Skip to main content
กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
บทนำ
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้จัด ”การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 3” ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2556  เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใน3จังหวัดชายแดนใต้ กับ กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่  พร้อมกับเตรียมความพร้อมกับบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 
 
บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะเขียนถึงในส่วนที่เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีที่จัดโดย  ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  ม.อ.ปัตตานี การอบรมเชิงปฎิบัติการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มด้วยการปูพื้นฐานภาพรวมของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ การวิเคราะห์ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้และแนวโน้นที่เป็นไปในอนาคตของปัญหา กับ ช่วงที่ 2 คือการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ระดมความคิดเห็นของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมอบรมฯ ในประเด็น ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ,  ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ, และ บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพจากผู้เข้าร่วมที่เป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 
 
บทความฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อย่อยที่จะอธิบายถึง บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ, กระบวนการในการอบรมเชิงปฏิบัติการและข้อค้นพบ, ข้อสังเกตจาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และบทสรุป ซึ่งทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามของศอ.บต.ในการสร้างความเข้าใจกับกำนันผู้ใหญ่บ้านให้บทบาทในการสร้างการพูดคุยในTrackที่ 3 ที่เป็นคนเชื่อมต่อหรือส่งผ่านความคิดเห็นกับความต้องการของชาวบ้านไปยัง Trackที่ 2 และ 1 ในกระบวนการสันติภาพ และเป็นเป็นตาข่ายนิรภัย (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) ป้องกันในกรณีการพูดคุยใน Trackที่ 1 ล้มเหลวหรือมีอุปสรรคเกิดขึ้น
 
บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ
 
วันที่ 14 พฤษภาคม 2556 เป็นการฝึกอบรมในหัวข้อ “กระบวนการแก้ไขปัญหาในแนวสันติวิธี” โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ หัวข้อนี้เป็นการให้ความรู้แก่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ให้ทราบถึงจุดยืน (Position) ของตนเองในการบวนการสันติภาพ และบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะหนุนเสริม (Support) กระบวนการสันติภาพได้อย่างไร เพราะว่ากำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญอย่างมากในการบวนการสันติภาพในฐานะที่เป็นตัวแสดง (Actor) ที่สามารถสร้างการพูดคุยสันติภาพภายในประชาชนรากหญ้าใน Track 3 ซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้พร้อมกับเชื่อมต่อประสานกับองค์กรภาคประชาสังคมใน Track 2 และ เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเอง อย่างเช่น ปลัดอำเภอ หรือ นายอำเภอ ไปสู่ ศอ.บต. เพื่อส่งต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ไปสู่พื้นที่การพูดคุยใน Track 1 ตัวแทนของทางรัฐบาลที่เริ่มการพูดคุยไปแล้วในครั้งแรกวันที่ 28 มีนาคม 2556 และ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา
 
บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพใน Track 3 ที่สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และ เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบล ความสำคัญของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการพูดคุยถูกยกระดับไปสู่ขั้นเจรจา (Negotiation) อย่างเช่น ถ้าทางตัวแทนฝ่ายรัฐไทยเจรจาหยุดยิงหรือกำหนดพื้นที่ปลอดภัยกับตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันในจังหวัดชายแดนใต้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นั้นต้องเป็นคณะกรรมการในการเฝ้าระวังในข้อตกลงการหยุดยิงหรือพื้นที่ปลอดภัยด้วยเพื่อเป็นสักขีพยานในข้อตกลงดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้

แผนภาพที่ 1 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน
 
กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นตัวแสดงที่สำคัญมากในเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ เพราะในตัวตนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเองก็เป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐไทยในการใช้ปกครองพื้นที่ มีสายการบังคับบัญชามาจากกระทรวงมหาดไทยตามการปกครองแบบรวมศูนย์ของรัฐไทย ในทางกลับกัน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนที่มาจากการเลือกตั้งภายในชุมชน บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในการถึง 2 Track ในเวลาเดียวกัน (Track 2 กับ Track 3) กล่าวคือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นทั้งคนคอยประสานภายนอก (ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ตน) และประสานภายใน (ระหว่างประชาชนทุกคนในชุมชนตนเอง)
 
