Skip to main content

 

 
 
แนวทางการปลูกฝังให้เยาวชนเป็นมุสลิมที่ดี :
1. ลูกต้องเป็นผู้ใฝ่หาความรู้และเคารพต่อครู
 
บุรฮานุดดิน   อุเซ็ง
 
 
เด็กๆ และเยาวชน ที่รัก ลูกต้องตระหนักเสมอว่า “การใฝ่วิชา การศึกษา ขวนขวาย แสวงหาความรู้” เท่านั้น เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ที่มีความรู้ ที่จะเป็นดั่งเสมือนแสงสว่างที่จะนำส่องทางแห่งความสุกใส แก่หัวใจและจิตวิญญาณ ความสำนึก ดังโองการแรกที่ปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮฺ(1) อิคเราะ คือ จงอ่าน
 
อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอานซูเราะฮฺ อิคเราะ โองการที่ 1 – 8 ความว่า
                       

                        จงอ่าน ด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้าของ เจ้าผู้บังเกิด
                        ผู้ทรงสร้างมนุษย์มาจากก้อนเลือด
จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง
ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา
ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้
มิใช่เช่นนั้น แท้จริงมนุษย์นั้นย่อมจะละเมิดขอบเขต
เนื่องเพราะเขาคิดว่า เขาพอเพียงแล้ว
แท้จริง ยังพระเจ้าของเจ้าเท่านั้น คือการกลับไป (96 : 1 – 8 )
 
          ลูกรัก คำว่า “จงอ่าน” เป็นรัศมี แสงส่วาง ทางนำแรกที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ(2) และเปรียบเปรยถึงผู้ที่อ่าน หรือผู้ที่ทำการศึกษาแสวงหาความรู้เสมือนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และผู้ที่ไม่อ่าน หรือไม่ใสใจ ใฝ่หาความรู้ คือ ผู้ที่ตายไปแล้ว
 
          การศึกษาแสวงหาความรู้นั้น มีแต่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชีวิตในโลกนี้และชีวิตในโลกหน้า และผู้ที่เรียนรู้ ใฝ่หาวิชาเท่านั้น จะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เข้าได้เรียนรู้ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ คือพื้นฐานของการก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตนั้นเอง ดังคำกล่าวที่ว่า
 “ดัง วิชารู้ความรู้ที่ส่องรัศมียังประชาชาติใด ความปรารถนา ความใฝ่ฝันของเขาจะได้รับมิช้า”
 
          อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ   ฏอฮา อายะฮฺ(3)ที่ 114 ความว่า
          “จงกล่าวเถิด ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดเพิ่มพูนความรู้ แก่ข้าพระองค์ด้วย” (20 : 114)
 
          อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัซซูมัร อายะฮฺที่ 9 ความว่า
“จงกล่าวเถิด บรรดาผู้รู้ และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ” (39 : 9)
 
          อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลมุญาดะละบะฮฺ อายะฮฺที่ 11 ความว่า
“อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเทิดเกียรติ แก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดา
ผู้ได้รับความรู้ หลายชั้น และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ (58 : 11)
 
              อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ ฟาฏีร อายะฮฺที่ 28 ความว่า
“แท้จริงผู้ที่มีความรู้ จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ” (35 : 28)
 
โองการอัลลอฮฺในอัลกุรอานที่ปรากฏในซูเราะฮฺต่างๆที่หยิบยกมาข้างต้น แสดงให้เป็นว่าผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮฺมากที่สุดคือ ผู้ที่มีการศึกษา ผู้ที่ใฝ่หาความรู้ และโดยเฉพาะผู้ที่คงแก่การเรียนมากที่สุด และพฤติกรรมของผู้ที่เป็นคนดี มีความประพฤติดี มีกริยามารยาทงดงาม ตลอดจน การเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติผู้ดี มีวัฒนธรรมที่ดีที่สุด คือผู้ที่ใฝ่หาความรู้ผู้ที่เรียนดี เพราะเขาเป็นผู้ที่บรรลุผลแห่งการเรียนรู้ หลอมรวมเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง
 
อัลฮัจญ์ เคาะลีฟะฮฺ เขียนในลงหนังสือ Kashf al Zounun  ว่า “การเรียนเป็นความสุขที่สุด และเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาทุกสิ่ง เป้าหมายของการศึกษานั้นมิใช่ เพื่อแสวงหาเพื่อยังชีพในโลกนี้เท่านั้น แต่เพื่อการได้มาซึ่งสัจธรรมและสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดบุคคลิกทางศีลธรรม หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง คือการศึกษา เพื่อการได้รับสัจธรรมทางวิชาการและบุคลิกอันสมบูรณ์นั้นเอง”
 
อบูดัรดา รฏิฯ(4) รายงานว่าท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
 
            “ฉันได้ยินท่านศาสดาฯ ศอลฯ กล่าวว่า
 
“ผู้ใดมุ่งเข้าสู่หนทางการศึกษาหาความรู้ อัลลอฮฺจะเปิดทางสะดวกให้แก่เขาสู่สวรรค์ และแท้จริงมวล มลาอิกะฮฺ(5) จะหุบปีก เพราะพึงพอใจในตัวผู้ศึกษาหาความรู้ และแท้จริง ผู้มีความรู้นั้น ผู้ที่อยู่บนฟากฟ้า (มวลมลาอีกะฮฺ) และผู้ที่อยู่บนหน้าแผ่นดิน(มนุษย์ ญิน(6) และสัตว์) แม้แต่ปลาที่อยู่ในน้ำจะขออัลลอฮฺ ให้อภัยโทษแก่เขา และความประเสริฐของผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เสมอดังดวงจันทร์ที่มีแสงสว่างเหนือกว่าดวงดาวในท้องฟ้า
 
