Skip to main content
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
 
กรณีปืนใหญ่ปาตานีถูกลอบวางระเบิดนั้น ผมมีความรู้สึกหลากหลายมาก ในวูบแรก ใจนึกว่า "ตูว่าแล้วววว ก็แม่งของปลอม" รอยแผลทางประวัติศาสตร์มันถูกย้ำให้ช้ำอีกครั้งก็ตรงปืนปลอมนี่แหละ การส่งปืนปลอมกลับมามันย้ำท่าทีของความเป็นเจ้าอาณานิยมของสยาม/ไทยมาก (ใครจะแปลความหมายเจ้าอาณานิคมเป็นอย่างอื่นก็เป็นสิทธิของเค้า แต่ผมคิดว่าคำนี้เป็นการแปลที่ซื่อสัตย์และมีจุดยืนต่อประวัติศาสตร์บาดแผล) จากนั้น ผมก็หัวเราะในใจ คล้ายความสะใจ ระคนกับความไม่ยี่หร่ะต่อสัญลักษณ์ที่ถูกระเบิด เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า สถานะความเป็น "ปืนปลอม" ในความรู้สึกของคนในพื้นที่นั้นไม่เป็นบวก
 
อย่างไรก็ตามผมกลับมาซีเรียสทันทีเพราะรู้สึกว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติปรากฏอยู่สองเรื่องใหญ่...
 
เรื่องแรก ผมหวนนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาตานีดารุสลาม (ปาตานีเมืองทองหรือปาตานียุครุ่งโรจน์) ซึ่งมักได้ยินบ่อยมาก ทั้งความเป็นนครรัฐ เมืองท่า รัฐศาสนาอิสลาม มีการปกครองโดยระบบรายา ฯลฯ บางคนเล่าถึงความสงบสุขและรุ่งโรจน์ทางวัฒนธรรม ความรู้ และวิถีทางเศรษฐกิจ เรื่องเล่าเช่นนี้ ผมไม่อาจยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่ หรือข้อเท็จจริงในยุคนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เอาเป็นว่า จุดยืนของผมคือ การมีอยู่ของปาตานีดารุสลามนั้นคือ เรื่องเล่าซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองและต่อสู้กับอำนาจแบบอาณานิคม แน่นอน หากเราย้อนกลับไปดูตัวอย่างเช่น งานเขียนของ อ.บางนรา เรื่อง ปัตตานี อดีต และปัจจุบัน ซึ่งเขียนขึ้นมาจากสถานะการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน จะพบว่า ปาตานีดารุสลามเป็นเสมือนโครงเรื่องหลักที่ช่วยย้ำให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ของปาตานีที่ถูกทลายลงด้วยน้ำมือของเจ้าอาณานิคม อ.บางนรา เคยเอ่ยกับผมว่า สมัยที่เขียน เค้ายังหนุ่มรู้สึกอยากต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เขาได้นำหลักฐานประเภท ฮิกายัต ปาตานี กับ เซอจาเราะห์เกอราจาอัน มาใช้ ผสมกับการตีความจากประสบการณ์ตรง...ใช่ การต่อสู้กับอาณานิคมจำเป็นต้องมีอดีตที่ยิ่งใหญ่รองรับ ควบคู่ไปกับโศกนาฏกรรมที่เล่สู่กันฟัง อาทิ การถูกปล้นปืนใหญ่ ผู้คนจำนวนมากถูกเชือกร้อยขาไปอยู่ที่สยาม โดยเฉพาะในบริเวณ ปากลัด อ. พระประแดง ซึ่งน่าจะเป็นจุดแรกที่คนมลายูซึ่งถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากในสยาม
 
แต่หลังจากการต่อสู้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนล่ะ สถานะของปาตานีดารุสลามเป็นอย่างไร ? สถานะของเรื่องเล่านี้ค่อนข้างแตกกระจายพอควร ด้านหนึ่งชนชั้นนำท้องถิ่นก็มักเอาเรื่องเล่าชุดนี้ไปเสริมความเข้มขลังและสูงชั้นของตนเอง นักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐก็เอาไปส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่สำหรับชาวบ้านโดยทั่วไป สถานะภาพของเรื่องเล่า เปรียบเสมือนภาพแทนตนเองยามที่พวกเค้าไร้สิทธิ หรือไม่มีพื้นที่ทางสังคม เพราะอย่างน้อย การเล่าเรื่องอดีตที่ยิ่งใหญ่ก็พอทำให้ "คนตัวเล็กตัวน้อย" (?) พอมีที่ยืนได้บ้าง ทว่า ท่ามกลางความแตกกระจายของเรื่องเล่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงตกทอดมาอย่างต่อเนื่องคือ ความเกลียดชังและไม่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่รัฐหรือตัวแทนอำนาจรัฐ เมื่อผสมกับความอยุติธรรมจากรัฐในพื้นที่มากมาย ทั้งนโยบายการพัฒนา อคติทางวัฒนธรรม และการเหยียดศาสนา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของความเป็นเจ้าอาณานิคมของสยามจึงเด่นชัดมากขึ้นและมากขึ้น ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีและสยามจึงเป็นประวัติศาสตร์ของความรู้สึก เป็นประวัติศาสตร์ของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าบนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์
 
