Skip to main content

กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี

ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

บทนำ

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้จัด ”การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 4” ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 19 - 23 พฤษภาคม 2556 เพื่อการสร้างความเข้าใจ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใน3จังหวัดชายแดนใต้ กับ กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมกับเตรียมความพร้อมในบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะเป็นตัวแสดงที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะวิทยากรจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำเนินการอบรมในหัวข้อ “กระบวนการแก้ไขปัญหาในทางสันติวิธี” ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 แบ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จะเป็นการบรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  ซึ่ง ผศ.ดร. ศรีสมภพได้นำเสนอเรื่องสถิติความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่กลุ่มบุคคลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกันการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต และสถิติความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ (คลิกอ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ช่วงถัดมาจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 4 มาจากอำเภอ หนองจิก, ยะรัง, กะพ้อ และปะนาเระ โดยจะแบ่งความคิดเห็นในรูปแบบคำถามเชิงทัศนคติที่ถามถึง ความคาดหวัง, ความกังวล และบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

            บทความฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อย่อย โดยจะมี บทนำ, บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่4, ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ และ บทสรุปของบทความ ซึ่งจะแสดงถึงจุดยืนของบทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในสถานการณ์ขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแสดงที่บทบาทสำคัญใน Track ที่ 3 รวมไปถึงบทบาทในการเชื่อมต่อกับ Trackที่1 และ Trackที่2 ในกระบวนสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มการพูดคุยสันติภาพไปแล้วในวันที่ 28 มีนาคม 2556 และ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

 

บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่4

            หลังจากจบการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ก็เข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดย มูฮำมัดอายุบ  ปาทาน และ คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  การอบรบเชิงปฏิบัติการณ์นี้ได้แบ่งผู้เข้าร่วมที่เป็นกำนันผู้ใหญ่เป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างกันในกลุ่มภายใต้ประเด็นคำถามดังนี้

1. ท่านมีความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ท่านมีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพ

3. ในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้าง

           ประเด็นคำถามนี้ได้นำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าสู่การระดมความคิดเห็นกันภายในกลุ่มตนเองพร้อมกับการนำเสนอและอภิปรายความคิดเห็นของกลุ่มตนเองให้ทุกกลุ่มฟัง

 

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

 

 

 

 

 

 

ประเด็นคำถามแรก กำนัน-ผู้ใหญ่ความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น 9 กลุ่ม ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         เกิดความเข้าใจในทุกเรื่อง

 

·         อยากให้หน่วยงานทหารในพื้นที่ที่มาจากต่างจังหวัดกลับฐานของตนเองใน3จังหวัด4อำเภอ

 

·         อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ความไว้วางใจและมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

·         ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดความจริง

·         ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

·         ให้ยุติความรุนแรง

 

·         ให้ยุติความรุนแรง

·         พุทธ+มุสลิมยอมรับในกระบวนการสันติภาพ

·         รัฐจะยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายตรงข้าม – ฝ่ายตรงข้ามยอมรับเงื่อไขของรัฐบาลไทย

·         ประชาชนระดับในรากหญ้ายอมรับในกระบวนการเจรจา

 

·         เหตุการณ์ความไม่สงบจะยุติ

·         อยากเห็นชายแดนใต้สงบสุขเหมือน 10 ถึง 20 ปีที่แล้ว  อยากให้อดีตกลับคืนมา (อยากมีวิถีชีวิตแบบดั่งเดิม)  อยากเห็นภาพในอดีตกลับมาอีกครั้ง

 

·         เกิดความปกติสุขในทุกด้านที่มนุษย์ควรจะมี

 

·         อยากเห็นสันติสุขคืนกลับมา

 

·         ยุติความรุนแรง

 

·         การเจรจาที่ผ่านมา  เป็นการเริ่มต้นที่ดี  หลายๆประเทศประสบความสำเร็จแล้ว อย่าง  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย

·         การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหา

 

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

 

 

 

 

 

 

 

            ประเด็นคำถามที่ 2 กำนัน-ผู้ใหญ่มีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         กลัวเหตุการณ์จะบานปลาย  เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ  ในภาพหรือกระแสที่ออกมา  มันอาจจะบ่งบอกได้ว่า (จะสงบหรือปานปลาย)

