Skip to main content

 “วงกลมมนุษย์”พื้้นที่โอบอุ้มที่ค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถี

      บทความโดย นวพล ลีนิน

            ว่ากันว่า เมื่อมนุษย์รู้จักรวมหมู่ล้อมเป็นวงกลม ในพื้นที่วงกลมเกิดเป็นพิหารอันศักดิ์สิทธิ์  เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สถาปนาขึ้นด้วยพลังแห่งความไว้วางใจ มุมมองในวงกลมที่เห็นได้ทุกทิศทางทั้งในและนอกวง หากเป็นยุคบรรพกาลการนั่งเป็นวงกลมคนที่อยู่ในวงสามารถมองเห็นสัตว์ร้ายหรือภัยอันตรายที่เข้าทางด้านหน้าของตนเองและด้านหลังของคนอื่นๆในมุม 180 องศาด้านตรงหน้า ผู้คนในวงจึงส่งเสียงร้องเตือนกันได้ ความเอื้ออาทรที่ค่อยๆสะสมมาแต่ครั้งอดีตในการประชุมล้อมวง ทำให้มนุษย์รู้จักการแบ่งปันในสิ่งที่ตัวเองสนใจใคร่รู้ พลังของวงกลมมนุษย์ช่วยแบ่งเบาความกดดันจากปัญหาต่างๆ ทางออกในการเฉลี่ยความทุกข์ยากให้รับรู้ร่วมกัน หลังจากนั้นจึงนำมาซึ่งทางออกจากการพูดคุยถกเถียงกัน วงกลมมนุษย์คือทางสร้างความเข้าใจร่วมกัน หากยุคสมัยได้นำมาซึ่งรูปแบบการสานเสวนาพูดคุย คล้ายว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เรียบง่าย ในวงกลมของผู้คนที่พร้อมใจกันสละจุดยืนของตนเองลงมาบ้างเพื่อสร้างพื้นที่ร่วม ที่โอบอุ้มความรู้สึกเจ็บปวดของกันได้เป็นอย่างดี

            ในฐานะคณะทำงานค่ายเมล็ดพันธ์สันติวิถี ในช่วงปี 2553 ถึง 2555 อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการกำปงซือแน หนึ่งในหลายโครงการที่สถานบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมสนับสนุนสันติภาพที่มีอยู่ในสังคม บนฐานการยอมรับ เข้าใจ และเคารพในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม  กิจกรรมค่าย ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนทุกภาคของประเทศไทย ให้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับสันติวิธีผ่านการจัดกิจกรรมโครงการ ค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถีซึ่งเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยโน้มน้าวให้เยาวชนเกิดกระบวนการคิด มีสติเท่าทัน เกิดปัญญาในการสร้างพฤติกรรมที่เห็นคุณในตัวเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมระดับประเทศและความเป็นพลโลก เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักหลักการ ทิศทาง แนวคิดที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยหนทางแห่งความเป็นมิตร เข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพในสิทธิทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างเสมอภาค อันจะเป็นจุดสำคัญที่จะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

            ค่ายเมล็ดพันธ์สันติวิถีจัดมาทั้งหมด 5 รุ่น สำหรับรุ่นที่ 4 จัดขึ้นในช่วงวันที่ 5 -30 เดือนตุลาคม 2554 ณ บ้านต้นน้ำใจ ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หน้าที่สำคัญของผมคือการจัดการและประสานงานค่ายโดยนำคณะนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกโดยโรงเรียนเป้าหมายโครงการ 12 โรง จาก 9 อำเภอ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนักเรียน 12 คน อายุระหว่าง 16 ถึง 18 ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ชั้นมัธยมปลาย เริ่มตั้งแต่ประสานโรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจในกิจกรรม คุณสมบัติของนักเรียนที่เหมาะสม ประสานครอบครัวนักเรียน นัดวันเดินทางการเตรียมตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรม จากสถานีขนส่งอำเภอสุไหงโกลก ตลอดรายทางจุดนัดพบ สถานีขนส่งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และจุดจอดรถดอนยางเดือนตุลาคม 2554 เป็นช่วงที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คณะของเราได้รับผลทั้งขาไปขากลับ  ในเที่ยวไปรถบัสต้องเปลี่ยนเส้นทางเพราะน้ำท่วมเส้นทางสุราษธานี นครศรีธรรมราช และในเที่ยวกลับช่วงปลายเดือนพวกเราต้องนั่งรถไฟแทนเพราะเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพ ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผมใช้ชีวิต กินนอนเล่นเรียนร่วมกับเด็กวัยรุ่นจากต่างที่  ต้องยอมรับว่าผมมีความรู้สึกวิตกกังวลมากความเครียดสะสมอย่างไม่รู้ตัว แม้ตลอดการจัดกิจกรรมมีเสียงหัวเราะหยอกล้อเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะก็ตาม ความเครียดเกิดจากความกังวลต่ออันตรายหรือเรื่องร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรหลานของผู้ปกครองซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดอกผลของงานที่เสร็จสิ้นลงนั้นกลับให้พลังสร้างความรู้สึกที่ดี เหตุการณ์ต่างๆที่นอกจากผู้เข้าร่วมได้รับแล้ว ยังเกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่ตัวผมเอง และพวกเราในฐานะผู้จัดโครงการครั้งนี้อีกด้วย

            คณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเป็นนักเรียนจากทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งหมดเดินทางมาพบกันที่ ห้องประชุมสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2554  น้องๆจากทั่วทุกภาคมารวมตัวกันรับฟังคำชี้แจง ความเป็นมาของกิจกรรมของค่าย เป็นพิธีเปิดแบบเรียบง่ายโดยคณะอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามากกล่าวเปิด หลังจากนั้นคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นั่งรถรางชมสถานศึกษารอบมหาวิทยาลัยมหิดล ชมบรรยากาศของความเป็นมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยมีความปลอดโปร่ง สวนทุ่มพุ่มไม้ สระน้ำ อาคารทางเดิน ที่มีผลงานศิลปะให้ชม ทั้งผลงานนักศึกษาที่แสดงแนวคิดในแง่มุมต่างๆ  และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้รถจักรยานของนักศึกษา เป็นภาพที่น้องๆหลายคนพูดถึงด้วยความประทับใจ ซึ่งอย่างน้อยอาจเป็นแรงบันดาลใจด้านการเรียนต่อให้น้องๆ หลังจากนั้นคณะผู้เข้าร่วมทั้งหมดจึงออกเดินทางไปยังจังกวัดกาญจนบุรี       

            สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องนอนค้างที่ห้องพักของสถาบันสุขภาพอาเซียน 1 คืนเพื่อรอรับผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง น้องผู้หญิงจากโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ เธอจำเป็นต้องเดินทางตามมาทีหลังเพราะติดสอบ น้องพีซเรื่องราวของเธอน่าสนใจ เธอสมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตัวเอง เพราะสนใจตั้งแต่แรกที่ได้ยินชื่อค่าย เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมจนเสร็จสิ้น ผมพบเรื่องราวที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกำลังใจในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่ครุกรุ่นอยู่ด้วยไฟสถานการณ์ความรุนแรง ผมเคยคุยกันว่าถ้าเอาเรื่องของเธอมาเล่าสู่กันฟังได้ไหม เธอตอบว่าไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งผมคิดว่าเรื่องราวของพีชเด็กผู้หญิงจากอำเภอรือเสาะ กับเรื่องราวของน้องผู้ชายอีกคนหนึ่งมีความน่าสนใจ หากสื่อถึงผู้ใหญ่ทั้งในและนอกพื้นที่ กรณีศึกษาที่สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ดี

            พีชเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว พ่อของเธอเป็นตำรวจถูกยิงใต้ในสถานการณ์ความไม่สงบ แม่ของพีชจึงได้รับสิทธิสมัครเข้าทำงานตำรวจเป็นกรณีพิเศษ เรื่องร้ายดูกระหน่ำซ้ำเติมเพราะเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมา บ้านของพีชที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสถูกระเบิด(คาร์บอม)ได้รับเสียหายทั้งหลัง โชคดีที่ในวันเกิดเหตุครอบครัวของเธอไปเที่ยวที่หาดใหญ่ ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์เครือข่ายเยาวชนเมล็ดพันธุ์สันติวิถีได้ร่วมส่งการ์ดให้กำลังใจ

             ย้อนกลับมาตอนช่วงแรกที่ผมได้รู้จักกับพีชในระหว่างการร่วมกิจกรรมค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถี      เมื่อคุณแม่น้องพีชรทราบข่าวจากทางโรงเรียนว่าลูกสาวของเธอได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมค่ายแนวสันติวิธี คุณแม่น้องพีชกังวลมากโทรมาถามรายละเอียดหลายครั้ง ตอนแรกคุณแม่พูดคุยด้วยท่าทีไม่ยินดีที่จะให้น้องพีชเข้าร่วมกิจกรรม ทางคณะผู้จัดได้อธิบายรายละเอียดจนเธอเข้าใจ ด้วยการประสานงานทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ส่วนน้องพีซเองพยายามพูดคุยรบเร้าจนคุณแม่ยินยอม ด้วยความห่วงใยคุณแม่น้องพีชเดินทางจากอำเภอรือเสาะจังหวัดนริวาสมาส่งน้องพีชที่สถานีขนส่งสายใต้กรุงเทพมหานครด้วยตัวเอง เมื่อผมพบกับพีชเป็นครั้งที่ 2 นับจากครั้งแรกที่พบพีชที่โรงเรียน กล่าวทักทายกัน แล้วสวัสดีคุณแม่ สิ่งสำคัญในการทำค่ายเด็กและเยาวชนคือการประสานงานกับผู้ปกครองนักเรียน ผู้จัดจำเป็นต้องอธิบายรายละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคณะผู้จัดกิจกรรมได้เตรียมการเรื่องต่างๆไว้แล้วเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องความปลอดภัย สังเกตได้ในแววตาของความห่วงใยเมื่อส่งบุตรหลานขึ้นรถ นั้นเองที่เป็นสาเหตุของความเครียดที่สะสมจากการทำค่าย เพราะเราคือผู้รับคำมั่นจากผู้ปกครองเด็กโดยตรง ทั้งจับมือสลามแบบมุสลิม ยกมือไหว้สวัสดีแบบพุทธนั้นประหนึ่งคำมั่นสัญญาว่าผมจะดูแลบุตรหลานของพวกเขาเท่าชีวิต