แท้จริงผู้ที่มีความรู้นั้นคือทายาทของบรรดานบีฯเพราะ นบีฯมิได้ทิ้งทรัพย์สินเงินทองใดไว้เป็นมรดก แต่บรรดา นบีฯได้ทิ้ง วิชาการไว้เป็นมรดก ดังนั้นผู้ใดได้รับการเอา (มรดกทางวิชาการไว้) เขาได้รับโชคดีอันใหญ่หลวง" (อบูดาวุด/ตีรมีซีย์)
 
ลูกรัก การแสวงหาความรู้นั้นเป็นหนทางเพื่อเป็นการแสวงหาวิธีการอันสะดวกที่จะนำไปสู่สวรรค์ ซึ่งการที่จะทำตนเพื่อเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าสู่สวรรค์ ก็มิใช่เป็นเรื่องที่สะดวกนัก ดังนั้น การที่จะทำให้ตนเป็นผู้ทีมีคุณสมบัติเข้าสู่สวรรค์ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าสู่สวรรค์ จะต้องหลีกเลี่ยงความผิด สิ่งต้องห้าม ความชั่วร้ายต่างๆที่จะเข้าครอบงำจิตใจ ความต้องการของกิเลสตัณหา
 
แต่อัลลอฮฺ จะทรงประทานความสะดวก ความง่ายดายแก่บรรดาผู้แสวงหาความรู้ในการพันฝ่าอุปสรรคนั้น บรรดามลาอีกะฮฺ จะอุ้มเขาอย่างทะนุถนอมขึ้นบนปีก และจะคอยปกป้องเขาในพ้นจากความผิดพลาด จากกิเลสตัณหา และยิ่งกว่านั้นบรรดาชาวผู้อยู่บนฟากฟ้า และบรรดาผู้อยู่บนหน้าแผ่นดิน แม้แต่ปลาวาฬในท้องทะเล จะพากันขอพรจากอัลลอฮฺเพื่อให้พระองค์โปรดประทานอภัยโทษ แก่ผู้ที่มีความรู้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญเหนือกว่าผู้ปฏิบัติธรรม กล่าวโดยสรุปได้ว่า ทุกสิ่งในชั้นฟ้าและแผ่นดิน จะพากันวิงวอนขอให้ผู้ใฝ่หาศึกษาแสวงหาความรู้ได้รับการอภัยโทษ และผู้มีการศึกษา คือทายาทของบรรดาศาสดา
 
          ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
          “น้ำหมึกของบรรดานักปราชญ์นั้น ดีกว่าเลือดของผู้ที่พลีชีพเพื่อศาสนา”
 
           ครั้งหนึ่งภายหลัง ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ สิ้นชีพลง ประชาชนพากันวิตกกังวลเกี่ยวกับการเอาใจใส่ การธำรงรักษาวจนะ และจริยวัตร ของท่านศาสดาฯ ท่านอบูดัร อัลฆีฟารี รฏิฯ ซึ่งถูกแรงกระตุ้นและรบเร้าทำให้ท่านมีวิตกกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พลันท่านจึงยืนบนก้อนหิน แล้วตะโกนว่า
 
“โอ้ประชาชนทั้งหลาย ทำไม่ท่านจึงมัววุ่นวายกับทรัพย์สิน เงินทอง การค้าขายอยู่ ขณะที่มรดกของท่านศาสดาฯ กำลังแจกจ่ายอยู่ในมัสยิด”
 
                 เมื่อได้ยินเช่นนั้น ผู้คนก็พากันวิ่งไปมัสยิด แต่พวกเขาไม่พบสิ่งใด นอกจากพบคนกำลังนบน้อมก้มศีรษะตน บางคนกำลังกำลังประกอบอามัลอิบาดะฮฺ(7) และพบนักเรียนครูบาอาจารย์ เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงตรงไปยังอบูดัรฯ และถามว่า
 
            “เราไม่ได้พบอะไรสักอย่าง ตามที่ท่านบอกกับพวกเรา” ท่านอบูดัรฯ จึงกล่าวตอบในสิ่งที่เป็นการย้ำเตือนบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขากำลังจะลืมว่า
 
                        “แล้วท่านได้เห็นอะไรบางอย่างที่เป็นมรดกของท่านศาสดาฯ ละ”
         
          อบูฮุร็อยเราะฮฺ รายงานว่า ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
“จงแสวงหาความรู้ และเรียนรู้ถึงวิธีการเรียน ด้วยความนอบน้อม ยำเกรง สงบเสงี่ยม อ่อนโยน ต่อตนเองและครูของท่าน" (รายงานโดย อัฎฎอบรอนี)
 
          อนัส อิบนิ มาลิก รฎิฯ รายงานว่าท่านศาสดาฯ มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
“ผู้ใดในหมู่ของท่านได้ออกเดินทางออกไปเพื่อไปศึกษาแสวงหาความรู้ เขาก็จะอยู่ในวิถีของอัลลอฮฺ จนกว่าเขาจะกลับมา” (รายงานโดย ตีรมีซีย์)
 
ฮะดิษ(8)ดังกล่าว ท่านศาสดาฯ ได้เปรียบเทียบความสูงส่งในหลักการอิสลาม ซึ่งเปรียบเที่ยบถึงความสำคัญของการเดินทางเพื่อไปศึกษาแสวงหาความรู้เทียบเท่ากับหลักการญิฮาด(9) ซึ่งเป็นความมุ่งหมายหรืออุดมการณ์ขั้นสูงส่งของมุสลิมที่เดียว
 
          อิบนิ มิสกะฮฺวียะฮฺ และท่านเฆาะซาลี กล่าวว่า “ความรู้เป็นอาหารของวิญญาณและจิตใจ”
 
          อิบนีคอลดูน กล่าวว่า “ความรู้และการศึกษา คือปรากฏการณ์ธรรมชาติในสังคมมนุษย์” ท่านกล่าวว่า”สัตว์นั้นมีธรรมชาติเหมือนมนุษย์ ในแง่ของความรู้สึก การเคลื่อนไหว การดื่มการกินอาหาร แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ คือสติปัญญาความนึกคิดนั้นเอง”
 
เด็กๆ และเยาวชน ที่รัก .หากลูกได้อ่านชีวประวัติ ของท่าน อิหม่ามอะหมัด อิดริส อัซซาฟีอี แล้ว ลูกๆก็จะได้ตระหนักถึงความมีสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดของท่าน
 
          ครั้งหนึ่งขณะท่านจะท่องหนังสือ ท่านก็จะปิดหนังสือด้านหน้าซ้ายมือ ท่านจะไม่เหลือบดูหรือแม้การชำเลืองดูเลย จนกว่าท่านจะท่องหน้าด้ายขวามือจนจำขึ้นใจก่อน (การปิดด้านซ้ายอ่านด้านขวา เพราะหนังสือ อาหรับเขียนจากขวาไปซ้ายมือ)
 
          ขณะท่านซาฟีอี มีอายุเพียง 7 ขวบ ท่านเริ่มเข้าชั้นเรียนกับท่านอิหม่ามมาลิก ณ ที่ มัสยิดนาบาวี ซึ่งเป็นสถานที่ร่างท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ ฝังอยู่ แนวหรือสไตล์การสอนของท่านอิหม่ามมาลิกนั้น ทุกครั้งที่ท่านเอ่ยนามท่านศาสดาฯให้นักเรียนฟัง ท่านมักจะชี้ไปยังบริเวณที่ฝังร่างของท่าน พร้อมกล่าวยกฮะดิษ ..ผู้รายงาน ผู้บันทึก เป็นต้น
 
วันหนึ่งขณะที่ท่านอิหม่ามมาลิกกำลังหันหน้ายังกูบุร(10)ที่ฝังท่านศาสดาฯ ท่านอยู่ในมุมที่ต้องมองผ่านท่านซาฟีอี ซึ่งขณะนั้นท่านซาฟีอีกำลังดึงฟางจากเสื่อที่ปูเป็นที่นั่ง แล้วจุ่มน้ำลายในปากอยู่
 
พฤติการณ์ของท่านซาฟีอี สร้างความเข้าใจผิดในสายตาอิหม่ามมาลิก ท่านเข้าใจว่าท่านซาฟีอีกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นกับฟางที่กำลังอยู่ในมือในขณะที่กำลังเรียนอยู่กับท่าน เสมือนส่อให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ไม่มีสมาธิในการเรียน และกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นเส้นฟาง จึงสร้างความรู้สึกผิดหวังในใจของท่านอิหม่าม มาลิกยิ่งนัก
 
หลังจากเลิกเรียนวิชาฮะดิษ ท่านอิหม่ามมาลิกจึงเรียกท่านซาฟีอีเข้าพบ และกล่าวว่า “นี่ เธอ มูฮัมมัด อิบนิ อิดริส “ เมื่อเด็กน้อยเดินเข้าพบท่านอิหม่ามมาลิกกล่าวต่อว่า ทำไม่เธอจึงมัวเล่น ในขณะที่ฉันกำลังสอนและกล่าวถึงฮะดิษของท่านศาสดาฯ ศอลฯ เด็กน้อยจึงกล่าวตอบว่า
 
“ข้าพเจ้ามิได้เล่นขอรับท่าน แต่ข้าพเจ้ากำลังเขียนบันทึก คำสอนของท่านบนฝ่ามือด้วยน้ำลาย เพื่อกันลืม เนื่องจากข้าพเจ้ายากจน จึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อปากกา และกระดาษเพื่อการดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงใช้ฟางจุ่มน้ำลายเขียนบนฝ่ามือ” ท่านอิหม่ามมาลิกรู้สึกประหลาดใจยิ่งนัก จึงกล่าวว่า
 
“ถ้าเป็นจริงเช่นนั้นแล้วเธอจงอ่านฮะดิษใดฮะดิษหนึ่งที่ฉันสอนแก่เธอในวันนี้” อิหม่ามซาฟีอี จึงท่องฮะดิษที่ท่านอิหม่ามมาลิกสอนด้วยท่าทางพร้อมชี้ไปยังที่ฝังร่างท่านศาสดา สายการรายงาน บันทึก ตลอดจนการท่องฮะดิษทั้ง 40  ฮะดิษ
 
ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ ท่านตระหนักเสมอว่าประชาชนมีความยากจน ดังนั้นท่านจึงมักวิงวอนขอพรต่ออัลลฮฺเสมอว่า “โอ้อัลลอฮฺ ประชาชนของฉัน หิวโหย ขอได้โปรดประทานอาหารแก่เขาด้วยเถิด และเขาไม่มีเสื้อผ้าสวมใส ขอได้โปรดประทานเสื้อผ้าคลุมตัวเขาด้วยเถิด"
 