น่าฉงนที่สุดคือ รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่แล้ว (?) แต่การเป็นรัฐสมัยใหม่ของไทยกลับวางอยู่บนบาดแผลและปัญหาทางรู้สึกจากรัฐจารีต ความรู้สึกที่ถูกส่งผ่านจากอดีตกลายเป็นพลังอันแรงกล้าเพียงพอที่จะทำให้เกิดทัศนะเชิงลบต่อรัฐ รวมไปถึงการสะใจที่เห็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนอำนาจรัฐส่วนกลางพังทลายหรือสูญเสีย
 
กรณีปืนใหญ่ปาตานีปลอมก็เช่นกัน ผมเข้าใจทันทีว่าเหตุใดเพื่อนพ้องหลายท่านทั้งที่เป็นในและคนนอกจึงแสดงอาการสะใจ ทว่า เราจะมีอาการแบบนี้ไปได้นานสักเท่าไรและจำเป็นหรือไม่ที่ต้องยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐ ทั้งที่เราสามารถสร้างพื้นที่ทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถวิพากษ์รัฐและวิพากษ์ความไม่เป็นธรรมโดยรัฐได้อีก ผมรู้สึก (ย้ำ รู้สึก) ถึงภาพตรงข้ามสุดของการไม่เอาสัญลักษณ์ของรัฐหรือของปลอมที่ไม่สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ หากเราแปรความสะใจให้กลายเป็นการรณรงค์ทวงคืน "ของจริง" กลับคืนมาคงดีกว่านี้ หากกล่าวอย่างถึงที่สุด ผมคิดว่า หากความสะใจ วางอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจจนไปถึงความเกลียดชังซึ่งรากตออาจมีเชื้อมูลจากเรื่องเล่าปาตานีดารุสลามผสานกับความไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันแล้ว พลังในการเคลื่อนไหวย่อมลดทอนลงไป โดยเฉพาะการค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่ตอบสนองกับปัญหาในปัจจุบัน เพราะด้านหนึ่ง เรื่องเล่าปาตานีดารุสลามก็เริ่มเสื่อมถอย ไร้พลังลงทุกขณะเนื่องจากถูกฉวยใช้จนสิ้นมนตร์ขลังในการต่อสู้ให้กบความไม่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นเรื่องเล่าขนาดใหญ่หรือมหภาคซึ่งไม่มีชีวิตของสามัญชนบรรจุไว้แต่อย่างไร 
 
ผมจึงคิดว่าการเคลื่อนไหวในขณะนี้ พวกเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเปิดพื้นที่อดีตอันหลากหลายของปาตานี อดีตของสามัญชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม การจดจำอำนาจรัฐจากคนธรรมดา หรือแม้กระทั่งการรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าในอดีตระยะสั้นคือในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เป็นต้น อดีตปาตานีที่หลากหลายนี่แหละจะมารองรับและช่วยผลักดันความประวัติศาสตร์ความรู้สึกระหว่างปาตานีกับสยามไปอย่างถูกทิศและใกล้ชิดกับความเป็นจริงและชีวิตของคนธรรมดามากขึ้น
 
และครั้งนี้ ใครจะหัวเราะ สะใจ ใคร่ครวญ ฯลฯ ต่อกรณีปืนใหญ่ปลอมหัก หรือ คิดจะทวงคืน "ของจริง" กลับคืนมา ก็ตามสบาย
 
