Skip to main content
มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
 
            เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ อุซตาซ ฮัซซัน ตอยิบ และ คุณ อับดุลการีม คอลิบ ได้ออกมาพูดต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยพูดในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเคลื่อนไหวบีอาร์เอ็น (BRN: Barisan Revolusi National)
 
            ในการออกมาสื่อสารกับคนทั้งโลกในครั้งนี้ (เนื่องจากกระทำผ่านยูทูป) ทั้งสองท่านได้แสดงถึงเจตจำนงค์ของการต่อสู้ของกลุ่ม พร้อมทั้งเสนอเงื่อนไขทางการเมืองดังที่สื่อมวลชนได้รายงานให้เป็นที่ทราบกันดีแล้วนั้น วัตถุประสงค์หลักของบทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าทั้งเจตนารมณ์และเงื่อนไขดังกล่าวแสดงถึงพัฒนาการปกติของกระบวนการพูดคุยหรือเจรจา บทความนี้ยังจะถกเถียงต่อไปอีกว่าเจตนารมณ์การต่อสู้และเงื่อนไขบางประการที่ตัวแทนทั้งสองท่านจาก BRN ได้เสนอมานั้นยังเป็นสัญญาณในเชิงบวกอีกด้วย
 
            9 ปีของการต่อสู้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้คนอย่างประเมินค่าไม่ได้ (ขณะนี้เฉพาะผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 5300 คน) แมคคาร์โก้ (Duncan McCargo) ศาตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้ติดตามศึกษาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากที่สุดในโลกเป็นรองก็แต่เเฉพาะ อิรักและอัฟกานิสถานเท่านั้น (ดู www.chathamhouse.org)
 
            ด้วยเหตุนี้เมื่อกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้เผยตัวและแสดงเจตจำนงค์ออกมาจึงเป็นเรื่องที่ดี แทนที่จะใช้อารมณ์ปฏิเสธอย่างทันควัน สาธารณชนควรรับฟังและใคร่ครวญอย่างถ่องแท้ถึงเนื้อหาสาระที่เป็นข้อเสนอมาจากพวกเขา การฟังว่าอีกฝ่ายมีอะไรจะพูดถือเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางปัญญา (Maturity) ของสังคมไทย กรณีการด่วนสรุปเรื่องป้ายผ้าที่มีข้อความในเชิงถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี ที่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ต้องนิ่งสงบและรับฟังอีกฝ่ายให้มากยิ่งขึ้น
 
            อาศัยคำแปลจากอาจารย์ชินทาโร่ (Hara SHintaro) แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี (ดูhttp://www.deepsouthwatch.org/node/4197) ผมมีข้อสังเกตุรวมทั้งข้อถกเถียงต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของ อุซตาส ฮัซซัน ตอยยิบ และเงื่อนไขที่นำเสนอโดย คุณ อับดุลการีม คอลิบ ดังนี้
 
            1) เป็นครั้งแรกที่กลุ่ม BRN ได้ออกมาพูดให้ความมั่นใจต่อพี่น้องชาวพุทธ (สยาม) และพี่น้องชาวจีน (จีนอ) ว่า "ไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยหรือเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมนี้" คำประกาศนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่ง เนื่องจาก 9 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึึ่งนำโดย BRN มีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับพี่น้องชาวจีนและชาวพุทธมาโดยตลอดเห็นได้จากการปฏิบัติการระเบิดครั้งใหญ่ๆหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดยะลา ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นการเจาะจงเป้าหมายต่อชุมชนที่มีชาวพุทธและชาวจีนอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใบปลิวที่ออกมา (ถ้ามาจาก BRN จริง) มักมีเนื้อหาที่ไม่เป็นมิตรกับทั้งสองกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
 
            การเข้าสู่โต๊ะเจรจาเป็นการบีบให้ BRN ต้องอ้างว่าตัวเองเจรจาในนามของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ (เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่ทุกฝ่าย รัฐบาล ทหาร นักการเมือง ต่างก็อ้างประชาชน) การอ้างอิงประชาชนจะขาดความชอบธรรมถ้า BRN กันกลุ่มคนอื่นๆที่ไม่ใช่มุสลิมออกไป การ "รับประกัน" ถึงความยุติธรรมที่ทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน (ถ้า BRN ขึ้นมาปกครอง) เป็นการตระหนักว่าต่อไปนี้ BRN จะต้องมีความระมัดระวังต่อเป้าหมาย การโจมตีที่ก่อให้เกิดลูกหลง (Collateral Damage) ต้องลดลง ถ้าประชาชนถูกลูกหลงและสูญเสียมาก BRN จะอ้างได้อย่างไรว่ามาจากประชาชน? ยิ่งไม่ต้องกล่าวว่าความยุติธรรมที่ BRN กล่าวถึงจะได้มาด้วยความอยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชนได้ได้อย่างไร?
 