 

·         การไม่สิ้นสุดของกระบวนการสันติภาพ

 

·         เจ้าหน้าที่รัฐไม่ไว้วางใจต่อกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

 

·         เมื่อเจรจาไม่สำเร็จฝ่ายทหารอาจจะกลับเข้าเป็นฝ่าย BRN  เพราะทหารชั้นผู้น้อยจะสับสน

 

·         ให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

·         เราถูกหลอกหรือเปล่า

 

·         กลัวเรื่องผลประโยชน์  เรื่องงบประมาณที่ลงมา3จังหวัดชายแดนใต้

 

·         วันหนึ่งถ้ามีการลดกำลังทหารในพื้นที่  พวกเราจะทำอย่างไร?

 

·         กังวลว่าความสันติสุขจะเป็นช่องทางของนักธุรกิจ

 

·         ปัญหาความรุนแรงจะไม่ยุติ

·         กังวลว่าบางปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ให้หมดไปได้  (อย่างเช่นปัญหายาเสพติด)

·         อำนาจและผลประโยชน์ในพื้นที่

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

 

 

 

 

              ประเด็นคำถามที่ 3 กำนันในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับชาวบ้าน

 

·         สร้างความเข้าใจให้คนในชุมชน

 

·         ช่วยสื่อสารให้กับกระบวนสันติภาพในชุมชน

·         หากทราบแนวทางและจุดหมายที่ชัดเจนของการเจรจาแล้ว  จะได้ช่วยประสานและให้ข้อมูลชาวบ้าน

 

·         สร้างความรักและความสามัคคีให้เกิดแก่หมู่บ้านและชุมชน

 

·         ให้เจ้าหน้าที่ไว้วางใจกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

 

·         เป็นสื่อกลางในการแก้ไขปัญหา

·         สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาโดยการร่วมมือกับรัฐ

·         ร่วมมือกับเป็น4เสา

 

·         ขอให้มีความยุติธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนและให้เกียรติกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน  เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีทางรู้ดีเท่าเจ้าของบ้านที่แท้จริง

 

            จากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม  ทางคณะวิทยากรได้ทำการจัดหมวดหมู่และทำรวมกลุ่มความคิดเห็นที่คล้ายกันจากการนำเสนอของทุกกลุ่มในแต่ละประเด็นคำถามข้างต้น เป็นหัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถาม  เพื่อนำสู่กระบวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ลงความเห็นร่วมกันว่า  หัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นอย่าง ความคาดหวัง, ความกังวล, และ บทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพในหัวข้อย่อยใดควรจะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผลการลงคะแนนมีดังนี้

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

 

1

ยุติความรุนแรง-สันติสุขกลับคืนสู่ชุมชน

40

2

รัฐ-เจ้าหน้าที่รัฐ  เข้าใจและจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา

3

3

ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

2

4

กระบวนการสันติภาพเป็นไปได้อย่างราบรื่น

1

 

            จากการลงคะแนนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า สิ่งที่กำนัน-ผู้ใหญ่คาดหวังมากที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ  การยุติความรุนแรง-สันติสุขกลับคืนสู่ชุมชน  มีความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งลุกขึ้นมาสะท้อนว่าในประเด็นนี้ว่า “ถ้าเป็นไปได้ขอให้ขบวนการไม่ให้ใช้ระเบิดในการก่อเหตุได้หรือไม่?  เพราะว่ามีโอกาสสูงที่ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์จะโดนลูกหลงจากระเบิดลูกนั้น  ถ้าจะใช้ก็ให้ใช้แค่ปืนก็พอ”   เสียงสะท้อนนี้เป็นเสียงที่มาจากชาวบ้านที่มีความชอบธรรมในการดำรงชีวิตในพื้นที่และเป็นผู้ที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด  ดังนั้นอย่างน้อยกำนัน-ผู้ใหญ่ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านในชุมชนมีความชอบธรรมที่จะสะท้อนความคิดเห็นนี้ไปสู่  BRN นอกจากที่สะท้อน ความคิดเห็นอันดับที่ 2 ไปสู่เจ้าหน้ารัฐในพื้นที่ให้จริงใจในการแก้ไขปัญหา และแก้ไขด้วยความเข้าใจต่อพื้นที่ ส่วนอันดับ 3 เป็นการสะท้อนความต้องการที่จะมีส่วนร่วมที่จะกำหนดชะตากรรมในพื้นที่ตัวเองในกระบวนการเจรจา และ อันดับที่ 4 เป็นความคาดหวังที่อยากให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเพื่อส่งผลให้พื้นที่กลับคืนสู่ความสงบสุขและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