กระบวนการในการอบรมเชิงปฏิบัติการและข้อค้นพบ
 
            ในช่วงเริ่มต้นการอบรม ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี บรรยายถึงสถิติของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ (คลิกเพื่อดูสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนใต้), วิเคราะห์สถานการณ์ (คลิกอ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์3จังหวัดชายแดนใต้) พร้อมกับเล่าถึงประสบการณ์ของตนในการไปร่วมทีมพูดคุยสันติภาพกับตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ในประเทศมาเลเซีย และวิเคราะห์ข้อเรียกร้องของ BRN ที่ออกอากาศผ่าน Youtube (คลิกชมคำแถลงการณ์จาก BRN พร้อมคำแปลโดย อ.ชินทาโร่ ฮาร่า) ที่จะเปลี่ยนแปลงต่อทิศทางกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อย่างไร (คลิกอ่านบทวิเคราะห์ข้อเรียกร้องของ BRN)
 
            หลังจากจบการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ก็เข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดย มูฮำมัดอายุบ  ปาทาน และ คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  การอบรบเชิงปฏิบัติการณ์นี้ได้แบ่งผู้เข้าร่วมที่เป็นกำนันผู้ใหญ่เป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างกันในกลุ่มภายใต้ประเด็นคำถามดังนี้
 
                        1. ท่านมีความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ท่านมีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพ
3. ในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้าง
ประเด็นคำถามนี้ได้นำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าสู่การระดมความคิดเห็นกันภายในกลุ่มตนเองพร้อมกับการนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มตนเองให้ทุกกลุ่มฟัง
 
ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
ประเด็นคำถามแรก กำนัน-ผู้ใหญ่ความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้
 
·         ดีกว่าไม่เจรจา
·         เป็นการแก้ปัญหาระดับหนึ่ง – การเจรจาเป็นวิธีการที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน
 
·         ให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดความสงบสุขเหมือนแต่ก่อน
·         ไม่อยากให้ระแวงต่อกัน  ระหว่างพุทธ-มุสลิม
·         อยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น
 
·         ให้สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอ
 
·         ต้องการยุติความรุนแรง, ความสงบสุขเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
 
·         เกิดสันติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
·         จะได้แนวทางสันติ หรือ แนวทางที่ดีถูกต้อง
 
·         อยากเห็นผลประโยชน์ทับซ้อนหมดไปจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้อย่างถาวร
·         อยากให้อนาคต 3 จังหวัด 4 อำเภอสงบสุขสันติอย่างถาวร
 
 
·         อยากให้พื้นที่มีความสงบสุขเพราะชาวบ้านได้ประกอบอาชีพ
·         ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน (อาวุธ) ในการขับเคลื่อนความสันติภาพในบริบทหมู่บ้าน
 
 
·         การเจรจาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
·         ให้รัฐบาลดูแลอย่างต่อเนื่องและตลอดไป
·         กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน  มีบทบาทมากที่สุด
·         คาดหวังภาครัฐตกลงเจรจากับฝ่ายBRNได้
 
·         คาดหวังว่าการเจรจาเมื่อไหร่จะสำเร็จ
 
ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
ประเด็นคำถามที่ 2 กำนัน-ผู้ใหญ่มีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้
 
·         ความรุนแรงไม่ลดลงเพราะเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง  เช่น  ยาเสพติด,  การเมือง,  ค้าของเถื่อน
·         เจรจาไม่เจอตัวจริง (BRN)
·         ไม่ตั้งใจแก้ปัญหา
·         ทำไมไม่มาแก้ปัญหาในพื้นที่  “กลัวคน3จังหวัดชายแดนใต้หรือ?”
 
·         กังวลว่า – ทุกภาคส่วนของภาครัฐ,  ประชาชน  และผู้นำระดับรากหญ้า  ไม่ให้ความร่วมมือ 100%  อาจจะมีปัญหาในการเจรจา ในการประสบผลสำเร็จ
 
·         กังวลว่าการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ
 
·         ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และกลัวกระบวนการสันติภาพไม่สำเร็จ
 
·         ไม่มั่นใจกลุ่มเจรจาสันติภาพจะเจรจาสำเร็จ
·         ผู้นำ BRN รุ่นเก่าจะคุมสมาชิกรุ่นใหม่ไม่ได้
·         กลัวการเจรจา หวังแอบผลประโยชน์
 
·         ความจริงใจในการทำงานกระบวนการเจรจาโดยไม่มีความซ่อนเร้น
 
·         การเมือง
·         รัฐบาล (ข้าราชการ)
 
·         หน่วยงานภาครัฐไม่เข้าใจกับปัญหาชายแดนใต้อย่างแท้จริง (เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา)
 
