|
โดย อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มา: มติชนรายวัน วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10489 สถานีข่าวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียน "อัล-จาซีรา อินเตอร์เนชั่นแนล" ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษ ได้เริ่มส่งสัญญาณแพร่ภาพครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สาขาต่างๆ ดังกล่าว ก่อตั้งขึ้นเพิ่มเติมจากสำนักงานใหญ่ที่กรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ มีนัยยะสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ต่อสื่อสารมวลชนไทย และวงการสื่อมวลชนโลก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ประการแรก ทิศทางการไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร เกิดการป้อนกลับจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ย้อนศรพุ่งตรงไปหาชาติมหาอำนาจหรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกำหนดวาระข่าวสารโลก ซึ่งแต่เดิมอยู่ในความควบคุมของสำนักข่าวตะวันตก อาทิ เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ รวมทั้งสถานีข่าว เช่น บีบีซี ซีเอ็นเอ็น ฯลฯ นับจากนี้ต่อไป หลายๆ ประเทศจะมีแหล่งข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่อย่างจำกัด ประการที่สอง วิกฤตการณ์ทางด้านความมั่นคงและปัญหาการก่อการร้ายสากลรวมจนถึงสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยและเหตุร้ายในภูมิภาคจะกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงพัวพัน จนยากจะแยกออกจากกันได้ง่ายๆ การออกมาให้สัมภาษณ์ของนายวันกาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานกลุ่ม "เบอร์ซาตู" กับผู้สื่อข่าวอัล-จาซีรา โดยนายโรแมน โบเซ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้คือ ตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์ นายวันกาเดร์ เจ๊ะมาน กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยมิได้ต้องการสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงมาจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เคยได้พูดคุยกับหัวหน้ากลุ่มต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เลยแม้แต่ครั้งเดียว ประธานกลุ่มเบอร์ซาตูยังกล่าวด้วยว่า การพบปะมวลชน รวมถึงการกล่าวคำขอโทษของนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงแค่ "โฆษณาชวนเชื่อ" กลุ่มเบอร์ซาตูประกอบด้วยขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ บีไอพีพี พูโล และบีอาร์เอ็น-โดออร์ดิเนต โดยก่อนหน้านี้บีอาร์เอ็น-คองเกรส เป็นสมาชิกร่วมอยู่ด้วย แต่เพิ่งแยกตัวออกมาในภายหลัง อย่างไรก็ดี การออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัล-จาซีราในครั้งนี้ นายวันกาเดร์ เจ๊ะมาน ได้ให้ข้อมูลสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งชี้ถึงความหลากหลายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยยอมรับว่าฝ่ายที่เคลื่อนไหวสร้างความรุนแรง คือ "กลุ่มนักรบรุ่นใหม่" ซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อยและมีความแน่วแน่ในการประกาศอิสรภาพ เพื่อสถาปนาก่อตั้งรัฐอิสลามปัตตานี คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการเจรจากับรัฐบาล เนื่องจากประเมินสถานการณ์ปัจจุบันว่าตนเองกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ นอกจากนี้ กลุ่มนักรบรุ่นใหม่ยังมีทั้งอาวุธและเงินทุน รวมทั้งฝังตัวเป็นไส้ศึกอยู่ในหน่วยงานของรัฐบาลไทยอีกด้วย ที่สำคัญ นายวันกาเดร์ เจ๊ะมาน กล่าวยอมรับด้วยว่า กิจกรรมต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยา (เจไอ) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัล-เคด้า วิถีทางในการแก้ไขปัญหา จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยควรใช้ช่องทางพูดคุยเจรจากับเหล่าแกนนำของขบวนการระดับอาวุโสเสียก่อน โดยอาศัยขั้นตอนแผนสันติภาพที่นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เริ่มต้นปูทางเอาไว้แล้ว ประเด็นสำคัญที่ประธานกลุ่มเบอร์ซาตูพยายามย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาคือ การรักษา "อัตลักษณ์" ความเป็นมลายูมุสลิมของประชาชนบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปฏิเสธทั้งวัฒนธรรมความเป็นไทยและไม่สามารถยอมรับประวัติศาสตร์ชาติที่มีอยู่ร่วมกันได้ แม้กระนั้น นายวันกาเดร์ เจ๊ะมาน อาจลืมไปว่านอกจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่า "กลุ่มเก่า" หรือ "กลุ่มใหม่" ประชาชนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังประกอบด้วยชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิมและอื่นๆ อีกมากมาย ร่วมพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย สถานการณ์ก่อการร้ายทางภาคใต้ของไทย จึงเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น สถานีข่าวโทรทัศน์อัล-จาซีรา ซึ่งทำให้ช่องทางข้อมูลข่าวสาร สามารถเป็นได้ทั้งปัญหาและปัญญาที่นำพาไปสู่ทางออก |