน ก่อนการนำกิจกรรมในโครงการเข้าไปส่งเสริมในโรงเรียน

โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงโดยตรง ตลอดระยะเวลาในพื้นที่การต่อสู้ นับจากอดีตการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนกระทั่งถึงช่วงเหตุการณ์รุนแรงระลอกใหม่นับจากปี 2547 เป็นต้นมา โดยกลุ่มขบวนการที่ถือแนวทางชาตินิยมมลายู ถือว่าโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐไทย โรงเรียนไทยในภาษาที่ชาวไทยเชื้อสายมลายูปัตตานีเรียกคือ “ซึกอเลาะซีแย” หมายถึงโรงเรียนสายสามัญของรัฐบาล ที่แฝงเร้นนโยบายกลืนกรายวัฒนธรรมมลายูแฝงอยู่  ดังนั้นโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาจึงตกเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุร้ายมาโดยตลอด ทั้งการเผาโรงเรียน ฆ่าและทำร้ายครู การข่มขู่คุกคามครูในรูปแบบต่างๆ จากคำบอกเล่าส่วนของครูผู้หญิงซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อำเภอระแงะจังหวัดนราธิวาสเล่าว่า “ พวกเขานำมีดที่เปื้อนเลือดมาวางบนโต๊ะทำงานของเธอ แล้วเธอก็เห็นไก่ที่ถูกแขวนแทนที่ธงชาติ...หลังจากนั้น พี่ก็ขอย้ายออก พอย้ายไม่ได้ก็ไม่กล้าเข้าไปสอน ไม่นาน ผอ.โรงเรียนใกล้ก็ถูกยิง ...”  อีกหลายเรื่องราวในสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความกลัว ความหวาดระแวง เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการปฏิบัติหน้าที่ของครูว่ามีวิธีการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร ความรู้สึกโดยรวม ความหวังต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ   ความท้าทายว่าครูในพื้นที่มีมุมมองในแนวทางสันติวิธีเช่นไรในสถานการณ์ที่กำลังครุกรุ่นเช่นนี้

การประชุมกลุ่มย่อย (Focus gruop) คณะครูโรงเรียนยะหาศิรยานุกูล ในช่วงเริ่มต้นโครงการ 

แม้คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธี แต่ความต้องการความปลอดภัยย่อมสำคัญกว่า ในขณะนี้สันติวิธีจึงยังไม่สามารถเป็นทางเลือกที่สร้างความเชื่อมั่นแก่คุณครูในพื้นที่ได้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าครูจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งการแข่งขันทางวิชาการของโรงเรียนในประเทศไทยในปัจจุบัน การเร่งสร้างผลงานของครู ทำให้คุณครูมองว่าหากนำแนวทางสันติวิธีมาปรับใช้กับกระบวนการเรียนการสอน อาจทำให้คุณภาพหรือความเข้มข้นในเนื้อหาวิชาลดลง ในวงสนทนากลุ่มกับครู มีคำถามที่ว่า ครูคิดอย่างไรกับสุภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ครูโดยส่วนใหญ่ยังให้ความเชื่อมั่นกับสุภาษิตนี้ โดยเห็นว่าการสอนที่ดีต้องเข้มงวดกวดขันกับนักเรียน ในส่วนของประเด็นการส่งเสริมเรื่องสิทธิเด็ก โดยภาพร่วมครูให้ความสนใจในเรื่องสิทธิเด็ก ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนได้รับนโยบายเบื้องต้นมาแล้ว การปรับใช้ในโรงเรียนยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนัก โดยครูส่วนหนึ่งมีข้อกังวลว่า การส่งเสริมสิทธิเด็กโดยไม่สร้างความเข้าใจเรื่องหน้าไปด้วย อาจเป็นสาเหตุให้นักเรียนรวมกลุ่มกันเรียกร้องสิทธิมากจนเกินไป และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดการระเบียบวินัย เกี่ยวโยงไปถึงเรื่อปัญหาพฤติกรรมเรื่องเพศและยาเสพติด