เรื่องที่สอง ผมกลับทะลึ่งคิดจริงๆ จังว่า ปืนใหญ่ที่ถูกระเบิดไปนั้น คือ "ปืนใหญ่ของจริง" แน่นอน มันไม่ใช่ปืนใหญ่ปาตานี แต่มันคือปืนจริงๆ ที่ถูกหลอมขึ้นมาจากศูนย์กลางอำนาจ เพื่อเป็นเสมือนสินสอด ของขวัญ หรือเครื่องปลอบใจแก่ปาตานี แน่นอน ถ้าเป็นสินสอด คนปาตานีมีสิทธิที่จะไม่แต่งงานด้วย แต่ถ้าปืนใหญ่นี้คือของขวัญล่ะ หัวใจของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้คือ การได้มาซึ่งความสงบ (ราบคาบ?) ที่มากขึ้นของคนในพื้นที่ การระเบิดสัญลักษณ์จากศูนย์กลางอย่างปืนใหญ่จึงถือเป็นการสะบั้นความสัมพันธ์และมีนัยของความรุนแรงที่ทวีมากขึ้น
 
ใช่ มันคือปืนปลอมและการส่งปืนปลอมคืนสู่เจ้าของ คือ การใช้อำนาจในลักษณะอาณานิคม แต่พวกเรามีความจำเป็นต้องเข้าใจอำนาจรัฐมากขึ้น ต้องตระหนักในความแยบยลของการใช้อำนาจเข้าควบคุม ตรวจตราของรัฐในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย ผมรู้สึกสังหรณ์ใจว่า ความรุนแรงจากรัฐทั้งในด้านที่มองเห็นและมองไม่เห็นจะมีมากขึ้น ลำพังชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ทุกวันนี้ก็อยู่ยากกันมากพอแล้ว
 
ที่ผ่านมาสัญลักษณ์ของรัฐหรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐในพื้นที่ เช่น ตัวอักษรไทย ตราครุฑ สีเสื้อ เครื่องแบบ ฯลฯ แม้จะเป็นฝ่ายคุกคามและเหยียดหยามชีวิตของคนมลายูมาก่อน แต่ก็ถูกตอบโต้กลับด้วยวิธีการต่างๆ มาตลอด ความต่างของกรณี ปืนใหญ่นี้ อยู่ตรงที่ว่า มันคือสินน้ำใจของรัฐที่มอบให้เพื่อหวังสันติสุขเป็นการตอบแทน การระเบิดปืนใหญ่จึงเป็นการหักหน้าการใช้อำนาจรัฐแบบอาณานิคมอย่างตรงไปตรงมา ความรุนแรงต่อผู้คนธรรมดาจึงอาจมีแนวโน้มที่สูงขึ้น 
 
อย่าลืมคิดในมุมกลับด้วยว่า ปืนที่ส่งมามันไม่ใช่ปืนใหญ่ปาตานี แต่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ
 
เท่าที่ผมติดตามข่าวสารมาบ้าง หลังจาก "ปืนหัก" มันไม่ได้มีแค่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าปืนมันเปราะหรือไม่แข็งแรง รวมไปถึง เจออักขระแปลกคล้ายยันต์ในตัวลำกล้องปืน แต่หลังจากปืนหัก บรรดา "คนไทยแท้" ทั้งหลายก็ได้แสดงความเกลียดชังต่อมุสลิมและผู้คนในสามจังหวัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน
 
เรื่องเล่าของรัฐสยามผู้เมตตาและรักสงบได้ถือกำเนิดขึ้นในเฟชบุคและสื่อต่างๆ ประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังได้ถือกำเนิดอีกครั้ง พลังของมันจะยิ่งใหญ่กว่าปาตานีดารุสลามและนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากขึ้น
 
ผมรู้สึกกังกล หดหู่ ตึงเครียด และรู้สึกว่าปัญหาในภาคใต้จะทวีความซับซ้อนมากขึ้นในทันทีหลังจากปืนใหญ่กระบอกนี้ถูกลอบวางระเบิด เพราะเมื่อเราต่างถือประวัติศาสตร์บาดแผลคนละชุดและเชื่อมต่อมันด้วยความเกลียดชังอย่างสุดขั้ว หนทางในการสร้างสันติภาพคงไม่ต้องเอ่ยถึง
 
ความหวังของผมซึ่งไม่ใช่นักประวัติศาสตร์เลยก็คือ การเปิดพื้นที่อดีตอันหลากหลายของปาตานี เพื่อที่ว่าสามัญชนจะสามารถมีพื้นที่ทางความรู้สึกได้มากกว่าความเกลียดชัง เคียดแค้น และไม่ไว้วางใจ หรือ หากพวกเค้ามีความรู้สึกเช่นนั้น โอกาสที่จะได้ใคร่ครวญหรือทบทวนตัวเองบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงก็จะมีมากขึ้น
 
แน่นอน มันไม่ใช่แค่อดีตที่หลากหลายของปาตานีหรอก อดีตที่หลากหลายของบรรดา "ไทยแท้แท้" ก็มีความจำเป็นต้องรื้อใหม่ด้วยเช่นกัน