Skip to main content

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 12

วันที่ 26 พฤษภาคม 2556
ณ โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลา
 
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคดำรงไทย พรรคชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาและเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สรุปข้อเสนอ
 
1) ที่ประชุมสนับสนุนการสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพในมาเลเซีย นอกจากนี้ การสานเสวนาสันติภาพควรรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย รวมตลอดถึงฝ่ายค้านในทั้งสองประเทศ และกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุนรัฐในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ดี การสานเสวนาสันติภาพเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่จะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไป
 
2)  ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไปนั้น ที่ประชุมขอยืนยันข้อเสนอเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 ของที่ประชุม ความว่า “ฝ่ายรัฐและฝ่านขบวนการควรทำความตกลงกันในเบื้องต้นที่จะหาประเทศหรือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีทักษะการเป็นคนกลาง และได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่าย มาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา” ปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพ ในขั้นตอนการเจรจา ทั้งรัฐบาลและบี อาร์ เอ็น พึงพิจารณาข้อเสนอของบี อาร์ เอ็น ที่จะให้รัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลาง ทั้งนี้ อาจใช้คุณลักษณะความเป็นคนกลาง ซึ่งที่ประชุมเสนอไว้ข้างต้นประกอบด้วย
 
3)   ความไม่เป็นธรรมเป็นต้นเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังโหยหาความเป็นธรรมอยู่ ในเรื่องนี้ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ 2 (3) ความว่า “เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศให้กระจ่างชัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม” ดังนั้น รัฐพึงดำเนินการตามนโยบายนี้เห็นเกิดผลโดยเร่งด่วนด้วย
 
4) ที่ประชุมขอสนับสนุนการดำเนินการของ ศอ.บต. ในส่วนที่เป็นความพยายามเข้าถึงและรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดความหวาดระแวงในพื้นที่
 
5)  การสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สังคมไทยโดยรวมตลอดจนสังคมในพื้นที่ควรได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างรอบด้าน ในการนี้ควรมีพื้นที่การแสดงออก โดยผ่านสื่อสารมวลชนและการจัดเวที ทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง โดยเฉพาะเวทีสำหรับชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 6 ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ความว่า “ให้สังคมไทยเกิดการรับรู้มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”