Skip to main content

 ฟารีดา ปันจอร์

 
เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษที่สงครามและความรุนแรงระหว่างกองกำลังทหารฟิลิปปินส์ (Arm Force of the Philippines - AFP) และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) ได้เกิดขึ้นในมินดาเนา รวมทั้งหมู่เกาะ Sulu  เกาะ Tawi-Tawi เกาะ Basilan และ Palawan  ด้วยเหตุผลที่ว่าในมุมมองของรัฐบาลฟิลิปปินส์ (Government of the Republic of the Philippines - GRP) นั้นมองความขัดแย้งดังกล่าวว่าเป็นความพยายามของมุสลิมทางตอนใต้ที่จะแบ่งแยกดินแดน ส่วน MILF มองว่านี่ไม่ใช่สงครามแบ่งแยกดินแดน แต่มองว่าฟิลิปปินส์ ได้ประโยชน์จากสเปนและสหรัฐอเมริกา ผู้เข้ามาครอบครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในอดีต  ซึ่งรวบเอาดินแดนของบรรพบุรุษของพวกเขาไว้อย่างไม่ถูกต้อง พวกเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ  ดังนั้น การใช้กำลังอาวุธจากทั้งสองฝ่ายจึงเป็นยุทธวิธีหลักในการนำไปสู่เป้าหมายในการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเรื่อยมา จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบัน กองกำลังทหารของฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้ในรูปแบบไหนและอย่างไร?
 
เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายกองกำลังทางทหารของฟิลิปปินส์จะเปลี่ยนท่าทีจากการใช้มาตรการทางทหารมาสู่แนวทางแบบสันติมากขึ้นนั้น พวกเขามักติดวนอยู่ในความพยายามของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่มักจบลงด้วยมาตรการทางการทหาร นับตั้งแต่ปี 1997 ในช่วงสมัยประธานาธิบดีฟิเดล รามอส เมื่อรัฐบาลแสดงเจตนาว่าจะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางกับ MILF ส่วน MILF เองก็แสดงเจตนาและตอบรับท่าทีของรัฐบาลอยู่เนืองๆ แต่การใช้กำลังจากทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินอยู่ต่อไป กระนั้นก็ยังมีความพยายามของรัฐบาลในการหาช่องทางในการพูดคุยระหว่างสองฝ่าย เช่น การตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคระหว่าง MILF – GRP (Technical Committees of the MILF and GRP) เพื่อเป็นกลไกในการเจรจาในประเด็นต่างๆ  อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การโจมตีครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังทหารรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้โจมตีค่ายอบูบาการ์  ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ของกลุ่ม MILF  และ มาตรการปราบปราม MILF (all-out war) ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 1999  ในสมัยของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ก็ทำให้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างมาก
 
แม้ในสมัยภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย  (2001-2010) การพูดคุยส่วนใหญ่จะดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีข้อตกลง หรือ agreement  ที่ตกลงกันได้ด้วยดี แต่มาตรการทางการทหารบางประการก็เข้ามาแทรกจนทำให้เกิดผลกระทบกับการเจรจาซึ่งกำลังเกิดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ในช่วงเวลานั้น การรุกทางการทหารทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร กล่าวคือ ความร่วมมือในการฝึกกองกำลังทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ที่มีขึ้นที่เกาะ Luzon เกาะ Mindoro แหลม Zamboanga  และ จังหวัด Basilan ในหมู่เกาะ Sulu เป็นไปเพื่อปราบปรามกลุ่มอบูซายาฟ มีการเฝ้าระวังกลุ่ม MILF และอบูซายาฟที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับเครือข่ายอัลกออิดะห์ ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาด้วยกำลังทหารก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นต่อมาตรการใช้กำลังระหว่าง MILF และรัฐบาลในช่วงเวลานี้
 
แต่หลังจากนั้น กองกำลังทหารฟิลิปปินส์ (AFP)  ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนการสันติภาพ เพื่อจัดทำกรอบข้อตกลงบังซาโมโรตั้งแต่ปี 2010 กระบวนการสันติภาพดังกล่าวทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะครอบคลุมกลุ่มที่ใช้แนวทางการทหารในการแก้ไขปัญหาอย่างมียุทธศาสตร์ ในแง่นี้ ภาคประชาสังคมมินดาเนามีส่วนสำคัญอย่างมากในการเปิดประตูไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร 
 
