|
(ลอนดอน, 16 พฤศจิกายน 2549) – ฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยจะต้องยุติการใช้พลเรือนเป็นเป้าของการโจมตีในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้ เฉพาะแค่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบได้สังหาร และทำร้ายพลเรือนไปมากกว่า 30 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้พลเรือนเป็นเป้าในการโจมตีเพื่อที่จะแสดงอำนาจของพวกตน และชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลไทย” “แต่การโจมตีพลเรือนเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย และไม่สามารถโต้แย้งอ้างความถูกต้องได้ด้วยเหตุผลทางศีลธรรมใดๆ”
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ผู้ชายชาวพุทธถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่ภรรยาของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในวันเดียวกันนั้น ผู้ก่อความไม่สงบได้กราดยิงใส่ร้านน้ำชาที่อำเภอรือเสาะ ทำให้โซฟี โตะลุโบะ เสียชีวิต และมาหามะ โตะลุโบะ ได้รับบาดเจ็บ วันที่ 11 พฤศจิกายน ได้มีการลอบวางระเบิดห้องแสดงรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในจังหวัดยะลา 8 แห่งพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 คน ส่วนที่จังหวัดปัตตานีก็มีพลเรือนถูกยิงเสียชีวิต 4 คนในวันเดียวกัน ขณะที่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารชาวพุทธ 2 คน และยังได้เผาบ้านของเหยื่อด้วย ขณะที่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พลเรือน 6 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบาร์คาราโอเกะ 3 แห่งที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ฮิวแมนไรท์วอท์ชมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโจมตีพลเรือน นับตั้งแต่ที่เริ่มเกิดความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2547
ผลการศึกษาของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี พบว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึง เดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,460 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 1,730 ราย และบาดเจ็บ 2,513 ราย ซึ่งเป้าหมายหลักของความรุนแรง คือ พลเรือน ที่นับรวมถึงคนงาน/ลูกจ้างของราชการ และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีจำนวนร้อยละ 60 (หรือ 1,873 ราย) ของเหยื่อทั้งหมด ตามมาด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ร้อยละ 16 หรือ 481 ราย) ทหาร (ร้อยละ 12 หรือ 373 ราย) และอื่นๆ (ร้อยละ 12 หรือ 369 ราย)
ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า เหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กล่าวคือ มีชาวมุสลิมเสียชีวิต 924 ราย และบาดเจ็บ 718 ราย ขณะที่มีชาวพุทธเสียชีวิต 697 ราย และบาดเจ็บ 1,474 รายในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนเหยื่อที่เหลือนั้นไม่สามารถระบุศาสนาได้
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “ผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่า พวกตนเป็นผู้ปกป้องชาวมุสลิมจากการละเมิดสิทธิ์มนุษยชน และการกดขี่โดยเจ้าหน้าที่ทางการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ”
“แต่ชาวมุสลิมหลายร้อยคน และชาวพุทธอีกเป็นจำนวนมากต้องเสียเสียชีวิตจากการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ”
วิธีการโจมตีส่วนใหญ่ที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้ ได้แก่ การยิง และการวางระเบิด ทั้งนี้ ปรากฏว่า การวางระเบิดแสวงเครื่องที่มุ่งเป้าที่จะทำร้ายพลเรือนนั้นมีความรุนแรง และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอท์ช ยังได้รวบรวบหลักฐานที่น่าตกใจเกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้การตัดศรีษะ การทำร้ายด้วยมีดดาบ และการทำร้ายศพเป็นเครื่องมือลงโทษพลเรือน ชาวพุทธ และมุสลิมที่พวกตนสงสัยว่า เป็นสายข่าว หรือเป็นผู้ที่ร่วมมือกับทางการไทย โดยอย่างน้อย มีเหยื่อที่ถูกตัดศรีษะ 17 ราย และมีเหยื่อที่ถูกฟันด้วยมีดดาบจนเสียชีวิตมากกว่า 40 รายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ผู้ก่อความไม่สงบได้โจมตีครู และโรงเรียนนับร้อยครั้งตั้งเดือนมกราคม 2547 ซึ่งมักส่งผลให้มีการปิดโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่หลายอำเภอ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของครู และนักเรียน ขณะที่พระภิกษุในจังหวัดนราธิวาสตัดสินใจงดบิณฑบาตภายหลังจากมีการวางระเบิดโจมตีพระภิกษุ และกำลังทหารคุ้มกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์โจมตีพระภิกษุครั้งล่าสุด หลังจากที่เคยมีการยิง วางระเบิด และฟันพระภิกษุด้วยมีดดาบมาแล้วหลายครั้ง