·         เหตุการณ์ไม่สงบจะสงบได้ยาก
·         รัฐบาลให้ความเข้าใจกับราษฎรไม่ทั่วถึง (ช่องโว่ของกฎหมาย)
 
·         จะมีกลุ่มที่ไม่พอใจจะต่อต้าน สร้างกลุ่มใหม่เสียเอง
·         ผู้ที่เจรจาไม่สามารถควบคุมกลุ่มคนได้  และไม่เป็นฮีโร่ในดวงใจของกลุ่ม
·         เสียดายค่าตั๋วเครื่องบิน
·         การเจรจาเป็นการจัดฉาก
 
บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
ประเด็นคำถามที่3 กำนันในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้
 
·         สร้างความเข้าใจกับประชาชนในกระบวนการเจรจา
·         ตอบสนองนโยบายรัฐ  รัฐก็ต้องตอบสนองนโยบายเราด้วย
·         รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
·         งบประมาณในการแก้ไขปัญหาต้องอยู่ในอำนาจของ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านด้วย  เพราะเราคือรากหญ้าปัญหาเกิดจากรากหญ้าจริงๆ
 
·         สร้างความเข้าใจในชุมชน  หมู่บ้าน  ตำบล  ต่อกระบวนการสันติภาพและเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
·         ให้อยู่ด้วยกันบนความสันติ  เคารพซึ่งกันและกัน
 
·         ให้ข้อเสนอแนะกับเจ้าหน้าที่กับประบวนการสันติภาพเท่านั้น
 
·         จัดทำประชาคมหมู่บ้านกับกลุ่มคนในหมู่บ้าน  ให้เชิญคนที่มีแนวคิดเสี่ยงมา
·         ให้เชิญชาวบ้านคุย  เหมือนหมอคุยในห้องตรวจ
 
·         สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและแก้ปัญหาร่วมกันไปในทิศทางเดียวกันทุกตำบล  หมู่บ้าน  ใน3จังหวัดและ 4 อำเภอในจังหวัดสงขล
 
·         ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง  และอย่าปิดหูปิดตาผู้ใหญ่บ้าน
·         อยากให้งบประมาณลงถึงหมู่บ้านในการบริหารกระบวนการสันติภาพ
 
·         อยากให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน  ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาในกระบวนการสันติภาพ
 
·         ส่งเสริมสันติภาพให้เกิดในหมู่บ้านและตำบล  และชี้แจงให้ประชาชนทราบในสิ่งที่ถูกต้อง
 
·         ให้ความสำคัญต่อกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในฐานะผู้ช่วยนายอำเภอ
 
·         ให้ความร่วมมือ, ให้ข้อมูล  บอกต่อๆให้ชุมชน,  สร้างความเข้าใจให้ถูกต้องในทางประวัติศาสตร์พื้นที่
 
            จากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มย่อยทางคณะวิทยากรได้ทำการจัดหมวดหมู่และทำรวมกลุ่มความคิดเห็นที่คล้ายกันจากการนำเสนอของกลุ่มย่อยในแต่ละประเด็นคำถามข้างต้น เป็นหัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถาม  เพื่อนำสู่กระบวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ลงความเห็นร่วมกันว่า  หัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นอย่าง ความคาดหวัง, ความกังวล, และ บทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพในหัวข้อย่อยใดควรจะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้  ผลการลงคะแนนมีดังนี้
 
ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
 
1
ความสงบสุขเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้
38
2
ยุติความรุนแรง
9
3
การเจรจาไปในทางที่ดีขึ้น
2
4
ผลประโยชน์ทับซ้อนหมดไป
3
 
