Skip to main content

ทันทีทันใดนั้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวอันคึกคัก มีการจัดเวทีพูดคุยแทบไม่เว้นแต่ละวันในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ  ผลพวงอันนี้แน่นอนว่าเป็นเพราะการตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างไทยกับบีอาร์เอ็นอย่างมิพักต้องสงสัย

งานเสวนาเพื่อเตรียม (ผลักตัวเอง)เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพของสภาประชาสังคมชายแดนใต้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาในหัวข้อ “การหารือแนวทางการสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” นั้น มีทั้งการให้การศึกษาเรื่องกระบวนการสันติภาพ และการมองบทบาทของประชาชนต่อกระบวนการ ซึ่งที่จริงก็เป็นธงของงานทุกเวทีที่ต้องการปลุกชาวบ้านให้ตื่นขึ้นมาแสดงสิทธิและส่งเสียงเข้าร่วมในกระบวนการที่หลายคนเชื่อว่าได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ไม่ว่า ณ เวลานี้มันจะดูขี้เหร่แค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระบวนการนี้มีแค่คู่ความขัดแย้งสองฝ่ายคือรัฐและบีอาร์เอ็นเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดทางออกของปัญหา

การศึกษาเรื่องกระบวนการสันติภาพนั้นอันที่จริงแล้วนับเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนในพื้นที่ แต่สำหรับสังคมไทยโดยรวม ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและ “รู้ทัน” การเจรจา ช่วยให้คนทั่วไปสามารถตั้งหลักอยู่กับความเป็นจริง ไม่มองโลกเป็นสีชมพูมากเกินไป เพราะข่าวการเจรจาสันติภาพที่ลอยมาท่ามกลางห่ากระสุนและควันระเบิดอาจจะทำให้ผู้คนหัวใจพองโตด้วยความหวังและกู่ไม่กลับได้ง่ายๆ (ครั้นแล้วก็อาจหัวใจวายเพราะตื่นขึ้นมาพบว่าชีวิตจริงนั้นยังต้องจมอยู่กับกองเลือดกันต่อไป)  

ผู้รู้ที่ศึกษาในเรื่องกระบวนการสันติภาพได้เตือนสติผู้รับข่าวสารกันตั้งแต่วันแรกๆแล้วว่า การเจรจาใดๆไม่มีทางที่จะเริ่มต้นอย่างสวยหรู แต่หากทำงานหนักและอดทนมากพอ (และโชคช่วย)อาจจะได้ผล พูดแบบหยาบๆก็คือการเริ่มต้นแบบกระจอกอาจจะไม่จำเป็นต้องจบแบบกระจอกถ้าเล่นเป็น 

ในเวทีพูดคุยวันที่ 10 เม.ย.คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทำงานในภาคประชาสังคมต่างแสดงเจตนาอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการ เพราะหลายคนเห็นพ้องว่าผู้ที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามหนนี้คือชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าจะในกรณีปราบหนักหรือกรณีที่ปัญหาเรื้อรัง ความสูญเสียนี้ทำให้พวกเขามีสิทธิที่จะมีเอี่ยว การเคลื่อนไหวในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่พิธีกรในรายการเสวนาวันนั้นเรียกมันว่า เป็นการมองหาจุดยืนสำหรับคนที่ “ไม่ได้ถือปืน”

แต่ปัญหาของพวกเขาก็คือ จะเข้าร่วมได้อย่างไรในเมื่อการเจรจาอย่างเป็นทางการนั้นบนเวทีมีคนแค่สองฝ่าย คือฝ่ายรัฐและขบวนการในฐานะคู่เจรจา ที่ผ่านมามีข่าวว่าฝ่ายรัฐได้ทาบทามคนทำงานในภาคประชาสังคมบางคนให้เข้าร่วมในกลุ่มที่ทำหน้าที่ตัวแทนจากภาครัฐ แต่ก็ไม่มีใครขานรับเนื่องจากไม่เห็นว่าตัวเองจะไปอยู่ในสถานะของตัวแทนรัฐไทยได้

ในการพูดคุยวันที่ 10 เม.ย. มีผู้หารือถึงความเป็นไปได้ของการที่ตัวแทนชาวบ้านและภาคประชาสังคมจะเข้าไปเป็น third party หรือ party c - กลุ่มที่สามในเวทีเจรจา – แต่หนทางนี้ดูเหมือนจะปิด ทั้งยังดูไม่สมเหตุสมผลอีกด้วย ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีซึ่งร่วมวงเจรจาในทีมตัวแทนรัฐบาลระบุชัดว่า ตามข้อตกลงเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้  โดยเฉพาะฝั่งขบวนการที่ต้องการให้ปิดลับตัวตนของฝ่ายตนเพราะต้องการรักษาความปลอดภัย