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ประชากรชาวพุทธทั้งหมดของหมู่บ้าน 3 แห่งในอำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตาต้องหนีจากบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณวัด ภายหลังจากที่ผู้ก่อความไม่สงบสังหารบุญ เอี่ยมสะอาด และอารี เอี่ยมนิรันดร์ แล้วยังได้เผาบ้านของเหยื่อทั้งคู่ด้วย
นับตั้งแต่ที่เกิดความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นเมื่อปี 2547 การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบมีลักษณะของการประสานงาน และมุ่งเป้าไปที่พลเรือนมากขึ้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน ผู้ก่อความไม่สงบวางระเบิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิงในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 59 ราย ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เกิดเหตุระเบิดพร้อมๆ กันขึ้นที่ธนาคารพานิชย์หลายแห่งในจังหวัดยะลา ส่วนเมื่อวันที่ 15 และ 16 มิถุนายน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้วางระเบิดสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ 31 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากจำนวนอำเภอทั้งหมด 33 อำเภอ
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบนั้นถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ชาวพุทธหลบหนีออกไป และควบคุมให้ชาวมุสลิมอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกตน”
ความรุนแรงรายวัน และบรรยากาศของความหวาดกลัวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป ชาวพุทธ และมุสลิมจำนวนมากยุติการประกอบธุรกิจในวันศุกร์ ภายหลังจากที่ได้รับคำสั่งจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ครอบครัวชาวมุสลิมถูกกดดันให้ต้องร่วมมือกับกิจกรรมของผู้ก่อความไม่สงบในการต่อสู้กับทางการไทย ทั้งในรูปของการสนับสนุนการเสบียง การให้ที่หลบซ่อน และการยินยอมให้บุตรหลานเข้าเป็นแนวร่วมของกลุ่มยุวชน (เปอมูดอ) และกองกำลังนักรบ (อาร์เคเค) ของขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนต
ในการตอบโต้ต่อการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ ทางการไทยได้ใช้วิธีการฆาตกรรมที่ผิดกฏหมาย การทำให้บุคคลสูญหาย และการจับกุมโดยพลการ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มกำลังทหาร และการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคงพิเศษ ซึ่งรวมถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงเจตนาที่ดีของตนต่อประชาชนที่กำลังติดอยู่ท่ามกลางปัญหาความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากฝีมือของทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ก่อความไม่สงบ” “รัฐบาลชั่วคราวจะต้องเร่งลงมือในเรื่องนี้ ถ้าหากหวังที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในภาคใต้”
ฮิวแมนไรท์วอท์ช เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบริเริ่มนำเอามาตรการคุ้มครองพลเรือนมาปฏิบัติ และยุติการโจมตีที่ไม่ได้แยกแยะเป้าหมายระหว่างกองกำลังในการสู้รบ และพลเรือนในทันที นอกจากนี้ ทางการไทย และกลุ่มติดอาวุธยังควรที่จะยินยอมให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ เกี่ยวกับคำร้องเรียนเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังจะต้องรับรองว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน” “ความล้มเหลวในการจัดการกับความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนในการเพิ่มบรรยากาศของความเป็นปรปักษ์ ซึ่งทำให้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความขังแย้งด้วยสันติวิธี และการเจรจานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
|