การประชุมกลุ่มย่อย(Focus group)นักเรียนในช่วงเริ่มต้นโครงการ

อย่างไรก็ดี หลายโรงเรียนเปิดรับในกิจกรรมสร้างสรรค์จากองค์กรภายนอก แม้ในมุมมองของครูในโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานราชการมีความกังวลต่อกลุ่ม NGO ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยกังวลว่า องค์กรเหล่านี้อาจนำประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไปเผยแพร่สู่สื่อสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของโรงเรียน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากิจกรรมที่โรงเรียนเปิดรับเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนกิจกรรมของโรงเรียน หากสร้างผลงานหรือชื่อเสียงให้กับโรงเรียนก็เป็นเรื่องดี และหากกิจกรรมที่องค์กรภายนอกเข้าไปส่งเสริมในโรงเรียนสามารถสร้างผลงานเชิงประจักษ์ได้ ตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน สร้างแกนนำที่ช่วยเหลืองานของโรงเรียนได้ พบว่าทางโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งของการไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรจากภายนอกคือ หน่วยงานราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่ใช้สายงานในระบบราชการประสานงาน โครงการหลายๆโครงการของหน่วยงานราชการที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน กิจกรรมค่ายที่ไม่ได้วางกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก กระบวนกรที่ทำงานกับผู้ใหญ่เล่นเกมสองแง่สองงาม เกมหรือกระบวนการที่คุกคามความรู้สึกของเด็ก หรือกระทั่งมาร่วมกิจกรรมเซ็นชื่อแล้วรับเงินค่าเดินทางกลับบ้าน ส่งผลกระทบต่อช่วงเวลาในการจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียน เกิดปัญหาการตั้งแง่ว่าโครงการที่ผ่านมามีเบี้ยประชุม มีเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น ในส่วนนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ หัวหน้าหน่วยงานที่ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธี หรือเห็นว่าการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการเข้ามาประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว อาจสร้างทัศนคติในเชิงลบให้กับแนวทางสันติวิธี จากการพูดคุย พบว่าผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูบางท่านมีมุมมองที่เห็นว่าสันติวิธีคือการยอมจำนนต่อผู้ก่อเหตุ โดยให้ข้อเสนอแนะเปรียบเทียบกับการจัดการนักเรียนในโรงเรียนว่า หากโรงเรียนใช้สันติวิธีกับนักเรียนที่มีพฤติกรรมด้านลบ เท่ากับเป็นการตามใจเด็ก ซึ่งในการประสานงานกับครูและผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องเข้าใจในวิธีการที่ละเอียดอ่อน ที่มองข้ามไม่ได้คือวุฒิภาวะของคณะทำงาน ว่าทำอย่างไรจึงสามารถทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจแนวทางสันติวิธีที่แท้จริง โดยไม่ทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดความรู้สึกเสียความมั่นใจ และพูดคุยในความเห็นที่แตกต่างได้ ทำความเข้าใจว่าสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนน แต่เป็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;
mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:
minor-bidi">

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีเพียงสามโรงเรียนที่เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง การขยายผลไปสู่เพื่อนครูยังมีอยู่น้อยมาก ถือว่าโรงเรียนสันติวิธียังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ อย่างไรก็ดี พบความเป็นไปได้ในการทำให้โรงเรียนสันติวิธีเกิดขึ้นได้จริง โดยการสานความสัมพันธ์กับคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหากเป็นไปได้คือ คณะทำงานขององค์กรที่ประสานงานกับโรงเรียน เข้าร่วมรับฟังปัญหาของโรงเรียน ยินดีที่จะร่วมคิดแก้ปัญหาให้กับโรงเรียน หากโรงเรียนเปิดโอกาส และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ พลังของเด็กนักเรียนในโรงเรียน หากกิจกรรมสร้างสรรค์สามารถดึงแกนนำนักเรียนที่หลบอยู่ในมุมมืด ให้กลายเป็นแกนนำนักเรียนที่ใช้พลังในตัวตนสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ของโรงเรียนได้ “โรงเรียนสันติวิธี”คือทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เมื่อเด็กในวันนี้เรียนรู้ว่า เขามีสิทธิที่จะอยู่ร่วมกันในชุมชน เขามีช่องทางในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน โดยการเปิดทางจากผู้ใหญ่ ในขณะที่พื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงเป็นโจทย์ที่เด็กเผชิญอยู่จริงๆในพื้นที่ อาจเป็นไปได้ว่าแรงกดดันนั้น ทำให้พวกเขาค้นพบคำตอบของแนวทางสู่สันติภาพแล้ว แต่คำตอบเหล่านั้นกลับถูกเก็บไว้ในมุมมืด ใครล่ะจะสามารถเปิดพื้นที่ตรงนี้ได้? “โรงเรียนสันติวิธี”เกิดขึ้นได้หรือไม่ ในฐานะผู้ใหญ่จำเป็นต้องขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วหรือยัง? minor-latin;mso-hansi-font-family:Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;
mso-bidi-font-family:"Cordia New";mso-bidi-theme-font:minor-bidi">

   mso-ascii-font-family:Calibri;mso-ascii-theme-font:minor-latin;mso-hansi-font-family:
Calibri;mso-hansi-theme-font:minor-latin;mso-bidi-font-family:"Cordia New";
mso-bidi-theme-font:minor-bidi">