          ทั้งๆที่อยู่ในสภาวะสับสน ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ ไม่เคยเรียกค่าไถ่ถอนเป็นทรัพย์สิน เงินทองจากเชลยศึกในสงครามบัดรฺ แต่แทนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเชลย ท่านจะตั้งเงื่อนไขว่า หากเชลยศึกแต่ละคน สอนวิชาความรู้แก่มุสลิม 10 คน แล้วเขาจะได้รับอิสรภาพและได้รับการปล่อยตัวไป
 
อิสลาม ถือว่า การศึกษาเป็นภาระหน้าที่ของมุสลิม
 
ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ มีวจนะความว่า
“การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่บังคับ(ฟัรฎู)แก่มุสลิมทุกๆ คน" (รายงานโดย อิบนิ มาญะฮฺ)
คำว่า “มุสลิม”ในฮะดิษนี้ หมายรวมถึงมุสลิมทั้งเพศชายและเพศหญิง
 
ครั้งหนึ่งท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ ได้กล่าวปราศรัยความว่า 
          “จะเป็นอย่างไร หากประชาชาติของฉันบางคน เป็นคนที่ไม่สอน หรือไม่ยอมเผยแพร่ แก่เพื่อนบ้านข้างเคียงของเขา เขาไม่ร่วมกันในการกระชับในการดี และห้ามปรามการชั่ว และจะเป็นอย่างไร หากประชาชาติของฉันบางคน เป็นคนที่ไม่ต้องการเรียนรู้ หรือไม่ยอมรับคำแนะนำใดใด จากเพื่อนบ้านเคียงข้างของเขาในนามแห่งอัลลอฮฺ จนกว่าเขาจะสอนเพื่อนบ้านของเขา และเพื่อนบ้านของเขาเรียนรู้ และตอบสนองคำแนะนำจากเพื่อนบ้านของเขา มิฉะนั้นฉันจะเร่งการลงโทษพวกเขา" (รายงานโดย อัฏฏอบรอนี)
 
อบูฮุรอยเราะฮฺ รายงานว่า ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
“ผู้ใดถูกถามเกี่ยวกับหลักวิชาการ แล้วเขาปกปิดไว้ (โดยไม่ยอมบอก) อัลลอฮฺจะสวมห่วงที่ปากของเขา ซึ่งห่วงที่ทำมาจากไฟนรกในวันแห่งการตัดสิน” (รายงานโดย อบูดาวูด ,ตีรมีซีย์, อิบนิมาญะฮฺ)
 
 ลูกรัก นี้คือความเป็นจริง ที่กล่าวว่า การแสวงหาความรู้ เป็นภาระหน้าที่ (ฟัรฎู) ของมุสลิม ทั้งชายและหญิง และผู้ใดต่อต้าน หรือ ขัดขวางการแสวงหาความรู้แล้ว เขาย่อมจะถูกลงโทษตามหลัก ชารีอะฮฺ(11) (กฎหมายอิสลาม) และผู้ใดปิดบังความรู้ ไม่ยอมเผยแพร่แก่ผู้อื่น เขาจะต้องได้รับการลงโทษด้วยห่วงที่ทำมาจากไฟ ในวันสุดท้ายแห่งสากลโลก
 
ข้อพิสูจน์ที่ว่า อิสลามส่งเสริมการศึกษา และอิสลามถือว่าการจัดการศึกษา เป็นการการศึกษาให้เปล่าแก่ประชาชน และพิสูจน์ได้ว่าการศึกษาในทัศนะอิสลาม คือการให้การศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแบบให้เปล่านั้นเอง
 
 อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ   อัซซุอะรออฺ อายะฮฺที่ 109 ความว่า
“ฉันมิได้ขอค่าตอบแทนในการนี้จากพวกท่าน ค่าตอบแทนของฉันมิได้มาจากผู้ใด นอกจากพระเจ้าแห่งสากลโลก” (26 : 109)
 
ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
“หากอัลลอฮฺ ทรงประสงค์ จะกระทำความดีแก่บุคคล พระองค์จะทำให้เขามีความเข้าใจในศาสนา” (รายงานโดย บุคคอรี)
 
อบูฮุรอยเราะฮฺ รายงานว่า ท่านศาสดา มุฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า
“เมื่อลูกอาดำ (มนุษย์) เสียชีวิตลง การงานของเขาก็สิ้นสุดลงเช่นกัน เว้นแต่มี 3 ประการ คือ
หนึ่ง ทานที่บริจาคที่เป็นถาวรวัตถุให้เป็นสาธารณะประโยชน์
สอง   วิชาความรู้ที่ยังประโยชน์ และ
สาม   ลูกที่เป็นคนดี (ซอและฮฺ) ที่ขอดุอาอฺให้เขาหลังจากเขาตาย" (รายงานโดย มุสลิม)
 
เด็ก ๆ และเยาวชน ที่รัก ลูกต้องเป็นคนดี เป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณ ลูกต้องเป็นผู้ที่ให้เกียรติ และยกย่องครู ลูกๆ จะเป็นผู้ที่เติบโตพร้อมๆกับการเป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทที่งดงาม พร้อมๆกับความรู้การศึกษาของเขา โดยเฉพาะ หากผู้ที่ทำหน้าที่อบรม หรือครูของลูกเป็นคนดี มีความศรัทธา และเคร่งครัดในศาสนา
 
ท่านศาสดามูฮัมมัดศอลฯ ท่านเองมีสถานะเสมือน”นักการศึกษาแห่งมนุษยชาติ ท่านฯได้วางรากฐาน การให้ความเคารพให้เกียรติ นักปราชญ์ นักจิตวิทยา ผู้รู้ ครู และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนักปราชญ์ นักวิชาการ ผู้รู้ตลอดจนครู และได้แนะแนวทาง แก่ศิษย์ นักเรียน พึงสำนึกและแสดงความเคารพ มีท่าทีที่สุภาพ อ่อนโยนต่อครูของเขา
 
 ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ กล่าวว่า 
“เขาไม่ใช่คนในหมู่ของเรา(มุสลิม) ผู้ซึ่งไม่เคารพให้เกียรติแก่ผู้อาวุโส ผู้ไม่มีความเมตตา ต่อหนุ่มสาว และเป็นผู้ไม่เคารพ ให้เกียรติแก่อูละมะฮฺ" (12) (รายงานโดย อะหมัด)
 
ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ สอนว่า  
“บุคคล 3 ประเภท ที่เป็นผู้ที่มีคุณค่าประเมินมิได้ ยกเว้น มุนาฟิก คือ คนหัวขาว(ผู้อาวุโส) ผู้ที่มีความรู้ และอิหม่ามที่มีความเที่ยงธรรม(นักปกครอง)" (รายงานโดย อัฏฏอบรอนี)
 
ท่านศาสดา มูฮัมมัด ศอลฯ ย้ำว่า
“ฉันหวังว่าฉันคงไม่ประสบเวลานั้น เมื่อผู้ไม่ปฏิบัติเจริญรอยนักปราชญ์ และเมื่อคนดีและมีขันติธรรมไม่วางตัวเป็นกลาง และเวลานั้นหัวใจของผู้คนจะเป็นคนต่างชาติคิดว่าลิ้นของเขาเป็นอาหรับ" (รายงานโดย อะหมัด)
 
 “มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่กำลังมีการรวบรวมร่างผู้ที่พลีชีพในสมรภูมิอุฮูด โดยใช้ผ้าหนึ่งผืนหุ้มห่อร่างผู้พลีชีพสองร่าง ท่านศาสดาฯ ศอลฯ ได้ถามว่า “ผู้ใดในนี้เป็นผู้ที่รู้กุรอานมากว่ากัน”เมื่อมีผู้หนึ่งชี้ ท่านศาสดาฯ ศอลฯ จึงเลือกไปวางในหลุมฝังก่อนเป็นลำดับแรก” (รายงานโดย บุคคอรี)
 
          ลูกรัก  ..ดังนั้น ลูกจะต้องไม่เป็นคนที่หลงตัวเอง เย่อหยิ่ง ลูกต้องทำตนเป็นคนดี มีความสงบเสงี่ยม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพต่อครูบาอาจารย์ ปฏิบัติตามคำสั่งสอน คำแนะนำ ข้อชี้แนะของครูเสมอ
 
          ลูกจะต้องเป็นคนขยันขันแข็ง มีความมุมานะ ในการเรียนรู้ รับฟังคำสอนของครูด้วยความตั้งอกตั้งใจอย่างสุดความสามารถ หากมีปัญหาข้อข้องใจ หรือไม่เข้าใจ ควรเข้าหาครูและปรึกษาหารือได้อย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนให้เป็นที่พึงพอใจ เป็นที่รักของครู และลูกๆ ต้องสำนึกเสมอว่า การแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ และจริงใจต่อครู ด้วยความนอบน้อม ถ่อมตนเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเองเป็นอย่างยิ่ง
 
          ท่านอิหม่ามซาฟีอี เป็นแบบอย่างของศิษย์ที่มีท่าทีอันน่ายกย่องที่ ท่านเป็นผู้ที่แสดงออกในการปฏิบัติต่อครู ด้วยความนอบน้อม ถ่อมตนเสมอ ท่านจะเป็นผู้ยกย่องครูในทุกโอกาส จนครั้งหนึ่งท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ท่านวางตนต่อครูอย่างเกินเหตุไป “ ท่านจึ่งกล่าวตอบแก่พวกเขาว่า
 
“การยกย่อง ถ่อมตนต่อครูบาอาจารย์ คือหนทางนำชัยสู่เกียรติยศ และความภาคภูมิใจ”
 
อันนะมะรี อัลกุรฏุมี กล่าวในหนังสือ Compendium on learning and it blessing สอดคล้องกับแนวของท่าน อิหม่ามเฆาะซาลี ในหนังสือ Perfect to science และ The Revival of the religion science ว่า
 
“ครู คือผู้ที่ได้รับการยกย่อง และเคารพนับถือ และเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งถัดไปต่อจากท่านศาสดาฯ ดังที่ท่านศาสดาฯมีวจนะความว่า “ น้ำหมึกของบรรดานักปราชญ์นั้นดีกว่าเลือดของผู้ที่ตายเพื่อศาสนา นักปราชญ์ผู้ใช้ความรู้นั้นดีกว่าผู้ศรัทธาที่ถือศีลอดในเวลากลางวัน และลุกขึ้นละหมาดในเวลากลางคืน”
 
อิบนิอับบาส อุลามะฮฺ มีชื่อ และเป็นผู้ที่เป็นที่เคารพของผู้คนในยุคนั้น ซึ่งครั้งหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่ ท่านซัยด์ อิบนิ ธาบิต กำลังขี่อูฐ เมื่อเห็นเข่นนั้น จึงเอ่ยปากเชื้อเชิญให้ท่าน อิบนิอับบาส ขึ้นขี่อูฐและกล่าวว่า
 
“ท่านอย่าทำตนเช่นนั้นเลย ขอได้โปรดเถิดท่านผู้เป็นญาติของท่านศาสดาฯ” อิบนิอับบาสจึงตอบว่า
“เราถูกบอกกล่าวให้ปฏิบัติดีอูลามะฮฺของเรา” อิบนิธาบิต จึ่งกล่าวว่า
“โปรดยื่นมือของท่านมา” เมื่ออิบนิอับบาสยื่นมือ ท่านอิบนิธาบิต จึงจูบมือท่านแล้วกล่าวว่า
“เราถูกบอกให้ปฏิบัติดีต่อสมาชิกในครอบครัวท่านศาสดาฯด้วย”
 
