Skip to main content
อิสมาอีล บิน มูฮำหมัด ฮายีแวจิ
สำนักสื่อ Wartani
 
เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [INSouth] หรือ เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ [PERKASA] มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูสู่ประชาคมอาเซียน มีจำนวนผู้รับมอบทั้งหมด 90 คน
  
          เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 ณ หอประชุม คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี อุสตาสอับดุลมูไฮมีน สาและ ประธาน PERKASA เป็นเกียรติมามอบประกาศนียบัตรแก่ผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูในพื้นที่ปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือเครือข่ายผู้นำครูตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [Jaringan Guru Sekolah Melayu Patani] โดยมีอุสตาสชุกรี ดาโอ๊ะซีตี เลขาธิการ PERKASA, ลีโอ เจ๊ะกือลี นายก INSouth และดิลละห์ เจะสุรี ประธานโครงการเพิ่มศักยภาพผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูสู่ประชาคมอาเซียน ร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ด้วย
 
          เริ่มต้นด้วย ดีลละห์ บิน อับดุลดอเดร์ เจะสุรี คณะกรรมาธิการ INSouth และประธานโครงการกล่าวว่า “การเสียสละย่อมได้รับสิ่งตอบแทนทั้งในโลกนี้ [Dunia] และโลกหน้า [Akhirat] ซึ่งการเสียสละสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกันได้แก่ การเสียสละในเรื่องของ เวลา ทรัพย์สิน และจิตใจสาธารณะ ส่วนสิ่งตอบแทนหรือผลที่เราได้รับจาการเสียสละก็คือประสบการณ์และพัฒนาการของตนเอง รวมทั้งสังคมโดยรวม
วัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นแรงและกำลังใจให้กับครูทุกคนในการทำงานต่อไป ถึงแม้ว่าวันนี้พวกเราทุกคนสำเร็จหลักสูตรผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูสู่ประชาคมอาเซียนแล้วก็ตาม แต่งานของพวกเรายังคงต้องเดินหน้าต่อไป อีกทั้งยังเป็นการพบปะระหว่างสมาชิกครูในเครือข่ายครูสอนโรงเรียนมลายูด้วยกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ที่ทำงานในจังหวัดต่างๆด้วย” ดีลละห์ กล่าว
 
ดีลละห์ กล่าวต่อว่า หลักสูตรการอบรมเพิ่มศักยภาพผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูสู่ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 รายวิชาด้วยกัน 
รายวิชาที่ 1 : “การวิเคราะห์การเมืองและความขัดแย้ง”
รายวิชาที่ 2 : “ผู้นำและภาวะผู้นำ”
รายวิชาที่ 3 : “การคิดและการจัดการองค์กร”
โดยใช้เวลาในการอบรม 3 เดือน (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) และลงพื้นที่ปฏิบัติจริงหนึ่งเดือน (มีนาคม) หรือรายวิชา : “อบรมพี้เลี้ยงค่ายภาคฤดูร้อน” จึงจะผ่านหลักสูตร “ผู้นำครูสอนโรงเรียนมลายูสู่ประชาคมอาเซียน” 
 
เจ๊ะฆู อานัส กาแจ ผู้ประสานงาน เครือข่ายครูสอนโรงเรียนมลายู จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำเพื่อคนอื่น ถึงแม้จะเหนื่อยและล้าบ้างในบางช่วงเวลา แต่ก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ซึ่งความรู้ต่างๆที่ทาง INSouth ได้สอนและร่วมแลกเปลี่ยนกับพวกเรานั้น จะบอกว่าสำหรับครูที่สอนในโรงเรียนมลายูสามารถหาเรียนเพิ่มเติมได้ยากมาก และไม่สามารถกำหนดค่าของวิชาเหล่านั้นได้ ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆมาให้พวกเรา และขอจบด้วยคำว่า”Kemanisan Tak Akan Rasa, Melainkan Mereka Yang Melaksana”” กล่าว
 