 

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

1

ความรุนแรงไม่ยุติ/บานปลาย

31

2

สถานการณ์เป็นช่องทางผลประโยชน์ (อำนาจ+งบ)

13

3

เจ้าหน้าที่รัฐไม่ไว้วางใจกำนัน

2

4

แนวทางปฏิบัติงานของทหาร+เจ้าหน้าที่ความมั่นคง

1

5

กระบวนการสันติภาพเจรจาไม่สำเร็จ

0

5

การดูแลรักษาความปลอดภัยหากมีการถอนทหารออกไป

0

 

             ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือความรุนแรงไม่ยุติและเหตุการณ์บานปลายมากขึ้น  มีผู้ใหญ่บ้านในการอบรมแสดงความคิดเห็นว่า“กังวลว่าการเจรจากับระหว่างตัวแทนรัฐกับตัวแทนขบวนการ BRN จะตกลงกันไม่ได้ สมมติว่าข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่ายมี 10 ข้อ ตกลงกันได้แค่ 7 ข้อ และการที่ตกลงกันไม่ได้อีก 3 ข้อจะเป็นต้นต่อของความรุนแรงที่บานปลายมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้” ความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนความกังวลในเรื่องความรุนแรงไม่ยุติ/บานปลายออกมาได้ชัดเจนที่สุด

            สถานการณ์เป็นช่องทางผลประโยชน์ (อำนาจ+งบ) ที่เป็นอันดับ 2 ได้มีผู้ใหญ่บ้านแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ตนเองอยากให้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้สงบลงเพื่อตนเองและชาวบ้านจะได้ทำมาหากินได้  แต่เท่าที่ตนเองสังเกตแล้ว  เหมือนกับว่าทหารไม่อยากให้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้จบ  แถมยังมีเรื่องปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่  เรื่องผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น  ปัญหาส่วนตัวในท้องถิ่นมีการฆาตกรรมกันแล้วมีผนวกรวมเข้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้”   

            เจ้าหน้าที่รัฐไม่ไว้วางใจกำนัน เป็นอันดับ 3 เป็นความเห็นที่เหมือนเวทีครั้งที่ 3 (คลิกอ่าน เสียงสะท้อนในการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ รุ่นที่ 3)  แสดงให้เห็นชัดว่า  เจ้าหน้าที่รัฐที่มีการปฏิสัมพันธ์กับทางชุมชนอย่างเป็นประจำ  ไม่มีความไว้วางใจในกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  ซึ่งจะเป็นอุปสรรคกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  ที่เป็นตัวแสดงที่สำคัญและเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ ประชาชนรากหญ้า กับเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาสังคมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในระดับ Track 3

            มีประเด็นที่มีความน่าสนใจมาก 2 ข้อที่ไม่ถูกเลือกคือความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ/เจรจาไม่สำเร็จ และการดูแลรักษาความปลอดภัยหากมีการถอนทหารออกไป  สองข้อนี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเพราะว่า  ถ้าหากกระบวนการสันติภาพไม่สำเร็จ  และ มีการถอนทหารออกไปจากพื้นที่  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยได้ด้วยตนเองหรือไม่?  แต่การที่ไม่มีการลงคะแนน  อาจจะเป็นคำตอบอยู่ในตัวเองอยู่แล้วก็เป็นได้  ว่าทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีความกังวลในการดูแลรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านด้วยตนเอง  ถึงแม้ว่าจะกระบวนการสันติภาพจะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม  เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสามารถจัดการและการดูแลตนเองในพื้นที่ของตน  โดนไม่จำเป็นต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองความปลอดภัยในพื้นที่ของตนเอง 