            ความคาดหวังส่วนใหญ่ของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ลงคะแนนแล้วว่าสำคัญที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ ความสงบสุขเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาว่า ความสงบสุข (หรือสันติภาพ) เป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงมากที่สุด ในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
            การยุติความรุนแรงในพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นความสำคัญลำดับสอง แต่ถ้าเรามองโดยแท้จริงแล้วอันดับ 1 ความสงบสุขเป็นการกล่าวถึงภาพรวมหรือปลายทางในกระบวนการสันติภาพ และ อันดับ 2-4 เป็นสิ่งที่อยู่ในกระบวนการสันติภาพหรือสิ่งที่ต้องทำก่อนจะถึงปลายทางในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น การยุติความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านคาดหวังก่อนวิธีการอื่นๆในกระบวนการสันติภาพ เช่น การเจรจาไปในทางที่ดีขึ้น และ ผลประโยชน์ทับซ้อนทางการค้ายาเสพติดหรือของเถื่อน
            ผลประโยชน์ทับซ้อนในมุมมองของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่เพียงแค่ การค้ายาเสพติดหรือการค้าของเถื่อนที่อาศัยสถานการณ์ความไม่สงบในการแพร่ยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เนื่องด้วยงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้มีงบประมาณมหาศาลจากงบประมาณของประเทศแต่การแก้ไขปัญหาไม่ได้คืบหน้าไปทางที่ดีเท่าที่ควร  เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่กังขาในความความรู้สึกของกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  ที่ไม่เข้าใจว่าใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาไปกับสิ่งใดในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
            ส่วนการเจรจาไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอันดับสุดท้ายในความคาดหวังของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า  การที่รัฐบาลเจรจากับ BRN เป็นสิ่งที่ไกลตัวมากจากความคิดของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน สิ่งนี้เป็นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า ศอ.บต.ได้ดำเนินโครงการนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในการให้ความรู้ความเข้าใจกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เพราะ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สามารถดำเนินการพูดคุยใน Track 3 ที่เป็นฐานรากของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ต้องเริ่มพูดคุยในทุกๆ Track พร้อมๆ กัน เพื่อสร้างเป็นตาข่ายนิรภัย (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) ป้องกันในกรณีการพูดคุยใน Trackที่ 1ล้มเหลวหรือมีอุปสรรคเกิดขึ้น
 
ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
 
1
ความรุนแรงไม่ลดลง
4
2
รัฐบาลขาดความจริงใจและไม่เข้าใจปัญหา , ขาดความยุติธรรม
35
3
ทุกภาคส่วน(รัฐ ประชาชนและผู้นำระดับรากหญ้า) ไม่ให้ความร่วมมือ
8
4
ผู้นำBRNคุมคนรุ่นใหม่ไม่ได้และหวังผลประโยชน์(ไม่ใช่ตัวจริง)
2
5
กลัวกระบวนการสันติภาพไม่สำเร็จ
2
 
            ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาและขาดความยุติธรรม  สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการลงคะแนนความสำคัญของกำนันผู้ใหญ่บ้านบ่งบอกได้ว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ในระยะเวลาเกือบ1ทศวรรษของรัฐ  รัฐไม่ได้มีความเข้าใจปัญหา ขาดความจริงใจในการแก้ไขและยังไม่ได้อำนวยความยุติธรรมอย่างเพียงพอ  กล่าวคือเป็นการแก้ตามนโยบายที่มาจากสายบังคับบัญชาไม่ได้แก้ตามความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นด้วย
 
            ความกังวลอันดับที่ 2 คือ ทุกภาคส่วน(รัฐ ประชาชนและผู้นำระดับรากหญ้า) ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เป็นความกังวลที่สงผลต่อเนื่องมากจากรัฐขาดความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่  ส่งผลให้การหวาดระแวงซึ่งกันและกัน  ทำให้เกิดการความร่วมมือต่อกันในกระบวนการสันติภาพได้ยากมาก  ข้อกังวลนี้สำคัญมากเพราะถ้าต่างฝ่ายไม่ร่วมมือกันแล้ว กระบวนการพูดคุยใน Track 3 และ 2 ที่เป็นตาข่ายนิรภัย (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) ในการพูดคุยในกรณี Trackที่ 1 ไม่สำเร็จ และจะมีความเสี่ยงที่กระบวนการสันติภาพล้มเหลวสูงมาก
 
            ความกังวลอันดับ 3, 4 และ 5 เป็น ความกังวลเป็นรูปธรรมมากที่สุด และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันละกัน กล่าวคือ เหตุที่ความรุนแรงไม่ลดลง เพราะว่า ผู้นำBRN คุมคนรุ่นใหม่ไม่ได้ และกลุ่ม BRN ที่มาพูดคุยกับตัวแทนรัฐคือกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพ (ไม่ใช่  BRN ตัวจริง) เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ล้มเหลว ข้อกังวลนี้เป็นข้อกังวลเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสันติภาพไม่ใช่การที่มากังวลว่าการพูดคุยทำตัวจริงหรือไม่ หรือ ตัวแทน BRN สามารถคุมคนได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการเปิดพื้นที่ในทางการสื่อสารสาธารณะขึ้นมาทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่และคนภายนอก  เพื่อหาเจตจำนงทั่วไปของประชาชนทั้งหมด  โดยที่กระบวนการพูดคุยต้องฟังเสียประชาชนด้วยกระบวนการสันติภาพจึงจะดำเนินต่อไปได้อย่างประสบความสำเร็จ
           
บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ
 
 
 
1
สร้างความเข้าใจกับประชาชนในกระบวนการสันติภาพ
15
2
ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา
4
3
ให้จัดทำประชาคมในหมู่บ้านแล้วเชิญคนที่มีความคิดต่างมาคุยกัน
4
4
เพิ่มบทบาทและให้งบประมาณแก่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในการแก้ปัญหา
30
 
บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ความเห็นว่าสำคัญที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ เพิ่มบทบาทและให้งบประมาณแก่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้  กำนัน-ผู้ใหญ่ส่วนที่เข้าร่วมประชุมได้ร้องขอความเชื่อใจจากทางรัฐ ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแก้ไขปัญหาและจัดการความความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภายในพื้นที่ตนเอง  กล่าวคือ  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เข้าใจปัญหาในพื้นที่ตนเองมากที่สุด และสามารถจัดการตนเองในพื้นที่ได้ ขาดเพียงแต่การส่งเสริมจากทางรัฐในการแก้ไขปัญหา 
 
บทบาทที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเลือกมากเป็นอันดับที่ 2 ก็คือ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในกระบวนการสันติภาพ  บทบาทนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ  การให้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ของตนเองก็คือการพูดคุยสันติภาพใน Trackที่ 3 นั้นเอง อาจจะใช้วิธีการตามบทบาทที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอันดับที่ 3 ก็คือ ให้จัดทำประชาคมในหมู่บ้านแล้วเชิญคนที่มีความคิดต่างมาคุยกัน ซึ่งจะเป็นเปิดพื้นที่การพูดคุยและสื่อสารสาธารณะ พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศเตรียมพร้อมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวมอีกด้วย
 
ส่วนความคิดเห็นที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเลือกเป็นอันดับ 3 อีกอันหนึ่งก็คือ ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา ข้อนี้เป็นการบ่งบอกว่า  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็ตระหนักสิทธิของตนเอง ตระหนักถึงถึงกระบวนการสันติภาพต้องมีตนซึ่งเป็นตัวแทนจากชาวบ้านในพื้นที่  หรือ  ตระหนักความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอในการเจรจา  กล่าวคือ  ข้อเสนอในการเจรจาจากตัวแทนทั้ง2 ฝั่งจะต้องมีความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่รวมอยู่ด้วย 
 
ข้อสังเกตจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
 
ในช่วงแสดงความคิดเห็นร่วมกันในช่วงท้ายของการอบรม  ได้มีกำนันออกมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า “BRN ไม่ได้ต้องการจังหวัดชายแดนใต้เพื่อพวกเขาเอง แต่พวกเขาอยากให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม  ที่ผ่านมาจังหวัดชายแดนใต้ถูกรัฐทอดทิ้ง  เช่น  โรงเรียนตาดีกา รัฐไม่เคยดูแลเลย  รัฐควรทำให้ดีขึ้น”  ถ้าตีความจากคำแสดงความคิดเห็นนี้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็ทราบอยู่ถึงความเป็นไปของการปฏิบัติการBRNในพื้นที่ของตนเอง 
 
            กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ และ ตัวกลางระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ตนเองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น  แต่การเป็นตัวกลางของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้ทำให้ ตนเองตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก(Dilemma) กล่าวคือ ไม่ว่ากำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะอยู่ฝั่งใคร (รัฐหรือBRN) กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่สามารถมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตในชีวิตของตนเองได้เลย ตกอยู่ในสภาพไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องดูทิศทางของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ หรือ บางคนใช้วิธีนิ่งเฉยเสียดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตนเอง
 
บทสรุป
 
โครงการฝึกอบรมนี้เป็นการฝึกอบรมที่เป็นการเตรียมคน(กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) ให้พร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่  และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่และต่อไปในอนาคต กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยภายในประชาชนระดับรากหญ้า (Track 3) ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตาข่ายนิรภัย (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย) ที่ช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track 1 (ตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนBRN) โดยทำการพูดคุยคู่ขนานในTrack 2 กับ 3 ควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีการพูดคุยล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ ในกรณีประสบปัญหาเช่นนั้น กระบวนการสันติภาพใน Track 1 สามารถนำข้อเสนอที่ Track 2-3 ที่ได้ทำกระบวนการคู่ขนานมาใช้หรือนำมาประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ทราบถึงกระบวนการสันติภาพจึงสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนนี้
 
®®®®®®®®®®®®