Skip to main content
อิสมาอีล บิน มูฮำหมัด ฮายีแวจิ
สำนักสื่อ Wartani
 
วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556 นักศึกษา นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และประชาชนปาตานี (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ทยอยเข้าร่วมงานสมทบทุนเพื่อหารายได้ต่อเติมอาคารห้องสมุดประชาชนในโครงการ “จัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี)”  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2556 ณ บ้านเงาะกาโป อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
 
เมื่อเวลา 08.30 น. เริ่มต้นด้วยการเดินขบวนพาเหรด แห่ขบวนช้าง ในรูปแบบวัฒนธรรมมลายูปาตานี โดยมีนากยกเทศมนตรี เทศบาลอำเภอบันนังสตา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสตา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชมรมอีหม่ามอำเภอบันนังสตา ร่วมเป็นเกียรติในการเดินขบวนพร้อมกับนักเรียนโรงเรียนมลายู (ตาดีกา) เยาวชนในพื้นที่ กลุ่มแม่บ้าน และชาวบ้านประมาณ 400 กว่าคน โดยมีประชาชนในพื้นที่ออกมาร่วมชมและต้อนรับขบวนแห่ช้างอีกหลายร้อยกว่าคน
สีสันในการเดินขบวนครั้งนี้มีความหลากหลาย มากมาย หลายสไตล์ ภายใต้คอนเซ็ป “วัฒนธรรมมลายูปาตานี” อาทิเช่น การแห่ช้างนำขบวน การแต่งกายชุดมลายูปาตานี การแต่งกายชุดทำงานของคนในพื้นที่ และปิดท้ายด้วยการแห่ขบวนรถโบราณประมาณ 100 คัน เป็นต้น แต่ที่สะดุดตามากที่สุดในการเดินขบวนในรูปแบบของคนมลายูปาตานีทุกครั้งคงหนีไม่พ้นวาทกรรม หรือคำคมสอนใจให้กับท่านผู้ชมและทุกท่านที่มาร่วมงาน อาทิเช่น
 
  • Melayu Language of Asian / Bahasa Melayu Bahasa Asian (ภาษามลายู ภาษาอาเซี่ยน)
  • I Love Melayu Patani / Aku Cinta Melayu Patani (ฉันรักมลายูปาตานี)
  • Tadika Melibar, Agama Tersibar (ตาดีกา (โรงเรียนมลายู) เบิกบาน ศาสนาอิสลามก็ทั่วถึง)
  • Tadika Membebaskan Umat (ตาดีกา (โรงเรียนมลายู) สามารถปลดปล่อยประชาชาติจากสิ่งเลวร้าย)
  • Taman Asuhan, Tunas Bangsa (สถานบ่มเพาะ คือความหวังของชาติ)
  • Membaca Budaya Kita (การอ่าน คือ วัฒนธรรมของเรา)
  • Caknakan Bahasa, Julangkan Budaya
  • Ganti Sebelim Patah, Patah Sebelum Hilang เป็นต้น  
 
 
ซาการียา  กูเต๊ะ ประธาน คณะทำงานโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อศูนย์กลางการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) กล่าวว่า “เราริเริ่มสร้างห้องสมุดประชาชนด้วยการพูดคุยในวงย่อยระหว่างชาวบ้านและนักศึกษาที่ตระหนักถึงการอ่านที่เป็นหลักสำคัญในการศึกษา ซึ่งวันนี้การเรียนรู้ผ่านศาสตร์ต่างๆที่มีอยู่ ไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในพื้นที่”
 
ซาการียา กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 เป็นวันแรกลงเสาเอกและสร้างห้องสมุดประชาชน โดยมีนักศึกษาจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบันนังสตาภายใต้ชื่อโครงการ “ห้องสมุดที่ปลายฝัน จุดประกายทางปัญญา สู่สันติภาพที่ยั่งยืน” ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนั้นสามารถสร้างฐานและเสาอาคาร แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน”
 
