หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน"กระบวนการสันติภาพในมุมมองของนักธุรกิจ ในวันที่ 11 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี
(ที่มา: http://pataniforum.com/patani_cafe_detail.php?patani_cafe_id=17)
ตอนที่ 2 จะเป็นการนำเสนอมุมมองจากภาคธุรกิจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
จากการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) โดยตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นลงนามร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ของไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นข้อเสนอและการเจรจาระหว่างรัฐไทย (โดยมี สมช. เป็นตัวแทน) และจากตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า การพูดคุย จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงได้หรือไม่
การเจรจาในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงที่หลากหลาย ต่างเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ปลายทางในการเจรจาอาจจะไม่สามารถนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปาตานี ฟอรั่มได้จัดเวทีเพื่อให้เกิดการพูดคุยเพื่อที่จะนำความคิดเห็น มุมมอง รวมทั้งข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากเวที เพื่อที่จะนำเสนอสู่สาธารณะ
ผู้เข้าร่วมท่านแรกได้ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างน่าสนใจ คือ สิ่งที่น่ากลัวหากมีการเจรจาแล้วนำไปสู่ การลดจำนวนทหารหรือส่งทหารออกนอกพื้นที่ทั้งหมด จะเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ทุกภาคส่วนทั้งจะเจ๊ง ทั้งตลาดสด บิ๊กซี รวมทั้งคาราโอเกะ
ต่อมาผู้เข้าร่วมอีกท่านได้ยกตัวอย่างกรณีของไอร์แลนด์เหนือ โดยในช่วงระหว่างที่มีการทำข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยบางกลุ่มได้สร้างสถานการณ์ขึ้นมา เช่นเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการพูดคุยอย่างเปิดเผย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด อยากจะให้มองเป็นที่เป้าหมายถึงการพูดคุยว่า รัฐไทยต้องการอะไร ขบวนการต้องการอะไร ทั้งสองฝ่ายนี้มีต้องทำเป้าหมายของตัวเองให้เป็นผล
ผู้เข้าร่วมอีกหนึ่งท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า การคุยครั้งนี้ รัฐคุยกับใคร แน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่คุยด้วยสามารถที่บัญชาอะไรก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ใครเป็นหัวหน้าที่แท้จริง
ต่อมาผู้เข้าร่วมได้เริ่มตั้งคำถามที่น่าสนใจที่ว่า สำหรับการเจรจาในครั้งนี้ เป็นการเจรจากับตัวจริงหรือว่าตัวปลอม แต่การเจรจาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลังเจรจา จะเอาอย่างไร ในการเจรจาคำตอบมีเพียงแค่ 3 แบบคือ แบบแรกคือ พัง แบบที่ 2 คือรัฐบาลสามารถทำให้อีกฝ่ายวางอาวุธได้ โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ แบบที่ 3 ออกกฎหมาย 1 ฉบับ ซึ่งสองแบบนั้นไม่ได้มีปัญหาต่อวิถีชีวิตผู้คนเท่าใดนัก แต่ในแบบนี้สามนั้นจะสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มากที่สุด ตัวอย่างจากไอร์แลนด์เหนือ อาเจะห์ มินนาเดา รวมทั้งประเทศที่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เช่น ปากีสถาน ตอนที่แยกออกมาจากอินเดีย บังกลาเทศ หรือแม้แต่ประเทศในสหภาพโซเวียต ทุกพื้นที่เกิดภาวะช็อก ภาวะช็อกในพื้นที่นี้หมายถึง หลังบรรลุเป้าหมายของตนเองแล้ว ไปต่อไม่เป็น
ถ้าเราได้สันติภาพจริงๆ แล้วได้รับกฎหมายพิเศษขึ้นมา ถามว่า กฎหมายฉบับนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับเราในฐานะคนในพื้นที่
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมอีกท่านได้นำเสนอมุมมองที่ต่างไปจากข้างต้น กล่าวคือ ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา ทางรอดของมันก็คือการเจรจา ซึ่งจะเป็นการเจรจาในรูปแบบใด เจรจากับตัวจริงหรือไม่ เวลาจะเป็นคำตอบ มันไม่มีวิกฤติที่ไหนในโลกจบด้วยการใช้อาวุธ อย่างน้อยการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์นี้ ตั้งความหวังว่า มันน่าจะเป็นความจริง มันน่าจะเป็นโอกาส ส่วนต้องใช้เวลาอีกนานมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครสามารถตอบได้ ในนามของชาวปัตตานี และนักธุรกิจที่อยู่ที่นี้ คิดว่าทุกฝ่ายเริ่มที่จะเบื่อความรุนแรง วิธีที่จะหยุดความรุนแรงคือ การหาทางเพื่อที่จะเจรจา หาต้นเหตุ ต้นตอให้เจอ
ปัญหาที่ปัตตานี เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ไม่ใช่เพียงเกิดมา 9 ปีที่แล้ว ถ้าจะให้จบคงใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วันไม่ได้ มันต้องใช้เวลา ความสำคัญระหว่างรัฐกับขบวนการเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ที่จะต้องรับรู้ชะตากรรมของตัวเอง น่าจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตากรรม กำหนดวิถีชีวิตตัวเอง อันนี้ต่างหากที่น่าจะถึงเวลา ภาครัฐเองควรที่จะเปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ขบวนการเองก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความเห็น
ข้อคิดเห็นสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้ก็คือ แม้ว่าการเจรจาจะเป็นไปในรูปแบบใด ทั้งสองฝ่ายควรที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์และทรัพย์สินของประชาชนเป็น ทั้งสองฝ่ายควรที่จะมีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย มันควรที่จะมีข้อเสนอในเรื่องของรายได้ เรื่องของอาชีพ และธุรกิจ ไม่ใช่มองแต่เพียงเรื่องการเมืองอย่างเดียว
ไม่ว่าสันติภาพปัตตานีจะออกมาในรูปแบบใด นักธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปในแนวทางใด