Skip to main content
กุสุมา กูใหญ่
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ชีวิตจริงของเรามักดำเนินไปตามกรอบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบเรื่องเล่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านการพบปะสนทนากับผู้คน การมีปฏิสังสันท์ และการบริโภคข่าวสารจากสื่อมวลชน ธรรมชาติของเรื่องเล่าจะมีโครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบละคร (the dramatic construction) ด้วยการเกริ่นนำเรื่อง การเกิดปมความขัดแย้งในเรื่อง จุดพลิกผันเหตุการณ์ที่เร้าอารมณ์ และความต่อเนื่องของเหตุการณ์ย่อย ๆ ที่นำพาไปสู่การคลี่คลายปมอันเป็นจุดจบของเรื่อง เรื่องเล่าจะดำเนินไปไม่ได้เลยหากขาดปมความขัดแย้งที่ชักนำไปสู่การกระทำของตัวละคร เห็นได้จากตัวอย่างในขนบการเล่าเรื่องที่มักมีปมความขัดแย้งพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความชัง ความอิจฉาริษยา ความโลภ โกรธ หลง หรือโชคชะตา ปมความขัดแย้งเหล่านี้จะคลี่คลายไม่ได้หากขาดตัวละครในเรื่องที่ต้องสวมบทบาทในฐานะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำและผู้ต่อต้านการกระทำตามแต่ปมของเรื่องเล่าจะผูกไว้เช่นไร  
การดำเนินเรื่องแบบละครหรือดราม่าถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของบุคคลในสถานการณ์ความขัดแย้ง บทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อว่า Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ? ของ Gary Harper (2003) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่บุคคลมักตกอยู่ในกับดักของความเป็นละคร ซึ่งประกอบด้วยมุมมอง 3 ส่วนหลักคือ มุมมองในฐานะเหยื่อ, ผู้ร้าย และวีรบุรุษ ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมดราม่า (The Drama Triangle)[1] เราสามารถเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนในเทพนิยายที่มักมีตัวละครหลักสวมบทบาทเป็นตัวแทนของความดีงาม ความชั่วร้าย และผู้ได้รับผลกระทบ ในเรื่องเล่ามักมีการใช้เทคนิคการวางตัวละครตามมุมมองทั้งสามนี้เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างอารมณ์ร่วมแก่ผู้รับสาร และบ่อยครั้งที่พบว่าเรื่องราวที่แสดงอารมณ์มักถูกขยายความรู้สึกร่วมจนเกินไปจากความเป็นจริง 
ในวัฒนธรรมการดูละคร โรงละครเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมาพบปะกันและขณะที่ผู้ชมรับรู้เรื่องราวผ่านคำพูดและการกระทำของตัวละคร ก็ให้เกิดปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างผู้ชมกับผู้เล่าเรื่อง ผู้ชมกับตัวละคร ผู้ชมกับผู้ชมด้วยกัน รวมทั้งแม้แต่ผู้ชมกับตัวเอง เรื่องเล่าจึงเป็นพื้นที่การสื่อสาร ( color:#333333">mediation) อันหลากหลายทั้งในมิติของเวลาและสถานที่ และในมิติของความเป็นตัวตน (subjectivity) 
การวิเคราะห์เรื่องเล่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจมุมมองของผู้เล่าเรื่องในฐานะผู้มอง ผู้เฝ้าดู ผู้กระทำหรือผู้ตัดสินจากเรื่องราวที่เล่า ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาในมุมของผู้รับสาร ในขณะที่ฟังเรื่องเล่านั้น ผู้รับสารก็มักจะวางตัวเองอยู่ในบทบาทใดบทบาทหนึ่งในเรื่องซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับสารมีกรอบการมองเหตุการณ์ มีอารมณ์ร่วม และมีการใช้เหตุผลที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง (ไม่ว่าจะในตัวบทเรื่องเล่าหรือในชีวิตจริงก็ตาม) บุคคลนั้นก็มักวางตัวเองในกรอบการมองปัญหาแบบใดแบบหนึ่งตามลักษณะตัวละครทั้งสามในเรื่องเล่าที่กล่าวมาข้างต้น 
เหยื่อผู้อาภัพและบริสุทธิ์ ตัวอิจฉาที่ชั่วร้าย และวีรบุรุษผู้กล้าและเสียสละ ทั้ง 3 ตัวละครนี้เราพบเห็นอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือละครโทรทัศน์ ความเป็นดราม่าอยู่รายรอบตัวเราจนดูเหมือนเราจะคุ้นชินกับมัน บ่อยครั้งที่เราเห็นตัวเองอยู่ในบทบาทของเหยื่อที่ไร้อำนาจและบริสุทธิ์ในขณะที่เราอ่านข่าวอาชญากรรมหรือข่าวเหตุการณ์รุนแรง แต่บางครั้งเราอาจสวมบทบาทเป็นวีรบุรุษและยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความขัดแย้งเพื่อเอาชนะด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามและความยุติธรรม หรือบางครั้งเราก็อาจสวมบทบาทเป็นตัวอิจฉาเพื่อแสดงความโกรธและฉุนเฉียวคนอื่น แต่ละบทบาทเหล่านี้ Harper วิเคราะห์ว่า “มันทำให้เกิดมุมมองที่จำกัดเกี่ยวกับความขัดแย้ง ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้คนมักพูดว่าพวกเขา “ติดกับ” และถูกผลักให้จนมุม แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ติดกับดักของความขัดแย้ง แต่พวกเขาติดกับดักของสามองค์ประกอบของความเป็นดราม่านี้มากกว่า”
 
 
color:#333333">The Drama Triangle (Harper, 2003)
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เมื่อเราเห็นตัวเองเป็นเหยื่อหรือวีรบุรุษ เราก็จะสร้างศัตรูที่เป็นผู้ร้ายโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อเราสร้างบทบาทผู้ร้ายให้แก่ใคร ในทางกลับกัน เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาตกเป็นเหยื่อของเราและเห็นเราเป็นศัตรูด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเพื่อปกป้องตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการตอบโต้โจมตีเรา หรือแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้อีกต่อไป ในที่สุดสามเหลี่ยมดราม่าและบทบาทที่เชื่อมต่อกันนี้จะทำให้เราเกิดทัศนคติอย่างหนึ่งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือต้องมี “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ในความขัดแย้ง และในเมื่อไม่มีใครอยากแพ้ก็จะมีการตอบโต้เอาคืนอย่างไม่รู้จบ กลายเป็นวงจรของการแก้แค้นในที่สุด
ความเป็นดราม่าในสื่อมวลชน 
เรื่องเล่าในมุมมองแบบดราม่านี้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชนและวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของสื่อมวลชนกันอย่างกว้างขวาง  สื่อมวลชนถูกเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวสารที่มีความเป็นดราม่า และยิ่งต้องตระหนักอย่างจริงจังเมื่อต้องนำเสนอข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง คำถามก็คืออะไรคือความเป็นดราม่าในสื่อ ? และสื่อมวลชนควรแสดงบทบาทอย่างไร ?
ความเข้าใจโดยทั่วไป ความเป็นดราม่าคือรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวหรือสารที่เน้นสร้างความสนใจและเร้าอารมณ์ของผู้รับสาร หากเป็นสถานการณ์การสื่อสารโดยทั่วไป เป็นธรรมดาที่ผู้ส่งสารย่อมมีเจตนาที่จะดึงความสนใจและสร้างการยอมรับของผู้รับสาร แต่การนำเสนอแบบดราม่าไม่ควรนำมาใช้กับการนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชน เนื่องจากการรายงานข่าวอยู่ภายใต้กรอบพันธะสัญญาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารในเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” (fact) และ “ความเป็นจริง” (reality)[2] ดังนั้น การทำให้ข้อมูลข่าวสารมีความเป็นดราม่าจึงถือเป็นการบิดเบือน (manipulation) ข้อมูลข่าวสารแบบหนึ่ง (Charaudeau, 2011 : 219)  
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองแบบวาทกรรมวิเคราะห์กลับเห็นว่า เหตุการณ์ที่เราคิดว่า“จริง”ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น มันเป็นเพียงเหตุการณ์ของสื่อมวลชน (media event) ที่ไม่อาจเป็นแทนที่เหตุการณ์จริงได้ทั้งหมด เหตุการณ์ของสื่อมวลชนอาจใกล้เคียงหรือห่างไกลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่สื่อก็ได้ เนื่องจากมันเป็นผลรวมของข้อมูลข่าวสารที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ผ่านหลักการเลือกสรร การจัดลำดับความสำคัญ การจัดระบบตามกลไกลการทำงานของโต๊ะข่าวและตามกรอบทัศนะของนักข่าว บรรณาธิการ และฝ่ายต่างๆในองค์กรสื่อ เหตุการณ์ของสื่อมวลชนสะท้อนถึงการตัดสินใจของสื่อว่าข้อมูลข่าวสารอะไรควรนำเสนอและนำเสนออย่างไร (หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งคือ เรื่องราวอะไรที่สาธารณะควรรู้และไม่ควรรู้)  ในที่สุด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดการแล้วจะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเหตุการณ์ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และถูกตีความโดยสาธารณะ[3]
เหตุการณ์ของสื่อมวลชนแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือ เหตุการณ์ที่ถูกรายงานผ่านสื่อ (Reported event) เป็นการประกอบสร้างพื้นที่ให้กับประเด็นข่าว ผ่านการกระทำและคำพูดที่ถูกรายงานโดยผู้สื่อข่าว ทั้งสองส่วนนี้อาจมาในรูปของเทคนิคการเล่าเรื่อง การบรรยาย และการอธิบาย รวมทั้งการนำเสนอปฏิกิริยาตอบสนองจากสาธารณะเกี่ยวกับข่าวสารนั้น การเลือกประเด็นข่าวและแหล่งข่าว การเลือกใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ การจัดวางลำดับของเหตุและผล รวมทั้งเทคนิคของภาพและเสียง มุมมองแบบดราม่าอาจเข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการเหล่านี้  
ประเภทที่สอง เหตุการณ์ที่ถูกให้ความเห็น (Commented Event) คือการสร้างพื้นที่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นปัญหาที่สื่อมวลชนชูขึ้นมานี้จะมาในรูปแบบของการวิเคราะห์วิจารณ์บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ หลากหลาย และเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบได้  แต่ความเป็นดราม่าจะเกิดขึ้นหากข้อมูลข่าวสารแฝงด้วยอคติ อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของผู้สื่อข่าวหรือแหล่งข่าว
และประเภทสุดท้ายคือ เหตุการณ์ที่ถูกทำให้เป็นวาระ (Provoked Event)  เป็นการสร้างพื้นที่ของการถกเถียงในสื่อมวลชน เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีอภิปราย การสัมภาษณ์ในรายการสนทนา การวิพากษ์วิจารณ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ พื้นที่ของความคิดเห็นและการถกเถียงนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความสนใจของสาธารณะ เกิดเป็นกระแสหรือวาระทางสังคม และได้กลายเป็นเหตุการณ์ในตัวมันเอง เช่น การพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการจัดวาระข่าวสารในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านการเมืองการปกครอง การอำนวยความยุติธรรม และการยอมรับในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิม เหตุการณ์ประเภทหลังนี้เปิดโอกาสให้มีความเป็นดราม่าน้อยกว่าประเภทอื่นเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบซึ่งจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความคิดที่หลากหลายเพียงพอในสื่อ
ทั้งสามประเภทเหตุการณ์ของสื่อมวลชนนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันจนกลายเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข่าวในสื่อโทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยข่าว บทความ คอลัมน์ รายการพิเศษ ฯลฯ ที่มีประเด็นข่าวและความหมายของเหตุการณ์ในข่าวที่สอดประสานกัน[4] การทำให้ข่าวสารกลายเป็นดราม่า (a dramatizing scenario) จึงอาจเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ของสื่อมวลชนทั้งสามประเภทนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งหลายกรณี มีการศึกษาพบว่าการรายงานข่าวสารในสื่อมวลชนมักประกอบด้วยโครงเรื่องหลักคือ (1) การแสดงให้เห็นถึงความสับสนวุ่นวายในสังคมผ่านการกระทำของตัวแสดงคือ ผู้ร้าย เหยื่อและวีรบุรุษ (2) การเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา กำจัดสิ่งเลวร้ายหรือหาตัวผู้รับผิดชอบ และ (3) แสดงถึงการเข้ามาแก้ไขปัญหาของผู้ช่วยเหลือหรือวีรบุรุษ (Charaudeau, 2011 ; Gerbner, 1989)
สื่อมวลชนจะหลุดพ้นจากกับดักดราม่าได้อย่างไร ?
เมื่อกลับมาพิจารณาการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในสื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะกรณีการแถลงข่าวการทำข้อตกลงทั่วไประหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบ (BRN) เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริบทการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน จนกระทั่งมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการรอบแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานเหตุการณ์รวมทั้งนำเสนอความคิดเห็นและการวิเคราะห์จากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มสนับสนุนแนวทางการพูดคุยสันติภาพ  แต่ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์สถานการณ์ และตั้งคำถามหลายประเด็นทั้งจากนักข่าวเองหรือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การพูดคุยจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หรือไม่ กลุ่มขบวนการที่มาพูดคุยเป็นตัวจริงหรือไม่ ในฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการมีแนวคิดและการทำงานที่เป็นเอกภาพหรือไม่ การดำเนินการของรัฐบาลมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคนหรือไม่ ชาวมุสลิมในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
หากพิจารณาถึงธรรมชาติของเหตุการณ์ของสื่อมวลชน เราจะพบว่าคำถามเหล่านี้ยังไม่หลุดพ้นจากกับดักของสามเหลี่ยมดราม่า กล่าวคือ สื่อมวลชนยังมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสามตัวละครหลักของมุมมองแบบดราม่าคือ ความคลางแคลงใจในตัวผู้ร้าย (กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ) ความไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้แก้ปัญหา (รัฐบาล) และการมองเห็นเหยื่อเป็นฝ่ายที่อ่อนแอ (ประชาชนในพื้นที่)  เรื่องราวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ที่ยังคงติดอยู่ในกรอบการมองเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่พึงตระหนักและระมัดระวัง เนื่องจากเราอาจตกอยู่ในวังวนของสามเหลี่ยมดราม่าและมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่บริบทของสถานการณ์ในภาคใต้ขยับเปลี่ยนไปตลอดเวลา
ข้อสนอของ Harper นั้นน่าสนใจ เขามองว่าเราควรสร้างบทบาทใหม่ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง โดย (1) เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ (Victimisation) ไปสู่บทบาทของคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง (2) เปลี่ยนบทบาทจากวีรบุรุษ (Hero) ไปสู่บทบาทของผู้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และ (3) เปลี่ยนจากการมองศัตรูเป็นตัวอุปสรรค (Villain)  ที่คอยควบคุมหรือคิดร้ายมาเป็นผู้ประสานความร่วมมือ (Collaborator)  ข้อเสนอนี้คือการลดขนาดปัญหาหรือวงกลมในสามเหลี่ยมดราม่าให้สมดุล ไม่เอนเอียงไปยังคู่บทบาทใดบทบาทหนึ่ง เราต้องค้นหาพื้นที่ของการฟังคนอื่น รับฟังจุดยืนบทบาทของคนอื่นบ้างเพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยสันติภาพ ความเข้าใจร่วมกันและลดเงื่อนไขของความขัดแย้ง
กระบวนการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินไปและนั่นก็ทำให้เราและสื่อมวลชนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์นี้ใหม่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะเคยแสดงบทบาทใดในสามเหลี่ยมดราม่านี้ก็ตาม แต่หากเรา รวมทั้งสื่อมวลชนก้าวพ้นกรอบดราม่าและเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ นำเสนอข่าวสารที่แสดงถึงพลังของสังคม เปลี่ยนจากการมองประชาชนผู้ถูกกระทำไปสู่บทบาทของผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหา  เปลี่ยนจากการแสวงหาวีรบุรุษมากอบกู้สถานการณ์ไปสู่การแสวงหาผู้ที่สามารถประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ และเปลี่ยนจากการมองกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐเป็นศัตรูมาเป็นการเชื้อเชิญและสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเหล่านั้นเข้ามาสู่สนามแห่งสันติภาพ เราและสื่อมวลชนก็จะเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ได้ในเวลาอันใกล้.
 
รายการอ้างอิง 
Barthes, Roland. "L'introduction à l'analyse structurale des récits", in Communications, 8, 1966,  pp:1-27.
Breton, Philippe. « L’argumentation dans la communication ». Paris : La Découverte, 1996.
Charaudeau, Patrick. « Les médias et l’information : l’impossible transparente du discours ». 2nd ed. Paris : De Boeck, 2011.
Gerbner, George. « Violence et terreur dans les médias ». Paris : Unesco, 1989.
Harper, Gary. « Conflict Drama : Victim, Villain or Hero ?”, 2003. Available : http://www.garyharper.ca/Articles/ConflictDrama-VictimVillainHero.pdf
 


[1] สามเหลี่ยมดราม่า เป็นตัวแบบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เสนอโดย Stephen Karpman (1968). Available : http://www.karpmandramatriangle.com/articles.html
[2] มี “ความจริง” อีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้คือ ความจริงที่หมายถึงสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่เรา (truth) ซึ่งมีการถกเถียงในทั้งทางญาณวิทยาและทางปรัชญาถึงความจริงที่แท้นั้นมีหรือไม่  ความจริงในความหมายนี้อยู่นอกเหนือจากขอบเขตของพื้นที่สื่อ แต่เป็นขอบเขตของการรับรู้และการตีความของผู้รับสาร อ่านแนวคิดเรื่องความจริงเพิ่มเติมได้ “ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ” โดยศาสตราจรย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2551.
[3] เหตุการณ์ในสื่อมวลชนคือเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับการรับรู้และตีความของผู้รับสารเท่านั้น  กล่าวคือ อุบัติการณ์ใดก็ตาม หากเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรับรู้หรือไม่มีใครตระหนักว่ามันเกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไร ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ (event) ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟระเบิดบนเกาะในไอซ์แลนด์เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มันจะกลายเป็นเหตุการณ์ก็ต่อเมื่อมันถูกรับรู้และตีความว่าละอองเถ้าถ่านจากการระเบิดของภูเขาไฟนั้นส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เป็นต้น
[4] เป็นการสอดประสานของหน่วยของความหมายในทุกระดับของเรื่องเล่า ได้แก่ ระดับของภาษา ระดับความหมายและวาทกรรม และการจัดระดับชั้นของหน่วยของความหมายเหล่านั้น ได้แก่ ระดับของหน้าที่ (function)  และระดับของการกระทำ (action/index) ของความหมาย (Barthes, 1966)