แต่พลันก็มีคนแย้งว่า เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นว่าจะปิดลับได้ เพราะสื่อไทยเล่นข่าวกันจนพรุนว่าใครเป็นใครในโต๊ะเจรจาหนนี้

อย่างไรก็ตามอจ.ศรีสมภพยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ใครเป็นใครในฝ่ายขบวนการที่อยู่ร่วมโต๊ะเจรจานั้นสื่อไทยยังจับต้องไม่ได้อย่างแท้จริง ชื่อที่ปรากฏออกมาก็ “เฉียดไปเฉียดมา” แถมไม่ใช่ชื่อจริง ข้อมูลที่รู้กันตามที่ฝ่ายรัฐแถลงคือในหมู่ผู้เข้าร่วมโต๊ะจากฝ่ายขบวนการนั้น มีตัวแทนบีอาร์เอ็นห้า และพูโลอีกหนึ่ง 

ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกระบวนการสันติภาพยืนยันด้วยว่า การเจรจาที่จะให้ประสบผลต้องให้คู่เจรจาสบายใจว่าพวกเขาปลอดภัยและมีการรักษาความลับ เพราะไม่เช่นนั้นการเจรจาก็จะเป็นของปลอม (ไปจริงๆ) และ “ในตอนแรกอาจจะมีความจำเป็นที่ไทยและมาเลเซียต้องทำให้ข่าวการทำข้อตกลงเจรจามีสีสันเพราะทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ แต่หลังจากนี้ควรจะต้องทำให้มันลับมากขึ้น” ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส ผู้อำนวยการโครงการภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิเบิร์กฮอฟ กล่าว

ภาคประชาสังคมจึงมีปัญหาข้อแรกว่า หากต้องการมีสิทธิมีเสียง พวกเขาจะทำผ่านช่องทางไหนได้ การจะตีฆ้องร้องป่าวอยู่รอบนอกผ่านการจัดเวทีต่างๆแม้จะใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงก็อาจจะดังไปไม่ถึงเวทีเจรจา และแม้พวกเขาจะได้ยินก็ยังมีอีกหนึ่งปัญหาตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จะมีหลักประกันอะไรที่ “คนถือปืน” ทั้งคู่จะฟังเสียงของพวกเขา

ในที่ประชุมมีผู้สื่อข่าวอิสสระรายหนึ่งให้ข้อมูลจากการไปทำข่าวการประชุมโดยบอกว่า จากการที่ได้คุยกับฮัสซัน ตอยิบ ด้วยตัวเอง “ผู้ประสานงาน” บีอาร์เอ็นบอกว่า ในหนนี้เขาถือว่าตัวเองเป็น “ตัวแทน”ของประชาชนในการเจรจากับรัฐไทย 

ทำให้อดสงสัยในใจไม่ได้ว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วฮัสซัน ตอยิบจะมีวิธีการหรือกลไกในการรับฟังเสียงจาก “ประชาชน” ที่เขาถือว่าเขาเป็นตัวแทนนั้นได้อย่างไร และสิ่งที่สำคัญก็คือ “ประชาชน” ที่เขาว่านั้นประกอบด้วยใครบ้าง  

(พูดเรื่องนี้ต้องขอลากออกนอกประเด็นไปยังเรื่องที่มักมีคนติดใจสงสัยกันมากมายก็คือเรื่องผู้แทนเจรจาของฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นตัวจริงเสียงจริงแค่ไหน สามารถเชื่อมโยงหรือคุมฝ่ายกำลังได้จริงหรือไม่  แม้ว่าจะมีผู้หยิบยกหลายเหตุผลมาถกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด – อย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในเวลานี้ – แต่ประเด็นนี้ถึงอย่างไรก็ยังเป็นที่ค้างคาใจของคนแทบทุกเวที และในเวทีนี้ก็เช่นกัน

อจ.ศรีสมภพอีกเช่นกันที่พยายามคลี่คลายข้อสงสัยในเรื่องนี้จากอีกแง่มุมหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าในทีมเจรจานั้น มีอย่างน้อยก็คนสองคนที่เป็นคนหนุ่มอายุสามสิบต้นๆคนหนึ่ง กับอีกรายหนึ่งสี่สิบต้นๆ และที่สำคัญ “คนหนุ่มในกลุ่มคือคนที่พูดมากที่สุดในวงเจรจา ส่วนคนที่อายุมากกว่านั่งฟัง”  โดยบอกว่า เรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นก็ได้ว่าพวกเขาอาจจะเป็นตัวแทนขององค์ประกอบที่เป็นคนรุ่นใหม่ในขบวนการ)