กะซัมซียะห์ บาระตายะ ผู้ประสานงาน เครือข่ายครูสอนโรงเรียนมลายู จังหวัดยะลา กล่าวว่า “จากการเข้าอบรมในหลักสูตรที่ INSouth จัดขึ้นมานั้นสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้มาก ความจริงแล้วอุปสรรคในครั้งนี้ก็มีมากเช่นเดียวกัน แต่คิดว่าสามารถนำไปเป็นบทเรียนในครั้งต่อไปได้ ขอบคุณทีม INSouth ที่ทำให้มีโครงการนี้ขึ้นมา”
 
เจ๊ะฆู ซอฟวัน บิน อับดุลเลาะห์ สามามะ ผู้ประสานงาน เครือข่ายครูสอนโรงเรียนมลายู จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า“ตอนเข้าอบรมใน 3 รายวิชาแรกก็พอเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่หลังจากได้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติจริงแล้ว วิชาเหล่านั้นสามารถใช้ได้จริง อีกทั้งยังทำให้พวกเรารู้จักชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆมากขึ้นด้วย หากเป็นไปได้ก็อยากให้มีโครงแบบนี้ต่อๆไป ซึ้งยังมีครูที่สอนในโรงเรียนมลายูอีกหลายร้อยคนที่ไม่มีโอกาสเหมือนกับพวกเรา แต่เราจะพยายามเอาความรู้เหล่านั้นไปถ่ายทอดต่อไป ขอบคุณผู้จัดโครงการที่มอบความรู้ให้กับพวกเรา”
ด้าน อุสตาสชุกรี ดาโอ๊ะซีตี เลขาธิการ PERKASA กล่าวว่า “หน้าที่ [Amanah] สำหรับผู้ศรัทธาคือ อบรม สั่งสอน ให้แก่ผู้ที่ด้อยความรู้ ตามที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ฉะนั้นสำหรับคุณครูอย่างพวกเราหน้าที่ต้องปฏิบัติ คือ สอนให้ลูกหลานเราเป็นคนดี เป็นคนที่มีจุดยืน มีความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ปฏิบัตตามสิ่งที่ท่านบีมูฮำหมัด (ศ.) ได้สั่งสอนไว้
 
มีอยู่สองเหตุผลที่เป็นจุดยืนสำหรับพวกเรา ทำให้เราสามารถยึดมั่นในหน้าที่ของตนเองได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ เหตุผลที่หนึ่ง เพื่อสอนศาสนาให้แก่คนในสังคม และเหตุผลที่สอง เพื่อลูกหลานของเราทุกคน คิดง่ายๆก็คือ หากเราไม่ทำแล้วใครจะทำ หากเราไม่ทำ แล้วชะตากรรมของลูกหลานเราในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และหากเราไม่ทำ แล้วชะตากรรมของสังคมปาตานีจะเป็นอย่างไร ทุกสิ่งที่เราทำในวันนี้ก็เพื่อวันข้างหน้าของพวกเราเอง” อุสตาสชุกรี กล่าว
และ ลีโอ บิน นาซี เจ๊ะกือลี นายก INSouth กล่าวว่า “รู้สึกภาคภูมิใจกับครูผู้สอนโรงเรียนมลายูทุกคนที่เป็นความหวังและแม่พิมพ์ของชาติ ยอมเสียสละเวลาที่ผ่านมาเพื่อทุ่มเทกับหน้าที่ของตนเองในการพิมพ์ลูกหลานหรือเด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าให้เท่าทันกับพัฒนาการของโลกยุคโลกาภิวัตน์
 
ผมคิดว่าสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเราทุกคนทุ่มเท มุ่งมั่น เสียสละ แม้กระทั้งตนเองไม่มีเงินเดือนเลี้ยงชีพเหมือนกับครูผู้สอนในโรงเรียนของรัฐก็ตาม แต่พวกเราก็ยังอดทน ดิ้นรน และสู้ต่อไป เพียงเพื่อต้องการที่จะเห็นความก้าวหน้าของสังคมปาตานีในวันข้างหน้า อยากจะบอกทุกคนว่า “แสงสว่างเกิดขึ้นหลังความมืดหมดไปเสมอ” จงสู้ต่อไป สู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ขอเป็นกำลังใจให้กับตนเองและทุกคน”