ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
ผมเคยถามตัวเองว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับปืนใหญ่ปาตานี? คำตอบคือ เฉยๆ เหตุที่รู้สึกเช่นนี้เป็นเพราะการพบกันครั้งแรกระหว่างตัวผมเองกับวัฒนธรรมมลายูนั้น ผมเจอคนและรู้สึกสนุก อยากติดตามค้นคว้าเรื่องราวของผู้คนในแง่มุมต่างๆ ในภูมิภาคมลายูให้มากที่สุด ดังนั้น ปืนใหญ่ปาตานี จึงตกขอบความสนใจของผมนับแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ในความคิดของคนปาตานีโดยรวมแล้ว ปืนใหญ่ปาตานีถือเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและปราชัยทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปาตานีกับรัฐสยาม ปืนใหญ่จึงมิใช่แค่อาวุธ หากคือหมุดหมายทางความทรงจำ ซึ่งกำหนดวิธีการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ปาตานีตามลักษณะของประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ประวัติศาสตร์บอกเล่าในลักษณะนี้มีเสน่ห์ประการหนึ่ง คือ มิได้อิงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ดังที่นักประวัติศาสตร์ระบุเอาไว้ ผู้บอกเล่ามักใช้วิธีการเล่าเรื่องที่สลายมิติทางเวลาหรือย่นระยะห่างอันไกลโพ้นของเวลาให้เรื่องเล่าเก่าเก็บมีพลังและโลดแล่นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ฟังจึงรู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคยกับเรื่องราวดังกล่าว ดังนั้น หากนักประวัติศาสตร์ท่านใดจะบอกว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับปืนใหญ่ปาตานีในเวอร์ชั่นชาวบ้านนั้นไม่ถูกต้องทั้งข้อมูลและเวลา แต่ท่านเหล่านั้นคงไม่สามารถปฏิเสธได้กระมังว่า ความสำคัญของปืนใหญ่ปาตานีในฐานะตัวแทนหรือตัวสำแดง แทนอัตลักษณ์ปาตานีนั้นมิได้ดำรงอยู่ได้ด้วยข้อมูลจากเอกสารหรือจดหมายเหตุซึ่งยากแก่การเข้าถึง แต่ถูกส่งผ่านกันมาด้วยคำบอกเล่าของสามัญชน
ในแง่นี้ หากย้อนกลับไปยังงานศึกษาทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์ในช่วงก่อน 1990 โดยประมาณ ผมพบข้อสังเกตว่า แทบทุกชิ้นจะต้องเอ่ยถึงปืนใหญ่ปาตานีในฐานะตัวแทนวัฒนธรรมมลายูซึ่งมีความสำคัญทัดเทียมกับภาษามลายู และศาสนาอิสลาม หากเราเชื่อเช่นนี้ ความทรงจำที่ยึดโยงกับความปราชัย การตกเป็นอาณานิคมของสยาม และถูกยึดอาวุธไปเป็นของประดับนั้นถือเป็นตาข่ายความทรงจำ ที่ถูกถักทออย่างแน่นหนา ผู้คนในพื้นที่ทั่วไป อาจมิได้สงสัยว่าปืนใหญ่ถูกยึดไปพ.ศ.ไหน เริ่มพูดภาษามลายูเมื่อไหร่ หรือเริ่มนับถือศาสนาอิสลามเมื่อไหร่ พวกเขาตระหนักเสมอว่าว่าชีวิตของพวกตนขาดสิ่งสำคัญทั้งสามนี้ในฐานะภาพแทนอัตลักษณ์ของตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มมลายูมุสลิม
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อมีข่าวว่าได้มีการส่งคืนปืนใหญ่ปาตานีกลับบ้านเกิด ผู้คนจำนวนมากจึงแห่ไปต้อนรับ เท่าที่ผมทราบ ผู้คนหลากหลายนี้มาจากสามจังหวัดและบางส่วนของจ.สงขลา ซึ่งยืนยันปริมลฑลทางวัฒนธรรมของรัฐปาตานีในอดีตได้เป็นอย่างดี แน่นอน ผู้คนต่างผิดหวังกันอย่างมากเพราะปืนที่ส่งมาเป็นของปลอม กรณีนี้ ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่เดินทางมาชมไม่ตรวจสอบกันก่อนเลยหรือว่าเป็นของจริงหรือปลอม แต่จากความคุ้นเคยบางส่วนและสอบถามกับคนรู้จัก คำตอบที่ชวนสลดใจคือ คนส่วนมากพอรู้ข่าวก็จะมาดูอย่างเดียว เพราะดีใจ ความดีใจของคนในพื้นที่นั้นยากที่จะเข้าใจได้ง่ายเพราะมันพัวพันหลายด้าน ทั้งความยินดีที่รู้สึกว่าส่วนหนึ่งในความเป็นตัวตนของมลายูและตนเองได้กลับคืนมา ขณะที่การคืนปืนใหญ่ปาตานีคือจุดเริ่มต้นของการชำระประวัติศาสตร์และส่งคืนเชลยทางประวัติศาสตร์ได้กลับบ้าน ในความเห็นผม จะมีการสร้างสันติวิธีแบบไหนอีกที่จะยั่งยืนเท่ากับการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และยอมรับสถานะภาพของคู่ขัดแย้งว่ามิได้เป็นสิ่งแปลกปลอมของกันและกัน เพราะปัญหาความรุนแรงในปัจจุบันมันยากที่จะหยุดได้ในระยะเวลาอันสั้น