ในเรื่องของประเด็นของภาคประชาสังคมนั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือเรื่องของการกระจายข่าวสาร เป็นที่ชัดเจนว่า หากคนทั่วไปจะได้แสดงสิทธิหรือส่งเสียงเข้าร่วม การสื่อสารในเนื้อหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คนไทยพุทธในพื้นที่รายหนึ่งสะท้อนปัญหาว่าที่ผ่านมาคนอย่างเขารับรู้ข่าวคราวเช่นในเรื่องของความสูญเสียผ่านสื่อกระแสหลักซึ่งนำเสนออย่างมากก็ความสูญเสียในหมู่ไทยพุทธด้วยกัน ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการนำเสนอความสูญเสียทั้งสองด้านเพื่อที่คนทั้งสองกลุ่มสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของทั้งสองฝ่ายได้ – เรื่องนี้นับเป็นการชี้เป้าตรงไปยังปัญหาเรื่องการสื่อสารโดยตรง ว่าสื่อกระแสหลักยังไม่เป็นเวทีในการแบ่งปันข้อมูลของคนทุกกลุ่ม  โจทย์เรื่องการมีสื่อที่จะสามารถกระจายข่าวของคนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงกำลังจะเจอบททดสอบอีกครั้งในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ  และปราศจากช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ต่อให้ภาคประชาสังคมทำงานกันจนเหงื่อท่วมตัวก็คงไม่อาจกระจายข่าวและรวบรวมความเห็นเชื่อมโยงระหว่างคนในเวทีเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมดได้ - นี่ยังไม่พูดถึงสังคมไทยโดยรวมด้วยซ้ำ

ข้อเสนอว่าชาวบ้านและภาคประชาสังคมจะทำอะไรได้ ได้รับคำตอบส่วนหนึ่งจากนอร์เบิร์ต ที่เก็บบทเรียนจากต่างแดนเสนอว่า ในกระบวนการเจรจานั้น การนำเสนอความเห็นและข้อเสนอจากประชาชนอาจจะทำได้โดยการส่งผ่านข้อเสนอไปยังทีมที่ปรึกษาของทั้งสองฝ่าย และทำได้ทันทีไม่ต้องรอการเปิดรับอย่างเป็นทางการ “ความสำเร็จของการเจรจาในแทรค 1 (ของคู่เจรจาสองฝ่าย) อยู่ที่การสนับสนุนของคนใน track 2 (หรือส่วนของประชาชนทั่วไป) การระดมเสียงจากคนระดับรากหญ้าเพื่อเสนอความเห็นให้คนในเวทีเจรจาต้องรับฟัง เป็นการกดดันพวกเขาให้หาทางออกให้ได้ และผู้คนมีสิทธิที่จะทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอ”

เขายกตัวอย่างของสิ่งที่ภาคประชาสังคมจะทำได้ก็คือ อย่างแรก สร้างเวทีพูดคุยล้อเวทีใหญ่ เพื่อระดมความเห็นของประชาชนให้ถกกันในประเด็นเดียวกันกับที่เวทีเจรจาถกกันอยู่ “เป็นเวทีให้คนที่เห็นต่างกันในเรื่องประเด็นเดียวกันได้คุยกัน มองหาความคิดใหม่ๆจากเวทีแทนที่จะรอแต่เวทีใหญ่ บางครั้งอาจจะนำเสนอบางเรื่องที่เวทีเจรจาใหญ่ไม่ได้คิดหรือสนใจด้วยซ้ำ”

อย่างที่สองคือมองหาสิ่งที่เป็นความต้องการของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสันติภาพ พวกเขาอยากได้อะไรแล้วนำความเห็นนั้นนำเสนอหรือสะท้อนออกไป  ประการที่สามคือทำให้กระบวนการเจรจานั้นมีความลุ่มลึกมากขึ้น ขยายกว้างมากขึ้น ไม่ให้จำกัดลงเหลือแค่เป็นเวทีพูดคุยแต่จะต้องทำให้เป็น “ขบวนการ” คือไม่ใช่ให้มีแค่สองฝ่ายแต่ให้มากฝ่ายที่สุด “ในบางครั้งเมื่อการเจรจาสองฝ่ายสะดุดทำท่าจะล้ม เวทีข้างนอกคือเสียงที่จะกดดันให้พวกเขาหาทางเดินหน้าให้ได้”

นั่นก็เป็นข้อเสนอที่สรุปมาจากประสบการณ์ของการเจรจาที่อื่นๆ

แน่นอนในการกระบวนการสันติภาพก็มี “ตัวป่วน” เขาชี้ว่า ตัวป่วนในกรณีนี้ก็คือคนที่ได้ประโยชน์จากสงครามหรือความรุนแรง อีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในวงเจรจา ถูกเพิกเฉยหรือเบียดตกเวที พวกเขาอาจจะต่อต้านการเจรจา และกลุ่มที่ควรจะมองในตอนนี้กลุ่มหนึ่งที่น่าห่วงก็คือ “กลุ่มชาวพุทธในพื้นที่”

ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้สรุปในตอนท้ายว่า กลุ่มจะนัดพูดคุยใหม่ก่อนการเจรจาหนถัดไป ทั้งนี้เพื่อแสวงหาข้อเสนอร่วมให้กับคู่เจรจา “โดยหลัก ถ้ากระบวนการเจรจาเดินหน้าต่อ ใครใช้การทหารไปแทรกแซงฝ่ายนั้นจะเสียการเมือง เพราะการทหารเป็นเครื่องมือทลายอาการอุดตัน แต่ถ้ากระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้ คนใช้การทหารจะเสีย” จริงหรือไม่ คงจะต้องให้ชาวบ้านซึ่งเป็นคนที่ทุกฝ่ายที่ขับเคี่ยวกันทั้งในภาคสนามและบนโต๊ะเจรจาต่างกล่าวอ้างว่าเป็นมวลชนของพวกเขาเป็นคนตอบ

ซึ่งก็เป็นที่มาของคำถามสำหรับคนในภาคประชาสังคม จากคนในภาคประชาสังคมด้วยกันว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขาหนนี้ทำเพื่อใคร เพื่อประชาชน เพื่อกลุ่มของตนหรือเพื่อตัวเอง “ผมไม่กล้าเข้าไปยุ่งกับการเจรจาเพราะกลัวถูกหลอก ที่ผ่านมาเก้าปีคนตายเป็นคนทั่วไป ยังไม่มีเคยมีคนในภาคประชาสังคมเสียชีวิต ถ้าเราเดินตรงกลางจริงๆ เราจะเดินหน้าต่อไปและทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” เขาว่า

ท่ามกลางเสียงหนุน เสียงเตือน เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่า การทำข้อตกลงของฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นกำลังเปิดโลกใหม่ของการรณรงค์สร้างเวทีพูดคุย ซึ่งอันที่จริงเริ่มมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยคนที่เปิดตัวก่อนใครเพื่อนคือกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่จัดเวทีวิเคราะห์เรื่องการเจรจาไปไม่ต่ำกว่าสามหรือสี่ครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมากลุ่ม Bicara Patani ที่เคยจัดงานพูดคุยในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็จัดเวทีอีกในใจกลางพื้นที่สีแดงเถือกที่บันนังสตา  แว่วข่าวว่าในเวทีนั้นการแสดงความเห็นครื้นเครงแบบดุดันขนาดที่มีคนไปกระซิบถามภูมิหลังคนที่พูดผิดหูกันถึงหลังเวที – นอกจากนี้หลังการพบปะกันของไทยและบีอาร์เอ็นหนที่ผ่านมา ศอ.บต.ก็ได้จัดเวทีนำเสนอข้อมูลให้กับประชาชนไปแล้ว  ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ Patani Forum ก็จัดพูดคุยวงเล็กในระหว่างกลุ่มนักธุรกิจ กับอีกวงคือวงข้าราชการซึ่งบรรยากาศดูเหมือนยังไม่เปิดมากนัก ขณะที่ผู้เข้าร่วมการพูดคุยในกลุ่มนักธุรกิจกลับสะท้อนว่า พวกเขาแทบจะไม่ยี่หระต่อกระบวนการสันติภาพเนื่องจากไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงได้ และแสดงความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะอยู่ได้และอยู่ได้อย่างดีในสถานการณ์สงคราม  นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเสียงระบุที่ว่าจะลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องกระบวนการเจรจา เช่นคนจากสภาพัฒนาการเมือง ในวันที่ 28 เม.ย.นี้สภาประชาสังคมก็จะจัดงาน “สันติภาพชายแดนใต้ ใครกำหนด” ที่ปัตตานีอีกงาน เรียกว่าคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

อีกด้านความรุนแรงก็เพิ่มระดับความเข้มข้น วันที่ 10 เม.ย.วันเดียวกันกับที่สภาประชาภาคสังคมระดมความเห็นเรื่องสันติภาพ ตกค่ำปัตตานีระทึกไปด้วยเสียงระเบิดและข่าวเหตุการณ์ที่ประสานกันกว่าสิบจุด  มีภาพข้อความประท้วงไม่เอาการเจรจา ดูเหมือนว่าสิ่งนี้กำลังสะท้อนคำพูดบางคน คือในระหว่างเจรจาความรุนแรงไม่ยุติ เพราะมันคือกลไกของการต่อรอง  - อย่างน้อยที่สุดมันกำลังบอกเราว่า มีอะไรบางอย่างบนโต๊ะเจรจาหนนี้ที่มีคนรับไม่ได้

นี่แค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น