Skip to main content

 ตูแวดานียา ตูแวแมแง

 
ถ้าจับกระแสอารมณ์และท่าทีโดยภาพรวมของเหล่านักวิชาการและนักประชาสังคมต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ระหว่างรัฐไทยกับ BRN โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยนั้น ถือได้ว่าพอจะเป็นกระจกสะท้อนความต้องการของประชาชนปาตานีได้ในระดับหนึ่ง
 
ท่ามกลางภาวะสงครามกองโจรที่นับวันจะยิ่งมีความชัดเจนด้วยตัวของสภาพและรูปแบบของการต่อสู้เองว่า มีกลิ่นอายของสงครามประชาชนเพื่อเอกราชหรือเพื่อการปลดปล่อยจากนักล่าอาณานิคมสยามหรือจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นรัฐไทยปัจจุบัน
 
ซึ่งชัดเจนว่าสภาพสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เสียงเจตจำนงทางการเมืองในมิติของวาระประชาชนปาตานียังไม่ได้ส่งเสียงออกมา เพราะบรรยากาศความปลอดภัยอันเนื่องมาจากมีพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐ ยังคงเป็นข้อความที่อยู่ในเอกสารนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรณีของนายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ที่ตัดสินโทษจำคุก 12 ปี ในข้อหาเป็นสมาชิก BRN เป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
 
ส่งผลให้ท่าทีของเหล่านักวิชาการและนักประชาสังคม จึงเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่พอจะวิเคราะห์ได้ถึงท่าทีของประชาชนปาตานีว่า มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรบ้างต่อการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา
 
เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน พร้อมๆ กับการปรากฏตัวของตัวแทนระดับนำของ BRN อย่างเป็นทางการ เหล่านักวิชาการและนักประชาสังคมส่วนใหญ่ต่างก็มีท่าทีดีอกดีใจเสมือนว่า ก้าวแรกของภาวะสันติภาพที่มาจากการสู้รบได้ยุติลงกำลังจะเกิดแล้วในวันพรุ่งอันใกล้จะถึงนี้ ราวๆ คงไม่เกินภายในปีนี้กระมัง
 
ทั้งๆ ที่โดยกระบวนการของการพูดคุยที่เริ่มจากการตีกรอบข้อตกลงในการพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น มีจุดที่ผิดธรรมชาติของการพูดคุยที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นคู่ขัดแย้งหรือความเป็นศัตรูต่อกันมานานในทางอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยจากระบบจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นรัฐไทยของ BRN กับ อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อครอบครองอย่างชอบธรรมตลอดไปในทางกฎหมายของรัฐไทย
 
นั่นก็คือการที่ BRN โดยการนำของ ฮาซัน ตอยิบ ยอมลงนามในข้อตกลงการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับรัฐไทยโดยการนำของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแหงชาติ (สมช.) ได้อย่างไร?
 
วิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาก็มีอยู่ไม่กี่ปัจจัย แต่สำหรับผู้เขียนนั้น นึกออกได้แค่สองปัจจัยเท่านั้น
 
 
ปัจจัยที่หนึ่ง เป็นท่าทีของ BRN ที่เป็นผลพวงมาจากศูนย์การนำได้เปลี่ยนหลักการและอุดมการณ์ของการต่อสู้ไปแล้ว จากหลักการเดิมคือเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนปาตานีและอุดมการณ์เดิมคือเพื่อการปลดปล่อยจากจักรวรรดินิยมสยาม กลายมาเป็นหลักการของการปฏิรูปโดยรัฐไทยร่วมมือกับ BRN ในฐานะองค์กรนำการปฏิรูปของประชาชนพลเมืองไทย  และอุดมการณ์คือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับพี่น้องประชาชนไทยในภาคอื่นๆ และสถาปนาความสงบสุขไร้การต่อสู้ด้วยการจับอาวุธ
 
ดูไปดูมาความเป็นไปได้ของปัจจัยที่หนึ่งนี้ แรงขับสำคัญนั้นน่าจะมาจากความอ่อนแอและหย่อนยานของปีกการทหาร BRN แต่โดยภาพรวมแล้วนอกจากเหตุการณ์ 16 ศพนักรบที่บาเจาะ BRN ก็ยังสู้กับรัฐไทยได้อีกหลายสิบปี อีกแรงขับต่อมาคือน่ามาจากความไร้ประสิทธิภาพของปีกการเมือง BRN แต่โดยภาพรวมแล้วนอกจากเหตุการณ์ที่ทีวีไทยพีบีเอสกล่าวหากลุ่มนักศึกษา PNYS กับ PERMAS ให้คนเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของปีกการเมืองBRN แล้ว BRN ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากมวลชนอย่างแรงกล้า ถึงแม้ว่าเจตจำนงทางการเมืองของ BRN ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการก็ตามว่าต้องการเอกราช หรือ ออโตนอมี หรือ กระจายอำนาจ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาอย่างเจาะจง แต่ก็มีข้อความบนป้ายผ้าที่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่ร้อยกว่าแห่งว่า “สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่สิทธิความเป็นเจ้าของไม่เป็นที่ยอมรับ”  หลังจากการพบกันระหว่างรัฐไทยกับBRN เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556
 
แต่อย่างไรก็ตามการรบแบบกองโจรคงจะเกิดขึ้นไม่ได้มาเป็นระยะเวลา 9 ปี ย่างจะเข้า 10 ปี ถ้าไม่มีมวลชนให้การสนับสนุน
 
สรุปแล้วปัจจัยที่หนึ่งคือ ฮาซัน ตอยิบ ยอมลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพภายใต้ข้อตกลงพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย เพราะมาจากศูนย์การนำของ BRN ได้เปลี่ยนหลักการและอุดมการณ์การต่อสู้ไปแล้วนั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก
 