เหตุที่สลดใจคือ ปืนที่ส่งมาเป็นของปลอม และน่าสลดใจยิ่งกว่าคือ การส่งปืนปลอมกลับมาคือการกระทำที่แสดงออกอย่างเด่นชัดถึงการเป็นเจ้าอาณานิคมซึ่งไม่เคยจางหายไปของรัฐไทย
สำหรับผม การส่งปืนจริงกับปลอมนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ประการแรก การส่งปืนจริงกลับมาน่าจะมีผลต่อการเจรจาสันติภาพในแง่บวกมากกว่า โดยเฉพาะการสื่อสารสันติภาพต่อประชาชนในพื้นที่ การสร้างความเชื่อมั่นต่อการสามารถเป็น "พลเมืองไทยที่หลากหลาย" ของคนมลายู เพราะตราบใดก็ตามที่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนมลายูยังคงถูกจองจำ ด้วยรัฐส่วนกลาง คนมลายูในพื้นที่จะยังคงมีความรู้สึกลึกๆ ถึงการไม่ยอมรับความหลากหลายหรือแตกต่าง ประการที่สอง การส่งคืน ปืนปลอม กลับคืนมา กลับเป็นสิ่งที่ยำ้ถึงลักษณะการใช้อำนาจของรัฐไทยในลักษณะเจ้าพ่อ มาเฟีย หรือเจ้าอาณานิคม ซึ่งมักปล้นสดมภ์ ยึดทรัพย์สินจากผู้ด้อยอำนาจกว่า ครั้นอยากจะส่งคืนเพื่อเอาใจก็พลันคิดว่า คนใต้บังคับสามารถทำใจยอมรับ "อะไรก็ได้" จากนาย ต่อกรณีนี้ ผมอยากให้เปรียบเทียบกรณีการทวงคืนทรัพย์สินหรือ "สมบัติชาติ" อย่าง ทับหลังนารายณ์ฯ เป็นกรณีศึกษา ว่าเหตุใดของจริงจึงจำเป็นต้องกลับบ้าน ส่วนการจำลองแบบเพื่อการศึกษาในแง่มุมประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติศาสตร์โบราณคดีจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ในแง่นี้ก็ให้นึกคิดกันเองว่า ของจริงควรตั้งอยู่ที่ใดและของปลอมควรตั้งที่ใด ประการสุดท้าย พิจารณาในแง่ของความมั่นคงแห่งรัฐสมัยใหม่ซึ่งจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของรัฐและสร้างความเป็นพลเมือง การคืนสินสงครามในสมัยรัฐจารีตอย่างปืนใหญ่ปาตานีนั้น นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่ง แต่อดคิดไม่ได้ว่า รัฐไทยคงทำไม่ได้ด้วยสมมติฐานทางทฤษฏีหลายประการ อาทิ รัฐไทยยังมิเคยก้าวสู่รัฐสมัยใหม่เลย รัฐไทยสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าของรัฐสยามยุคจารีต และอำนาจอธิปไตยและองค์อธิปัตย์ของรัฐไทยเกิดขึ้นมาจากการผสมปนเปของการบริหารแบบรัฐสมัยใหม่ด้วยอำ นาจแบบจารีต ทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่จะคิด แต่ผมอดนึกทุกครั้งที่เดินผ่านหน้ากระทรวงฯไม่ได้ว่า ภาพเบื้องหน้าคือการคุมขังสิ่งแปลกปลอมทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ ประวัติศาสตร์ของการแข็งกร้าวไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ และเมื่อประวัติศาสตร์แห่งชาติไม่มีพื้นที่อื่นๆ หรือพื้นที่สำหรับความแตกต่างแล้ว ปาตานีจึงมักถูกสร้างภาพให้จินตนาการถึงความน่ากลัว แปลกแยก และกลายเป็นภูมิศาสตร์อันตรายสำหรับรัฐไทย