ต่อมาก็มีการพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะสานฝันที่ได้วาดไว้ตั้งแต่ต้นให้สำเร็จ จึงได้จัดกิจกรรมสมทบทุนเพื่อหารายได้ในการต่อเติมอาคารห้องสมุดประชาชนในโครงการ “จัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อการเรียนรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี)” ขึ้น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์สำหรับเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) ตามวิสัยทัศน์ที่ได้วางไว้ต่อไป”   
 
สมศักดิ์ เจริญใบกูล นายอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเปิดงานในวันนี้ ขอชื่นชมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกคนที่ตระหนักถึงการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษา
 
ซึ่งแหล่งเรียนรู้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง สามารถสอนให้เรารู้เท่าทันคนอื่นได้ วันนี้คนกรุงเทพฯรู้อะไร คนเชียงใหม่รู้อะไร คนบันนังสตาก็ต้องรู้เช่นเดียวกัน ผมขอเชิญชวนให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือทุกศาสตร์ ทุกแขนง และขอทิ้งท้ายด้วยคำว่า “ฐานของตึก คือ อิฐ ฐานของคน คือ การศึกษา””สมศักดิ์ กล่าว
 
อับดุลเราะห์มาน บิน ฮัจยีอูเซ็ง นายก องค์การบริหารส่วนตำบลบันนังสตา กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้นหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ผมขอกล่าวขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือตั้งแรกเริ่มจนถึงวินาทีนี้ ขอบคุณครับ Terima Kasih” ซาการียา กล่าว
 
ภาพรวมงานในครั้งนี้มีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิเช่น เวทีเสวนา เวทีบรรยายศาสนา โดยนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ อูลามาอฺ จากในประเทศและต่างประเทศ ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำศาสนา ในการสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา” / “ภาษามลายู...ความสำคัญในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” / “ภาวะผู้นำ...ความท้าทายแห่งยุคโลกาภิวัฒน์” / “วาระประชาชนกับการสร้างสรรค์สันติภาพ”  และหัวข้อ “สังคมคุณธรรม...ความหวังสู่การพัฒนาภาวะผู้นำในชุมชน”
         
ซุ้มนิทรรศการต่างๆจากองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนักศึกษา และองค์กรภาคประชาชนปาตานี มีดังต่อไปนี้
 
  1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS]
  2. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.)
  3. ชมรมสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี
  4. ชมรมภาษามลายู มอ.หาดใหญ่ [BMC]
  5. ชมรมสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่
  6. ชมรมภาษาและวัฒนธรรมมลายู ม.วลัยลักษณ์ [MLCC] 
  7. กลุ่มกิจกรรมนักศึกษา สถาบันอิสลาม และอาหรับศึกษา ม.นราธิวาสราชนครินทร์
  8. กลุ่มนักศึกษาอนุรักษ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ มรภ.นครศรีธรรมราช [SELATAN]
  9. กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้ มอ.หาดใหญ่ [Kawan-Kawan]
  10. เครือข่ายนักศึกษาสานสัมพันธ์ จังหวัดยะลา [RESTU]
  11. เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ มอ.ปัตตานี [IRIS]
  12. องค์กรนักศึกษามลายูอิสลามสุราษฎร์ธานี [OMIS]
  13. กลุ่มนักศึกษา JISDA วิทยาลัยอิสลามเชคดาวูดอัลฟาตอนี จังหวัดยะลา
  14. สำนักสื่อ Wartani
  15. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC]
  16. เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิม ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ [SPAN]
  17. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ [Deep Peace]
  18. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP)
  19. กลุ่มบุหงารายา [Bunga Raya Group]
  20. มูลนิธิฮีลาลอะห์มัร อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  21. กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม [PHOS]
  22. ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา [PUKIS]
  23. สหกรณ์ออมทรัพรย์อิสลามฟาตอนี [KUPRASI]
  24. แหล่งการเรียนรู้ชุมชน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านกือเม็ง ต.ซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
  25. โรงพยาบาลบันนังสตา
  26. โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง อำเภอบังนังสตา (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
 
 
 

 
ดูวิดีโอในงาน คลิ๊ก