Skip to main content

 รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช

สหายท่านหนึ่งที่ติดตามกระบวนการสันติภาพอย่างใกล้ชิดเขียนเปรยว่าไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนจ้องล้มสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่มากขนาดนี้ ผู้เขียนเองก็เฝ้าติดตามการวิเคราะห์และความเห็นของนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นายทหารและนักการเมืองหลายท่านในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีการลงนามเปิดฉากการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  จึงอยากจะร่วมแสดงทัศนะและร่วมถกเถียงในคำถามที่ถูกตั้งขึ้นในพื้นที่สาธารณะดังนี้
 
บางท่านอธิบายว่าที่ความรุนแรงยังไม่ลดลงหรือหยุด แสดงว่าคุมกองกำลังไม่ได้  ผู้เขียนคิดว่าไม่มีการเจรจาสันติภาพที่ไหนในโลกที่เสียงปืนจะหยุดลงทันที  หลังมีการตกลงว่าจะเริ่มพูดคุยกัน ซึ่งยังไม่ได้มีการเริ่มนับหนึ่งกันเลยว่าจะเจรจาเรื่องอะไรกันบ้าง  แค่เป็นการตกลงเพียงว่าเราเลือกที่จะนั่งคุยกันมากกว่ารบกันด้วยอาวุธ (เพียงอย่างเดียว)  ในการประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2556  ทาง BRN ก็ไม่ได้รับปากว่าจะลดความรุนแรงกับเหยื่อที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอและในเขตชุมชนเมืองตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ เพียงแต่บอกว่าจะไปหารือกับ “สภา” ก่อน  ในการพูดคุยรอบที่สองในวันที่ 29 เมษายน 2556  ทางด้านนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนหลักของฝ่าย BRNได้ยืนยันว่ามีสายการบังคับบัญชาถึงกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในพื้นที่  ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้เรียกร้องให้มีการแสดงให้เห็นความสามารถในการควบคุมกองกำลังให้ชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป
 
บ้างเสนอว่าที่ BRN ออกมาตั้งเงื่อนไข 5 ข้อ ก็เพราะต้องการหาทางลง เป็น exit strategy เพราะคุมกองกำลังไม่ได้  ผู้เขียนคิดว่าการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสาธารณะของ BRN ผ่านทางยูทูปนั้นมีนัยที่สำคัญหลายประการ  (ดูรายละเอียดที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4197) การมองว่าเป็นเพียงแค่ exit strategy นั้นเป็นการปฏิเสธที่จะไม่พิจารณาสิ่งที่เขาพูดอย่างจริงจังเพราะได้ปักใจไปแล้วว่าพวกเขาไม่มีทางเป็นตัวจริงไปได้   ในทัศนะของผู้เขียน สิ่งที่เห็นจากข้อเสนอของ BRN คือความรู้สึกไม่เชื่อใจฝ่ายที่พวกเขาเรียกว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” (ที่ขบวนการเรียกในภาษามลายูว่า penjajah Siam) ซึ่งฝังรากลึก (deep mistrust)  กล่าวคือ ถ้าให้คุยกันสองต่อสองก็กลัวจะถูกหลอกหรือเบี้ยว  จึงต้องการฝ่ายที่สามเข้ามาร่วมเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (มาเลเซีย) และพยาน (อาเซียน โอไอซี เอ็นจีโอ)  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการนี้จะไม่เป็นการปิดประตูตีแมวของฝ่ายไทย  นอกจากนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าทางฝ่าย BRNได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธใต้ดินมาสู่การพูดคุยแบบเปิดเผยทั้งบนโต๊ะเจรจากับคู่ขัดแย้งและกับกลุ่มผู้สนับสนุนของพวกเขาเอง   นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  หากเราเลือกที่จะคุยกันเพื่อแก้ปัญหามากกว่าฆ่ากัน นั่นก็นับได้ว่าเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญมากอย่างหนึ่งแล้ว 
 
บ้างว่าฝ่าย BRN กำลังแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวกลายเป็นผู้มายื่นข้อต่อรองกับรัฐไทย  ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ในเวทีการต่อรอง  ทั้งสองฝ่ายก็ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นข้อเสนอให้กับคู่ขัดแย้งพิจารณา ซึ่งในที่สุดเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมแวดล้อมก็ต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องของผู้แทนบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น   สิ่งที่เห็นคือฝ่าย BRN เองกำลังพยายามสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้สนับสนุน (constituents) ของพวกเขาเอง  ซึ่งบางคนในขบวนการก็ยังคลางแคลงหรือกระทั่งปฏิเสธการพูดคุยนี้ ฉะนั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าได้ยื่นเงื่อนไขที่หนักแน่นไปกับรัฐบาลไทยและที่ต้องเลือกใช้วิธีการพูดแบบเปิดเผยในที่สาธารณะก็เพื่อให้สารนั้นส่งไปถึงคนในทุกระดับของขบวนการ  สิ่งที่ทั้งฝ่ายไทยและ BRN ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงนี้คือการทำอย่างไรให้คนในฝ่ายของตัวเองที่ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้และมีแนวโน้มว่าจะกระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางกระบวนการนี้ (ในภาษาอังกฤษเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า spoilers) ให้เปิดใจรับฟัง  น่าสังเกตว่า BRN ไม่ได้ปฏิเสธข้อตกลงที่ว่าการเจรจาในครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย  ซึ่งหมายถึงพวกเขามีแนวโน้มว่าจะไม่ได้เอกราชตามเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ ฉะนั้น จะเรียกว่าเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวก็คงจะไม่เชิง   สิ่งที่พวกเขาพูดนั้นมีนัยของความพยายามที่จะประนีประนอมและพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกันอยู่มากทีเดียว
 