แด่เยาวชน:  คู่มือสร้างเยาวชนให้เป็นมุสลิม (ส่วนหนึ่งทางนำท่านศาสดาฯ ศอลฯ) 5
 
ครั้งหนึ่ง ท่านอะหมัด อิบนิ ฮันบาล กล่าวแก่ เคาะลาฟ อัลอะฮฺมัร ว่า ”ฉันจะไม่นั่ง ณ สถานที่ใดๆ เว้นแต่ระหว่างมือท่าน เราถูกสอนให้ถ่อมตนต่อผู้ให้การศึกษาแก่เรา”
 
 อิหม่าม อัซซาฟีอี กล่าวว่า “ขณะฉันนั่งเรียนกับอิหม่ามมาลิก แม้แต่ฉันจะพลิกหน้าหนังสือ ก็จะพลิกอย่างเงียบเฉียบ เพื่อมิเกิดเสียงเป็นการรบกวนท่าน”
 
          เช่นเดียวกันศิษย์ของท่านอิหม่าม ชาฟีอี คนหนึ่งคือ ท่านอัรเราะบี กล่าวว่า “ฉันเองไม่กล้าที่จะแม้ดื่มน้ำต่อหน้าที่อิหม่ามซาฟีอี เพราะเกรงว่าจะเป็นการไม่เหมาะสม”
 
          ครั้งหนึ่งบุตรชายของท่านเคาะลีฟะฮฺ อัลอาดี เดินทางมาหา ท่าน ซูเรก นักปราชญ์มีชื่อท่านหนึ่ง และเมื่อเห็นข้อเขียนที่ผนัง จึงถามท่านซูเรกเกี่ยวกับฮะดิษบทนั้น แต่ท่านซูเรกนิ่งไม่แม้มองเขาบุตรเคาะลีฟะฮฺจึงถามย้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านยังเมินเฉย บุตรเคาะลีฟะฮฺถามต่อว่า “ท่านปฏิบัติต่อบุตรเคาะลีฟะฮฺ ด้วยท่าทีดูหมิ่นเช่นนี้กระนั้นหรือ ?”
 
          ท่านซูเรก ตอบว่า “มิได้ แต่ความรู้นั้นมีคุณค่าแก่ฉันมากกว่าที่จะยอมให้สูญเปล่า” ท่านหมายถึงความไม่สุภาพของเด็กที่มีต่อกันนั้นเอง
 
          ท่านกวี อะหมัด เซากี กล่าวว่า “จงปฏิบัติต่อครู ด้วยความเคารพ เพราะครูนั้นใกล้เคียงกับท่านศาสดาฯ”
 
          ลูกรัก ครู นั้นเสมือนเป็นบิดาทางจิตวิญญาณ ของนักเรียน เพราะครูนั้นเองเป็นผู้ที่ป้อนความรู้ ให้กับจิตใจ ตลอดจนเป็นผู้ขัดเกลาและสร้างศีลธรรม
 
          ลูกรัก เมื่อลูกอยู่ในสถานะภาพของการเป็นลูกศิษย์ ลูกควรเรียกขานคุณครู ด้วยความสุภาพ ไม่ควรเรียกขานชื่ออย่างห้วนๆ หรือเรียกชื่อโดดๆ   ควรจะเพิ่มคำนำหน้านาม เช่น คุณครู...... อาจารย์..... อุสตัร(13)...... หรือ ก๊ะ(14)...... หรือ บาบอ.(15)..... เป็นต้น คำน้ำหน้านามเหล่านี้ ควรเรียกควบกับชื่อจริงของท่านไม่ว่าจะเป็นการกล่าวต่อหน้าและลับหลังยิ่งกว่านั้น การแสดงออกถึงความกตัญญู รู้คุณ ต่อครู การให้เกียรติต่อครู ซึ่งท่านกวี อะหมัด เชาวกี กล่าวว่า
 
          “จงลุกขึ้น ยืนตรงต่อคุณครู
          และแสดงออกถึงการเคารพต่อท่าน
          ครูท่านเสมือนดังท่านศาสดาฯ หรือนักเทศน์
         ด้วยเกียรติยศ ขอยืนโดยมิอาจสงสัย
         และการงานของท่านคือการมุ่งสู่เพื่ออนาคต
         คือสร้างจิตสำนึกทำให้เขาทั้งหลายให้สมบูรณ์
 
ลูกรัก ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นศิษย์ ของครู เราควรให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในการเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ อย่าให้คุณครูต้องพะว้าพะวัง วิตกกังวล ขาดสมาธิ หรือเป็นการรบกวนสมาธิ ไม่ว่าการทำให้ เกิดเสียงรบกวน จากการเคลื่อนไหวของส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมือ หรือเท้า การส่งเสียง หัวเราะรบกวน หรือการหัวเราะที่ไม่มีเหตุผล การหัวเราะต่อหน้าครูด้วยเสียงที่ดัง หรือหากเป็นไปได้ก็ควรทำได้แค่ยิ้มคงเพียงพอ
 
นักเรียนไม่ควรถือวิสาสะเข้าห้องทำงาน หรือห้องพักของครูโดยไม่ได้รับคำอนุญาต ก่อนเข้าห้องทำงานหรือเข้าบ้านพักครู ก็ควรเคาะประตูอย่างสุภาพ พร้อมๆ กับการกล่าวคำ “สลาม”  หากได้กระทำดังกล่าวซ้ำถึง 3 ครั้งแล้ว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า หรือมีเสียงตอบรับจากภายใน ก็จงหลีกเลี่ยงเสีย หรือกลับก่อน
 