ปัจจัยที่สอง เป็นท่าทีของ ฮาซัน ตอยิบ และพรรคพวกซึ่งอาจจะอยู่ในปีกการเมืองฝ่ายงานการต่างประเทศ ซึ่งมีฐานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย อาจจะถูกบีบบังคับจากหน่วยงานเฉพาะกิจที่ดำเนินการกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งอาจจะมีแกนกลางในการขับเคลื่อนที่มาจากตำรวจสันติบาลมาเลเซีย โดยผ่านความเห็นชอบของนายิบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ผ่านผู้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลไทยปัจจุบันซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับตำรวจสันติบาลมาเลเซีย
 
ความเป็นไปได้ของปัจจัยที่สองนั้น น่าจะมาจากแรงขับของวาระทางการเมืองของสองผู้ยิ่งใหญ่นั่นคือทักษิณกับนายิบได้ผสานผลประโยชน์กันลงตัวพอดี โดยมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นแรงจูงใจ เพราะถ้าในห้วงเวลาที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาถึง แต่เสียงปืนเสียงระเบิดยังคงดังสนั่นหวั่นไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยและในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย BRN คงจะเป็นหนามยอกอกทิ่มแทงใจทักษิณและนายิบตลอดจนทั้งองคาพยพของความเป็นรัฐของทั้งประเทศไทยและมาเลเซียอย่างแน่นอน
 
แล้วทางกองทัพไทยเล่า? บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วทำไมไปเออออกับทักษิณได้หล่ะ? ไม่เป็นการยกระดับBRN ไปสู่เวทีสากลหรือ? แน่นอนถ้ากระบวนการสันติภาพที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการซึ่งมี BRN ร่วมอยู่ด้วยในกระบวนการเหมือนที่ได้ริเริ่มขึ้นมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น ถ้าไม่เป็นการยกระดับ BRN ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลจนเกินไป
 
แต่ประเด็นสำคัญของกองทัพไม่ได้อยู่ที่ยกระดับ BRN หรือไม่ยกระดับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าทางกองทัพคิดอยู่ตลอดเลยว่าจะทำอย่างไรให้ BRN ยุติการสู้รบ โดยมีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปฝากมวลชนได้บ้าง? นี่คือโจทย์สำคัญของกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ เพราะทางกองทัพคงจะคิดว่าถ้าไม่คุยกับ BRN ปัญชายแดนใต้ก็เป็นปัญหาสากลโดยสภาพอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากมีคนตายจากการสู้รบในจำนวนที่มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้
 
ฉะนั้น ระหว่างให้สากลเป็นคนยกระดับจากการมีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว มามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพด้วย กับ การให้ทางรัฐบาลมีบทบาทเสียเองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวล็อกโดยกระบวนการ ผู้เขียนคิดว่ากองทัพไทยซึ่งมีหน้าที่หลักในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ต้องเลือกเปิดไฟเขียวให้กับรัฐบาลอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ ในทางยุทธการนั้นจะได้เป็นหลุมพรางขุดบ่อล่อปลา ให้ปีกการทหารกับปีกการเมืองของ BRNต้องมาเสียเวลาทะเลาะกันเพื่อแก้เกม ถ้าแก้ไม่ดีก็อาจจะแตกแยกกันไปเลย
 
สรุปแล้วปัจจัยที่สอง คือการลงนามพูดคุยเพื่อสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 25564 ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเพราะมาจากการถูกบีบบังคับจากทางมาเลเซียร่วมมือกับทางประเทศไทยนั้น มีความเป็นไปได้สูงมาก
 
ยิ่งเมื่อหลังการพบกันเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 จะเห็นได้ว่าเป้าการโจมตีทางทหารจาก BRN ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้นถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วง ประกอบกับมีป้ายผ้ากระจายร้อยกว่าแห่งโดยมีข้อความเหมือนกันทั้งหมดที่แปลว่า “สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่สิทธิความเป็นเจ้าของไม่เป็นที่ยอมรับ”และทิ้งท้ายด้วยการแถลงการณ์ของ BRN ผ่านยูทูบ ก็ยิ่งทำให้สมมุติฐานว่า BRN ถูกบีบบังคับให้ขึ้นโต๊ะการพูดคุยเพื่อสันติภาพโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  
 
 
เพื่อไม่ให้สังคมสาธารณะทั่วโลกเกิดการเข้าใจผิดในหลักการและอุดมการณ์การต่อสู้ที่แท้จริงของ BRN พวกเขาจึงใช้วิกฤติที่ตนเกือบจะเพลี่ยงพล้ำเข้าสู่เส้นชัยของรัฐไทยที่ใช้กระบวนการสันติภาพซ่อนรูปกระบวนการยอมจำนน ให้กลายเป็นโอกาสกับท่ามกลางกระแสสนใจของสังคมสาธารณะต่อแนวทางของ BRN ด้วยการทำการสื่อสารด้วยช่องทางของ social media เพื่อทำความเข้าใจในหลักการและอุดมการณ์การต่อสู้ของตนว่า BRN ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองไทย แต่ BRN ทำการต่อสู้กับรัฐไทยในฐานะที่รัฐไทยเป็นนักล่าอาณานิคมหรือเป็นจักรวรรดินิยม เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมในความเป็นเจ้าของอธิปไตยในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานีโดยการนำของ BRN
 
เมื่อรัฐไทยยอมตรงจุดนี้ได้ก่อน กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในมุมของ BRN จึงจะริเริ่มนับหนึ่งได้อย่างเป็นทางการ