            ในช่วงเดินทางพร้อมกับน้องพีช ผมตั้งใจว่าจิตวิทยาวัยรุ่นแบบที่ผมเข้าใจสามารถสร้างความสนิทสนมกับพีชได้ไม่ยากนัก แต่อาจเพราะการเดินทางข้ามคืน 16 ชั่วโมงจากนราธิวาสถึงกรุงเทพ หรือด้วยความไม่คุ้นเคยกันมากนัก ผมพยายามชวนพีชคุยระหว่างเดินทางต่อด้วยรถตู้ไปจังหวัดกาญจนบุรี           พีชตอบคำถามที่ผมถามด้วยประโยคสั้นๆ แล้วก้มหน้าอ่านหนังสือเล่มหนา ผมสังเกตหน้าปกเป็นรูปวาดหนุ่มสาวหน้าหวานๆแบบหนังสือนิยายรักโรแมนติกของวัยรุ่นทั่วไป พีชดูซึมเศร้าเมื่อจากแม่มาได้สัก 1 ชั่วโมง ผมพยายามชวนเธอคุยจนรู้สึกเกรงใจในความเงียบเฉยของพีช จึงทำได้เพียงซื้อขนมซื้อน้ำให้ เราไปแวะกินก๋วยเตี้ยวกันที่ตัวเมืองกาญจนบุรีก่อนต่อรถไปทองผาภูมิ ช่วงกินข้าวผมคาดว่าเธอน่าจะมีอาการดีขึ้น จึงพยายามหยอกเล่นด้วยมุขวัยรุ่น การตอบรับของพีชยังเฉยๆอยู่ แต่เธอก็ยิ้มออกมาบ้าง ภาพพีชเป็นเด็กหญิงวัยรุ่นแกมยุ้ยเป็นสิว ดัดฟัน ตาค่อนข้างหยี ดูเป็นเด็กกะโปโลด้วยกางเกงยีนตัดขาแล้วก็ชุดเสื้อผ้าแนวๆกับหมวกแก็ป  ที่ทำให้ผมรู้สึกรำคาญ  ยิ่งพีชไม่ยิ้มไม่หัวเราะ ก็ยิ่งทำให้เราทั้งสองเลือกใช้ความเงียบเป็นเพื่อน จาก บขส.กรุงเทพจนถึงบ้านต้นน้ำใจสถานที่จัดค่าย พบว่าผมรู้จักพีชไม่มากไปกว่าข้อมูลในแบบฟอร์มกับปากคำของแม่และครูของเธอ เป็นธรรมดาว่าผมต้องเสียความมั่นใจไปมากทีเดียว
            เด็กผู้ชายอีกหนึ่งคนที่มาร่วมค่ายในครั้งนี้ เขาประสบชะตากรรมเหมือนกับพีช คือพ่อถูกยิงเสียชีวิต เขาชื่อมิน มาจากโรงเรียนวังกะพ้อพิทยาคม มินเป็นลูกชายคนโตมีพี่น้องหลายคน เขาเป็นคนมีลักยิ้ม มีเสน่ห์ด้วยความยิ้มง่าย ผมรับมินที่สถานีปัตตานี พร้อมกับเพื่อนร่วมค่ายจากโรงเรียนอื่น  ที่บ้านของมินมาส่งกันหลายคน หากให้เดานอกจากแม่แล้ว คงเป็นลุงป้าน้าอา น้องๆและปู่ย่า ผมไปซาลามจับมือกับปู่ของมิน ยกมือไหว้สวัสดีแม่ของเขา รับปากรับคำเป็นภาษามลายูปนไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวของมินให้มากที่สุด เป็นการรับปากรับคำที่ค่อยเตือนสติผมอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม ผมพยายามเจริญสติให้ตื่นรู้ในบทบาทหน้าที่ในทุกๆครั้ง จนไม่กล้าปล่อยอารมณ์ให้สนุกไปกับกิจกรรมของน้องๆมากนัก

 

กิจกรรมในหลักสูตรค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถีมีเนื้อหาที่หนักหน่วงทีเดียว เป็นต้นว่า เรียนรู้พลังกลุ่มเรียนรู้ความเป็นตัวตน เรียนรู้โครงสร้างสังคม เรียนรู้การแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง เรียนรู้ปฏิบัติการตามแนวทางสันติวิธี การลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรีหมู่บ้านคลิตี้ล่าง การต่อสู่เรียกร้องของชาวกระเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง เรียนรู้ผู้คนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี  ช่วงเวลาที่ต้องเรียนรู้ ใคร่ครวญทบทวนตัวเอง และหากเป็นไปได้ผู้เข้าร่วมสามารถสานงานเครือข่ายสันติภาพในพื้นที่ได้หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมค่าย