การมีส่วนรวมของฝ่ายทหารในกระบวนการสันติภาพนั้น มีจุดเริ่มต้นจากการที่ภาคประชาสังคมมีส่วนผลักดันให้เกิดกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น เช่น ในปี 2010 ภาคประชาสังคมจัดให้มีการพูดคุยระหว่างทหาร บาทหลวงคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ และผู้รู้ศาสนาชาวมุสลิม (Bishops-Ulama Conference) งานพูดคุยดังกล่าว เป็นตัวอย่างของการเปิดพื้นที่เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร นอกจากงานด้านการสนับสนุนให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว ภาคประชาสังคมยังผลักดันให้เกิดนายทหารที่ถือธงนำสันติภาพ (peace champions) ตัวอย่างของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งคือ นายพลเรย์มันโด เฟอเรอร์ (General Raymundo Ferrer) ผู้เป็นนายทหารคนแรกที่จบหลักสูตรหลักการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งและสันติภาพ จากนั้นเขาได้สานงานด้านการสร้างหลักสูตรเพื่อสันติภาพให้กับนายทหารคนอื่นๆ จนถึงปี 2010 มีนายทหารที่จบหลักสูตรนี้แล้วจำนวน 36 คน นายทหารที่เป็นคนนำธงสันติภาพนี่เองก็ร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อสันติภาพในการขยายการติดต่อและมีการขยายเครือข่ายกับกลุ่มที่มีความหลากหลายในพื้นที่ สร้างความร่วมมือระหว่างพลเรือนและนำไปสู่การขยายประเด็นต่างๆ เช่น การสร้างวัฒนธรรมสันติภาพ การพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและการฟื้นฟูการทำงานอาชีพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ด้วยอาวุธ เป็นต้น
 
 
 
 
พลตรี เรย์มันโด เฟอเรอร์  ผู้บัญชาการกองทหารราบที่ 6 ซึ่งปฎิบัติงานอยู่ในจังหวัด Maguindanao กำลังบรรยายสรุปการนำการอบรมเพื่อสันติภาพไปใช้ในหน่วยของตนเอง ร่วมกับนายทหารอีกหลายนาย ณ ศูนย์สันติภาพ Balay Mindanaw เมื่อปี 2007 (ที่มา:  http://balaymindanaw.org/galleries/peacepolicy/images/fullsize/IMG_5598.jpg.JPG     http://www.balaymindanaw.org/bmfi/newsupdates/2007/11peacesoldiers.html)
 
นอกจากนี้กลุ่มภาคประชาสังคมและคนที่ทำงานสันติภาพในระดับรากหญ้า เช่น ชุมชน ผู้นำศาสนา เยาวชนและองค์กรต่างๆ ที่ไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกัน ได้เข้ามาร่วมกันและทำงานร่วมกับฝ่ายทหารเป็นครั้งแรกๆ อีกทั้งขยายการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพร่วมกับกลุ่ม MILF ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือชุมชนรากหญ้าที่ทำงานกับทหาร มีการตั้งเขตเพื่อสันติภาพ (Peace Zone) โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะปกป้องสมาชิกในชุมชนจากการต่อสู้กับด้วยอาวุธ อีกทั้งความสัมพันธ์ในการทำงานที่เกิดขึ้นผ่านการอบรมจากสถาบันเพื่อสันติภาพ ทำให้ภาคประชาสังคมมั่นใจได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากฝายทหาร สู่การพยายามสร้างสันติภาพในระดับท้องถิ่น
 
มีสัญญาณที่ดีว่าในสมัยของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่ 3 (2010 – ปัจจุบัน) นี่เองที่กองกำลังทหารมีความตั้งใจในการปฏิรูปหน่วยงานของตนเอง โดยมีการออกคู่มือการปฏิบัติการงานข่าวกรองที่อิงกับหลักสิทธิมนุษยชน (Guidebook on Human Rights-Based Intelligence Operations) และ กฎที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและการสู้รบของกองกำลัง (Rules of Behavior and Rules of Engagement)  ซึ่งการปฏิรูปงานข่าวกรองดังกล่าวไม่ได้แยกส่วนระหว่างด้านความมั่นคงกับงานด้านสันติภาพอีกต่อไป ในความเห็นของ เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ (Teresita  Quintos Deles) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ ในงานสัมมนาของหน่วยงานข่าวกรองของกองกำลังทหารฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2011 เธอให้ความเห็นว่า การสร้างสันติภาพที่ดำเนินไปได้ด้วยดี จำเป็นต้องอาศัยงานข่าวกรองที่ดี และการมีงานข่าวกรองของทหารที่ดีทำให้คาดถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้จากพูดคุยบนโต๊ะเจรจา นอกจากนี้ เธอยังขอบคุณต่องานทำงานข่าวกรองของฝ่ายทหารที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างเต็มที่ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าการสร้างผู้นำประชาธิปไตยและการสร้างพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เป็นพื้นฐานที่ดีต่อการสร้างความยุติธรรมและความสงบสุขแก่ฟิลิปปินส์
 
 
 
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2011 ทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ (คนที่หกแถวล่างสุดจากซ้ายมือ )ผู้ช่วยประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ และตัวจากองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ การจัดการความขัดแย้งและประเด็นความมั่นคงต่างๆ ในมินดาเนา ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์สันติภาพ Balay Mindanaw และ นายพล เรย์มันโด เฟอเรอร์ ผู้บัญชาการกองกำลังทหารฟิลิปปินส์ (AFP) ซึ่งมีฐานปฏิบัติงานอยู่ทางตะวันตกของมินดาเนา (ที่มา: http://www.balaymindanaw.org/bmfi/newsupdates/2011/10_paradigms.html)
 
สอดรับกับความเห็นของนายทหารคนหนึ่งที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ร้อยเอก อาร์ทูโร เอ็ม  ดูมาลากัน (Army Captain Arturo M. Dumalagan) นายทหารที่ปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัด Lanao del Sur ในมินดาเนา แสดงความคิดว่า การมีกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement on the Bangsamoro)[1] จะทำให้ฝ่ายทหารเกิดความมั่นใจมากขึ้นในการบรรลุถึงสันติภาพในพื้นที่ของมินดาเนาและไม่ต้องต่อสู้กับ MILF ด้วยกำลังอาวุธอีกต่อไป  แต่จะเน้นการร่วมมือในการต่อสู้เรื่องอาชญากรรมในพื้นที่ เช่น การลักขโมย การลักพาตัว ปัญหายาเสพติด เป็นต้น เขามีความหวังว่าต่อไปนี้บทบาทของทหารจะมีเพียงการต่อสู้ภัยจากนอกประเทศ แทนที่จะต่อสู้กับประชาชนของตนเอง
เขาเน้นย้ำว่าการต่อสู้ระหว่าง MILF และรัฐบาลจะยังดำเนินต่อไป แต่จะเปลี่ยนแนวทางออกไปจากเดิมนับตั้งแต่มีข้อตกลงบังซาโรขึ้น สุดท้ายเขาแสดงความเห็นว่า แม้ว่าจะมีการเซ็นข้อตกลง แต่การนำไปใช้ให้เกิดผลเป็นกระบวนการที่ยากมากกว่าและเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด
 
 
เดือนกุมภาพันธ์ 2013 แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรและหน่วยทหารราบที่ 6 นำโดยพลตรี ซีซาร์ รอนนี่ ออโดโย (ขวา) รับประทานร่วมกันแบบพื้นเมือง หรือ boodle fight (คือ การโต๊ะอาหารร่วมกันในแบบของทหารซึ่งเป็นโต๊ะยาว ปูด้วยใบตอง รับประทานด้วยมือ) ก่อนมุ่งหน้าไปร่วมกับประธานาธิบดี อากีโน และ ฮัจญี มูรัด อิบราฮิม ประธาน MILF (รูปเล็ก) ในการออก "Sajahatra Bangsamoro" หรือ แนวทางริเริ่มเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับสุขภาพ การศึกษาและคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ MILF ดูแลอยู่ (ที่มา: http://retiredanalyst.blogspot.com/2013_02_13_archive.html)
 
อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหมู่ผู้สร้างสันติภาพไม่ได้สามารถเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารในกระบวนการสันติภาพก็ไม่ได้แยกออกจากการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาสังคมและรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความขัดแย้งกำลังดำเนินไป นายทหารที่ถือธงนำสันติภาพควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเราจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่าความสัมพันธ์ที่เหมือนจะปรับตัวไปในทิศทางบวกระหว่างภาคประชาสังคมและทหารในมินดาเนานั้น ยังคงดำรงอยู่ในบริบททางการเมืองส่วนกลางที่เกี่ยวพันกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอิทธิพลของทหารในการเมืองและการปกครองของฟิลิปปินส์อีกด้วย ความเป็นจริงของความขัดแย้งทางด้านอาวุธในประเทศดังกล่าว ยังคงเป็นที่ท้าทายที่จะสร้างทหารที่ถือธงด้านสันติภาพ ในขณะทหารรุ่นเก่าก็ยังคงแนวคิดที่มุ่งแต่จะปราบปรามกลุ่มติดอาวุธอยู่เช่นกัน
           
แหล่งอ้างอิง
 
Abhoud Syed M. Lingga. Peace Process in Mindanao: The MILF-GRP Negotiations [Online]. 2002.  Available from http://www.freewebs.com/fidayeen/ [2013, 29 April]
 
Myla Leguro. Engaging the Military in Building Peace in Mindanao [Online]. 2010. Available from http://peacepolicy.nd.edu/2010/04/09/engaging-the-military-in-building-peace-in-mindanao/ [2013,29 April]
 
Sunstar. A soldier’s story of peace in Mindanao [Online]. 2012. Available from http://www.sunstar.com.ph/tacloban/feature/2012/12/19/soldier-s-story-peace-mindanao-259160 [2013, 27 April]
 
The Office of the Presidential Adviser on the Peace Process. Speech given by Sec. Teresita Quintos-Deles during the AFP Intelligence Family Conference [Online]. 2011. Available from http://opapp.gov.ph/resources/speech-given-sec-teresita-quintos-deles-during-afp-intelligence-family-conference [2013, 27 April]
 


[1] ดูคำแปลเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาไทยที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/3939