            มองในแง่นี้ เจตนารมณ์ที่ประกาศโดย อุซตาส ตอยิบ ฮัซซัน จึงเป็นพัฒนาการที่ดีและเป็นการชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเจรจาเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ทำให้คู่เจรจาจะต้องหันกลับมาต่อสู่ในรูปแบบทางการเมืองปกติมากยิ่งขึ้น โดยมีประชาชนเป็นผนังพิง
 
            2) เงื่อนไข 5 ข้อมิได้เป็นเงื่อนไขที่ "เกินเลย" ยากแก่การเจรจาต่อรอง ทั้งนี้เนื่องจาก ไม่มีเงื่อนไขข้อใดหรือประโยคใดที่กลุ่ม BRN กล่าวถึงสิ่งที่ไม่สามารถเจรจากันได้ (unnegotiable) ในความเห็นของรัฐไทย (หรือรัฐอื่นๆ) คือเรื่องอำนาจอธิปไตยของไทย ข้อเสนอสองข้อ (ข้อ 2 และ 5) เป็นความต้องการที่จะให้รัฐไทยยอมรับสถานะของกลุ่ม BRN อย่างเป็นทางการ (จริงๆแล้วขณะนี้ในทางพฤตินัยรัฐไทยยอมรับสถานะนั้นแล้วด้วยการเข้าสู่การพูดคุยเจรจา) ข้อเสนอ ข้อ 1 กับ ข้อ 3 เป็นการหาพยานในการรับรู้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กลุ่ม BRN จะไม่ถูกหลอกจากรัฐไทยดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอื่นในอดีต (หนึ่งในนั้นคือ ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ กับพวกที่ตอนนี้ศาลฏีกาพิจารณาสั่งประหารชีวิต)
 
            ส่วนข้อเสนอที่ 4 เป็นข้อเสนอให้ปล่อยนักโทษ ทั้งที่มีหมายจับและถูกคุมขัง ซึ่งเป็นข้อเสนอปกติที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ว่าที่ไหนในโลกเขาก็ทำกัน ทั้งนี้เนื่องจากสมมุติฐานที่ว่าบุคลดังกล่าวมิได้ทำความผิดอันเกิดจากความชั่วโดยสันดานหากแต่ทำไปเพราะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากรัฐ ส่วนกรณีไหนที่ควรปล่อยหรือไม่ควรปล่อยเป็นเรื่องที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้
 
            ประเด็นอื่นๆ เช่นคำที่ กลุ่ม BRN ใช้เรียก รัฐไทยว่าเป็นนักล่าอาณานิคม เป็นประเด็นปลีกย่อย (ถึงแม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รองรับ) เป็นเรื่องปกติที่กลุ่ม BRN เรียกรัฐไทยเช่นนั้นก็ในเมื่อรัฐไทยเองก็เรียกเรียกพวกเขาว่าโจรใต้ได้เช่นเดียวกัน
 
            มองในภาพรวมจะเห็นว่า กลุ่ม BRN มองสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยอย่างเป็นจริง และยื่นข้อเสนอโดยการมองสภาพความเป็นจริง (Pragmatism) มากที่สุด คำศัพท์ที่ใช้อาจไม่รื่นหูผู้ฟังคนไทย แต่อย่าลืมว่าปาตานีกับสยามรบกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1785 ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันมันฝังลึก จะใช้คำหวานๆเรียกกันคงจะไม่ง่ายนัก
 
            แสงสว่างแห่งสันติภาพได้ถูกจุดแล้ว ถ้าหากมีพลังใดที่ต้องการให้มันดับลง โปรดนึกถึงเด็กผู้หญิงคนนั้น (และอีกกว่า 5300 ชีวิต) นิโซเฟียน นิสานิ เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ ที่เพียงต้องการกินไอศครีมในวันที่อากาศร้อนระอุ...