กิจกรรมที่สำคัญในหลักสูตรค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถีกิจกรรมหนึ่งคือ “สานเสวนา” โดย อ.ปา หรือผศ.ดร.ปาริชาติ สุวรรณบุปผา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเช้าวันที่วันที่ 14 ตุลาคม 2554 เมื่อรวมน้องๆชาวค่ายเพื่อรับประทานอาหาร โดยชาวค่าย Seed 4 และ อ.ปา ได้มีโอกาสรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน นั่งล้อมวงบริเวณลานกิจกรรมใต้บ้านต้นน้ำใจ รับประทานอาหารเช้า ผัดกระเพาะกับผัดเปรี้ยวหวาน ก่อนกิจกรรมยามเช้า ผมเขียนเล่าตรงจุดนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การสร้างความไว้วางใจจากผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญในการเปิดพื้นที่เข้าถึงความคิดอ่านของวัยรุ่นได้ เมื่อน้องๆชาวค่ายมารวมวงกันพร้อมดีแล้ว อ.ปา นำสู่กิจกรรมการเรียนรู้ในการจัดการสานเสวนา ในพื้นที่ซึ่งเกิดความขัดแย้ง ที่มาที่ไปของการสานเสวนา จอห์น พอน เลเดอรัคซึ่งเชื่อมั่นว่านอกจากแก้ไข แล้วยังสามารถแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยโดยการสานเสวนา ในความคาดหวังว่าเมื่อจบค่ายแล้ว ในฐานะที่พวกเราชาวค่ายเรียนรู้เรื่องสันติวิธี อ.ปาได้กล่าวถึงหลักการทำงานแก่พวกเราหลัก 3 ข้อไปด้วยกันว่า

1.     

เราในฐานะเครือข่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถี ร่วมชูธงสันติวิธีไปด้วยกัน

2.     

ทุกอย่างเป็นการฝึกข้างใน ไม่ต้องรอช่วงเวลาอื่น แต่ฝึกทุกขณะ

3.     

เรามีโอกาสดีแล้ว เราจะไปสร้างกำลังใจบันดาลใจให้คนอื่น เราคือ chance agent

 

            กระบวนการฝึกไปพร้อมๆกัน ใช้ทุกฐาน หัว กาย จิต ร่วมมือตั้งใจ ก้าวไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความดีขึ้นในเนื้อในตัว เริ่มจากTrio Listening กิจกรรมนั้นสามารถนำไปใช้ได้จริง น้องๆมีโอกาสได้มาเรียนรู้การสื่อสารอย่างเป็นระบบ หลักการ ทริโอ ลิสนิ่ง มีกระบวนการในการจัดการ ฟัง  ฟังแบบสามคน ตลอดกิจกรรม อ.ปามีข้อตกลงกันเรื่องสัญญาณเสียงระฆัง เราเรียกว่าเชิญระฆัง การปลุกโดยการทำให้สั่นสะเทือน เคาะโมเลกุลสั่นสะเทือน เกิดคลื่น สั่นสะเทือนกังวาน เรียกว่า “ระฆังแห่งสติ”  เพื่อเรียกสติให้กลับมาหาใจของเรา ใจเราเหมือนลิง มันวอกแวก อดีต อนาคต แต่ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันขณะ เราจะทุกข์น้อยลง อะไรผ่านไปแล้วผ่านไป อะไรจะเกิดขึ้นช่างมัน เสียงระฆังจะอยู่ในปัจจุบันขณะ แล้วนำสู่กระบวนการสงบนิ่ง เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า Noble silence หรือ ความเงียบอย่างสง่างาม หลังจากเชิญระฆังถือเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ เข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตของแต่ละคนตามสิ่งที่น้องๆศรัทธา ทั้งน้องมุสลิม พุทธ และคริตส์ ความสงบดูงดงามคล้ายว่าทุกๆคนละทิ้งอัตตาลักษณ์เดิมไปชั่วขณะ

ชาวค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถีรุ่นที่่4นั่งล้อมวงลานใต้บ้านต้นน้ำใจ            

 กิจกรรมสานเสวนาร้อยเรียงอย่างเรียบง่าย มีการเปิดคลิปเพื่อถอดบทเรียน แล้วนำสู่การสร้างความเชื่อมั่นเห็นคุณค่าของตัวเองใน กิจกรรมเม็ดถั่วเขียวแห่งความดี กิจกรรมจะให้ชาวค่ายสงบนิ่ง ทบทวนถึงความดี ในรอบ หนึ่งปีที่ผ่านมา กิจกรรมนี้จะนำไปสู่ ความเข้าใจว่า บางครั้งเรื่องเล็กน้อยก็เป็นความดีได้ ความดีเริ่มจากจุดเล็ก สู่ กิจกรรมต่อไป “สายธารแห่งชีวิต” โดยแจกกระดาษ a4 วาดรูปหรือลงสีให้นึกถึงเหตุการณ์บุคคลหรือสถานที่ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเราในปัจจุบันนี้ ใจจดจ่ออยู่กับสี สีไปทางไหนใจอยู่กับสี ให้นักล้อมเป็นวงใหญ่ คราวนี้ชาวค่ายจะพิสูจน์ทฤษฎีว่าเราเข้าใจการฟังหรือเปล่า
          โดยทั้งหมดของกิจกรรม นำไปสู่ การสานเสวนา การสานเสวนามีหลัก
3 ข้อที่มีความสำคัญ