เมื่อลูกมีความตั้งใจไปพบครูที่บ้านหรือที่พัก หากไม่พบครูก็ควรรอ หากครูนอนหรือกำลังพักผ่อนอยู่ไม่ควรปลุกท่าน หรือรบกวน
 
 ครั้งหนึ่งท่าน อิบนิอับบาส รฏิฯ เคยนั่งรอหน้าประตูบ้านท่านซัยด์ อิบนิ ธาบิต เมื่อพบว่าท่านกำลังนอนพักผ่อน ท่านจึงนั่งรอ จนมีคนออกมาบอกว่าจะอาสาไปปลุกท่านและถามว่า “ท่านต้องการให้ฉันไปปลุกท่านไหมละ ? ท่านอิบนิอับบาส ท่านปฏิเสธและเลือกที่จะรอข้างนอกประตู จนแสงแดดส่อง
 
ลูกรัก การเรียนหนังสือนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจ การเริ่มต้นนับตั้งแต่การเดินเข้าห้องเรียน ด้วยจิตใจ และสมองปลอดโปร่ง ขจัดอารมณ์ค้าง อารมณ์เสียที่ค้างมาจากที่อื่นเสีย เช่นนี้แล้วก็จะทำให้การเรียนจะเป็นผล และมีความเข้าใจในบทเรียนที่ครูประสิทธิ์ประสาทวิชาให้อย่างแน่นอน
 
อิสลามส่งเสริมการศึกษาและกระตุ้นการศึกษาแก่คนทั่วไป การแสวงหาความรู้ถือเป็นหน้าที่(บังคับ) โดยไม่แยกแยะ เพศ ไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่แยกเชื้อชาติ เหล่า หรือชนชั้นวรรณะ เพราะการศึกษาเป็นหนทางที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน สังคม และสังคมจะเจริญก้าวหน้าได้นั้น สังคมต้องมีผู้คนที่มีการศึกษาและมีความรู้
 
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่พ่อแม่ควรตระหนัก สำหรับที่ลูกคือ ความอิสระ ปลอดโปร่ง ปราศจากความกดดัน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะคอยเป็นผู้ดูแล อบรม บ่มนิสัย การกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง และคอยชี้แนะมิให้ลูกมีเสรีภาพจนกินเลยขอบเขต มิให้หลงระเริงสู่ความพินาศ และพึงสำนึกเสมอว่า การขาดความเอาใจใส่หรือบีบบังคับลูกในบางประการ โดยปราศจากความเอาอกเอาใจ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นการกดดัน มีผลนำไปสู่การทำลายบุคลิกภาพและความมั่นใจในตัวเองของลูก ซึ่งอาจมีข้อจำกัดบางประการที่พ่อ แม่ ไม่อาจสอดคล้อง หรือกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกมิได้อยู่ในสายตา อาจเป็นเพราะ ขาดความเอาใจใส่ หรือสภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจที่ต้องออกจากบ้านไปประกอบอาชีพ
 
ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพลูก การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การวินิจฉัยบางประการ ซึ่งแน่นอนที่สุด ลูกๆย่อมเป็นผู้ที่มีความอ่อนด้อยในประสบการณ์ หรืออาจไม่รู้เท่าถึงการณ์ หรืออาจมีความคิด หรือพฤติกรรมบางประการที่ไม่เหมาะสม ต้องค่อยปรับเปลี่ยนไป ในเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยใช้วิธีการดังนี้
 
1.การสร้างความคุ้นเคยกับลูกๆ ในการให้เขาแสดงออกด้วยร่วมแสดงความคิดเห็น โดยพ่อแม่ อาจขอความเห็นด้วยการถาม หรือตั้งประเด็นของปัญหาเล็กๆ น้อย ที่เกิดในชีวิตประจำวัน และขอความเห็นจากลูก
 
2.อธิบายให้ลูกๆทราบถึงข้อผิดพลาด ในความคิดเห็นหรือความเข้าใจของลูกที่คลาดเคลื่อน เบียงแบน และคอยชี้แนะ วิธีการคิด การตัดสินใจที่ถูกต้อง
 
3.สอนให้ลูกรู้จักการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะของผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ซึ่งจะเป็นการสอน หรือถ่ายทอด เสริมสร้าง ประสบการณ์ให้เพิ่มพูน ในการประกอบการในการตัดสินใจที่ถูกต้อง
 
4.ทำให้เด็ก และเยาวชน เพิ่มพูนประสบการณ์ สร้างความคุ้นเคย ถึงแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ในการถกและเข้าถึงคำตอบที่ถูกต้อง
 
5.เพื่อที่จะเอาชนะความแบนเบี่ยงในพฤติกรรม ดังนั้นการเพิ่มพูนเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการเสริมสร้างบุคคลิกภาพ ที่ดียิ่งๆขึ้น
 
มีกรณีศึกษาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับความมั่นใจ ที่เกิดขึ้นกับ อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร เมื่อยังเยาว์วัย ท่านเล่าว่า “ครั้งหนึ่งเมื่อท่านศาสดา ฯ ถามพวกเราว่า “ ท่ามกลางหมู่ต้นไม้ มีต้นหนึ่ง ซึ่งใบของมันไม่ร่วง และมันคล้ายมุสลิม จงบอกชื่อของต้นไม้นั้น”    ทุกคนที่อยู่ในที่นั้น ต่างพากันนึกถึงต้นไม้ในทะเลทราย และฉันเองก็มีคำตอบอยู่ในใจ แล้ว คือ ต้นอินทผลัม แต่ฉันรู้สึกไม่กล้า และไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกละอายที่จะตอบ จนท่านศาสดาฯ เฉลยว่า “มันคือต้นอินทผลัม”
 