นึกแบบนี้มันช่างน่าหดหู่และหมดหวังยิ่งต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ผมนึกถึงสมัยอยู่กรุงเทพฯ ยามใดที่เพื่อนๆจากสามจังหวัดขึ้นมาเยี่ยมเยียน พวกเขามักขอให้ผมพาไปชมปืนใหญ่ปาตานีที่หน้ากระทรวงฯ แทบทุกครั้ง ผมถามเชิงทีเล่นทีจริงว่า "ไปดูทำไมปืน ตรงนั้นแดดร้อน" แต่ทุกครั้งที่ไปชมด้วยกัน พวกเค้ามักไปถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก หลายคนบอกว่า อยากให้ปืนกลับบ้านเกิด และอยากถ่ายเอาไว้บอกลูกหลานว่าปืนใหญ่ปาตานีอยู่ตรงไหนและรูปร่างอย่างไร เพื่อนๆ สอนให้ผมรู้ว่า ปืนไม่ใช่สัญลักษณ์ของความแข็งกร้าวหรือรุนแรงเสมอไป มันเป็นทั้งสัญลักษณ์ที่ยืนยันการดำรงอยู่ของความเป็นมลายู ปืนใหญ่ปาตานีจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่จะมีการชำระความทางประวัติศาสตร์ การส่งคืนปืนใหญ่ของจริงจึงเปรียบได้กับการปวารณาตนของรัฐไทยต่อพันธกิจสันติภาพ (peace commitment)
แต่แน่นอน ผมสงสัยต่อไปอีกว่า ท่ามกลางความผิดหวังของผู้คนในพื้นที่ เหตุใดจึงมีผู้ยินดีต้อนรับและตระเตรียมทำการโปรโมตให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตรงตามตำนานคือมีทั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะ และปืนใหญ่ปาตานี (ทั้งๆที่ก็รู้กันอยู่ว่า สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจริงๆ อยู่ในทะเล) ผมตั้งข้อสังเกตว่า สถานะทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของปืนใหญ่ปาตานี เริ่มถูกท้าทายด้วยปัจจัยหลายประการ ในแง่ของงานวิชาการหลังปี 1990 โดยประมาณ เริ่มมีการศึกษาอัตลักษณ์ของคนมลายูหรือประเด็นต่างๆที่เปิดมุมมองเรื่อง อดีตของปาตานีมากขึ้น ทั้งในลักษณะของประวัติศาสตร์บอกเล่าของครอบครัว เครือญาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผู้คนเริ่มตระหนักว่าสามารถใช้เรื่องเล่าและสัญลักษณ์อื่นๆ มาอธิบายตัวตนของตนเองได้ ในขณะที่ โจทย์ปัญหาใหม่ๆ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาก็หลุดออกไปจากกรอบของการครุ่นคิดเรื่องใหญ่ กว้างๆ มาสู่ปฏิบัติการณ์และการพิจารณาอำนาจรัฐในชีวิตประจำวัน คู่ขัดแย้งก็กลายเป็นรัฐไทยสมัยใหม่กับกลุ่มแนวร่วม ภายใต้ชื่อต่างๆ หาได้เป็นระหว่างรัฐสยามกับปาตานีไม่ เท่าที่ผมจำ ได้ แม้ปืนใหญ่ปาตานีจะอยู่ในสำ นึกของผู้คนท้องถิ่น แต่สำนึกของผู้คในท้องถิ่นเองก็มีความต่างกัน จินตนาการต่อปืนใหญ่ก็มีความต่างกันไป ชนชั้นนำ มลายูและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมักอ้างอิงถึงปืนใหญ่ปาตานียามต้องการบ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์แห่งรัฐปาตานีในอดีต รวมไปถึงความพ่ายแพ้ต่อสยามของบรรดารายอ (อดนึกประวัติศาสตร์ไทยเวอร์ชั่นเสียกรุงศรีอย่างอดไม่ได้) บรรดานักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในช่วงหลังเหตุการณ์ที่สะพานกอตอ และการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานีช่วง 2519 พวกเขาก็เล่าเรื่องปืนใหญ่ปาตานีแต่แตกต่างออกไปจากชนชั้นนำ มลายู ตรงที่ พวกเขานำ อดีตมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในปัจจุบัน ในขณะที่ ตัวแทนของคนมลายูปัจจุบันก็เล่าเรื่องปืนใหญ่ปาตานีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สอดรับกับการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อกลบความขัดแย้ง
แน่นอน อดีตของปาตานีนั้นมีปัญหา แต่ปัญหานั้นเกิดจากจินตนากรรมอันต่างกัน จินตนากรรมถึงบ้าน ถึงสัญลักษณ์สำคัญอย่างปืนใหญ่ที่แตกต่างกัน ผมได้แต่หวังและภาวนาให้มีการตั้งคำถามต่อปืนปลอมกันให้มากๆ รวมไปถึงการทวงคืนปืนจริงให้หวนคืนสู่มาตุภูมิ
เพราะโดยพื้นฐานแล้ว นกกระดาษอาจมิใช่สัญลักษณ์แห่งสันติภาพเพียงอย่างเดียว ปืนใหญ่ปาตานีที่หน้ากระทรวงฯ ก็สามารถกลายเป็นได้เช่นกัน หากปืนนั้นถูกส่งกลับคืนด้วยความหวังและจินตนาการถึงการอยู่ร่วมกันในอนาคต