1.ยอมรับความแตกต่าง ความแตกต่างในเรื่องของอัตตาลักษณ์ ยอมรับในความหลายหลาก

2.ไม่ได้เอาแต่ละคัมภีร์มาเจอกัน ไม่เอาหลักการมาเจอกัน แต่เอาความเป็นมนุษย์มาเจอกัน การสานเสวนาจะต้องทำอย่างไรให้เกิดความสันติที่กลุ่มคนที่มีความขัดแย้งกัน ความเป็นมนุษย์คือความอยากรู้อยากเห็น การอยากเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เป็นใคร มาจากไหน สานเสวนา

3.สานเสวนาคอการทำให้เกิด การเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโต การร่วมมือ

การเรียนรู้        คือ เกิดความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ

การเปลี่ยนแปลง           คือ ความคิด ความเชื่อ จุดยืนที่แตกต่าง  

การเจริญเติบโต         คือ เรื่องที่เข้าใจผิด อคติที่มี

การร่วมมือ     คือ ทำงานเพื่อพัฒนา ร่วมแก้ปัญหา

สานเสวนา (Dialogue) คือ กระบวนการพูดคุยที่ต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังด้วยความเมตตา ฟังโดยไม่ตัดสินไว้ก่อน ฟังแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเอาคำสอนของศาสนามาเป็นแนวทางการปฏิบัติได้ เพื่อการฟังที่เข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด ฟังผู้อื่น ฟังตัวเอง ฟังความเงียบ   การฟังอย่างมีร่วมส่วนร่วมเราจะได้ประโยชน์  คำพูดในการสานเสวนานั้นถือว่าไม่มีใครผิดใครถูก  พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้  การสานเสวนาช่วยสร้างแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ทุกคนสามารถทำการเสวนาได้ ทั้งที่บ้านเครือญาติ โรงเรียน ชุมชน เป็นการเล่าประสบการเพื่อรับฟังความรู้สึกของกันและกันคือการนำคนมาทำกิจกรรมร่วมกันหากมีการทำซ้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ น้องๆที่รู้แล้วว่าการสานเสวนาคืออะไร น้องๆสามารถไปใช้จริงในบ้าน ในสังคมของตนได้   

            ก่อนเข้าสู่กระบวนการบทบาทสมมติ เพื่อสร้างวงสานเสวนาของชาวค่ายนั้น กิจกรรมต่างๆจะร้อยเรียงเพื่อสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกัน บทสนทนาที่น่าสนใจจากกิจกรรมสายธารชีวิต ด้วยวิธีการเล่าเรื่องจากภาพวาดในกระดาษ A4 โดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกสีและภาพอย่างอิสระ ซึ่งผมขออนุญาตนำมาเล่าในส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วม ในบทสนนาจากภาพวาดของ มิน และ พีช โดยอ.ปาเป็นนำคำถามจากภาพวาด ด้วยการสะท้อนความรู้สึกของผู้วาดผ่านลายเส้นและสี

ภาพวาดของมิน เป็นภาพบ้านมีน้องๆและแม่ ภาพของเขาใช้สีโทนน้ำตาล

มิน ..เป็นรูปแม่พี่และผม คล้ายเกม(เกมคือน้องชาวค่ายอีกคนที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)พ่อพอเสียก็ต้องดูแลแม่ จะทำงานอะไรก็ต้องช่วยดูแลแม่”