จากนั้น ฉันและบิดาลากลับ ฉันจึงกล่าวแก่บิดาว่า “ฉันเองมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วก่อนที่ท่านศาสดาฯ จะเฉลยแล้ว” บิดาฉัน อุมัร อิบนิคอฏฏอบ จึงกล่าวว่า
 
`”หากลูกเป็นผู้ตอบคำถามนั้นแล้ว พ่อจะรู้สึกว่ามันจะมีคุณค่าแก่พ่อเสียยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดใด ในโลกนี้”
 
เด็กๆ และเยาวชนที่รัก อัลลอฮฺมีเป้าหมายของการศึกษา แก่เยาวชนเพื่อที่จะบรรลุถึงประโยชน์ที่จะได้รับเป็นผลตอบแทนและความสุข และมิใช้ยังประโยชน์แค่เพียงส่วนบุคคล หรือเฉพาะตัว หรือปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ประโยชน์จากการศึกษาจะตกแก่ชุมชน สังคมโดยส่วนร่วมยิ่งสืบไป
 
ฉันของวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ได้ทรงโปรดประทานประโยชน์ ใดๆจากความรู้ และเราจะได้ประโยชน์โดยทั่วถ้วนหน้ากันสืบไป อามีนยาร๊อบบัลอาลามีน
 
 
 
 
 
เชิงอรรถ
 
(1)ซูเราะฮฺ  แปลว่าบท ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 114 บท ประทานที่มักกะฮฺ   93 บท และประทานที่มะดีนะฮฺ 21 บท
(2)ศอลฯ ศอลลอลลอฮฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แปลว่า “ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺและความสันติจงมีแด่ท่าน” เป็นคำสดุดีที่ใช้กล่าว หรือเขียนเมื่อมีการเอ่ยชื่อท่านศาสดามุฮัมมัด ศอลฯ
(3)อายะฮฺ หมายถึงโองการ หรือวรรค ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีจะนวนกว่า 6,200 โองการ
(4)รฏิฯ หรือ รฏิญัลลอฮุอันฮู   เป็นคำสดุดีต่อท้ายเมื่อมีการกล่าวนาม หรือเขียนนามผู้ใกล้ชิดกับท่านศาสดา ศอลฯ เช่นสหาย ภรรยา มีความหมายว่า”ขอพระองค์อัลลอฮฺประทานความโปรดปรานแก่ท่าน” หากเป็นหญิงกล่าว “รฏิญัลลอฮูอันฮา”
(5)มลาอิกะฮฺ  หมายถึงปวงเทพ เป็นอรูป และไม่มีเพศถูกสร้างจากแสงสว่าง ทำหน้าที่ในการนำวะหี้ยฺจากอัลลอฮแก่นบี ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ศรัทธา ลงโทษผู้ทำชั่ว ขอไถ่โทษและขอพรเพื่อมนุษย์ และบันทึกการกระทำต่างๆของมนุษย์การศรัทธาในมลาอีกะฮเป็นหนึ่งในหกหลักการศรัทธา
(6)ญิน มาจากคำว่า ญันนะ แปลว่าปิดบัง,ซ่อน หรือปกคลุม ที่ได้ ชื่อญิน เพราะมันซ่อนเร้นจากสายตามนุษย์ หน้าที่ของญินก็เพื่อยุแหย่ชักนำมนุษย์สู่การหลงผิด (114:4-6)
(7)อามัลอิบาดะฮฺ อามัล แปลว่าการงาน การกระทำ หรือการปฏิบัติ อิบาดะฮฺ การปฏิบัติเพื่อการภักดีต่ออัลลอฮฺ
(8)ฮะดิษ  หมายถึงข้อความอันเป็นคำกล่าวของท่านศาสดามูฮัมมัด ศอลฯ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดซึ่งท่านยอมรับ หรือไม่คัดค้าน
(9)อิหม่าม คือ ผู้นำ ซึ่งหมายถึง ผู้นำในการปกครอง การบริหารชุมชนที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง และหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในการนำละหมาดรวมกันหลายคน
(10)กูบุร คือ สุสาน หรือที่ฝังศพ
(11)ชารีอะฮฺ หมายถึง กฎหมายอิสลาม
(12)อูละมะฮฺ  มาจากคำว่า อิลมู หมายถึงความรู้ วิชาการ แปลว่า ผู้ทรงความรู้ นักวิชาการ
(13)อุสตัร.หรืออุสตัรซะฮฺ หมายถึงครูสอนศาสนา ชาย หรือหญิง
(14)ก๊ะ.เป็นภาษามลายูแปลว่า พี่สาว หรือใช้เรียกผู้ที่อาวุโสมากว่า หรือหญิงที่อาวุโสเรียกตัวเอง ในที่นี้หมายถึงครูสอนศาสนาสตรีนิยมเรียกขานตัวเอง
(15)บาบอ แปลว่า พ่อ ในที่นี้หมายถึงสรรพนามเรียกครูสอนศาสนาอาวุโส เจ้าของปอเนาะ เป็นต้น
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
แด่เยาวชน : คู่มือสร้างเยาวชนให้เป็นมุสลิม (ส่วนหนึ่งทางนำท่านศาสดาฯ ศอลฯ)  8