ถ้าให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) และโอไอซี อาเซียนหรือเอ็นจีโอมาเป็นพยาน จะเป็นการยกระดับการเจรจาซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารไทยกังวลมาโดยตลอดว่าอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน  ผู้เขียนคิดว่าการให้ประเทศที่สามหรือองค์กรระหว่างรัฐหรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นคนกลางในสถานะต่างๆ ในกระบวนการสันติภาพนั้นอาจจะเป็นการยกระดับให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสากลมากขึ้นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเสมอไป แต่ละความขัดแย้งมีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ทุกกรณีจะจบแบบติมอร์ตะวันออกที่มีการแยกประเทศออกไปจากอินโดนีเซียซึ่งนับว่าเป็นบทสรุปที่ยากที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน   ควรกล่าวด้วยว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอนี้มีความชอบธรรมมากในสายตาของประชาคมโลกก็คือการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐ   กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในกรณีอาเจะห์ในอินโดนีเซียและมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์นั้นนำไปสู่ข้อตกลงในการตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งนับได้ว่าเป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่าย (win win) กล่าวคือ รัฐไม่เสียบูรณภาพแห่งดินแดน ส่วนฝ่ายขบวนการก็ได้รับอำนาจในการจัดการปกครองในพื้นที่ตามแบบที่พวกเขาต้องการมากขึ้น ในกรณีมินดาเนามีการเจรจาสองกรอบในต่างช่วงเวลา  โอไอซีเป็น mediator ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MNLF (Moro National Liberation Front) ในช่วงค.ศ. 1975 - 1996 ส่วนมาเลเซียเข้ามาทำหน้าที่นี้ในกรณีของ MILF (Moro Islamic Liberation Front) ซึ่งเริ่มต้นในค.ศ.  1997 แต่มาเลเซียเข้ามามีบทบาทในช่วงหลัง ค.ศ. 2001 เป็นต้นมาซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ MILF  ฉะนั้นบทบาทของต่างประเทศหรือองค์กรที่สามเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุให้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด  พวกเขาอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างภาพที่ทหารไทยวาดไว้กระมัง
 
รัฐไทยไม่อาจทำตามเรื่องการปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงทั้งหมดและผู้ที่มีหมายจับได้  ผู้เขียนคิดว่าฝ่ายการเมืองเอง (โดยหลักคือ สมช. และศอ.บต.) กำลังดำเนินการในเรื่องการอภัยโทษผู้ต้องขังและการล้างหมายจับบางส่วนเท่าที่อำนาจตามกฎหมายอนุญาตไว้  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building)  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกอาจจะยังคงมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้  แต่ว่าในที่สุดแล้ว ประเด็นนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องจัดการอย่างเป็นระบบซึ่งต้องพัฒนาต่อไปอีกมากและต้องดำเนินไปพร้อมกับข้อตกลงในประเด็นอื่นๆ  โดยหลักคือข้อตกลงเช่นนี้ต้องมาเป็นชุด (package) ไม่ใช่ข้อตกลงเดี่ยวๆ และน่าจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของการเจรจา  ในทางวิชาการ ได้มีการพัฒนาทฤษฏีเรื่อง “การปลดอาวุธ  การเลิกเคลื่อนไหวต่อต้านและการกลับคืนสู่สังคม” (Disarmament, Demobilization and Reintegration - DDR)  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากภาวะของการความขัดแย้งด้วยอาวุธไปสู่ช่วงหลังความขัดแย้ง (post-conflict)   ซึ่งในกระบวนการนี้ก็อาจรวมถึงการนิรโทษกรรมกลุ่มติดอาวุธด้วย
 
ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถกเถียงกันต่อไปได้  แน่นอนว่ายังมีข้อบกพร่องอีกมากและมีอีกหลายสิ่งที่ควรทำเพื่อให้กระบวนการนี้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือมากขึ้น  สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่านักวิเคราะห์อิสระเรื่องภาคใต้ทั้งหลายอยากเห็นในตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาก็คือ กระบวนการสันติภาพ ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ไม่ใช่หรือ  การวิจารณ์ใดๆ น่าจะเกิดจากเจตนาเพื่อให้กระบวนการนี้เดินไปได้โดยเป็นพื้นที่การต่อรองอย่างสันติที่มีความหมาย   หลายข้อวิจารณ์ทำให้ผู้เขียนกังขาว่ามีเจตนาในการทำลายความชอบธรรมเพื่ออยากเห็นมันพังในเร็ววัน   แล้วพวกเราก็กลับไปนั่งนับศพกันต่อไปกระนั้นหรือ
 
 
รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง  เธอเป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group  และอดีตบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2556, หน้า 7