อ.ปา “...ทำไม่ต้องมีสีน้ำตาล “

มิน บอกไม่รู้เหมือนกัน หยิบสีมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

อ. ปา “ แต่สีมันเรียกเรา นะ” อธิบายถึงแรงดึงดูดของสีที่สัมพันธ์กับจิตใต้สำนึกของผู้วาด สีเป็นตัวดึงดูดผู้วาดภาพโดยไม่รู้ตัว

มิน “ตอนนี้ไม่ได้อยู่บ้านหลังนั้น ตอนนี้ไปอยู่บ้านยายหมด ตอนนี้มีพี่น้องห้าคน แม่ต้องส่งเสียอยู่คนเดียว แต่ก็มีทุนของราชการมอบให้ด้วย พ่อเสียชีวิตในสถานการณ์ภาคใต้ รู้สึกอย่างไรตอนพ่อเราเสียเราก็เสียใจ ... แต่ถ้าพ่อเราไม่ตายแต่ถ้าเขาไม่ตายเขาไปล้างแค้นบาปก็ไปติดตัวเขา ความตายถือว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้”

อ.ปา กล่าวกับผู้เข้าร่วมว่าเขาคิดดีนะ คิดเกิดเด็ก แต่พ่ออาจไม่แก้แค้นก็ได้ เพราะวันหนึ่งพระเจ้าจะลงโทษคนผิด มินมีพี่น้องผู้ชายสามคน ต้องกลับไป ช่วยแม่ที่บ้าน แล้วก็ส่งน้องให้ได้เรียน มากที่สุด ถือว่าน่าสรรเสริญ ตอนนี้เรารู้เรื่องชีวิตของเพื่อนแต่ละ รูปของมินไม่ได้สดใสแต่สะอาดมาก แต่จะให้เดาแล้วนะ มินเขามีชีวิตอยู่ตามทำนองคลองธรรมนะ...”

ภาพวาดของพีชผู้หญิงนั่งบนเก้าอี้ ลายเส้นแบบง่ายๆ
พีช “...ที่บ้านมีแม่ รักและนับถือมาก แม่เก่งและแกร่งมากตั้งแต่พ่อเสียเขาก็อยู่คนเดียว ตอนที่พ่อเสียเพราะโดนยิง ตอนแรกก็สติแตกตอนที่รู้” กับคำถามความรูสึกอย่างไร

พีช ตอบว่า “...เข้าใจ อาจเป็นงานของเขา เขาลำบากและอาจต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตราย”

อ ปา  “...เราไม่ชอบความโหดร้าย แต่เรายังเห็นเขาเป็นมนุษย์อยู่ ให้กระบวนการยุติธรรมลงโทษ ให้อัลเลาะห์ลงโทษ ให้คิดแบบสันติวัฒนธรรม ถ้าเราไปล้างแค้นนั้นคือการสร้างเงื่อนไขใหม่ คือเกลียดความชั่วร้าย แต่ไม่เกลียดความเป็นมนุษย์”

  จากรูป ของ น้องพีซคือ กินข้าวคนเดียว เพราะตั้งแต่พ่อจากไป แล้วแม่ก็ต้องทำงาน โดยใช้สีฟ้า อ.ปาบอกว่า สีฟ้าคือสีแห่งความหวังเชื่อว่าพีชจะพบกับความมั่นคงในอนาคต ในโลกนี้ยัง ถึงแม้ว่าเราต้องกินข้าวคนเดียว

ระหว่างนั้น ซิตาน้องผู้หญิงมุสลิมที่ฟังเรื่องเล่าของพีช เห็นพีชร้องไห้จึงออกมาโอบกอดพีซให้กำลังใจ ทุกคนก็เข้ามาพูดคุยให้กำลังใจกัน

 

 