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

 

1

เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐ-ชาวบ้าน

31

2

มีส่วนร่วมในการเจรจา

7

3

พัฒนาและยกคุณภาพชีวิตร่วมกับ4เสาหลัก

4

4

สร้างความไว้วางใจ-ให้เกียรติกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

3

 

            บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ความเห็นว่าสำคัญที่สุดในกระบวนการสันติภาพก็คือ เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐ-ชาวบ้านซึ่งบทบาทนี้เป็นบทบาทสำคัญของกำนัน-ผู้ใหญ่ในการทำกระบวนการพูดคุยใน Trackที่ 3 เป็นการสร้างบรรยากาศเตรียมพร้อมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้และจะเป็นการสร้างตาข่ายนิรภัย ในกรณีการพูดคุยกระบวนการสันติภาพใน Track 1ล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้

            เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นมากว่าการอบรมในรุ่นที่ 4 นี้  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านค่อนข้างเข้าในบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่  มีความเป็นไปได้ว่า  กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นนี้เป็นกำนัน-ผู้ใหญ่ที่มาจากพื้นที่สีแดงเสียเป็นส่วนใหญ่  ทำให้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดีและสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในการอบรมปฏิบัติการครั้งนี้

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ

            ข้อสังเกตนี้มาจากการแสดงความคิดเห็นของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในการอบรมเชิงปฏิบัติการ  การแสดงความคิดเห็นของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 4 นี้ได้แสดงถึงความความคาดหวัง ความกังวล  และ บทบาทของตนเองที่ได้ทำในช่วงก่อนการเริ่มต้นการมีกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากก็คือ  บางบทบาทที่กำนันผู้ใหญ่บ้านได้ทำลงไปโดยธรรมชาติ  หรือ  ตามความรู้สึกของตน กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการบวนการสันติภาพ  อย่างเช่น  การพูดคุยกับคนที่คิดเห็นต่างในชุมชนของตนเอง  แล้วทำให้คนที่คิดเห็นต่างเชื่อใจแล้วเป็นพวกเดียวกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน   โดยแท้จริงแล้วกระบวนการนี้ก็คือ “กระบวนการพูดคุยสันติภาพ”  นี่เป็นสิ่งที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้กระทำโดยไม่รู้ตัว  เพราะฉะนั้นบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จึงมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการสันติภาพใน Trackที่ 3 

            ผู้ใหญ่บ้านคนนั้นได้แสดงความคิดเห็นต่ออีกว่า  “หลายครั้งที่ผู้ใหญ่บ้านพูดคุยจนสามารถทำให้คนคิดต่างเข้าใจและมาเป็นพวกผู้ใหญ่บ้านสำเร็จแล้ว  แต่ทหารยังไม่หยุดพฤติกรรมตรวจค้นบ้านของชาวบ้านคนนั้น  แถมเป็นการตรวจค้นยามวิกาลในช่วงเวลา 1 นาฬิกา  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แถมยังทำให้งานการเมืองของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเสียหาย” นี้เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาว่า  งานทางการทหารและงานทางการเมืองในพื้นที่ไม่ได้กระทำการอย่างสอดคล้องกัน 

            ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมได้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า  “ตนเองอยากทำเวทีในหมู่บ้านสำหรับพูดคุยกับคนที่คิดเห็นต่าง แต่ไม่มีทุนทรัพย์ แล้วเห็นว่าได้มีโครงการตำบลสันติธรรม[1] ตนเองเลยยื่นโครงการเพื่อขอรับทุนทำเวทีพูดคุยกับคนเห็นต่างในหมู่บ้านตนเอง  แต่หน่วยงานบางหน่วยบอกเรื่องที่ผู้ใหญ่บ้านจะทำเป็นเรื่องที่เกินกำลังของผู้ใหญ่บ้าน”  จะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนเป็นสื่อกลางในการดำเนินโครงการ แต่กลับบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินกำลังของกำนัน-ผู้ใหญ่ในการที่จะจัดทำ  จึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากในการในดำเนินโครงการนี้ที่ต้องการกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแสดงที่สำคัญในโครงการ  และเป็นการมองข้ามศักยภาพของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในการดำเนินการกระบวนการพูดคุยในระดับรากหญ้า