สายธารชีวิตเรื่องเล่าที่หลั่งไหลผ่านภาพวาด

หลักสูตรในค่ายเมล็ดพันธุ์สันติวิถีในระยะเวลา 1 เดือนจัดว่าเข้มข้นมาก หากเทียบกับช่วงชั้นในระดับมัธยมปลาย หัวใจหลักคือการเข้าถึงความหมายของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างหลากหลาย ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น โดยพยายามสังเกตจากอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ใส่ใจในสิ่งที่ผู้อื่นได้สื่อสารออกมา ความเข้าใจในความหมายของความเป็นมนุษย์ การสื่อสารอย่างสันติไม่ใช่แค่การเรียนรู้หลักการแบบนกแก้วนกขุนทอง เพราะเป้าหมายของการสื่อสารที่มากกว่าความเข้าใจ หากมากกว่านั้นคือการโอบอุ้มความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน ความท้าทายของผู้เข้าร่วมที่เป็นวัยรุ่น พฤติกรรมหลายอย่างเป็นสิ่งที่คณะผู้จัดวิตกกังวล แต่ในช่วงเวลาของกิจกรรม “ สายธารชีวิต” เรากลับพบความอ่อนโยนที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของวัยรุ่น เมื่อเปิดใจรับฟัง แม้อาจมีเด็กผู้ชายบางกลุ่มที่แอบเอายาหม่องป้ายตาแกล้งร้องไห้ แต่เราก็พบว่าเขาร้องไห้จริงๆ ในเรื่องเล่าแสนเศร้าของเพื่อนร่วมวง ความเชี่ยวชาญของวิทยากรช่วยให้พื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้เพียงส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นคือความจริงใจที่จะรับฟังเรื่องราวเหล่านั้น  และภาพที่ผมประทับใจในระหว่างการจดบันทึก คือเพื่อนต่างศาสนาที่ลุกขึ้นมาโอบกอด เพื่อนอีกคนที่กำลังเล่าเรื่องราวความสูญเสียในครอบครัว

เรื่องราวของมินเด็กชายวัยรุ่นชาวมุสลิมที่ครอบครัวต้องสูญเสียผู้นำ คุณพ่อของเขาเป็นผู้นำชุมชนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ เมื่อครอบครัวขาดผู้นำ แม่ก็ต้องพาน้องๆมาอยู่บ้านตากับยาย

เรื่องราวของพีชที่ต้องนั่งทานข้าวคนเดียว เพราะแม่ร้องไห้อยู่ในห้อง ในช่วงแรกๆที่พ่อถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงเวลาทุกข์เศร้าพีชต้องนั่งกินข้าวคนเดียวนานนับเดือน

 

 

โอบกอดให้กำลังใจกันและกัน ในพื้นที่วงกลมมนุษย์ที่บ้านต้นน้ำใจ

ในฐานะผู้เฝ้าดู ผมแอบสะท้อนใจ น้ำตาปริ่มที่เบ้าตาและคับแน่นที่ลำคอ ผมมองเข้าไปในวงกลมมนุษย์วงนี้ ย้อนสำนึกในตัวตนว่า หากผมมีลูกแล้วต้องเสียชีวิตไป ในช่วงที่พวกเขากำลังเติบโต ในคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ หากพื้นที่วงกลมสักแห่งสำหรับเขา พื้นที่ปลอดภัยที่โอบอุ้มกันและกัน ภาพตรงหน้าที่พวกเขาโอบกอดให้กำลังใจกัน จนอดคิดไม่ได้ว่านี้คือความจริงหรือความฝัน หรือเพียงแค่การเสแสร้งแกล้งจริตของผู้คน ความคิดที่สมองผมสร้างขึ้นมานั้นสะท้อนความหยาบกระด้างในจิตใจผมเองด้วยเช่นกัน เพราะความจริงมันคือกำแพงที่กักขังความรู้สึกที่เป็นอิสระเอาไว้ ความรู้สึกที่เป็นอิสระจากมายาคติแห่งตัวตนที่มันบ่มฝังมาช้านาน จากวิถีการดำเนินชีวิต การเอาตัวรอดในสังคมที่ซับซ้อน วงกลมมนุษย์ได้ทำให้มนุษย์ปุถุชนอย่างผมได้ใคร่ครวญตัวตนไปด้วยเช่นกัน.