            การแสดงความคิดเห็นในประเด็นความกังวลของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ยังมีอีกหลายความเห็นเช่น  “การเจรจามีมาหลายครั้งแล้ว  ตั้งแต่ยุค นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี  แล้วก็ไม่สำเร็จ ทำให้การเจรจาครั้งนี้ไม่มั่นใจว่าจะสำเร็จ เหมือนกับเป็นภาพประทับในครั้งก่อนๆในอดีตที่ไม่สำเร็จเช่นกัน”, “มีความกังวลว่า การเจรจาครั้งนี้สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้จริงหรือเปล่า? ตัวแทน BRNที่มาเจรจาด้วยมาจากไหน?  การเจรจาผิดคนก็เหมือนกับหารเกาไม่ถูกจุดที่คัน และการตั้งคำถามทีแสดงถึงความกังวลเหล่านี้  เป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ต้องมาพิจารณา  ถึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต่อกระบวนการสันติภาพ และ ข้อเรียกร้องที่มาจากสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านในพื้นที่

            ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดของเวทีนี้คือ  “พื้นที่ปลอดภัย” ที่จะทำการพูดคุยกัน  การพูดคุยนี้รวมไปถึงการทำประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย  ผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้  บางคนเวลาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดแต่สุดท้ายก็ต้องตัดบทการแสดงความคิดเห็นของเขาเองด้วยความไม่มั่นใจในความปลอดภัยในเวที  และความไม่ปลอดภัยในชีวิตของเขาเมื่อกลับไปสู่หมู่บ้าน  ประเด็นพื้นที่ปลอดภัยเป็นประเด็นที่สำคัญมากในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ  เพราะพื้นที่การพูดคุยกับคนที่เห็นต่างกันเราต้องมีการสงวนพื้นที่ปลอดภัยไว้สำหรับการพูดคุยและพื้นที่นี้ต้องเกิดจากการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันทั้งสองฝ่าย  เพราะฉะนั้นประเด็นพื้นที่ปลอดภัยจึงเป็นประเด็นที่ทำให้การอบรมเชิงปฏิบัติการไม่สามารถถกเถียงกันได้อย่างตกผลึกได้อย่างเท่าที่ควร

 

บทสรุป

            โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการฝึกอบรมที่เป็นการเตรียมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้พร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่  ให้ตระหนักถึงบทบาทของ และตำแหน่งแห่งที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่และต่อไปในอนาคต กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยภายในประชาชนระดับรากหญ้า (Track 3) ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตาข่ายนิรภัย ที่ช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track 1 (ตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทน BRN) โดยทำการพูดคุยคู่ขนานในTrack 2 กับ 3 ควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีการพูดคุยล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ ในกรณีประสบปัญหาเช่นนั้น กระบวนการสันติภาพใน Track 1 สามารถนำข้อเสนอที่ Track 2-3 ที่ได้ทำกระบวนการคู่ขนานมาใช้หรือนำมาประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย)  เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ทราบถึงกระบวนการสันติภาพจึงสิ่งที่จำเป็นและได้รับการหนุนเสริมทั้งจากทางรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่  เพื่อเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวมที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้

 

 


[1] โครงการนี้ได้จัดขึ้นตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ในยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชนในการร่วมสร้างสันติสุขเพื่อดึงพลังครอบครัวและพลังมวลชนให้เป็นสื่อกลางผ่านผู้นำหมู่บ้านและผู้นำชุมชนในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยและความรัก ความสามัคคีให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น จึงได้กำหนดเป้าหมายหลัก คือ การลดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความสูญเสียในพื้นที่หมู่บ้านตำบลที่ภาคประชาชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ โดยมีสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการทำงานในลักษณะพหุภาคีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหมู่บ้านและตำบล  ที่มา เวบไซต์ สถานีวิทยุม.อ. http://psu10725.com/joomla/index.php?view=article&catid=36%3A2011-06-18-10-54-39&id=254%3A2012-10-26-06-22-26&option=com_content&Itemid=71